19 พ.ย. 2567 | 17:09 น.
KEY
POINTS
เพราะทุกคนต่างล้วนมีเสียงในใจที่บอกเล่าให้ใครฟังไม่ได้
อาจเป็นต้นกำเนิดของบาดแผลวัยเด็ก ร่องรอยบาดแผลจากความรัก ความอัดอั้นจากการถูกกดทับในสังคมที่ไม่มีใครเข้าใจ และความหวังที่อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
เช่นเดียวกับเจ้าของเก้าอี้ 5 ตัว 5 รูปแบบจากสารคดี FACE THE VOICE OF US โดย Eyedropperfill ที่กำลังจะฉายในงาน ‘FACE THE VOICE มองด้วยตา ฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ในวันที่ 23 - 24 พฤศจิกายน 2567 นี้ ต่างมีเสียงและเรื่องราวของเขาเอง
การปรากฎตัวต่อหน้ากล้องเพื่อบอกเล่าเสียงของเขาต้องใช้ความกล้า เพราะแง่มุมหนึ่งมันคือการสู้กับบาดแผลและความรู้สึกในใจของพวกเขา
ซึ่งไม่มีใครรู้ดีไปมากกว่าตัวพวกเขาเอง
ต่อจากนี้ คือ 5 เสียงของคนในเมืองใหญ่ที่ไม่เพียงแต่เล่าถึงชีวิต บาดแผล และความเจ็บปวด แต่ยังเป็นการทำให้เราเห็นว่า พวกเขายืนหยัดและต่อสู้เพื่อชีวิตที่อิสระและชีวิตธรรมดา ๆ โดยไม่ต้องกังวลสายตาของใคร
ขณะเดียวกันบางทีเสียงของพวกเขาอาจทำให้เรารู้ว่า ทุกเสียงของทุกคนในประเทศนั้นมีความหมายและสำคัญ
ดูได้จาก 5 เจ้าของเรื่องเล่าของเก้าอี้ 5 รูปแบบนี้
สำหรับคุณ ความรักคืออะไร?
การมอบความหวังดีโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน การรักแบบให้ทั้งใจ หรือการยอมจำนนเพื่อให้คนสองคนได้อยู่ด้วยกัน
เมื่อมีรัก ย่อมมีทุกข์
ใช่… ความรักของชไมพร เจ้าของเก้าอี้เบาะผ้าสีเขียวเป็นเช่นนั้น เธอถูกความรักทำร้าย ถูกอำนาจของ ‘รัก’ กรีดดวงใจและทำลายความเชื่อมั่นของผู้หญิงที่ชื่อ ‘ชไมพร’ ให้เลือนหายไป
จากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังจะมีอนาคตที่สดใส ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม เพราะถูกอดีตคนรักทำร้าย
“เราไม่เคยคิดเลยว่าโลกนี้จะมีใครมาทำร้ายใครได้รุนแรงขนาดนี้ แต่พอตอนที่เราโดน เรารู้สึกเหมือนโลกเรา ชีวิตเรามันดับ มันมืดมนไปหมด ทำไมคนมาทำร้ายเราได้ขนาดนี้ เราไม่เคยทำร้ายใครเลยนะ”
เพราะในวันที่โลกถล่ม เธอไม่กล้าพูดกับใคร ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ เดินไปทางไหนก็มีแต่คนกลัวด้วยเงื่อนไขทางร่างกาย
จนกระทั่งเธอเข้ามาเป็นแกนนำอาสาสมัครด้านการแก้ไขและลดความรุนแรงในชุมชนกับผู้คนที่เผชิญความรุนแรงในสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้งานนี้สามารถเรียกความรักในตัวเอง ความเชื่อ และความมั่นใจของชไมพรให้กลับมาอีกครั้ง
“มันเป็นงานที่ทำให้เราฟื้นฟูความมั่นใจในตัวเอง ความสามารถที่เราคิดว่าไม่มี ฟื้นฟูเราขึ้นมา แต่พอเราทำ แล้วลงไปช่วยเหลือเขา ความที่เราไม่กล้า มันก็ทำให้ความรู้สึกที่ช่วยเหลือ ทำให้ความมั่นใจในตัวเองมันเพิ่มมาในตัวเรา”
และอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้หัวใจที่แตกสลายกลับมาพองโตอีกครั้ง คือ กำลังใจจากครอบครัวที่คอยอยู่เคียงข้างและไม่เคยทิ้งไปไหน
ชไมพรเป็นแค่หนึ่งเสียงจากผู้หญิง ๆ หลายคนในสังคมที่มาบอกเล่าบาดแผลจากความรัก แต่นั่นไม่ใช่ทั้หมด
ความรักเป็นสิ่งสวยงาม และเช่นเดียวกันมันทำให้เราเติบโต
แต่ท้ายที่สุด ไม่ว่าใครก็ควรได้รับสิทธิที่จะมีความรักดี ๆ และไม่ถูกใครทำร้ายจนหลงลืมตัวเองไป
หญิงสาวคลุมฮิญาบ ใส่แว่น ปากถูกแต่งแต้มด้วยลิปสีชมพู คือ เจ้าของเก้าอี้เหล็กสีชมพู
เธอคือ ‘อัส’ LGBTQ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในศาสนาอิสลามมาตั้งแต่เกิด และถูกพร่ำบอกให้เป็นผู้ชายตามเพศสภาพของเธอ
แต่ถึงจะเป็นเดินตามสังคม เป็นตามที่คนอื่นบอก แต่อัสก็รู้สึกว่าเธอไม่เคยถูกยอมรับจากคนอื่นเลย ทั้งเรื่องเพศที่อยากเป็น หรือศาสนาที่เธอนับถือ
“เหมือนคนไม่ได้ยอมรับในสิ่งที่ประกอบสร้างเป็นตัวเรา” อัสบอกไว้แบบนั้น
คำตัดสินจากคนอื่น และการกระทำที่ล่วงเกินร่างกายจากคนคนหนึ่งเพราะเพียงอารมณ์ชั่ววูบครั้งเดียว ทำให้เป็นบาดแผลที่ไม่มีวันหาย
เธอพูดด้วยเสียงสั่นเครือว่า “เราถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่าคุณค่าของตัวเองคืออะไร คือ การต้องยอมจำนนไปเป็นเครื่องมือบำบัดความใคร่ทางเพศ ให้กับคนเพศหนึ่งที่ยึดมั่นถือมั่นมากกว่าเพศเราเหรอ”
วันนี้เธอเป็นนักพัฒนานโยบายเกี่ยวกับการศึกษา ความหลากหลายทางเพศ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และพิสูจน์ตัวเองว่าถึงจะแตกต่าง แต่ทั้งหมดก็เพื่อชีวิตที่ ‘ปกติ’ เหมือนที่สังคมบอก
“อัสน่าจะต้องพิสูจน์ตัวเองทั้งชีวิต เพื่อคืนความปกติให้กับชีวิตอัสหรือคนที่มีลักษณะทับซ้อนคล้าย ๆ กับเรา”
อาจเป็นเพราะคำพูด ความเห็นของคนอื่น และสายตาจากคนนอก ทำให้วันนี้อัสตกตะกอนความคิด และเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากเป็น
มากกว่านั้น วันนี้เธอคือคนที่มอบอิสระ โอบรับด้านบวกและด้านลบของตัวเอง เข้าใจ และอยู่กับมันให้ได้
รวมถึงคงไม่มีอยากใช้ชีวิตบนไม้บรรทัดและคำตัดสินของคนอื่น
“ณ วินาทีแรกที่เราเกิดมา เราเกิดมาโดยเนื้อตัวร่างกายเรา ไม่มีอะไรเลย และก็ไม่มีการตีตราตัดสิน แต่พอใช้ชีวิตไป มันเป็นคนเราด้วยกันเองหรือเปล่าที่มาบอกว่าเราต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ ถ้าเราไม่เป็นแบบนี้ เราไม่มีคุณค่าในชีวิตเท่ากับคนอื่น”
เพราะไม่ว่าอย่างไร การใช้ชีวิตคือการได้เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดในทุกวันอยู่แล้ว
