26 พ.ย. 2563 | 12:03 น.
พราะสถาบันฯ กับการเมืองไม่ใช่เรื่องเดียวกัน คุยกับ ‘น้องเกด’ เด็กสาวเจนแซด ในวันที่กลายเป็นส่วนน้อยของส่วนมาก “หนูโอเคกับจุดยืนของม็อบอีกฝั่งมาก ๆ ถ้าเราจะมีจุดยืนคนละอย่างกัน แต่ถ้าจะมาขัดแย้งด้วยเรื่องเรื่องเดียว หนูคิดว่า มันไม่สมควร” วันที่ 25 พฤศจิกายน ช่วงเวลาบ่ายคล้อยจรดเย็น ในขณะที่ม็อบราษฎร 2563 ทยอยรวมตัวกันบริเวณธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มไทยภักดี’ นัดรวมตัวกันบริเวณสวนลุมพินี เพื่อรับเสด็จในหลวง The People เดินลัดเลาะไปรอบ ๆ สวนลุมพินี ท่ามกลางผู้คนสวมเสื้อสีเหลืองมากมาย ในจำนวนนั้นเราเกิดไปสะดุดตากับ ‘น้องเกด’ เด็กสาวในชุดนักเรียนที่มาพร้อมกับคุณแม่ของเธอ ช่วงเวลาก่อนในหลวงเสด็จ The People เลยถือโอกาสชวนน้องเกดพูดคุยถึงจุดยืน อุดมการณ์ ความฝัน และการเลือกออกมาแสดงพลังในวันนี้ รวมไปถึงมุมมองต่อบริบททางการเมืองและสังคมที่กำลังคุกรุ่น น้องเกด อายุ 16 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เบญจมราชาลัย เธอเลือกเรียนแผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาจีน ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนชอบด้านภาษา บวกกับความฝันที่อยากจะประกอบอาชีพเป็นล่ามหรือไกด์นำเที่ยว เธอเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด วันนี้เดินทางมาพร้อมกับคุณแม่จากบ้านแถบคลองสามวา มีนบุรี เราเกิดนึกสงสัยว่า ทำไมเธอจึงเลือกใส่ชุดนักเรียนมารับเสด็จ ซึ่งน้องเกดบอกว่า ส่วนตัวมองว่าชุดนักเรียนดูสุภาพ ที่สำคัญ โรงเรียนที่เธอศึกษาอยู่เป็นโรงเรียนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ฉะนั้น การเลือกใส่ชุดนักเรียนก็เท่ากับเป็นการ ‘represent’ สถาบันการศึกษาไปในตัวด้วยนั่นเอง เด็กสาววัย 16 เล่าว่า นี่นับว่าเป็นครั้งแรกที่เธอได้มีโอกาสร่วมรับเสด็จในหลวง เธอตั้งใจวางแผนเดินทางมาที่นี่กับคุณแม่เพราะไม่ได้ไกลจากบ้านมาก การเดินทางก็ค่อนข้างสะดวก ความตั้งใจนี้เกิดจากความรู้สึกที่น้องเกดมองว่า เราเกิดมาเป็นคนไทย ตั้งแต่เกิดมาก็เจอกับในหลวงแล้ว แม่ของเธอมักจะเล่าเรื่องในหลวงให้ฟังบ่อย ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้เธอซึมซับและรู้สึกว่า ต้องรักท่านให้มากเพราะในหลวงทำเพื่อแผ่นดินมาเยอะ การมารับเสด็จก็คล้ายกับเป็นการแสดงความรัก แสดงจุดยืน ซึ่งหลังจากครั้งนี้ น้องเกดและครอบครัวก็มีความตั้งใจจะไปรับเสด็จในวันที่ 5 ธันวาคมอีกครั้ง ด้วยความที่ม็อบราษฎร 2563 ถูกมองว่า เป็นม็อบของเด็กเจเนอเรชั่นแซดเสียส่วนใหญ่ ในฐานะที่น้องเกดก็อยู่ในช่วงวัยดังกล่าวเหมือนกัน เราจึงถามต่อว่า ในกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียนมีจุดยืนแบบไหนกันบ้าง เธอรีบตอบกลับทันทีว่า ส่วนใหญ่แล้วทุกคนมีอุดมการณ์ตรงกันข้ามกับเธอ เห็นต่างกันเยอะมาก แต่เธอไม่ได้รู้สึกอะไรหากเพื่อนๆ จะเห็นต่างกันเพราะมองว่า ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน “เพื่อน ๆ ในโรงเรียนที่เห็นต่างกับเรามีเยอะมาก เขาก็รู้ว่า เรามาที่นี่ ส่วนใหญ่ก็จะแย้งกัน ถ้าในกลุ่มเพื่อนไม่เท่าไร แต่คนอื่นในโรงเรียนถ้าเขารู้ก็จะมีแซะๆ บ้าง เราก็รู้สึกว่า เราไม่แคร์ คุณแสดงจุดยืนได้เราก็สามารถแสดงจุดยืนได้เหมือนกัน เวลาเขาเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาคุยให้ฟังเราก็จะฟังแล้วก็อ่านจนจบ จากนั้นจะกลับไปศึกษาเพิ่มเติมเองว่า เป็นเรื่องจริงไหม แล้วเราก็จะนำกลับมาอธิบายให้เขาฟัง ถ้าเขาไม่รับฟังเราก็ไม่เป็นไร เก็บไว้ในใจดีกว่า ข้อมูลที่เราหาอ่านมาจากหนังสือประวัติศาสตร์ ซึ่งที่บ้านมีเยอะมาก ส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วด้วย แล้วที่บ้านคุณแม่ก็จะมีหนังสือพวกนี้เยอะทำให้ค้นหาได้ง่าย หรือตามเว็บไซต์ ในสื่อเองเราก็สืบค้นมาเหมือนกัน แล้วก็จะนำข้อมูลเหล่านี้มาตีความวิเคราะห์เอาเอง” จากเหตุการณ์ที่โดนเพื่อนๆ ในโรงเรียนพูดเหน็บแนม น้องเกดเลือกที่จะไม่สนใจและทำตามจุดยืนของตัวเองต่อด้วยการเดินทางไป ‘big cleaning day’ ที่บริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หลังจากเหตุการณ์พ่นสี-สาดสี เธอเดินทางไปกับคุณแม่โดยทำหน้าที่ขูดคราบสีบริเวณถนนด้านหน้า น้องเกดบอกว่า ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยอะไรแต่กลับสนุกมากกว่าเพราะอยากทำอยู่แล้ว ตอนที่เห็นว่ามีการสาดสีตนรู้สึกโกรธมาก มองว่าเป็นการกระทำที่ไม่สร้างสรรค์ และทำไมต้องทำกันถึงขนาดนี้ การได้มาช่วยทำความสะอาดก็พลางคิดไปด้วยว่า ได้ทำเพื่อสถาบันฯ ทำเพื่อประเทศ “หลังจากวันที่มีการพ่นสีหน้าสตช. เราได้ไปช่วยทาสีทำความสะอาด วันนั้นไปกับคุณแม่ เรื่องนี้ทำให้หนูโดนเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนต่อว่า ด้วยความที่ความคิดเราขัดแย้งกัน มันแตกต่างกัน เราก็เป็นฝ่ายเงียบมาตลอด แต่เพื่อนก็จะแนวถามแซะๆ มากกว่า อย่างเมื่อวานเพื่อนในกลุ่มเดียวกันก็โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาว่า เราเป็นขยะสังคม ก็เลยรู้สึกว่า อะไรนักหนา เราก็เงียบแล้ว ไม่ตอบโต้แล้ว เขาก็ยังพยายามแซะอย่างอื่นอีก แต่เราก็เลือกที่จะเฉย ๆ ไม่ได้ไปคอมเมนต์อะไร” “หนูไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้เท่าไร เรียกว่าไม่ยุ่ง เพราะเราอยู่ของเราอย่างนี้อยู่แล้ว เราเรียนของเราเราก็เรียนได้ เราโอเคในชีวิตที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้อยู่แล้ว” น้องเกดตอบกลับเมื่อเราถามถึงมุมมองทางการเมืองและปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศ ที่สำคัญ เธออธิบายว่า สถาบันฯ กับการเมืองแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดอยู่แล้ว ฉะนั้น สองสิ่งนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องเดียวกันกับที่อีกฝั่งออกมาเรียกร้อง แม้จะคิดเห็นต่างกัน แต่น้องเกดไม่ได้รู้สึกขัดแย้งกับม็อบราษฎร เธอกลับมองว่า นี่คือเรื่องปกติมากๆ ที่จะคิดเห็นไม่ตรงกัน ถึงจะถูกเพื่อนในโรงเรียนเรียกว่า ‘สลิ่ม’ และเป็นส่วนน้อยของโรงเรียนก็ตาม “หนูรู้ว่า หนูควรจะอยู่ตรงไหนและทำอะไรมากกว่า” น้องเกดกล่าวปิดท้าย เรื่อง พิราภรณ์ วิทูรัตน์