Snowpiercer: ดิสโทเปียว่าด้วยรัฐรถไฟกับคำถามท้าทายต่อการปฏิวัติ

Snowpiercer: ดิสโทเปียว่าด้วยรัฐรถไฟกับคำถามท้าทายต่อการปฏิวัติ
ค.ศ. 2014 หลังจากโลกประสบสภาวะ ‘โลกร้อน’ อย่างหนัก นักวิทยาศาสตร์ร่วมกันพัฒนาสาร CW-7 ซึ่งเป็นสารที่สามารถช่วยสะท้อนความร้อนเพื่อลดภาวะโลกร้อน แต่ผลของการยิงสาร CW-7 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศกลับทำให้อุณหภูมิของโลกลดลงอย่างรวดเร็ว โลกเข้าสู่หายนะของยุคน้ำแข็งอันนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งตามนิยามก็คือมีการสูญเสียของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตประมาณสามในสี่ส่วนของสายพันธุ์ทั้งหมดทั่วโลกภายในช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่สั้นกว่า 2,800,000 ปี
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยเฉลี่ยทุก ๆ 100 ล้านปี และเกิดบนโลกนี้มาแล้ว 5 ครั้ง ดังนั้นฉากหลังของ Snowpiercer จึงอาจนับได้ว่าคือยุคของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ซึ่งครั้งนี้เกิดจากน้ำมือของวิทยาศาสตร์จนทำให้ประชากรมนุษย์เหลือเพียงหลักพันคนที่อาศัยอยู่บนขบวนรถไฟ The Snowpiercer เท่านั้น (ทั้งนี้ ในฉบับนิยายภาพ จะพบว่ายังมีขบวนรถไฟอยู่อีกหนึ่งขบวนชื่อ The Icebreaker ซึ่งตามไทม์ไลน์ของจักรวาล Snowpiercer อาจเรียกได้ว่า คนเหล่านั้นคือผู้เหลือรอดกลุ่มสุดท้ายจริงๆ แต่จะไม่ขอลงรายละเอียดในบทความนี้)
นี่คือโครงเรื่องในจักรวาลของ Snowpiercer ซึ่งเป็นเรื่องราวที่พัฒนาขึ้นมาจากนิยายภาพสัญชาติฝรั่งเศสชื่อ Le Transperceneige ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1982 ถึงปัจจุบันมีการตีพิมพ์จำนวน 5 เล่ม และถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ใน ค.ศ. 2013 และดัดแปลงเป็นซีรีส์ใน ค.ศ. 2020 อีก 2 ซีซัน ซึ่งหากนับเฉพาะระยะเวลาในซีรีส์และภาพยนตร์นั้น เหตุการณ์ในซีรีส์จะเกิดขึ้นหลังหายนะจากสาร CW-7 เป็นเวลา 7 ปี และเหตุการณ์ในภาพยนตร์จะเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์หายนะ 15 ปี
พระเจ้าของโลกใหม่
ตัวละครสำคัญที่เชื่อมโยงซีรีส์กับภาพยนตร์คือ ‘โจเซฟ วิลฟอร์ด’ ซึ่งเราจะรู้จักชื่อหน้าของเขาจากซีรีส์ (รับบทโดย ฌอน บีน) เพราะในฉบับภาพยนตร์นั้นเราจะรู้จักเขาในนามคุณวิลฟอร์ด (รับบทโดย เอ็ด แฮร์ริส) เท่านั้น ดังนั้นหากในซีซันต่อๆ ไปซีรีส์ไม่มีการหักมุมใด ๆ ในเบื้องต้น ตัวละครนี้จึงน่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกัน
ในซีรีส์ วิลฟอร์ดนั้นเป็นวิศวกรผู้ร่ำรวย เขาได้พัฒนาโครงการรถไฟรอบโลกขึ้นในช่วงก่อนการยิงสาร CW-7 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ วิลฟอร์ดเป็นซีอีโอของบริษัทวิลฟอร์ด อินดัสทรีที่ได้สนับสนุนทุนให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งพัฒนาระบบเครื่องจักรที่สามารถทำงานได้อย่างไม่มีวันหยุด และได้พัฒนาเครื่องจักรนั้นให้กลายเป็นระบบรถไฟที่วิ่งวนรอบโลกจำนวน 1,001 ห้องโดยสาร ซึ่งมีระบบอุปโภคสาธารณูปโภคครบครัน ระยะทางเดินทางรอบโลกรอบละ 133 วัน ระยะทางรวม 438,000 กิโลเมตร และที่สำคัญบริษัทวิลฟอร์ด อินดัสทรีจะสามารถทำกำไรมหาศาลจาก ‘สิ่งสุดท้าย’ ที่จะธำรงรักษาชีวิตให้แก่มนุษยชาตินี้ได้
