สลิล ฟูไทย เขียนหนังสือโป๊ เพื่อมิให้คนสมสู่ตามยถากรรม

สลิล ฟูไทย เขียนหนังสือโป๊ เพื่อมิให้คนสมสู่ตามยถากรรม

เขียนหนังสือโป๊ เพื่อมิให้คนสมสู่ตามยถากรรม

“โดยผู้ใหญ่ของเรามิได้ศึกษาในเรื่องนี้ แต่กลับเห็นเป็นเรื่องไม่ดีคอยกีดกันไว้ บางท่านกลับถามเอ็งว่าเห็นอย่างไรจึงแต่งหนังสือโป๊เผยแพร่ ซึ่งทำให้เราเศร้าใจว่าท่านนั้นๆ ชั่งไม่ศึกษาในเหตุผลเสียเลย ถ้าท่านมีหัวใจสักนิดและรู้จักคิดก็จะรู้ได้ว่า ต้นไม้ที่เกิดมาตามบุญตามกรรมมีสภาพเลวมากกว่าดีอย่างไร มนุษย์เราก็เช่นกัน ถ้าพ่อแม่สมสู่กันด้วยความสุขตามยถากรรม เด็กๆ ที่เกิดมามักจะเป็นเช่นไม้ป่านั้นเอง” -สลิล ฟูไทย แต่ไหนแต่ไรความรู้เรื่องเพศในเมืองไทยนั้นถือว่าหาจากห้องเรียนได้ค่อนข้างยาก สาเหตุคงมาจากการผู้กำหนดนโยบายการศึกษายังเห็นว่า การร่วมเพศเป็นเรื่องสกปรกน่ารังเกียจเกินกว่าจะมาพูดจากันในสถานศึกษาอันมีเกียรติ ถึงปัจจุบัน นักการเมืองและนักกิจกรรมรุ่นใหม่บางส่วนก็ยังเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม เมื่อมีการโฆษณาซีรีส์ต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับให้ความรู้เรื่องเพศ (Sex Education) ในวัยรุ่น คนกลุ่มนี้ก็ออกมาเรียกร้องให้ระงับการโฆษณาโดยทันที อ้างว่ามีการเผยให้เห็นเครื่องเพศของนักแสดงอย่างชัดเจน (แม้ว่าเบื้องลึกของเนื้อหาที่ซีรีส์ดังกล่าวพยายามจะสื่อจะมากกว่าภาพการร่วมเพศก็ตาม) เรื่องนี้หาก “สลิล ฟูไทย” รู้เข้าก็คงได้แต่ถอนหายใจ เพราะเขาได้พยายามนำเสนอว่า เรื่องเพศนี้หาใช่เรื่องสกปรก หากยังเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จึงออกแสวงหาความรู้จากทั้งตำรา ประสบการณ์ตรง และการพูดคุยกับผู้รู้ รวมถึงหญิงโสเภณี แล้วนำมาเขียนเป็นหนังสือเผยแพร่แก่สาธารณะตั้งแต่เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว โดยเขาได้พูดถึงแรงบันดาลใจของการเขียนตำราเรื่องเพศโป๊ๆ เปลือยๆ เอาไว้ว่า “นึกอยู่ในใจว่าผู้หญิงนี้มีเคล็ดลับอยู่มาก เรียนไม่จบ ยิ่งเรียนยิ่งโง่ เลยไม่รู้ว่าผู้หญิงมีกี่ร้อยกี่พันชนิด แต่ผู้หญิงกลับบอกว่าผู้ชายมีอย่างเดียว ไม่เห็นแตกต่างกัน อ้วนก็เท่ากัน ผอมก็เท่ากัน สูงก็เท่ากัน ต่ำก็เท่ากัน ผู้หญิงหลายๆ คนว่าอย่างนี้ เลยทำให้เกิดความคิดขึ้นว่า “ถ้าได้พิมพ์เรื่องของโลกีย์วิสัยออกแนะนำการสมรสก็จะช่วยให้การวิวาห์ของพลเมืองเกิดผลดีขึ้น ซึ่งดีกว่าจะสมรสตามบุญตามกรรมอย่างที่เคยเป็นมา” สลิล ฟูไทย เป็นคนไทยที่อายุยืนยาว อยู่มาถึง 5 แผ่นดิน เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2441 ในแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสียชีวิตเมื่อ 11 เมษายน 2518 อายุได้ 77 ปี ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ เดิมทีเขามิได้ชื่อสลิล หากแต่ชื่อว่า “เปลื้อง” เป็นบุตรของนายน้อยและนางห่วง