เรย์ เคิร์ซเวลล์ : นักอนาคตศาสตร์ผู้ทำนายว่ามนุษย์จะเป็นอมตะในปี 2045

เรย์ เคิร์ซเวลล์ : นักอนาคตศาสตร์ผู้ทำนายว่ามนุษย์จะเป็นอมตะในปี 2045

‘เรย์ เคิร์ซเวลล์’ (Ray Kurzweil) นักเขียน นักประดิษฐ์ และนักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกัน

KEY

POINTS

  • ‘เรย์ เคิร์ซเวลล์’ (Ray Kurzweil) นักเขียน นักประดิษฐ์ และนักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ทำนายว่ามนุษย์ทุกคนจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ภายในปี 2000 นี่คือคำทำนายที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1990
  • เคิร์ซเวลล์เริ่มเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 15 ปีสามารถใช้ในการวิเคราะห์ผลงานดนตรีคลาสสิก และได้รับรางวัลชนะเลิศจากงาน International Science Fair
  • เขาเชื่อว่าในปี 2045 มนุษย์จะมีอายุขัยไม่จำกัด ปัจจุบันเคิร์ซเวลล์ในวัย 76 ปีจึงกินยาบำรุงวันละ 80 เม็ด เพื่อรอดูคำทำนายเหล่านั้นด้วยตาของตัวเอง

"ตอนผมอายุ 5 ขวบ ผมตั้งใจไว้ว่าจะเป็นนักประดิษฐ์ ผมคิดว่านั่นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงโลก"

‘เรย์ เคิร์ซเวลล์’ (Ray Kurzweil) นักเขียน นักประดิษฐ์ และนักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกัน ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME เมื่อปี 2011

86% คือตัวเลขความแม่นยำในการคาดเดาความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคตของเคิร์ซเวลล์ จนทำให้ ‘บิลล์ เกตส์’ (Bill Gates) ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ถึงกับเอ่ยปากออกมาว่า

“เคิร์ซเวลล์เป็นคนที่เก่งที่สุดเท่าที่ผมรู้จักในเรื่องการทำนายอนาคตของปัญญาประดิษฐ์”

ไม่ใช่แค่มหาเศรษฐีรายนี้เท่านั้นที่ให้การยอมรับ ยังมีผู้มีชื่อเสียงในวงการเทคโนโลยีระดับโลกหลายต่อหลายคน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เขานี่แหละคือตัวจริง ไล่เรียงตั้งแต่ แลร์รี เพจ (Larry Page) ผู้ร่วมก่อตั้ง Google, อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอปากแจ๋วเจ้าของแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) SpaceX และ Tesla ไปจนถึง เจฟฟ์ เบโซส์ ชายผู้ปลุกปั้น Amazon จนกลายเป็นอาณาจักรยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ

เคิร์ซเวลล์เริ่มทำนายถึงโลกอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ครั้งแรกในช่วงปี 1990 โดยมักเน้นไปที่พัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ (AI), คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเคิร์ซเวลล์เชื่อว่าความตายไม่ใช่จุดจบของมนุษย์อีกต่อไป ‘ความเป็นอมตะ’ คือสิ่งที่เขาถวิลหา แน่นอนว่าชายคนนี้หวังจะมีอายุยืนยาวพอที่จะเห็นโลกใบนั้นกับตา จนถึงขนาดกินยาบำรุงร่างกายมากถึง 80 เม็ดต่อวัน (ลดลงจากประมาณ 200 เม็ดต่อวันเมื่อปี 2008)

ตัวอย่างคำทำนายของเคิร์ซเวลล์ที่เป็นจริง มีหลายอย่างด้วยกัน เขาเคยบอกไว้ในปี 1990 ว่าภายในปี 2000 จะมีอินเทอร์เน็ตใช้อย่างแพร่หลายและกลายเป็นเครือข่ายข้อมูลที่ครอบคลุมทั่วโลก ขณะที่โลก ณ เวลานั้นยากเกินกว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกจะใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่เขากลับแหวกกฎทุกอย่าง ป่าวประกาศอย่างมั่นใจว่าอีกไม่กี่ปี เพื่อนร่วมโลกของเราทุกคนจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จนเป็นเรื่องปกติ และมันก็เป็นจริงอย่างที่เขาทำนายเอาไว้ไม่มีผิดเพี้ยน

หรือนี่จะเป็นแค่เรื่องบังเอิญ?