ลักษณะนิสัยของวิลฟอร์ดคือเพลย์บอย และคนเห็นแก่ตัวที่ไม่เชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้เขาจะเฉลียวฉลาดพอที่จะคาดการณ์ถึงหายนะจากสาร CW-7 จนนำมาสู่การพัฒนา Snowpiercer ขึ้นมา แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นเพียงเพราะเขาต้องการจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างสุขสบายที่สุดด้วย ดังที่เขาเลือกที่จะสร้างสถานเริงรมย์ และคัดเลือกพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ขึ้นมาบนรถไฟ แทนที่จะให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมพัฒนารถไฟขึ้นมาช่วยงานบนรถไฟ เขาพร้อมที่จะใช้แรงงานเด็กในการซ่อมบำรุงรถไฟในพื้นที่คับแคบและเสี่ยงอันตราย เขายังเป็นจอมวางแผนที่สร้างเรื่องราวความวุ่นวายในรถไฟเพื่อให้ ‘พวกท้ายขบวน (The Tailies)’ กลายเป็นศัตรูอันทำให้เกิดความกลมเกลียวและความเคารพเชื่อฟังในตัวเขาจากบรรดา ‘ผู้โดยสาร (The Passengers)’ และที่สำคัญเขาเลือกที่จะใช้กฎระเบียบที่รุนแรงเด็ดขาดต่อใครก็ตามที่ต่อต้านการปกครองในรถไฟของเขา
ในรถไฟของเขา ถ้าวิลฟอร์ดไม่ใช่เผด็จการ เขาก็เป็นกษัตริย์
แต่อย่างไรก็ตาม ในการรับรู้ของพนักงานรถไฟ และบรรดาผู้โดยสารนั้น วิลฟอร์ดมีสถานะไม่ต่างจากศาสดา เนื่องจากเขาคือผู้ที่สร้างพระเจ้า Snowpiercer ขึ้นมา และ ณ เวลาที่รถไฟวิ่งอยู่นั้น ได้เกิดวาทกรรมที่ว่า “คุณวิลฟอร์ด คือผู้ทำงานวันละ 21 ชั่วโมง เพื่อทำให้ Snowpiercer ยังวิ่งอยู่ได้”
ในฉบับซีรีส์ เราจะเห็นพนักงานรถไฟและผู้โดยสารทุกชั้นสยบยอม และจำยอมต่อความเห็น กฎระเบียบ และคำสั่งของวิลฟอร์ด แม้ว่าเขาจะไม่เคยปรากฏตัวออกมาเลยก็ตาม คำพูดของวิลฟอร์ดถ่ายทอดผ่านพนักงานรถไฟที่ไม่ต่างจากการประกาศบทบัญญัติทางศาสนาอันสามารถให้คุณให้โทษกับใครก็ได้เพื่อเป้าหมายเดียวคือ ให้รถไฟยังวิ่งอยู่ต่อไป
วิลฟอร์ดจึงไม่ต่างจากโนอาห์ผู้สร้างเรือตามพระบัญชาของพระเจ้าในพระคัมภีร์ปฐมกาล เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์และสัตว์ให้รอดจากการที่พระเจ้าทรงบันดาลให้ฝนตกหนักถึง 40 วัน จนเกิดน้ำท่วมเป็นเวลาอีก 150 วัน เพียงแต่ตอนนี้พระเจ้าไม่ใช่เพียงผู้สั่งการ แต่พระเจ้าทรงมีชื่อว่า Snowpiercer ที่ทรงเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ของยุคแห่งหายนะในโลกน้ำแข็งที่ดูจะไม่มีวันจบสิ้น และแม้ว่ายุคน้ำแข็งนี้มีทีท่าจะจบสิ้นเร็วกว่าที่คิด ศาสดาอย่างวิลฟอร์ดก็เลือกที่จะปฏิเสธมัน และเลือกที่จะธำรงสถานะพระเจ้าของ Snowpiercer ต่อไป ไม่ว่าจะต้องฆ่าใครด้วยวิธีการใดก็ตาม
ระบบการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในสังคมเพื่อผู้ที่สามารถจ่ายได้
