‘เคนเนธ แวกเนอร์’ ทนายความคดีกาแฟร้อนลวกใส่คุณยาย ผู้ต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

‘เคนเนธ แวกเนอร์’ ทนายความคดีกาแฟร้อนลวกใส่คุณยาย ผู้ต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

ย้อนคดีกาแฟร้อนแมคโดนัลด์ลวกใส่คุณยาย ที่ทำให้ชื่อของ ‘เคนเนธ แวกเนอร์’ ทนายความฝ่ายโจทก์เป็นที่รู้จัก ในฐานะทนายผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิผู้บริโภค

  • ‘สเตลลา ลีเบค’ ซึ่งในตอนนั้นอายุ 79 ปี ถูกกาแฟร้อนของแมคโดนัลด์ลวก อาการรุนแรงถึงขั้นต้องรับการปลูกถ่ายผิวหนังใหม่ และต้องนอนโรงพยาบาลนาน 8 วัน
  • ‘เคนเนธ แวกเนอร์’ ยืนยันว่าการฟ้องแมคโดนัลด์ ไม่ใช่เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับลูกค้าคนอื่น โดยเฉพาะเด็กๆ 
  • หลังคดีสิ้นสุด แมคโดนัลด์ยอมปรับลดอุณหภูมิกาแฟร้อนลง จุดกระแสให้มีการเรียกร้องไปยังแบรนด์อื่นๆ ด้วย 

วิชาชีพทนายความกำลังถูกสังคมตั้งคำถามถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากทนายหลายคนเริ่มแปลงร่างเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย 

ทั้งที่ความจริงแล้วยังมีทนายอีกมากที่ก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองไปอย่างเงียบๆ เพื่อปกป้องประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนด้วยกันเอง การละเมิดสิทธิของหน่วยงานรัฐต่อประชาชน หรือการละเมิดสิทธิของธุรกิจต่อประชาชน 

ในกรณีหลัง The People ขอยกเคส ‘เคนเนธ แวกเนอร์’ (Kenneth Wagner) ทนายที่ทำคดีกาแฟร้อนของแมคโดนัลด์ ผู้เรียกร้องความยุติธรรมให้หญิงชรา และสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการกาแฟ ซึ่งพวกเรา (เกือบ) ทุกคนได้ประโยชน์จากคดีนี้ 

คดีนี้มีจุดเริ่มต้นจาก ‘สเตลลา ลีเบค’ (Stella Liebeck) ซึ่งในตอนนั้นอายุ 79 ปี เธอนั่งรถเก๋งที่มีหลานชายเป็นคนขับ ไปสั่งอาหารเช้าและเครื่องดื่มที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาเมืองแอลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก ในช่องทางไดร์ฟทรู

 

ปรากฏว่ารถฟอร์ด โพรบ (Ford Probe) คันที่นั่งไปมันไม่มีที่ว่างแก้ว เธอจึงต้องเหน็บแก้วกาแฟไว้ที่ขาเพื่อเปิดฝาใส่ครีมและน้ำตาล แต่ระหว่างที่กำลังเปิดฝาแก้วกาแฟ น้ำกาแฟที่ร้อนระอุดันกระฉอกออกมา ทำให้เธอสะดุ้งจนกาแฟทั้งแก้วหกท่วมเบาะและตักของเธอเต็มๆ 

ตอนแรกเธอก็ไม่คิดว่าความเจ็บปวดจากกาแฟลวกจะรุนแรง แต่กลายเป็นว่าหลังเช็ดกาแฟออกไปจนหมดแล้ว สเตลลากลับรู้สึกคลื่นไส้ หนาวผิดปกติ และหน้ามืด จนหลานชายต้องรีบพาไปส่งโรงพยาบาล 

หมอวินิจฉัยว่าบาดแผลน้ำร้อนลวกของเธอร้ายแรงถึงระดับ 3 ครอบคลุมพื้นผิวบนร่างกายกว่า 16% ทั้งต้นขา ขาหนีบ ลามไปถึงบั้นท้ายและอวัยวะเพศ กระทั่งหมอต้องปลูกถ่ายผิวหนังให้เธอใหม่ เธอต้องนอนโรงพยาบาลนานถึง 8 วัน และหลังจากนั้นต้องรักษาต่อเนื่องไปกว่า 2 ปี 