แต่เคิร์ซเวลล์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาไม่ได้คาดเดาผิด เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน เขาปล่อยคำทำนายออกมาอีกว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถเอาชนะแชมป์หมากรุกโลกได้ภายในปี 2000 ซึ่งเกิดขึ้นจริงในปี 1997 เมื่อ Deep Blue ของ IBM เอาชนะ ‘แกรี คาสปารอฟ’ (Garry Kasparov) นักหมากรุกชาวรัสเซีย ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักหมากรุกสากลที่เก่งที่สุดในโลกได้สำเร็จ และเป็นอีกครั้งที่เคิร์ซทำนายถูก

เขาไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ในปี 1999 เขาทำนายอนาคตเอาไว้ว่า AI จะสามารถสนทนากับมนุษย์ได้จนแยกไม่ออกว่านี่คือเครื่องจักรหรือมนุษย์ภายในปี 2029 โดยก่อนหน้านั้น เขาทำนายว่า AI จะสามารถเขียนหนังสือ พูดคุย และสร้างงานศิลปะได้ภายในช่วงปี 2020 ซึ่งตรงกับการพัฒนาโมเดลอย่าง ChatGPT ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความและสนทนาโต้ตอบอย่างที่เราหลายคนใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ชายคนนี้ยังบอกอีกว่าจะมีการใช้งานผู้ช่วยเสมือนจริงอย่างแพร่หลาย ซึ่งทุกวันนี้เราสามารถเห็นได้จาก Siri, Alexa และ Google Assistant นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นราว 20 ปีก่อน คำทำนายที่ดูเหนือความคาดหมาย หลุดโลกไปไกล แต่เคิร์ซเวลล์ก็ทำให้เห็นแล้วว่า การคาดเดาของเขาไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ส่วนคำทำนายที่เหลือ เช่น

  • ปี 2029 AI จะผ่านการทดสอบทัวริง (Turing Test) และมีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์ในที่สุด

* การทดสอบทัวริงถูกเสนอโดย ‘อลัน ทัวริง’ (Alan Turing) ในปี 1950 เพื่อวัดความสามารถของ AI ในการแสดงพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การผ่านการทดสอบนี้ไม่ได้หมายถึง AI มีปัญญา เทียบเท่ามนุษย์ แต่เป็นการทดสอบความสามารถในการเลียนแบบพฤติกรรมการสนทนาที่เป็นธรรมชาติเพียงพอที่จะหลอกผู้ทดสอบได้

  • ปี 2045 การเกิด Singularity ซึ่งเป็นจุดที่ปัญญาประดิษฐ์จะเหนือกว่าสติปัญญาของมนุษย์ ไปถึงระดับที่สามารถทำงานและตัดสินใจได้เกินกว่าความสามารถของมนุษย์ โดยคาดการณ์ว่า Singularity จะเกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 ซึ่งในมุมมองของเขา มันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหามากมาย เช่น การยืดอายุขัยมนุษย์ การรักษาโรค และการพัฒนาทางวิทยาการที่รวดเร็ว

"Singularity จะเป็นช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่การเปลี่ยนแปลงในเสี้ยววินาที เร็วจนเราแทบจะไม่สามารถจินตนาการถึงผลลัพธ์ได้ มันจะเปลี่ยนแปลงทุกแง่มุมของชีวิตมนุษย์ รวมถึงความเป็นมนุษย์ของเราด้วย"