ที่นั่งในตู้โดยสารของ Snowpiercer ถูกสำรองให้แก่บรรดาผู้ร่ำรวยเข้ามาร่วมทุนพัฒนา อันได้แก่ราชนิกูล ชนชั้นนำ นักธุรกิจ ซึ่งทำให้รถไฟมีการแบ่งออกเป็นรถไฟชั้น 1 ชั้น 2 และชั้น 3 ตามราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความหรูหราและสะดวกสบายของห้องโดยสาร แต่เมื่อรถไฟกำลังเคลื่อนขบวน ความพยายามเอาชีวิตรอดของผู้คนทำให้เกิดเหตุการณ์จลาจลและมีผู้แอบขึ้นรถไฟเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้เองถูกเรียกว่า ‘พวกท้ายขบวน’ ซึ่งในตอนแรกได้ถูกปราบปรามขับไล่ แต่เมื่อหายนะดูจะดำเนินไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น พวกท้ายขบวนก็ได้กลายเป็น ‘แรงงาน’ ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ ‘ผู้โดยสาร’ อยู่ได้อย่างสุขสบาย
นี่เองทำให้ระบบสังคมของรถไฟ จะมีการแบ่งแยกจากหัวขบวนสู่ท้ายขบวน ในห้องโดยสารชั้น 1 ผู้โดยสารจะเป็นผู้ร่ำรวยที่ร่วมลงทุนในการพัฒนารถไฟ พวกเขาจะมีห้องส่วนตัวของทั้งครอบครัวที่มีขนาดใหญ่พร้อมสาธารณูปโภคครบครัน พร้อมสิทธิ์ในการเดินทางไปตู้โดยสารใดก็ได้ ในห้องโดยสารที่ใช้รับรองผู้โดยสารชั้น 1 จะมีทั้ง อควาเรียม ซูชิบาร์ ภัตตาคาร โรงพยาบาล ห้องสมุด ห้องประชุม ส่วนห้องโดยสารชั้น 2 เป็นพื้นที่ของเหล่าคนงานมีฝีมือที่มีตำแหน่งงานระดับสูงในรถไฟ ห้องพักจะมีความหรูหราน้อยกว่า และเล็กกว่าในห้องโดยสารชั้น 1 แต่ก็ถือว่ากว้างขวางพอสมควร ในส่วนนี้ยังมีห้องลิ้นชักที่เป็นห้องสำหรับจำศีลผู้โดยสาร 400 คนที่ถูกคัดเลือกให้มีชีวิตรอดหากระบบของ Snowpiercer ล้มเหลว แต่ห้องลิ้นชักก็สามารถใช้ลงโทษผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อ ‘ระบอบวิลฟอร์ด’ ได้เช่นกัน
ในตอนท้ายของตู้โดยสารชั้น 2 มีไนต์คลับ (ในเรื่องเรียกว่าไนต์คาร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นไนต์คลับ ยังเป็นเวทีมวย และซ่องในเวลาเดียวกัน) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจยามค่ำคืนของผู้โดยสาร ตู้โดยสารราวครึ่งหนึ่งนี้จะสงวนไว้สำหรับผู้โดยสารชั้น 1 และชั้น 2 ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือพื้นที่สำหรับผู้โดยสารชั้น 3 เป็นพื้นที่ของคนงานระดับล่าง ที่แม้มีสิทธิ์ในการพักอาศัยในที่พัก แต่ก็มีขนาดเล็กที่ค่อนข้างแออัด และยังต้องทำงานในพื้นที่ที่ดัดแปลงเป็นพื้นที่ปศุสัตว์ เกษตรกรรมอุตสาหกรรม ตลาด โรงเรียน โรงพยาบาลขนาดเล็ก ตู้เก็บเสบียง ห้องเย็น โรงซ่อมบำรุง โรงผลิตน้ำสะอาด โรงกำจัดและรีไซเคิลของเสีย ทั้งนี้ผู้โดยสารในชั้น 1 - 3 จะมีสิทธิ์ในการจับฉลากเพื่อมีบุตร จำนวนสิทธิ์ในการจับฉลากจะสงวนไว้ให้ผู้โดยสารชั้น 1 มากที่สุด และจำนวนจะลดหลั่นลงมาสำหรับผู้โดยสารชั้น 2 และ 3
และในส่วนท้ายขบวนคือที่พักของผู้ที่ลักลอบขึ้นรถไฟมา พวกท้ายขบวนเหล่านี้จะถูกจำกัดสิทธิ์ทุกอย่าง พวกเขาจะอยู่อย่างแออัด มืดทึบ มีการแบ่งปันทรัพยากรให้เพียงน้อยนิด ไม่มีสิทธิ์ในการมีบุตร และต้องถูกควบคุมไม่ให้ออกมาเพ่นพ่านในตู้โดยสารอื่น พวกท้ายขบวนจึงมีสถานะเป็น ‘สัมภาระ’ ของรถไฟ ซึ่งบางครั้งบางคราวที่จำนวนคนไม่เพียงพอต่อการทำงานระบบจัดการทรัพยากรในรถไฟแล้วนั้น พวกท้ายขบวนเหล่านี้คงกลายเป็น ‘ภาระ’ ที่ต้องถูกกำจัดทิ้งไป