“ตอนอยู่พื้นที่สามจังหวัด เราก็เป็นคนหมู่มาก ไม่ได้รู้สึกถึงชายขอบขนาดนั้น แต่พออยู่กรุงเทพฯ จริง ๆ เราเป็นคนนอกนี่นา”
ความรู้สึกของ ‘ฮีซัมร์’ ผู้ที่ใช้ ‘พรม’ เป็นตัวแทนในการเล่าเรื่อง เขาเติบโตในอำเภอสมัยโกลก จังหวัดนราธิวาส ก่อนจะเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ
และเขาก็คิดว่าสิ่งที่จะช่วยลดอคติในสังคม คือ สื่อ
เขาอยากจะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องมุสลิมผ่านหนังที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น ก่อนหน้านี้เขาอาจจะตัดสินตัวเองก่อนว่า ชาวมุสลิมเป็นตัวร้ายในเรื่องเล่าของใครสักคน
นั่นอาจเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด มุสลิมเองก็มีเรื่องราวของตัวเอง มีเรื่องดี ๆ ให้เรายิ้มและหัวเราะได้เหมือนกัน
“สิ่งที่แย่ที่สุด ไม่ใช่โลกภายนอกมา judge เรา แต่เรา judge ตัวเองก่อนแล้ว”
ดังนั้นเป้าหมายของการทำหนังของ ‘ฮีซัมร์’ ในวันนี้ไม่ใช่การทำหนังเพื่อรายได้ แต่อยากให้หนังบอกเล่าวิถีมุสลิมและส่งเสียงของคนทำไปถึงคนดูได้
“หนังมันคือไมโครโฟนที่จะระบายความอัดอั้นออกมา เราก็เลยใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือในการพูด สิ่งที่อยากพูด
“สิ่งที่เป็นรางวัลไม่ใช่เทศกาลอย่างเดียว แต่เป็นการที่เสียงของเรามันไม่ถึงคนอื่นจริง ๆ”
ปี 2567 ‘สมใจ’ กำลังใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ในปีที่ 80 แล้ว
และเขาในวัย 80 ปีก็เลือกที่จะออกมาอยู่คนเดียว เพราะอยากให้ตัวเองเป็นภาระให้กับลูกหลาน
สัญญาณหนึ่งที่ทำให้เขารู้ว่าเขาแก่ คือ วันที่ร่างกายเริ่มประท้วง เริ่มเหนื่อย เริ่มปวดขา แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขามีความสุขกับวัยชรา คือ ความสุขที่มาจากใจ
“ต้องทำใจให้ได้ แล้วความสุขจะเกิด”
ทำใจว่าร่างกายมันต้องเสื่อมลง ทำใจว่าสิ่งที่เราเคยมองว่ามีค่า แต่ในมุมมองของลูกหลานอาจไม่เป็นแบบนั้นแล้ว ทำใจว่าวันหนึ่งเราก็คงแก่ลงจริง ๆ
ทำใจในความหมายของสมใจ คือ การเตรียมใจ ดังนั้น เขาจึงเลือกที่จะมีความสุขกับตัวเองในทุกวัน แล้วถ้าชีวิตจะกำหนดให้เขาต้องนอนติดเตียงหรือเป็นเจ้าชายนิทรา เขาก็พร้อมที่จะบอกลูกหลานว่าให้เขาหลับไปตลอดกาลได้เลย
“วันที่ผมจากไป ผมจะสั่งเขาว่า ถ้าหากโรคภัยใกล้เจ็บ แล้วมันติดเตียง ผมอยากให้ถอดปลั๊กออก อยากให้เดินเรื่องต่อ”
เพราะถ้าวันหนึ่งที่ร่างกายเสื่อมลง ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราจะยอมรับได้ ทำใจได้ และอยู่กับสิ่งนี้ได้
“วันหนึ่งหัวเข่าเดินไม่ได้จริง ๆ หัวเข่ามันไม่เจ็บเท่าที่ควร เพราะใจรับทราบล่วงหน้าแล้ว”
สำหรับชายวัยชราคนนี้ เหตุผลที่เขาตื่นขึ้นมา คงไม่ใช่เพราะเงินทองหรือสิ่งของนอกกาย แต่เป็นการลืมตาเพื่อมองหาความสุขให้ตัวเองและเป็นพ่อของลูก ๆ ที่ไม่ได้เป็นภาระอันหนักอึ้งของคนรุ่นต่อไป