  • ภายในปี 2040 มนุษย์จะสามารถอัปโหลดจิตสำนึกของตนเองเข้าสู่คอมพิวเตอร์ได้ และในอนาคตมนุษย์จะสามารถเป็นอมตะ ความทรงจำ จิตสำนึก ทุกสิ่งทุกอย่างของมนุษย์จะถูกเก็บในรูปแบบไฟล์ มีคลังข้อมูลสำรอง ไม่มีทางสูญหายไปตามกาลเวลา แม้ว่าร่างกายจะสูญสลายลงไปแล้วก็ตามนั้นเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่เคิร์ซเวลล์เชื่อว่าโลกใบนั้นจะเป็นจริงในสักวัน

“ผมเชื่อว่าความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะสามารถรักษาสิ่งที่เราเป็นอยู่ได้ หากเราใส่คอมพิวเตอร์ไว้ในสมองของเรา ทุกสิ่งที่คอมพิวเตอร์ทำจะซิงค์กัน และเราเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เรามีความทรงจำทั้งหมดของมัน แต่เราจะไม่มีสิ่งนั้นด้วยสมองของเรา

“ถ้าหากคอมพิวเตอร์เป็นผู้คิดทั้ง 99% มันก็จะเข้าใจทุกอย่าง รวมถึงสิ่งที่สมองของเราจะสั่งการ ตัวอย่างเช่น ผมมีข้อมูลสำรองของโทรศัพท์มือถือเครื่องนี้ แต่มนุษย์กลับไม่มีข้อมูลสำรองของสมองของตัวเอง มันเป็นเรื่องสำคัญมากนะ ผมว่ามันดูเหมือนจะสำคัญมาก หลายคนคงคิดเหมือนกันว่ามันสำคัญ”

ส่วนหนึ่งของบทสนทนาในเว็บบล็อก OpenText เขียนโดย มาร์ก เจ. บาร์เรเนเชอา (Mark J. Barrenechea) เผยแพร่เมื่อปี 2022 ก่อนจะเสริมว่าเขายังเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ว่าสักวันหนึ่งมนุษย์จะก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องอายุขัย และจะไม่กลัวความตายอีกต่อไป

“เราจะเอาชนะมันได้ เราจะสามารถสำรองข้อมูลของเราไว้ได้ ดังนั้น แม้ว่าเราจะตายไปแล้วหรืออะไรก็ตาม เราก็ยังสร้างสมองของเราขึ้นมาใหม่ได้ ผมคิดว่านั่นคือการยืดอายุขัยขั้นสูงสุด

“มันไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบ คุณอาจสูญเสียไฟล์ไป แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วคุณเชื่อไหมว่ามนุษย์เราจะทำมันได้

“สมองของเรามันก็แบบนี้แหละ เราไม่สามารถเข้าใจทั้งหมดได้ แต่เราจะค่อย ๆ ผลักดันมันไปทีละส่วน หากคุณพยายามอย่างเต็มที่ เราจะสามารถสำรองข้อมูลของเราไว้ได้ในรูปแบบไฟล์ในสักวันหนึ่ง”

ความสุดโต่งในการทำนายของเคิร์ซเวลล์ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะหากย้อนไปดูที่มาของความอัจฉริยะ แถมยังมองโลกได้แหลมคมของชายคนนี้ ต้องย้อนกลับไป ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1948 เคิร์ซเวลล์ตัวน้อยได้ถือกำเนิดขึ้นในนิวยอร์กซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเติบโตในครอบครัวนักสู้ โดยมี ‘เฟรดเดอริก เคิร์ซเวลล์’ (Frederic Kurzweil) พ่อผู้เป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลง ส่วนแม่ทำงานเป็นศิลปิน ทั้งคู่ตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดในออสเตรีย เมื่อฮิตเลอร์เข้ายึดครองยุโรปกลาง ก่อนจะมาตั้งรกรากใหม่ในนิวยอร์กซิตี้ เลี้ยงดูลูกชายและลูกสาวตัวน้อยในบ้านอันอบอวลไปด้วยดนตรี ศิลปะ และพร้อมเปิดพื้นที่ให้ลูก ๆ ได้ถกเถียงอย่างอิสระ