เมื่อรวมเข้ากับการปกครองใน ‘ระบอบวิลฟอร์ด’ และ ‘ศาสนา Snowpiercer’ แล้ว รถไฟขบวนนี้ก็คือภาพจำลองของรัฐชาติอันเป็นผลิตผลของโลกสมัยใหม่นั่นเอง
แต่หากเพิ่มคำอธิบายด้วยสายตาแบบมาร์กซิสม์ ภาพของขบวน Snowpiercer จะเปรียบได้กับภาพจำลองของสังคมอุตสาหกรรมที่แบ่งแยกคนออกเป็นชนชั้นต่าง ๆ ระบบ ระเบียบ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรในรถไฟสร้างตำแหน่งแห่งที่ให้แก่ผู้คน
หากจะแบ่งมนุษย์ในรถไฟอย่างคร่าว ๆ แบบมาร์กซิสม์ ในขณะที่วิลฟอร์ดและผู้โดยสารชั้น 1 คือเจ้าของปัจจัยการผลิต พวกเขา ‘จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่ง Snowpiercer’ ดังนั้นพวกเขาจึงเปรียบได้กับโครงสร้างส่วนบนที่มีผู้โดยสารชั้น 2 คอยส่งผ่านอุดมการณ์เศรษฐกิจการเมืองในสังคม Snowpiercer ทั้งด้วยรูปแบบ ‘ยาฝิ่น’ เช่น การศึกษาหรือความเชื่อมั่นเรื่องความสำคัญต่อมนุษยชาติของ Snowpiercer รวมถึงความศรัทธาต่อความสามารถของ ‘คุณวิลฟอร์ด’ และในรูปของ ‘ไม้เรียว’ เช่นการลงโทษ การตัดแขนด้วยความเย็น รวมถึงการพาไปห้องลิ้นชัก ทั้งหมดนี้ใช้ในการควบคุมบรรดาผู้โดยสารชั้น 2 และ 3 กันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกท้ายขบวนให้เป็นแรงงานที่มีชีวิตอยู่เพื่อการผลิตและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ของ Snowpiercer อันทำให้เหล่าผู้โดยสารยังมีชีวิตอยู่ได้
ทั้งนี้การเป็นพวกท้ายขบวนนั้นมีสถานะที่เลวร้ายยิ่งกว่าเลวร้าย เพราะอันที่จริงพวกเขาไม่ควรมีตัวตนบนรถไฟนี้แต่แรก พวกท้ายขบวนจึงเป็นพวกที่ชั่วร้ายที่สุด เพราะพวกเขาต้องบริโภคทรัพยากรโดยไม่ได้ผลิตผลประโยชน์อะไรต่อรัฐรถไฟนี้ พวกเขาจึงสมควรถูกกดขี่ และการที่พวกท้ายขบวนยังมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกดขี่นั้น จึงเป็นความเมตตากรุณาสูงสุดแล้ว
การปฏิวัติของผู้ถูกกดขี่
พวกท้ายขบวนและผู้โดยสารชั้น 3 มีจำนวนถึงกว่า 70% ของประชากรในรถไฟ พวกท้ายขบวนนั้นไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเห็นแสงอาทิตย์ ชีวิตของพวกเขาจึงอยู่กับความมืดมิด และความกรุณาปรานีของผู้โดยสาร แต่บางครั้งพวกเขาก็ได้โอกาสในการเปลี่ยนสถานะไปเป็นผู้โดยสารชั้น 3 หากรถไฟต้องการ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่มีศักยภาพมากเพียงพอก็จะได้รับเลือกให้ไป ‘รับการกล่อมเกลา’ เพื่อหลุดพ้นจากการเป็นพวกท้ายขบวนที่ชั่วร้ายและไร้ประโยชน์
การควบคุมพวกท้ายขบวนอย่างเคร่งครัดและโหดเหี้ยม ส่งให้เกิดการต่อต้านจากพวกท้ายขบวนอยู่เป็นพัก ๆ ในฉบับภาพยนตร์ และซีรีส์เราจะรับรู้ถึงความพยายามปฏิวัติ 3 ครั้ง ครั้งแรกถูกกล่าวถึงผ่าน ๆ ว่าเกิดขึ้นเพียง 3 ปีหลังจากรถไฟเคลื่อนขบวน พวกท้ายขบวน 7 คนหนีออกจากรถไฟและแข็งตาย ศพของพวกเขากลายเป็นอนุสาวรีย์ที่ใช้สอนเด็กรุ่นหลังในทุกครั้งที่รถไฟเคลื่อนผ่านว่า “หากปฏิเสธชีวิตที่สมบูรณ์แบบใน Snowpiercer แล้ว จะมีชะตากรรมเป็นอย่างไร"
การปฏิวัติครั้งที่ 2 คือเหตุการณ์ในซีรีส์ ซึ่งเกิดขึ้น 7 ปีหลังรถไฟเคลื่อนขบวน โดย อังเดร เลย์ตัน (รับบทโดย ดาวีด ดิกส์) แต่คราวนี้การปฏิวัติสำเร็จ เลย์ตันสามารถยึดครองรถไฟได้ ด้วยความร่วมมือของพวกท้ายขบวนและผู้โดยสารชั้น 3 แต่ทว่ากลับต้องแลกมาด้วยชีวิตของผู้ร่วมปฏิวัติจำนวนมาก แม้เลย์ตันจะพยายามเปลี่ยน Snowpiercer ให้กลายเป็นสังคมประชาธิปไตย และสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งอีกไม่นาน เลย์ตันจำเป็นต้องธำรงการปกครองที่คล้าย ๆ กับ ‘เผด็จการกรรมาชีพ’ แต่ด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์และความรู้ในการซ่อมบำรุงรถไฟ และบาดแผลจากการตัดสินใจเลือกให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้องสละชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการปฏิวัติ ทำให้ชะตากรรมของเลย์ตันในฐานะผู้ควบคุมรถไฟอยู่บนปากเหว
เลย์ตันถูกวิลฟอร์ดที่ยังได้รับความศรัทธาจากผู้โดยสาร ‘ปฏิวัติซ้อน’ อย่างง่ายดาย แม้เรื่องราวในซีรีส์ยังไม่จบลงอย่างสมบูรณ์ แต่หากพิจารณาว่าเหตุการณ์ปฏิวัติครั้งที่ 3 ที่เกิดขึ้นภายหลังนั้น วิลฟอร์ดคือผู้ควบคุมรถไฟ อาจจะเป็นการบอกเลี่ยง ๆ แล้วว่าการปฏิวัติครั้งที่ 2 ของเลย์ตันนี้ ในที่สุดแล้วน่าจะจบลงด้วยความล้มเหลว
การปฏิวัติครั้งที่ 3 เป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติครั้งที่ 2 ราว 7 ปี ครั้งนี้นำโดย เคอร์ติส เอเวอร์เรทท์ (รับบทโดย คริส อีแวนส์) ผู้ซึ่งถูกพร่ำสอนให้เป็นผู้นำในการปฏิวัติ เพื่อนำพาชีวิตที่ดีมาสู่พวกท้ายขบวน เอเวอร์เรทท์สามารถปฏิวัติได้สำเร็จ แต่กลับพบว่าการปฏิวัติของเขาเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่วิลฟอร์ดจัดฉากกระตุ้นให้พวกท้ายขบวนกระทำการปฏิวัติจนทำให้พวกท้ายขบวนถูกมองว่าเป็นศัตรูของผู้โดยสารทั้งขบวน แผนการนี้เกิดขึ้นเพราะวิลฟอร์ดต้องการให้การปฏิวัติเกิดการปะทะที่รุนแรงจนทั้งผู้โดยสารและพวกท้ายขบวนล้มตาย เพื่อที่จะทำให้วิลฟอร์ดลดจำนวนคนบนรถไฟให้เหมาะสมกับปริมาณทรัพยากรที่ร่อยหรอลง ในขณะเดียวกันการปฏิวัติโดยพวกท้ายขบวนยังทำให้วิลฟอร์ดสามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างผู้โดยสารบนรถไฟ ผ่านการสร้างภาพพวกท้ายขบวนให้เป็น ‘ศัตรูร่วม’ ของผู้โดยสาร ไม่ต่างจากที่รัฐชาติในความเป็นจริงต้องมี ‘ศัตรูแห่งชาติ (enemy of the state)’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง ‘สำนึกความเป็นชาติ (nationalism)’ ให้เกิดขึ้น
และที่สำคัญที่สุดคือวิลฟอร์ดต้องการสร้างคนที่รู้จักทุก ๆ ชนชั้นในรถไฟเพื่อรับการคัดเลือกให้เป็นผู้สืบทอดผู้ควบคุมรถไฟแทนวิลฟอร์ดที่ล่วงสู่วัยชรา ซึ่งนั่นก็คือเอเวอร์เรทท์นั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าในฉากจบของภาพยนต์เราจะพบคำถามสำคัญที่นักปฏิวัติสังคมต้องเผชิญเมื่อเขาดำเนินการปฏิวัติมาจนถึงจุดที่ต้องเลือกว่า จะยึดกุมอำนาจแล้วปกครองต่ออย่างทรราชเพื่อให้รัฐยังดำรงอยู่ต่อไป หรือปฏิเสธอำนาจนั้น แล้วปล่อยให้รัฐนั้นต้องล่มสลายลง ราวกับว่าทุก ๆ ทางเลือกของนักปฏิวัตินั้นต้องแลกมาด้วยชีวิตมิตร ศัตรู และผู้คนรอบข้างมากมาย