ชาวเมืองสวรรคโลก เมื่ออายุได้ราว 4 ขวบ แม่พาล่องเรือมาค้าขายในเมืองหลวง จึงมีโอกาสได้พบกับพระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา (พระขณิษฐารัชกาลที่ 5) พระองค์ทรงเห็นเข้าก็รู้สึกถูกชะตา ทรงกรุณารับเลี้ยงเด็กชายเปลื้องไว้เป็นบุตรบุญธรรม เปลื้องจึงมีวาสนาเข้าไปอยู่ในวัง ได้ชื่อใหม่ว่า “วารี” ก่อนที่ รัชกาลที่ 6 จะพระราชทานชื่อใหม่ว่า “สลิล” ซึ่งแปลว่าน้ำเหมือนกัน ด้วยทรงเห็นว่าวารีนั้นเป็นชื่อเหมาะกับผู้หญิงมากกว่า เมื่อสลิลโตได้สักหน่อยก็ขอกลับไปอยู่บ้านเกิด จนอายุได้ 15 ปี ก็กลับมาเมืองหลวงอีกครั้งโดยมาบวชอยู่ที่วัดชนะสงคราม สึกแล้วไปพบพระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา พระองค์ก็ยังทรงเมตตาเช่นเดิม และโปรดให้สลิลไปเรียนที่สวนกุหลาบ เมื่อสอบไล่เสร็จสลิลก็ไปบวชเป็นเณรอยู่หลายวัด จนครบอายุก็บวชเป็นพระศึกษาพระธรรมอยู่จนอายุได้ 25 ปี จึงลาสิกขาได้มารับราชการในราชสำนัก แผนกภูษาห้องพระบรรทมในรัชกาลที่ 6 แต่ทำได้เพียง 18 เดือน รัชกาลที่ 6 ก็สวรรคต แผนกของสลิลถูกยุบจึงออกจากราชการมาเป็นนักเขียน จนปี 2472 สลิลได้กลับมารับราชการอีกครั้งในตำแหน่งเสมียนกองบังคับการมหาดเล็กเรื่อยมาจนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติในช่วงต้นปี 2477 ซึ่งสลิลได้เล่าถึงความลำบากใจในการทำงานราชการคราวนั้นว่า “โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในราชสำนักรัชกาลที่ 8 สืบมา แต่ถูกเพื่อนๆ ซุบซิบว่าเป็นคน 2 หน้า โดยเพื่อนทางราชสำนักเข้าใจว่าเป็นฝ่ายรัฐบาล เพราะเห็นเป็นนักเรียนกฎหมาย แต่เพื่อนทางฝ่ายก่อการมาชวนร่วมมือไม่เป็นผลก็เข้าใจว่าเป็นฝ่ายนิยมเจ้า แต่ความจริงนั้นเราเป็นตัวของตัวเอง มิได้ทำลายฝ่ายหนึ่งเพื่อฝ่ายหนึ่ง โดยที่เจ้าก็มีบุญคุณ และฝ่ายผู้ก่อการก็ทำงานเพื่อชาติ ต่างมีความสำคัญเท่าๆ กันสำหรับเรา จึงต้องรับเอาความเป็น 2 หน้านั้น อันจะให้ละฝ่ายหนึ่งมาฝักใฝ่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นทำไม่ได้ แม้ว่าจะอดตาย แต่ใครจะคบหรือไม่คบนั้นเป็นเรื่องของเขา แต่เราขอคบทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ และก็เหตุนี้เอง จึงไม่เล่นการเมืองให้เสียกตัญญูซึ่งเป็นการสร้างศัตรูโดยใช้เหตุ” เดือนมิถุนายน ปีเดียวกันนั้นเอง “เสด็จแม่” ของสลิล พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญาก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคชรา “เมื่อสิ้นบุญวาสนาเสด็จ ก็รู้สึกว้าเหว่ใจคล้ายเสียร่มโพธิ์ไปอีกต้น โดยที่พระองค์ท่านทรงเลี้ยงดูอุปการะมาแต่เยาว์ เว้นแต่มิได้ทรงอุ้มพระอุทรมาเท่านั้น ที่อยู่อาศัยอาหารการกินมิได้ทรงให้อนาทรร้อนใจเลย แม้จะทำผิดพลาดไปบ้างก็ทรงอภัยไม่ถือสา” หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2477 สลิลก็ตัดสินใจออกจากราชการมาทำธุรกิจส่วนตัว