เปียโนคือสิ่งที่เคิร์ซเวลล์ชอบมาตั้งแต่เด็ก แต่เขาไม่ได้อยากโตไปเป็นนักดนตรี เขาคิดเพียงแค่ว่าโตไปจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ก็ประดิษฐ์เท่านั้น เพราะอาชีพนี้จะช่วยเปลี่ยนโลกได้อย่างแท้จริง

"ตอนผมอายุ 5 ขวบ ผมตั้งใจไว้ว่าจะเป็นนักประดิษฐ์ ผมคิดว่านั่นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงโลก"

เมื่ออายุ 12 ปี เขาเริ่มสนใจความก้าวล้ำของคอมพิวเตอร์ โชคดีที่เขามีลุงทำงานเป็นวิศวกรอยู่ที่ Bell Labs และได้แนะนำให้เขารู้จักกับพื้นฐานของวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเริ่มเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่นั้น พออายุ 15 ปี เขาสร้างโปรแกรมซอฟต์แวร์ ซึ่งสามารถใช้ในการวิเคราะห์ผลงานดนตรีคลาสสิก จากนั้นโปรแกรมจะสร้างผลงานเลียนแบบสไตล์ของนักแต่งเพลง ความสำเร็จครั้งนี้ของเด็กหนุ่ม ทำให้เขาได้รับรางวัลชนะเลิศจากงาน International Science Fair

อีกทั้งยังได้รับรางวัลจาก Westinghouse Talent Search พร้อมกับได้รับเชิญไปที่ทำเนียบขาวเพื่อพบกับ ‘ลินดอน บี. จอห์นสัน’ (Lyndon B. Johnson) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขณะอายุ 16 ปี หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีเขาปรากฏตัวใน ‘I’ve Got a Secret’ รายการโทรทัศน์ของซีบีเอส โดยการขึ้นไปแสดงเปียโนจากโน้ตเพลงที่แต่งขึ้นจากคอมพิวเตอร์ที่เขาเขียนโปรแกรมขึ้นมาเอง

ขณะที่ยังเป็นนักเรียนที่โรงเรียนมัธยมมาร์ติน แวน บิวเรน (Martin Van Buren High School) ในควีนส์ เขาก็ได้แลกเปลี่ยนจดหมายกับ ‘ดร.มาร์วิน มินสกี้’ (Dr.Marvin Minsky) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผู้ก่อตั้งสาขาปัญญาประดิษฐ์เมื่อกลางทศวรรษ 1950 ไม่นานเขาก็ได้เข้าเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ภายใต้การดูแลของ ดร.มินสกี้

ในปี 1956 คำว่าปัญญาประดิษฐ์ถูกเสนอต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก พวกเขาอธิบายว่ามันเป็นการผสมผสานระหว่างวิทยาการคอมพิวเตอร์ ประสาทวิทยา จิตวิทยา ผนวกรวมกับความเชื่อทางศาสนา ว่าเราสามารถสร้างเครื่องจักรที่มีหัวใจขึ้นมาได้

“หากคุณสร้างบางสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสมองเป็นพันหรือล้านเท่า เราคงไม่สามารถคาดเดาได้ว่ามันจะทำอะไรให้เราทึ่งได้อีก” นี่คือสิ่งที่เขาตกตะกอนได้ตั้งแต่วันแรก จนมาถึงวันที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชรา ปัจจุบันเคิร์ซเวลล์อายุ 76 ปี คุณพ่อลูกสอง ยังคงตื่นเต้นอยู่เสมอกับการคาดเดาถึงความเป็นไปได้ในโลกอนาคต