การปฏิวัติดูจะเป็นประเด็นหลักที่โดดเด่นที่สุดในจักรวาลซีรีส์ และภาพยนตร์ Snowpiercer เรื่องราวนี้ดำเนินไปตามทฤษฎีของแนวคิดมาร์กซิสม์ที่อธิบายว่าการปฏิวัติเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์เพราะเป็นแรงปฏิกิริยาต่อต้านความรวมศูนย์อำนาจเศรษฐกิจ และการเมือง ยิ่งในสังคมทุนนิยมที่วิถีการผลิตกีดขวางชนชั้นแรงงานไม่ให้มีชีวิตที่ดี ความคับแค้นของชนชั้นแรงงานนำมาสู่การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ อันจะทำลายโครงสร้างส่วนบนลง ทำให้ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้การปฏิวัติต้องธำรงไว้ซึ่งเผด็จการกรรมาชีพเพื่อไม่ให้ชนชั้นนายทุนกลับมาปฏิวัติซ้อนเพื่อนำสังคมกลับไปสู่ระบบเดิม
เผด็จการกรรมาชีพจะดำรงอยู่จนกระทั่งสังคมก้าวเข้าสู่คอมมิวนิสต์ที่ไม่มีชนชั้น ไม่มีรัฐ ไม่มีการปกครองต่อไป น่าเศร้าใจที่ซีรีส์ Snowpiercer ทำให้เห็นว่าหากเผด็จการกรรมาชีพไม่แข็งแรง และมีความรู้เพียงพอในการปกครอง อำนาจนำสังคมที่กรรมาชีพได้มานั้นก็ไม่สามารถธำรงไว้ได้ และในทางกลับกัน ในภาพยนตร์ก็บอกเราว่า หากกรรมาชีพเลือกที่จะไม่ปกครองแบบเผด็จการไปพลางก่อน แต่เลือกทำลายโครงสร้างส่วนบนทิ้งเสียทั้งหมด ผลที่ได้คือความล่มสลายของสังคม ความตายของผู้คนมหาศาล และผู้เหลือรอดที่ไม่รู้ว่าจะมีชะตากรรมต่อไปแบบใด
ที่น่าเศร้าใจยิ่งกว่าคือ ในโลกความเป็นจริง รัฐที่เลือกจะเดินตามเส้นทางการปฏิวัตินั้น ก็ไม่สามารถหลุดออกจากสถานะของการปฏิวัติกรรมาชีพได้ และไม่มีรัฐที่เรียกตัวเองว่าคอมมิวนิสต์รัฐใดเลยที่สามารถสร้างให้เกิดสังคมคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีขึ้นมาได้จริง ๆ เป็นเพียงรัฐเผด็จการที่แต่งแต้มคำเรียกระบอบการปกครองของตนว่า ‘สังคมนิยม’ ‘คอมมิวนิสต์’ ‘ประชาธิปไตยประชาชน’ ฯลฯ เพียงเท่านั้น
Snowpiercer ดิสโทเปียว่าด้วยรัฐรถไฟกับคำถามท้าทายต่อการปฏิวัติ
ดิสโทเปีย (dystopia) เป็นคำที่ถูกใช้ครั้งแรกใน ค.ศ. 1868 โดย จอห์น สจ๊วต มิลล์ นักปรัชญาชาวอังกฤษ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของรัฐบาลไอร์แลนด์ว่าไม่ใช่ ‘สิ่งที่ดีที่ควรทำ (utopia)’ แต่คือสิ่งที่ ‘เลวร้ายเกินกว่าจะปฏิบัติ’ ในทางวรรณกรรมนั้น ดิสโทเปียคือการฉายภาพสังคมที่เป็นคู่ตรงข้ามกับสังคมยูโทเปีย (utopia) หรือสังคมที่ ‘น่าใฝ่ฝันถึงเพราะยังไม่เกิดขึ้น’ [Utopia สามารถแปลได้สองนัยตามรากศัพท์กรีกโบราณ คือ eu (ดี) + topos (สถานที่) และ ou (ไม่มี) + topos (สถานที่)] ดิสโทเปียในทางหนึ่งจึงเป็นภาพสะท้อนสังคมที่ ‘ไม่น่าใฝ่ฝันถึง’ และเป็นการกระตุ้นให้เราครุ่นคิดว่าหากยังผลักดันให้สังคมดำเนินไปในทิศทางที่ผิดพลาด จะมีโอกาสเกิดสิ่งเลวร้ายอย่างไรได้บ้าง