เท่านั้นก็คงเพียงพอแล้ว…
ก่อนจะมาเป็น ‘นิกร’ วันนี้ เขาคือคนหาเช้ากินค่ำที่มีรายได้แบบวันต่อวัน แต่วิกฤตโควิด 19 กลับพรากบ้านของเขาไป
เขาจึงกลายเป็น ‘คนไร้บ้าน’ หน้าใหม่ ปัจจุบันเป็นคนปล่อยเช่าพระเครื่อง เมื่อถามว่านิยามของคนไรบ้านคืออะไร เขาบอกว่า “ตอบไม่ได้เลยครับ”
วันนี้เขาเดินเข้าศูนย์พักพิง มีหลายเรื่องที่เขาต้องปรับตัว เพื่ออยู่ให้ได้ และฝันว่าสักวันหนึ่งเขาจะมีบ้านเป็นของตัวเอง
ในฐานะคนดูแลศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ‘โด่ง’ บอกว่า ตั้งแต่เกิดมา คงไม่มีใครคิดว่าจะต้องมาใช้ชีวิตแบบนี้ เพราะทุกคนมีโอกาสเป็นคนไร้บ้านได้หมด
เพราะคนไร้บ้าน คือ ภาพสะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจ สังคม และลึก ๆ มันคือความเปราะบางของโครงสร้างประเทศ
“พวกเขาต้องมีหลัก มีที่นอน กินอิ่ม นอนหลับ เขาจะได้รู้ว่าพรุ่งนี้เขาจะเอายังไงกับชีวิต”
และสำหรับนิกร บ้านที่อยากอยู่ คือ บ้านแบบไหนก็ได้ ขอแค่ให้อยู่ได้ เพื่อชีวิตของตัวเอง
“บ้าน คือ ฐานที่อยู่ มั่นคง ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่เป็นภาระสังคม ก็มีอิสระหน่อย ก็วิ่งหางานได้ ชีวิตสบายขึ้น
“จะเป็นบ้านที่ไหนก็ได้ ต่างจังหวัดก็ได้ บั้นปลายมีบ้าน ขอให้มีบ้านอยู่”
เรื่องเล่าทั้ง 5 เรื่อง ผ่านเก้าอี้ 5 ตัว คือ ภาพสะท้อนสังคมที่มีอยู่ แต่เราอาจมองข้ามไป
แต่พวกเขา คือ มนุษย์ที่ใช้ชีวิตในสังคมของเรา และเป็นมนุษย์ที่กำลังต่อสู้กับชีวิตตัวเองเหมือนกับอีกหลาย ๆ คน
และบอกให้เรากลับมาดูว่า ในสังคมที่กำลังเดินหน้า เรากำลังทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือไม่
นี่คือส่วนหนึ่งของงาน ‘Face the voice : มองด้วยตา ฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ มารับฟังเรื่องราวเพื่อสร้างความเข้าใจทำลายอคติกับ ‘FACE THE VOICE มองด้วยตา ฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ได้ในวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567เวลา 10.00 - 20.00 น. @ มิวเซียมสยาม (Museum Siam)
นอกจากนี้ในงานจะพบกับนิทรรศการที่ซ่อนความในใจ เวทีแชร์ความล้มเหลวและความสำเร็จของคนทำงานภาคสังคม ทั้งคนระดับผลักดันนโยบายและคนลงมือทำจนเห็นผล, ฟังดนตรีสบายๆ จากเครื่องสายและเต้นรำสนุกๆ กับกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ
สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมล่วงหน้าได้ที่นี่ https://forms.gle/jrq64K9Hs34jMZNt7
หมายเหตุ : พิเศษสำหรับผู้ที่ลงทะเบียน 200 ท่านแรก รับฟรีมาส์กหน้าที่มีเฉพาะในงานเท่านั้น