ส่วนเหตุผลที่บอกไปข้างต้นว่าเขากินยาราว 80 เม็ดต่อวันนั้น ไม่ใช่เพราะกลัวตายเพียงอย่างเดียว ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาทุ่มเทเวลากับงานอย่างหนัก ก่อตั้งบริษัทเยอะแยะมากมาย เป็นเจ้าของเทคโนโลยีสุดล้ำ พัฒนาทุกอย่าง เช่น เทคโนโลยีสังเคราะห์เสียง (Speech synthesis) และการรู้จำเสียง (Speech recognition) ไปจนถึงเครื่องสังเคราะห์เสียงดนตรี เขาได้รับรางวัล MIT-Lemelson Prize จากงานประดิษฐ์ชิ้นนี้

ส่วนสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นในยุค 1970 และเปลี่ยนชีวิตผู้พิการทางสายตาไปตลอดกาลอย่าง เครื่องอ่านหนังสือที่ใช้เทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถ ‘ฟัง’ ข้อความจากหนังสือ ก็ทำให้เขาได้รับรางวัล Inductee into the National Inventors Hall of Fame

เคิร์ซเวลล์ได้รับการยอมรับในฐานะนักนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงวิถีการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีการรู้จำเสียงและ AI จนได้รับรางวัล Marconi Prize (2019) มาครอง แน่นอนว่าสิ่งประดิษฐ์และความสามารถของเขาเตะตานักธุรกิจจำนวนมาก เขาคิดค้น ประดิษฐ์ และขายให้กับผู้ที่สนใจครั้งแล้วครั้งเล่า ได้รับเหรียญคล้องคอมาแล้วไม่รู้กี่สิบหน

หนึ่งในรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคงหนีไม่พ้น เหรียญ National Medal of Technology and Innovation มอบโดยประธานาธิบดี ‘บิล คลินตัน’ (Bill Clinton) ในปี 1999 รางวัลเกียรติยศสูงสุดของประเทศสำหรับความสำเร็จด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี และในปี 2002 เขาได้รับเลือกเข้าสู่หอเกียรติยศนักประดิษฐ์แห่งชาติ แต่สุดท้ายสุขภาพของเขาก็เสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ เคิร์ซเวลล์ในหนุ่ม อายุเพียง 35 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หากปล่อยไปนานวันเข้าอาจนำไปสู่โรคหัวใจในสักวันหนึ่ง

นับแต่นั้นเขาจึงกินยาอย่างบ้าคลั่ง ออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทุกอย่าง จนเขามีสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

"ผมต้องการมีชีวิตอยู่ให้นานพอที่จะได้เห็นโลกในอนาคตที่ผมทำนายไว้ และได้ใช้เวลากับครอบครัวให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

ความสำเร็จของเขามี ‘ซอนยา’ ภรรยาที่เขารักสุดใจคอยให้กำลังใจไม่ห่างกาย เธอเป็นนักจิตวิทยาและอาจารย์โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1975 มีลูกด้วยกันสองคน คืออีธาน (Ethan) และเอมี (Amy)

"ซอนยาเป็นคู่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบสำหรับผม เธอเข้าใจและสนับสนุนงานของผมอย่างเต็มที่ แม้ว่าบางครั้งเธอจะมองว่าผมหมกมุ่นกับเทคโนโลยีมากเกินไปอยู่บ้างก็ตาม" เคิร์ซเวลล์ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times เมื่อปี 2013

ขณะที่ลูกชายของเขา อีธานก็ได้เดินตามรอยเท้าพ่อได้อย่างน่าประทับใจ โดยปัจจุบันเป็นนักลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียง ส่วนเอมีเธอมีเลือดศิลปินไม่ต่างจากผู้เป็นพ่อ เธอทำงานเป็นนักเขียนและศิลปิน เขาเล่าถึงความสัมพันธ์กับลูก ๆ ในหนังสือ Transcend: Nine Steps to Living Well Forever ตีพิมพ์ในปี 2009 ว่า