วรรณกรรมดิสโทเปียเติบโตอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นการตั้งคำถามต่อแง่มุมทางอำนาจต่าง ๆ ของความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่ลดทอนความแตกต่างหลากหลายไป จนวิทยาศาสตร์กลายเป็นศาสนาของโลกสมัยใหม่ไป จนกลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์ ได้สร้างจารีต ประเพณี วัฒนธรรม กฎหมาย มาลิดรอนควบคุมความสุขของมนุษย์
ในขณะที่ยูโทเปียเป็นความใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่าอันสร้างสรรค์จากการเติบโตก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ เหตุผลนิยม และปัจเจกชนนิยมที่ต่อต้านการครอบงำทางสังคม ดิสโทเปียจะชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการสร้างกฎระเบียบเพื่อควบคุมเสรีภาพของมนุษย์ได้เช่นกัน ถ้ายูโทเปียให้คุณค่าและความงดงามแก่เทคโนโลยี ดิสโทเปียก็จะให้ภาพในทางกลับกันอันน่าหวาดระแวง น่าสะพรึงกลัวต่อเทคโนโลยี
ภาพดิสโทเปียถูกสะท้อนในจักรวาล Snowpiercer อย่างชัดเจนตั้งแต่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ด้วยน้ำมือของวิทยาศาสตร์ การสร้างรถไฟและความเชื่อในรถไฟจนทำให้สิ่งที่ผลิตจากวิทยาศาสตร์นี้กลายเป็นทั้งรัฐและศาสนา การให้เหตุผลแก่ความสำคัญแก่มนุษย์ที่แตกต่างกันโดยวัดได้จากความสามารถในการจ่ายเงินทุนพัฒนารถไฟ รถไฟ Snowpiercer ฉายภาพทั้งการเป็นยูโทเปียของบรรดาชนชั้นสูง นายทุน และนักวิทยาศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นดิสโทเปียของชนชั้นแรงงานรวมถึงมนุษย์ที่รัฐและศาสนาพยายามละทิ้ง การบริหารจัดการทรัพยากรภายในรถไฟเกิดจากการคำนวนทางเศรษฐศาสตร์ที่ประเมินความพอดีด้วยจำนวนมนุษย์ที่มีชีวิตกับปริมาณทรัพยากรที่จำกัด
ผู้ปกครองที่เหมาะสมคือผู้ที่เป็น ‘ผู้รู้’ และ ‘เทคโนแครต’ ผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้ในการจัดการรถไฟทั้งด้านเทคโนโลยีและทางสังคม การปฏิเสธระบบรัฐรถไฟที่เป็นวิทยาศาสตร์นี้สามารถนำไปสู่การปฏิวัติที่ค่อย ๆ ทำลายทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไปเรื่อย ๆ และในที่สุดก็นำพาเอาโอกาสในการล่มสลายของมนุษยชาติให้เกิดขึ้นที่สุด (แต่ Snowpiercer ก็ไม่ใจร้ายกับนักฝันยูโทเปียนัก เพราะในฉบับนวนิยายภาพนั้น ก็กล่าวถึงการที่มนุษย์สามารถออกจากรถไฟ The Icebreaker แล้วเริ่มสร้างอารยธรรมของมนุษยชาติต่อไปได้)
ดังนั้นวรรณกรรมดิสโทเปียชุด Snowpiercer กำลังโยนคำถามสำคัญให้แก่ผู้รับชมที่มีชีวิตอยู่ในยุคที่วิทยาศาสตร์เถลิงอำนาจ คำถามดังกล่าวมีตั้งแต่
“อำนาจรัฐที่เราใช้ชีวิตอยู่นั้นได้ควบคุมมนุษย์มากน้อยเพียงใด”
“ความจงรักภักดีต่ออุดมการณ์ของรัฐแลกมาด้วยการแบ่งแยกเบียดขับผู้คนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมไปมากเพียงใด”
“การเลือกทำร้ายผู้อื่นด้วยข้ออ้างของความจงรักภักดี ได้ทำลายสำนึกความเป็นมนุษย์ของเราหรือไม่”
“ด้วยข้ออ้างที่ดูน่าเชื่อถือ รัฐได้เถลิงอำนาจเผด็จการมากเพียงใด และอำนาจเผด็จการนั้นถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของใคร”