ระหว่างนั้นสเตลลาใช้เวลาถึง 6 เดือน เพื่อเรียกร้องให้แมคโดนัลด์จ่ายเงินชดเชยและลดอุณหภูมิเครื่องดื่มลงบ้าง ลูกค้าคนอื่นจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนเหมือนเธอ แต่แมคโดนัลด์ก็ยอมจ่ายให้เธอแค่ 800 เหรียญ ซึ่งไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลด้วยซ้ำ

ในที่สุด สเตลลา ซึ่งไม่เคยขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อฟ้องร้องใครมาก่อน ตัดสินใจมอบหมายให้ ‘เคนเนธ แวกเนอร์’ ช่วยเธอฟ้องร้องแมคโดนัลด์

สำหรับ เคนเนธ แวกเนอร์ เขาเป็นทนายความชาวอเมริกัน และเป็นหุ้นส่วนสำนักงานทนายความในเมืองแอลบูเคอร์คี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านคดีแพ่งที่เกิดจากความประมาท ประกันภัย การทุจริตต่อหน้าที่ในวงการแพทย์ การบาดเจ็บส่วนบุคคล กฎหมายว่าด้วยค่าชดเชยแรงงานและความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ 

เขาเกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1947 ในเมืองคลาร์กสวิลล์ รัฐอาร์คันซอ หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก เขาเดินหน้าเรียนกฎหมายต่อที่มหาวิทยาลับทัลซา และมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก

กลับไปที่คดีของสเตลลา ก่อนจะมีการฟ้องร้อง เคนเนธพยายามช่วยเธอไกล่เกลี่ยกับแมคโดนัลด์ถึงสองครั้ง แต่ก็ถูกแมคโดนัลด์ปฏิเสธ เคนเนธจึงเดินหน้าเต็มสูบเพื่อแก้ไขความผิดพลาดนี้ 

"จุดยืนของเราคือกาแฟร้อนเป็นอันตรายเกินควร และอุณหภูมิกาแฟควรต่ำลงกว่านี้" เคนเนธกล่าว 

เคนเนธและทีมสืบเสาะข้อมูลจนพบว่า แมคโดนัลด์กำหนดอุณหภูมิกาแฟร้อนไว้ที่ 190 องศาฟาเรนไฮต์ และเสิร์ฟที่ 180 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังบอกว่าของเหลวที่มีความร้อนระดับนี้ สัมผัสแค่ 7 วินาทีก็ทำให้เกิดบาดแผลไหม้ระดับ 3 ได้แล้ว ในขณะที่ร้านอื่นเสิร์ฟเครื่องดื่มร้อนที่อุณหภูมิ 160 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งถ้ากาแฟเกิดหกใส่ตัว ลูกค้าจะมีเวลาถึง 20 วินาที กว่าจะเกิดแผลไหม้ระดับ 3

นอกจากนี้ ช่วงปี 1983 ถึง 1992 มีเหยื่อกว่า 700 รายที่ประสบอุบัติเหตุจากกาแฟร้อนของแมคโดนัลด์ ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วย 

เคนเนธได้นำหลักฐานเหล่านี้ให้คณะลูกขุนพิจารณาว่ากาแฟของแมคโดนัลด์นั้น ‘ร้อนเกินจำเป็น’ (Unreasonably Hot) ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และแมคโดนัลด์เองก็ไม่ได้สนใจจะแก้ปัญหาเลย 

ในเวลานั้นทนายฝั่งแมคโดนัลด์แย้งว่า การทำกาแฟหกเป็นความประมาทของสเตลลาเอง และการที่แมคโดนัลด์ต้องทำกาแฟร้อนขนาดนั้นก็เป็นเพราะผู้บริโภคเองนั่นแหละที่ต้องการ 

เคนเนธจึงทำให้ข้อโต้แย้งของทางแมคโดนัลด์ถูกปัดตก ด้วยการนำภาพบาดแผลรอยลวกของสเตลลามาแสดงแก่เหล่าคณะลูกขุน ซึ่งทำให้คณะลูกขุนเข้าใจว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องกาแฟร้อนแก้วหนึ่ง 

"ภาพถ่ายเหล่านี้แสดงให้เห็นจุดที่หมอต้องปลูกถ่ายผิวหนังจากขาเพื่อปิดแผลไหม้ระดับที่ 3 และผมคิดว่าหากผู้คนได้เห็นความรุนแรงของแผลไฟไหม้นี้ พวกเขาจะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องตลก" เคนเนธกล่าว 