"การได้เห็นลูก ๆ เติบโตและประสบความสำเร็จในเส้นทางของตัวเอง เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของผม ผมหวังว่าจะมีชีวิตอยู่นานพอที่จะได้เห็นพวกเขาสร้างผลกระทบต่อโลกในแบบของตัวเอง"

โดยก่อนหน้านั้นเคิร์ซเวลล์เขียนหนังสือเรื่อง The Singularity is Near (2005) เขาทำนายว่าในอนาคตอันใกล้ คอมพิวเตอร์จะบรรลุถึงระดับ ‘ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง’ ซึ่งเหนือกว่าความเข้าใจของมนุษย์ โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI รวมถึงการยืดอายุขัยของมนุษย์ออกไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด เขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนความเข้าใจของมนุษย์กับความตาย

เคิร์ซเวลล์มีผลงานเขียนหลายเรื่อง และผลงานล่าสุดอย่าง The Singularity Is Nearer: When We Merge with AI ตีพิมพ์ในปี 2024 นำเสนอมุมมองใหม่เกี่ยวกับความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วสู่ Singularity โดยย้อนกลับไปดูคำทำนายของตัวเขาเองในปี 1999 ว่า AI จะเข้าถึงระดับสติปัญญาของมนุษย์ภายในปี 2029

พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงการรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เช่น นาโนบอตสำหรับการสร้างโลกใหม่ การขยายชีวิตให้ไกลเกินขีดจำกัดของห้วงเวลาปัจจุบัน การเชื่อมต่อสมองของมนุษย์กับระบบคลาวด์ และผลกระทบเชิงบวกของเทคโนโลยีเหล่านี้ต่อนวัตกรรมและความเป็นอยู่ที่ดี

"ภายในปี 2030 เราจะมีนาโนบอตในกระแสเลือด และมันสามารถเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมความเสียหายในระดับเซลล์ และยืดอายุขัยของเราออกไปอีกเท่าทวีคุณ"

ใช่ว่าเขาไม่มองถึงผลกระทบร้ายแรงที่ตามมา เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยถูกมองว่าเป็นพวก Panglossian หมายถึงคนที่มีทัศนคติหรือมุมมองที่มองโลกในแง่ดีสุดขีด ไม่ว่าจะเผชิญกับความยากลำบากหรือสถานการณ์ที่เลวร้ายเพียงใดก็ตาม

เคิร์ซเวลล์ยอมรับว่าการพัฒนาเทคโนโลยีอาจนำมาซึ่งปัญหา เช่น โดรนที่สามารถบรรทุกยาได้ก็อาจบรรทุกระเบิดได้เช่นกัน แต่เขายืนกรานว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าน้อยกว่า เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับ

“นั่นเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึง เราจะทำได้ทันเวลาหรือไม่ (เขาทำนายว่าจะเห็นสิ่งในทศวรรษ 2030) เพราะเราจะมีคอมพิวเตอร์ที่เหนือกว่ามนุษย์ในปี 2029 เมื่อถึงจุดนั้น เราจะต้องสามารถโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์ในสมองของเราได้จริง ๆ เพื่อให้ทันกับคอมพิวเตอร์ ไม่เช่นนั้นเราต้องใช้เวลาอีก 10 ปีกว่าจะก้าวถึงจุดนั้น และนั่นอาจเป็นปัญหาได้ มันเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมกังวล

"ผมไม่ได้มีลูกแก้ววิเศษ แต่ผมศึกษาแนวโน้มและใช้ข้อมูลเพื่อคาดการณ์อนาคต การทำนายของผมส่วนใหญ่มาจากการวิเคราะห์อัตราการเติบโตแบบทวีคูณของเทคโนโลยี

