ชนสรณ์ สมหวัง: ชีวิตภายใต้รั้วศิลปากร กับมุมมองในวันที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโลก

ชนสรณ์ สมหวัง: ชีวิตภายใต้รั้วศิลปากร กับมุมมองในวันที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโลก
       บ่ายวันหนึ่งของเดือนกันยายน The People ได้มีโอกาสนั่งคุยกับนักศึกษาจากรั้วศิลปากรคนหนึ่ง ที่หลงใหลในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์และระบบคอมพิวเตอร์ ชายคนนี้มีชื่อว่า สรณ์-ชนสรณ์ สมหวัง นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 4 เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการถามว่าเหตุใดถึงเลือกเรียนคณะนี้ สรณ์นั่งลงและเริ่มเล่าย้อนกลับไปในวัยเด็กของเขา สรณ์เล่าว่าก่อนที่ชีวิตจะมาลงเอยกับเรื่องเทคโนโลยี ช่วงชีวิตหนึ่งของเขาเคยหลงใหลในวิชารัฐศาสตร์และการปกครองมาก่อน แม้คณะวิศวกรรมศาสตร์อาจไม่ใช่รักแรกของเขาในวันวาน แต่ ณ วันนี้มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เขารักไปแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของบทสนทนาที่จะพาเราไปสัมผัสเรื่องราวชีวิตของเขาภายใต้รั้วศิลปากร และมุมมองของผู้ชายคนนี้ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีผลต่อโลกใบนี้ The People : ความชอบในวิชารัฐศาสตร์ ที่สุดท้ายมาลงเอยที่คณะวิศวะ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้เกิดขึ้นตอนไหน ชนสรณ์ : ตอนเด็กก็ไม่ค่อยได้สนใจทางด้านนี้ ผมชอบเรื่องการเมืองการปกครอง ทางสังคมสงเคราะห์ ผมชอบแนวช่วยเหลือสังคม  เรื่องการบริหาร การช่วยเหลือคนยากไร้หรือด้อยโอกาส เพราะว่าผมชอบทำเรื่องเกี่ยวกับทางนี้ด้วย มีดู ๆ ไว้ตอนแรกว่าจะเลือกลงรัฐศาสตร์ ที่บ้านอยากให้เรียนทางด้านวิศวะมากกว่า แต่ส่วนตัวชอบรัฐศาสตร์ เพราะว่าตอนอยู่มัธยมฯ ก็เป็นประธานนักเรียนด้วย ได้ทำกิจกรรมนอกโรงเรียน ได้เป็นประธานสภานักเรียน สพม. เขต 3 ก็เลยคิดว่ารัฐศาสตร์น่าจะเป็นอะไรที่เหมาะกับเรา The People : ยากไหมที่ต้องเรียนในสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกตัวเอง ชนสรณ์ : ก็ยากครับ ต้องใช้ความเข้าใจ ต้องใช้ความพยายามสูงด้วย แล้วก็ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น The People : อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เราหันมาเลือกเรียนสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบคอมพิวเตอร์ ชนสรณ์ : ตอนแรกผมมีความสนใจทางด้านคอมพิวเตอร์ด้วย แต่ก็พอมาดู Open House ที่ศิลปากร ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบคอมพิวเตอร์ เขาเป็นการประยุกต์ศาสตร์ระหว่างคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์รวมกัน เป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเขาเขียนมาใหม่ ซึ่งแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น เราก็รู้สึกว่าสาขานี้น่าจะมีสาขาเดียวในประเทศไทยที่เขียนหลักสูตรใหม่ และประยุกต์ศาสตร์ทั้ง 4 อย่าง ก็คิดว่าน่าสนใจเลยลองมาเรียนที่นี่ ชนสรณ์ สมหวัง: ชีวิตภายใต้รั้วศิลปากร กับมุมมองในวันที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโลก The People : หลาย ๆ คนอาจไม่เคยรู้ว่าที่ศิลปากรมีสอนในสาขานี้ด้วย บรรยากาศการเรียนเป็นอย่างไร ชนสรณ์ : ปี 1 แรก ๆ ก็จะเรียนพื้นฐานก่อน เรื่องคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พอปี 2 ปี 3 ก็เรียนของภาควิชา ซึ่งเขาจะเน้นไปทางซอฟต์แวร์ เรียนภาษา เน้นการประยุกต์ใช้ การควบคุม Mechatronics ในโรงงาน และเดี๋ยวนี้ก็ให้นักศึกษาอบรมเกี่ยวกับ IoT หรือ Internet of Things พวก Smart Home ปิด-เปิดไฟแบบใช้โทรศัพท์ เราสามารถทำเองได้ ออกแบบเองได้ สอนการเขียนวงจร ออกแบบวงจร The People : พูดถึง IoT ส่วนตัวเรามองเรื่องนี้อย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นจากสิ่งนี้มาพร้อมกับการ Disrupt ชีวิตคน ชนสรณ์ : ผมมองว่า Internet of Things มันเป็นสิ่งที่สะดวกและรวดเร็ว อย่างในอนาคตก็อาจจะมีแค่ชิปติดสินค้า แล้วก็เดินผ่านเครื่องสแกนและหักเงินผ่านบัญชีเราเลย โดยเราไม่จำเป็นต้องมีแคชเชียร์ เพราะมันเป็นการอำนวยความสะดวก และมันจะมีชิปสำหรับตรวจสอบสินค้า โดยไม่ต้องมานั่งเช็กของ ซึ่งเราต้องมานั่งสแกนเช็กพัสดุ แค่เราผ่านเครื่องสแกนเราก็สามารถทราบแล้วว่าพัสดุในรถคันหนึ่งมันมีอะไรบ้าง มีกี่ชิ้น  มันอำนวยความสะดวกให้เรา The People : อะไรคือความต่างของศิลปากรที่เราสัมผัสได้นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามา ชนสรณ์ : ก้าวแรกที่เข้ามาตั้งแต่มัธยมฯ เลย รู้สึกว่ารุ่นพี่เขาเป็นกันเองมาก อุ่นใจเหมือนได้อยู่บ้านอีกหลัง เคยมาทับแก้ววิชาการตอนมัธยมฯ ตอนนั้นจะมีพี่ ๆ คอยแนะนำตั้งแต่ทางเดิน แนะนำคณะ ไม่ว่าพี่เขาจะอยู่คณะไหน เหมือนเข้ามาช่วยเหลือเราตลอด แล้วตอนผมเรียนปี 1 ผมเดินในทางเปลี่ยว ๆ พี่คนหนึ่งเขาขับมอเตอร์ไซค์จากคณะจิตรกรรม ผมรู้ว่าเขาน่าจะเรียนจิตรกรรม เพราะว่าดูจากสไตล์การแต่งตัวเขา แล้วผมเดินในที่เปลี่ยว เขาก็บอกว่า “น้องไปเปล่า เดี๋ยวพี่ไปส่งหน้ามอ” ซึ่งผมไม่รู้จักเขาเลย แล้วเขาก็รับผมไปส่งหน้ามอ นั่นคือความเป็นกันเองที่ผมสัมผัสได้ พี่เขาเหมือนเป็นพี่น้อง ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เห็นใครเดือดร้อนก็พยายามไปรับไปส่ง พอประสบอุบัติเหตุ ทุกคนก็เข้ามาช่วยเหลือ นอกจากบรรยากาศดีก็มีรุ่นพี่ที่คอยซัพพอร์ต และอาจารย์ที่เทคแคร์เราตลอด เราสามารถปรึกษาอาจารย์ทุกเรื่องเลยก็ว่าได้ เหมือนครอบครัวเดียวกัน อาจารย์คอยซัพพอร์ตทั้งเรื่องทุนการศึกษา เวลาในคลาสเรียนอันไหนที่เราไม่เข้าใจ อาจารย์เขาเหมือนวัยรุ่นหน่อย เขาก็จะสอนจนกว่าจะเข้าใจ เหมือนเป็นที่เปิดโอกาสมาก ๆ เป็นที่เปิดโอกาสให้เราตลอด The People : ศิลปากรยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้เราคิดได้มากกว่า? ชนสรณ์ : ใช่ครับ มีการเสนอทฤษฎีใหม่ หรือมีการพูดคุย มีการถกกันเรื่องทฤษฎี เรื่องเทคโนโลยีที่คิดว่ามันไม่ถูกต้อง และมีการเสนอแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อให้อาจารย์ได้ทราบ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักศึกษา มีการแลกเปลี่ยนทฤษฎี มีการพูดคุย และมีการเสนอโปรเจกต์ต่าง ๆ มีการสนับสนุนเรื่องสตาร์ทอัพด้วย The People : ความสร้างสรรค์ในแบบศิลปากรคืออะไร ชนสรณ์ : ผมมองว่าการเรียนการสอนด้านวิศวะของที่นี่มันไปด้วยกันกับความสร้างสรรค์ด้วย นั่นคือสิ่งที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น วิศวะที่ศิลปากรแตกต่างเรื่องการทำงาน เรื่องการอยู่ร่วมกัน ความคิดสร้างสรรค์ก็เลยฉีกและแตกต่างจากการทำงานของระบบอื่น ๆ มันมีความเป็นพี่เป็นน้องมากขึ้น อาจจะมีการทำงานที่ไม่เครียด ตลก ๆ สนุก ๆ เป็นการทำงานร่วมกันที่สนุก ชนสรณ์ สมหวัง: ชีวิตภายใต้รั้วศิลปากร กับมุมมองในวันที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโลก The People : ส่วนตัวเราได้ทำหน้าที่เป็นประธานของหอพักด้วย อะไรคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้เมื่อมาทำหน้าที่ตรงนี้ ชนสรณ์ : ผมก็เป็นประธานคณะกรรมการหอพัก หน้าที่หลัก ๆ คือการดูแลนักศึกษาที่อยู่ในหอพักทั้ง 10 หอ แต่ละห้องก็จะมีคณะกรรมการประจำหอ จะดูแลน้อง พูดได้ว่าแทบจะตลอด 24 ชั่วโมงเลยก็ได้ เพราะอาจจะมีเรื่องฉุกเฉิน น้องหอบ ช็อก ตี 4 ตี 5 เราก็ต้องตื่นมาดูแลน้อง แทบตลอด 24 ชั่วโมงเลย เราก็เหมือนเป็นการรับผิดชอบชีวิตคนคนหนึ่งที่พ่อแม่เขาฝากมาถึงหอ ที่เหลือก็จะเป็นหน้าที่เราที่ดูแลน้องต่อ เราเป็นเหมือนพี่สอนน้องให้รู้ว่าเขาควรใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อเขาออกมาจากอ้อมอกพ่อแม่แล้ว สอนให้เขาปรับตัว และมีกิจกรรมสานสัมพันธ์พี่น้องแต่ละคณะหรือคณะอื่น ๆ ที่ทำให้คนที่อยู่ในหอรู้จักกันมากขึ้น หน้าที่นี้ทำให้เราได้เรียนรู้การแก้ปัญหาทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นภายในหอ เรื่องการคุยกับคนว่าเราควรคุยกับเขาอย่างไร เพราะว่าเราต้องรับมือหลายสถานการณ์ ซึ่งปัญหาพวกนี้ผมว่าเป็นปัญหาที่สอนให้เราโตขึ้น เรียนรู้มัน แล้วก็รับผิดชอบมันให้ได้ The People : เคยรู้สึกไหมว่าการต้องดูแลชีวิตคนอื่นในหอเป็นภาระ ชนสรณ์ : โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามันไม่ใช่ภาระ คิดว่ามันเป็นงานที่ไม่ช้าก็เร็วยังไงเราก็ต้องเจอ เหมือนเป็นการฝึกการทำงาน เหมือนเราเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ก็เป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่เจอตอนนี้ในอนาคตก็ต้องเจอ สมัยนี้บางครั้งคนเราทำอาชีพเดียวก็คงไม่ได้ ต้องทำสองอย่างไปพร้อมกัน เพราะไม่อย่างนั้นระบบ AI มันจะเข้ามาแทนที่ เดี๋ยวนี้คนเราก็ต้องมีสกิลมากกว่าหนึ่งอย่าง หรือว่าทำสองอย่างพร้อมกัน เป็นการฝึกไปในตัวด้วย The People : อะไรคือเอกลักษณ์ของศิลปากร ชนสรณ์ : ถ้ามองในมุมกายภาพก็น่าจะเป็นเรื่องการแต่งตัว แต่ในมุมมองของผมน่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน เรื่องนิสัยการอยู่ร่วมกัน มันเป็นการที่เราเข้ากับใครก็ได้ เราเป็นคนที่จริงจังกับงาน และเราเน้นในเชิงปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ทำให้เราได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน เรื่องการปฏิบัติ เรื่องความคิดที่แตกต่างจากอย่างอื่น  อย่างระบบต่าง ๆ ที่คนบางคนก็อาจจะคิดไม่ได้ในมุมมองหนึ่ง แต่เพื่อนบางคนเขาจะเห็นอีกมุมมองหนึ่ง เพราะว่าจินตนาการเขาไม่ค่อยจำกัดเรื่องพวกนี้ บางครั้งเราคิดไม่ถึงสโคปเรื่องเล็ก ๆ แล้วเขาสามารถมองออกในเรื่องที่เรามองไม่ออก The People : มองว่าอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนหรือเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไร ชนสรณ์ : ตอนนี้ผมสนใจที่วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมครับ ผมสนใจทางด้านโซลาร์เซลล์ พลังงานทดแทน เพราะว่าพลังงานทดแทนอีกไม่ช้าก็เร็วในอนาคตจะต้องมาถึง ผมมองว่าอีกไม่ใกล้ไม่ไกล อย่างเทสลาก็มาแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าก็เริ่มเข้ามาตีตลาดพอสมควร อีกไม่ช้าก็เร็ว ผมคิดว่าทุกอย่างน่าจะใช้ระบบไฟฟ้าหมด ถ้าถามในมุมมองของผมคิดว่าในอนาคตเราไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันไปเลยก็ได้ ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจด้วยส่วนหนึ่ง แต่ถ้าพูดถึงอนาคตก็คิดว่าคงไม่จำเป็นต้องใช้ อยากให้เปลี่ยนทั้งหมด เพราะว่ามันเป็นการพึ่งตัวเองด้วย ไม่จำเป็นต้องไปนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ คือในมุมมองผมในอนาคตก็คิดว่าน่าจะเปลี่ยนทั้งหมด ชนสรณ์ สมหวัง: ชีวิตภายใต้รั้วศิลปากร กับมุมมองในวันที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโลก The People : ‘ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น’ ในมุมมองของคุณ ชนสรณ์ : ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น สำหรับผมก็เหมือนความดีที่เราทำหรือทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลัง นั่นคือศิลปะ ถึงชีวิตเราจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว แต่ยังเหลือความดีที่คนยังจดจำอยู่