โดยเฉพาะงานเขียนที่เขาเริ่มพิมพ์หนังสือขายอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2474 งานของสลิลมีความหลากหลาย ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์อย่างเช่น ศึกเอเชีย เริ่มตั้งแต่ญี่ปุ่นยกทัพเข้าไทย ไปจนถึงตอนญี่ปุ่นยอมแพ้ ประวัติฮิตเลอร์ และโดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเพศที่มีนับ 10 เล่ม หลายเล่มมีการพิมพ์ซ้ำและอัพราคาขึ้นสูงกว่าเดิมากแต่ก็ยังขายดิบขายดี เอนก นาวิกมูล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องของเก่าได้เล่าถึงหนังสือของสลิลเอาไว้ว่า “หนังสืออย่าง กามวัตรี คู่มือเปิดทางสวรรค์ให้เห็นทุกส่วนกล่าวถึงของลับชายหญิงอย่างละเอียด มีภาพแสดงชัดเจน โดย สาวิต หนังสือกามสาโรช มีวิธีป้องกันการก่อกำเนิด พร้อมภาพศิลปะประกอบงามๆ โดยสวีรัตน์ หรือหนังสือประเวณีศาสตร์ หรือเมถุนมรรค มีภาพอาร์ต 110 แผ่น ล้วนแสดงศิลปะกอด จูบ สัมผัส สมุดภาพเซ็กซ์อาร์ต ฯลฯ จึงได้เกิดขึ้นและพิมพ์ออกจำหน่ายขายดีเป็นเทน้ำเทท่า” [ชื่อต่างๆ ที่ถูกกล่าวในฐานะผู้เขียนนั้นคือนามปากกาของสลิล] นอกจากนี้แล้ว สลิลยังเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องการ “อาบแดด” เป็นตัวตั้งตัวตีพยายามเปิดนิคมอาบแดดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (ซึ่งต้องเปลือยกายอาบแดด) มีการโฆษณาลงทั้งในหนังสือของสลิลเอง และติดตั้งป้ายที่ร้านขายของของเขาบนถนนตะนาวว่าเป็น “ที่ทำการนิคมอาบแดด” ซึ่งเรื่องนี้คนรอบข้างของสลิลไม่ค่อยชอบใจสักเท่าไหร่ เพราะกลายเป็นที่หัวเราะเยาะของคนที่มาพบเห็น ลูกสาวบุญธรรมของเขามักแอบเอาป้ายโฆษณาลงจากร้านประจำ ทั้งยังเกิดความเข้าใจผิด มีคนคิดไปว่าลูกหลานของสลิลเป็น “ผู้หญิงไม่ดี”   ฝ่ายภรรยาที่มีทัศนคติไม่ตรงกันอยู่ก่อนมาเจอกับเรื่องนี้อีกจึงจากเขาไปพบรักกับชายคนใหม่ ตามประวัติจากหนังสืองานศพของสลิล เขาผ่านการแต่งงานมาสองครั้ง แต่ก็ต้องเลิกรากันไป ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน แต่ได้รับเด็กหญิง “ลินดา” มาเป็นบุตรบุญธรรม และยังอุปการะหลานๆ ซึ่งเป็นลูกน้องชายอีกสามคน รวมไปถึงผู้ที่เป็นญาติและมิใช่ญาติอีกหลายคน แม้จะเป็นโรคเบาหวานมานาน แต่สลิลก็รักษาพลานามัยเป็นอย่างดี จนกระทั่งอายุได้กว่าเจ็ดสิบปีจึงเริ่มมีโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงมาแทรกซ้อนก่อนถึงแก่กรรมลงด้วยวัย 77 ปี ในปี 2518 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยก่อนตายเขาได้ทำพินัยกรรมขอมอบเงินจำนวน 1 ล้านบาทให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นกองทุนหาดอกผลเป็นรางวัลให้แก่นักวิจัยที่คิดค้นหาวิธีรักษาโรคอย่างเช่น เบาหวาน และหัวใจ อย่างที่เขาต้องประสบ เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลังอีกด้วย