"ผมไม่ได้คาดหวังว่าทุกคำทำนายของผมจะถูกต้อง 100% แต่ผมพยายามเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดเพื่อปรับปรุงโมเดลการคาดการณ์ของผมให้ดีขึ้น"

เคิร์ซเวลล์รู้ดีว่าการคาดการณ์ของเขานั้นดูเกินจริงไปไกล แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่ไม่เชื่อ สักวันหนึ่งพวกเขาจะมอลโลกในเลนส์เดียวกับเขา “คนที่ต่อต้าน AI จะประสบปัญหาที่แก้ไม่ตก และ AI จะคิดหาทางแก้ไขปัญหาให้มีผลลัพธ์ดีที่สุด”

ขณะที่ เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton) เจ้าพ่อเอไอผู้ประกาศลาออก Google ไปเมื่อปี 2023 ครั้งหนึ่งเขาเคยไม่เชื่อในคำทำนายของเพื่อนร่วมงานอย่างเคิร์ซเวลล์เช่นกัน (เคิร์ซเวลล์ทำงานกับ Google ตั้งแต่ปี 2012 โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านวิศวกรรม) แต่ตอนนี้เขาเชื่ออย่างสนิทใจว่าคำทำนายเหล่านั้น อาจเป็นจริงได้ในไม่ช้า

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจลาออกจาก Google เพราะเห็นถึงความอันตรายของ AI เขาไม่อยากมีส่วนร่วมในการทำลายมนุษยชาติจากน้ำมือตัวเอง ซึ่งทั้งสองมีแนวคิดค่อนข้างขัดแย้งกัน เคิร์ซเวลล์มองว่า AI ไม่ได้อันตรายจนถึงขั้นนั้น แต่ฮินตันไม่ได้เชื่อเช่นนั้น

"ผมคิดว่าโลกที่ปกครองโดยคนขาวอายุ 200 ปีจะเป็นสถานที่ที่น่าสยดสยองน่าดู"

ส่วนคำถามที่ว่ามนุษย์จะเป็นอมตะได้จริงมั้ยนั่น เคิร์ซเวลล์ตอบว่า เขาไม่สามารถพิสูจน์เรื่องนี้ได้ ไม่แน่ว่าความคิดของเขาจะผิดก็ได้

“ความตายสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ คนหนุ่มอายุ 20 ปีก็ยังตายกันได้อยู่ทุกคืนวัน”

นอกจากนี้ เคิร์ซเวลล์ยังได้เล่าบทสนทนาระหว่างเขากับป้าที่อายุ 98 ปีของเขาว่า ตอนนั้นเขาคุยกับป้าเรื่องอายุขัยมนุษย์จะไม่มีที่สิ้นสุด เราจะไม่ต้องจำกัดอายุอยู่แค่ 90 100 หรือ 120 ปีแล้ว

“เธอบอกผมว่า เรย์ นายช่วยรีบอธิบายเรื่องนี้ให้ป้าเข้าใจหน่อยได้มั้ย”

“หลังจากนั้นเธอก็จากไปในอีกสองสัปดาห์ให้หลัง”

แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนที่เขารักจากไปก่อนจะเห็นคำทำนายเป็นจริง แต่อีกหนึ่งคำถามสำคัญที่ตามมาคือ หากมนุษย์มีอายุยืนยาว โลกของเราจะอยู่อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันโลกก็ถูกทำร้ายอย่างหนักหน่วงมากพอแล้ว

“ผมว่าเรื่องนั้นไม่ต้องกังวลหรอก ภายใน 10 ปี เราจะคิดค้นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ดูสิ เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลายคนถามผมว่า ‘เราจะรับมือกับสิ่งนี้อย่างไร’ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะยังคงเป็นไปในทางบวก เราไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องนี้”

"อนาคตไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา แต่เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น เราทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดว่าเทคโนโลยีจะถูกใช้และเป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง"

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : Getty Images

 

อ้างอิง