“ทางเลือกต่าง ๆ ที่รัฐหยิบยื่นให้ผู้คนในสังคม และกล่าวอ้างเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มากมายสนับสนุน มันแฝงแง่มุมของการทำร้ายหรือหยิบยื่นความตายแก่ผู้คนมากน้อยแค่ไหน”
และในอีกด้านหนึ่ง
“การต่อสู้กับอำนาจรัฐนำไปสู่สิทธิ เสรีภาพได้จริงหรือไม่”
“เพื่อการปฏิวัติ นักปฏิวัติต้องยอมสูญเสียอะไร และใครบ้าง”
“นักปฏิวัติมีความชอบธรรมเพียงใดในการตัดสินใจเสียสละชีวิตผู้อื่นเพื่ออุดมการณ์ของตน”
“นักปฏิวัติมีความชอบธรรมเพียงใดที่จะอ้างสิทธิ เสรีภาพในการทำลายรัฐ” และ “การทำลายรัฐที่กดขี่ข่มเหง จะนำไปสู่อะไรกันแน่”
เหล่านี้อาจจะเป็นคำถามที่จักรวาลดิสโทเปียนี้กำลังกระซิบบอกเราอยู่ ผ่านภาพสมมติของรัฐเผด็จการปิดตายในรถไฟที่กล่าวอ้างว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายของมนุษยชาติ
อ้างอิง
bacc channel. (2015, 14 Sep). Literature: วรรณกรรมดิสโทเปีย_ผศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์_Bangkok Creative Writing Workshop 4 (2015). Retrieved. https://www.youtube.com/watch?v=TQOiUAS9XPQ
Baum, S.D. (2014). Film Review: Snowpiercer. The Journal of Sustainability Education (JSE) 7. Retrieved. http://www.susted.com/.../film-review-snowpiercer_2014_12/.
Brown, G.M.F. (2018, 5 May). Karl Marx’s Theory of Class Struggle: The Working Class & Revolution. Retrieved. https://www.socialistalternative.org/.../karl-marxs.../
CJ Entertainment. (2013). เหตุการณ์ก่อนกำเนิด Snowpiercer. Retrieved. https://www.youtube.com/watch?v=tlExQA_tilw.
Croidheain, C.O. (2020). Snowpiercer (2013): The Fate of Capitalism as a Globalist Runaway Train (Eco-Nihilism, Supra-Nationalism, and Societal Collapse. Retrieved. https://www.researchgate.net/.../342690976_Snowpiercer...
Jones, S. (2020). Snowpiercer: Class struggle and revolution...on a train. Retrieved. https://www.marxist.com/snowpiercer-class-struggle-and....
Ketchell, M. (2019, 13 Nov). What is a ‘mass extinction’ and are we in one now?. Retrieved. https://theconversation.com/what-is-a-mass-extinction-and....
Orquiola, J. (2020). Snowpiercer Timeline Explained: When The Movie & TV Show Take Place. Retrieved. https://screenrant.com/snowpiercer-timeline-movie-show.../.
Slaughter, C. (1975). Marxism & the Class Struggle. Retrieved. https://www.marxists.org/.../philos.../works/en/slaughte.htm.
Snowpiercerwiki. (n.d.). Retrieved. https://snowpiercer.fandom.com/wiki/Snowpiercer_Wiki
thisisbarry.com. (n.d.). Snowpiercer (2013): Movie Plot Ending Explained. Retrieved. https://www.thisisbarry.com/.../snowpiercer-2013-movie.../
เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม