13 มี.ค. 2566 | 13:25 น.
- ‘Miss Fabulous Thailand 2023’ ได้ผู้ชนะเลิศคือ ‘เมญ่า ซันซัน’
- ‘เมญ่า ซันซัน’ มีสภาวะ Ectodermal Dysplasia หรือที่คนไทยบางส่วนเรียกกันว่า สังข์ทอง แต่เธอฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกระทั่งมาสวมมงกุฎได้สำเร็จ
จบลงแล้วสำหรับการประกวดเวทีนางงามรูปแบบใหม่ (แบบสับ)... ‘Miss Fabulous Thailand 2023’ หรือชื่อภาษาไทยคือ ‘มิสฟ้าบุญเลิศ’ ในการประกวดปีนี้ แฟน ๆ ได้เห็นความแปลกใหม่ในหลาย ๆ เรื่องหากเทียบกับการประกวดในปีที่แล้ว เช่น หน้าตา ที่มา และรูปลักษณ์ของผู้เข้าประกวดที่มีความหลากหลายมากขึ้น การคัดเลือกผู้เข้าประกวดจากระดับภาคสู่ระดับประเทศ และคำถามนางงามที่โหดขึ้นและยิงเป้าตรงจุดได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การแข่งขันในปีนี้ดูเข้มข้นและฟาดฟันมากขึ้นหลายระดับ
ซึ่งในที่สุด เราก็ได้เห็นโฉมหน้าผู้คว้ามงกุฎเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เธอไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการบันเทิงไทย เราอาจจะเคยเห็นหน้าค่าตา หรือได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของเธออยู่บ้าง เธอผู้น้้นคือ ‘เมญ่า ซันซัน’
บทความนี้จะชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับตัวตนและประวัติที่มาของเธอ รวมถึงชวนถกถึงเรื่องมาตรฐานความงามที่ดูจะเป็นประเด็นร้อนในแวดวงประกวดนางงามไทยในช่วง 2-3 ปีมานี้
‘เมญ่า ซันซัน’ จากนางงาม สู่มิสฟ้าบุญเลิศ 2023
‘เมญ่า ซันซัน’ หรือชื่อจริงคือ ‘โกศล แสงวิเชียร’ จบการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช สาขาคีตศิลป์ไทย ด้านการขับร้องเพลงไทยเดิม
ก่อนหน้านี้ เมญ่ากับพี่ชายของเธอมีสภาวะที่คนไทยเรียกกันว่า ‘สังข์ทอง’ (Ectodermal Dysplasia) ทั้งคู่เคยหารายได้พิเศษจากการแสดงตลก และจากจุดนั้น เมญ่าค่อย ๆ กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ
ด้วยความชอบการประกวดนางงามเป็นชีวิตจิตใจ เธอหมั่นเข้าประกวดตามเวทีเล็ก ๆ และคว้ารางวัล ‘นางงามพยายามสวย’ แทบจะทุกเวทีที่ขึ้นประกวด
ปี 2018 เมญ่าตัดสินใจเข้าประกวดมิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์ส เวทีประกวดความงามในฝันของสาวข้ามเพศหลาย ๆ คน เธอมาพร้อมกับบทสัมภาษณ์อันร้อนแรงที่ว่า “ตอนเด็ก ๆ นอนดูประกวดทิฟฟานี่ ก็อยากจะมาเวทีนี้ แต่ก็มีเสียงเข้าหูตลอด มึงอะไม่สวย แบบนู้น แบบนี้ เนี่ย วันนี้ฉันมาแล้ว ทำไมล่ะ” ซึ่งการมาเข้าร่วมประกวดของเมญ่าในครั้งนั้นสร้างเสียงฮือฮาและเป็นกระแสไม่น้อย แต่แล้วสุดท้าย เธอก็ไม่ผ่านเข้ารอบ
เธอสานฝันการเป็นนางงามอีกครั้งในการประกวด Miss Fabulous 2023 เวทีที่ได้เปิดช่องทางให้ LGBTQ+ สามารถเข้าร่วมการประกวดกับ ‘ผู้หญิง’ ได้อย่างเสมอภาค เมญ่าเข้าร่วมในฐานะตัวแทนจากภาคใต้
ในการประกวดช่วงแรก ๆ เมญ่าไม่ได้มีความโดดเด่นเหนือผู้เข้าประกวดคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้หลายคนคงมองว่าเมญ่าอาจมาเพื่อเป็นไม้ประดับของการแข่งขัน หรือเพื่อสร้างสีสันเท่านั้น เพราะอาจจะยังติดภาพเมญ่าในฐานะนักแสดงตลกและนางงาม ‘พยายามสวย’
แต่พอการแข่งขันดำเนินมาเรื่อย ๆ เมญ่าเริ่ม ‘โชนแสง’ มากขึ้น เธอแสดงศักยภาพ รวมถึงทัศนคติที่หลายคนชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นบทบาทในฐานะพี่ที่ดูแลน้อง การวางตัวในสังคมในฐานะLGBTQ+ รวมถึงความประสงค์ที่อยากจะเป็นกระบอกเสียงแก่คนที่เกิดมามีร่างกายที่ถูกมองว่าผิดแปลกจากคนปกติ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แตกต่างกับภาพลักษณ์ในอดีตที่ผ่านมาของเมญ่า โดยสิ้นเชิง
เราได้เห็นอีกมุมของเธอที่ไม่ใช่คนตลก แต่เป็นคนที่ตกผลึกกับการใช้ชีวิต ยืนหยัดและชัดเจนกับสิ่งที่ตนเชื่อมั่น
เมญ่า นำเสนออีกด้านของความเป็นตัวเธออย่างชัดเจนมากในรอบสุนทรพจน์ เธอกล่าวว่า
“(...) เวลาที่คนเจอเราตามที่สาธารณะ เขาจะเรียกเราสังข์ทอง เอ็ดดี้ หรือสุเทพ ชื่อของเรามันมี มันเป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่เรา เพราะพ่อแม่ตั้งชื่อให้เรา เพื่อให้ลูกของเขาชื่อนี้ เรามีชื่อ อยากให้เรียกชื่อเรา เคารพตัวเอง เคารพคนอื่น เคารพกฏเกณฑ์ของสังคม รักตัวเอง รักผู้อื่น ...
(ร้องเพลง)เปิดให้เห็นหน้าจริง ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ไม่ใช่เธอ (เธอถอดต่างหู) แบบที่สวยเลิศเลอ หรือแค่ตามความหมายของใคร ๆ (เธอถอดต่างหูอีกข้าง) ใจเธอเป็นของจริง (เธอถอดวิกผม) สวยยิ่งกว่าสิ่งที่เคลือบไว้ แต่งให้สวยเท่าไหร่ คงไม่สวยเท่าตัวของตัวเธอเอง ... (เธอนำมือไปจับหน้าของเธอ) อันนี้คือไม่ใช่สังข์ทอง ไม่ใช่เอ็ดดี้ ไม่ใช่สุเทพ แต่คือเมญ่า ซันซัน”
การนำเสนอตัวตนอีกด้านของเธอที่ชวนสร้างเซอร์ไพรส์แก่ผู้ชม ทำให้แฟน ๆ ตกหลุมรักและเทคะแนนโหวตให้เธอ จนเธอกลายเป็นผู้เข้าประกวดที่มีคะแนนโหวตสูงสุด และนั่นส่งผลให้เธอเฉือนเอาชนะสองตัวเก็งอย่าง ‘รีน่า คาริน่า มูลเลอร์’ (ดีกรีอดีต TOP 11 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022) และ ‘เซีย อานาสเตนเซีย โอโกเย’ (ดีกรีอดีตผู้เข้าร่วมการประกวด The Face Thailand) ชัยชนะของเมญ่าในครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการประกวดนางงามในบ้านเรา และนำมาสู่ประเด็นเรื่อง ‘มาตรฐานความงาม’ ที่เป็นที่ถกเถียงกันมากในแวดวงนางงามช่วงนี้
Miss Fabulous เวทีการประกวดนางงามมิติใหม่และความตั้งใจสั่นสะเทือนคำนิยามของความงามที่แรงกว่าทุก ๆ ครั้ง
หมุดหมายของประเด็นเรื่องมาตรฐานความงามในไทยเริ่มต้นจากการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2021 ปีที่ ‘แอนชิลี สก๊อต-แคมมิส’ คว้าชัยชนะพร้อมกับการรณรงค์ให้ทุกคนมั่นใจในรูปร่างของตัวเองไม่ว่าจะเกิดมาเป็นแบบไหน และตั้งคำถามต่อมาตรฐานความงามภายใต้แคมเปญที่ชื่อว่า #RealSizeBeauty
ตามด้วยเจ้าของนางงามฝากฝั่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์ที่ออกมาโจมตีความคิดดังกล่าวโดยยืนยันว่าความงามจำเป็นต้องมีมาตรฐาน และมาตรฐานเรื่องความงามที่วัดได้จากภายนอกเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการประกวดความงาม ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของเวทียังออกโรงประกาศว่านางงามคนไหนที่จะมาประกวดเวทีมิสแกรนด์ฯ แล้วจะมาขายไอเดียเรื่องการลบล้างมาตรฐานความงาม แบบเดียวกับแคมเปญ #RealSizeBeauty จะถูกปัดให้ตกรอบ
ต่อมา ประเด็นมาตรฐานความงามถูกพูดถึงเป็นอย่างมากอีกครั้งในการประกวด Miss Fabulous 2023 ในตอนหนึ่ง กองประกวดเคยนำผู้เข้าแข่งขันทั้ง 12 คนมาถกเถียงกับเรื่องมาตรฐานความงามภายใต้ประเด็นที่ว่า ‘นางงามยังต้องงามอยู่หรือไม่’
ซึ่งก็มีทั้งผู้เข้าประกวดที่เชื่อว่าเป็นเรื่องควร/ไม่ควร หรือบางคนนำเสนอว่าคนในสังคมควรช่วยกันขยายคำนิยามของคำว่าความงามออกไปให้กว้างเกินกว่าจะเป็นการมองกันที่รูปลักษณ์แต่เพียงเท่านั้น แต่มันควรผนวกรวมเอาเรื่องของความสามารถ ความมั่นใจในการใช้ชีวิต ความคิด และทัศนคติเข้าไปด้วย นำไปสู่การโจมตีสังคมทุนนิยมที่พยายามวางกรอบความคิดของผู้คนให้มองความงามเพียงรูปแบบเดียว
ตามด้วยระเบิดลูกสุดท้ายคือ ผลการประกวดที่สาวเมญ่า ผู้ที่มีเพศ รูปลักษณ์ และรูปร่าง ที่สวนทางกับความงามในอุดมคติโดยสิ้นเชิงสามารถคว้ามงกุฎไปครอบครอง
การกระโดดเข้ามาในศึกแห่งการช่วงชิงคำนิยามของความงามของเวที Miss Fabulous ในครั้งนี้วางเดิมพันในหลายแง่
ในแง่สังคม... ชัยชนะของเมญ่าครั้งนี้จะทำให้ความสามารถ ความพยายาม และทัศนคติ เข้ามามีพื้นที่ในนิยามของความงามตามอุดมคติสังคมได้จริงหรือไม่ หรือมากน้อยเพียงไร
หรือในแง่ของภาพลักษณ์เวที... สาธารณชนจะตัดสินว่านี่คือมิติใหม่ของนิยามความงามที่ยึดโยงกับคุณค่าสากลโลกแบบที่ท้าทายยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ หรือเป็นเพียงเกมของเวทีนางงามเล็ก ๆ ที่ต้องการเรียกกระแสความสนใจ?
ภาพ: Miss Fabulous Thailand/Facebook