หลังการพิจารณาคดีตลอด 7 วัน 4 ชั่วโมง คณะลูกขุนมีมติเอกฉันท์ให้แมคโดนัลด์จ่ายค่าเสียหายให้สเตลลาเป็นเงิน 200,000 เหรียญ ก่อนจะปรับลดค่าเสียหายเหลือ 160,000 เหรียญ หลังมีการพิจารณาว่าสเตลลาต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย 20%

นอกจากนี้ ผู้พิพากษายังตัดสินให้แมคโดนัลด์จ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damages) เท่ากับรายได้ในการขายกาแฟของแม็คโดนัลด์ 2 วัน เป็นเงิน 2.7 ล้านเหรียญ (แต่ตอนหลังปรับลดเหลือ 480,000 เหรียญ) เพื่อส่งสัญญาณให้แมคโดนัลด์ลดอุณหภูมิของกาแฟลง 

หลังศาลมีคำตัดสิน คดีนี้ก็ได้รับความสนใจจากสื่อท้องถิ่นและต่างประเทศ แต่เนื้อหาที่สื่อรายงานกลับถูกตัดทอนลงจนทำให้สังคมเข้าใจผิด มองว่าสเตลลาเป็นคนโลภที่ต้องการเงิน ทำให้เธอกลายเป็นเหยื่ออีกครั้ง

รายการโทรทัศน์หลายรายการนำเสนอคดีนี้ในเชิงล้อเลียนเสียดสี จนทำให้คดีเรียกร้องสิทธินี้กลายเป็นภาพจำของ “คดีไร้สาระ” 

เคนเนธ ออกมาตอบโต้สื่อเหล่านี้ว่า “ผมตกตะลึงกับเสียงโห่ร้องและคำตำหนิจากสาธารณชนทั้งหมดที่เราได้รับ ทั้งที่มันเป็นคดีที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาสำหรับผม และมันก็ไม่ใช่เรื่องยากถ้าจะลองดู สเตลลาในวัย 79 ปี ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากเลยนะในการชนกับบริษัทยักษ์ใหญ่แบบนั้น” 

เขายืนยันว่าสเตลลาเป็นห่วงว่าคนอื่นๆ จะถูกกาแฟร้อนจากแมคโดนัลด์ลวกผิวเหมือนกับเธอ เขายังเสนอว่าคำเตือนบนผลิตภัณฑ์ควรอยู่ในจุดที่เห็นได้ชัดและต้องเตือนผู้บริโภคให้ละเอียดกว่านี้

"ถ้วยทุกถ้วยเขียนคำว่า 'ของร้อน' อยู่แล้ว แต่มันยังไม่พอ คำเตือนควรจะบอกด้วยว่ามันร้อนแค่ไหน และอาจทำให้เกิดแผลไหม้ได้"

แม้สเตลลาจะเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2004 ขณะมีอายุ 91 ปี แต่การต่อสู้ของเธอและทีมทนายความก็ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน อุณหภูมิกาแฟร้อนของแมคโดนัลด์ถูกลดจากเดิมไป 10 องศาฟาเรนไฮต์ อย่างน้อยผู้บริโภคก็มีเวลานานกว่าเดิมในการปัดของเหลวร้อนออกจากร่างกาย ก่อนที่จะถูกลวกผิวเหมือนสเตลลา และผู้บริโภคคนอื่นๆ ก็เริ่มตระหนักถึงอันตรายจากเครื่องดื่มร้อน กระทั่งฟาสต์ฟู้ดรายอื่นๆ รวมไปถึงสายการบินต่างๆ ถูกเรียกร้องให้ลดอุณหภูมิเครื่องดื่มร้อนตามไปด้วย  

แม้คดีระหว่างสเตลลากับแมคโดนัลด์ จะได้รับการขนานนามว่าเป็นคดีที่โด่งดังที่สุดคดีหนึ่งในโลก แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นคดีที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุดคดีหนึ่งในโลก อย่างไรก็ตาม เคนเนธก็ไม่เคยสูญเสียความตั้งใจ เขายังคงช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกละเมิดสิทธิต่อไป 

 

อ้างอิง:

The People 

kenwagnerlaw

retroreport

classicalmusicguide

tortmuseum

prabook