19 เม.ย. 2566 | 17:30 น.
“เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” คำกล่าวที่ได้ยินกันมาเนิ่นนาน หรือเพลงกล่อมเด็กอย่าง ‘นกกาเหว่า’ ที่สื่อถึงการเลี้ยงลูกคนอื่น จนผู้รับเลี้ยงได้รับความยากลำบาก หรือลูกที่เลี้ยงมาอาจจะไม่ได้ให้ความรักตอบ ได้กลายเป็นหนึ่งในแนวคิดเชิงลบ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรหลานที่ไม่ได้มาจากสายเลือดเดียวกัน
การรับเลี้ยงเด็กสักคนจึงกลายเป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อย แต่มันได้เกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เธอเคยถูกทอดทิ้งจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด กระทั่งเธอได้รับการดูแลจากครอบครัวอุปถัมภ์ สิ่งนี้ได้เปลี่ยนชีวิตของเด็กไร้ที่พึ่งไปอย่างสิ้นเชิง
“ตอนหนูเข้ามาในครอบครัวใหม่ตอนแรกเลย หนูอายุ 12 ปีค่ะ” เนย - เด็กสาวอายุ 15 ปี เล่าย้อนถึงช่วงวัยที่เธอถูกพ่อแม่แท้ ๆ ผู้ติดสุรา ทอดทิ้งไว้กลางทุ่งนาในขณะที่เธออยู่ในวัยประถมศึกษา ก่อนที่จะมีชาวบ้านไปพบ
คุณมะลิ ม่วงนิล หรือ คุณเอ คุณแม่อุปถัมภ์วัย 68 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ว่า ใครจะคาดคิดว่าการไปรับจ้างเกี่ยวข้าวตามปกติในวันหนึ่ง จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอได้เช่นนี้ หลังจากมีชาวบ้านละแวกนั้นพบเด็กหญิงถูกทอดทิ้งและคิดจะนำเธอไปทิ้งอีกครั้งที่ท่ารถโดยสาร
ด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ คุณมะลิกังวลว่าหากปล่อยเด็กหญิงไปตามยถากรรม เธออาจตกอยู่ในอันตรายจากภัยสังคมได้ จึงเอ่ยปากถามว่าจะมาอยู่ด้วยกันหรือไม่ เด็กสาวตอบตกลงที่จะมาอยู่ด้วย ทำให้คุณมะลิกลายเป็นคุณแม่อีกครั้งในวัยเกษียณ
“ตอนนั้นชาวบ้านที่เขาเจอเนย บอกว่าเจอเด็กผู้หญิงถูกทิ้ง เขาจะเอาไปส่งทิ้งไว้ที่ท่ารถ บขส. เราก็กลัวว่ามันจะอันตราย กลัวจะโดนข่มขืน ก็เลยถามว่าอยากมาอยู่ด้วยกันไหม เขาก็บอกว่าจะมาอยู่ด้วย” คุณมะลิเล่าย้อนถึงช่วงเวลาที่พบกับเนยวันแรก
น้องเนยได้เข้าเป็นหนึ่งในครอบครัวนี้ที่มีพี่อีก 4 คน ในวัยที่ห่างกันหลายสิบปี พวกเขาแยกย้ายไปสร้างครอบครัวของตัวเองแล้ว แต่ทุกคนก็ยินดีที่มีน้องสาวคนใหม่ โดยพี่สาวคนโตของบ้านที่แม้จะใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน ก็แนะนำให้แม่พาเนยเข้าเรียน และจะช่วยกันส่งเสียให้ได้เรียนเท่าที่เจ้าตัวจะสามารถเรียนได้ หรือหากน้องต้องการไปศึกษาหรือทำงานต่อที่ต่างประเทศพี่สาวก็ยินดีสนับสนุนเช่นกัน
“เรารู้จักการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ อย่างตอนรับเนยเข้ามา ก็รู้สึกสงสารเพราะเขาไม่มีใคร อยากให้โอกาสเขาค่ะ ก็อยากจะช่วยให้ถึงที่สุด ตอนนี้ครอบครัวเราทำนา ก็มีหน้าที่ที่ต้องทำ แต่ก็อยากจะดูแลเขาให้ดีที่สุด เราเลี้ยงลูกแท้ ๆ ของตัวเองอย่างไร ก็จะเลี้ยงเนยให้ดีแบบนั้นเหมือนกัน” คุณแม่กล่าว
ทุกอย่างดูราบรื่น กระทั่งเมื่อคุณแม่จะพาเนยไปสมัครเรียนการศึกษานอกโรงเรียน ด้วยความที่เด็กสาวไม่มีเอกสารราชการเลยแม้แต่ใบเดียว ไม่ว่าจะเป็นใบเกิด บัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้าน ทำให้ขั้นตอนการสมัครเรียนแทบเป็นไปไม่ได้
“พอเขามาอยู่ที่บ้านได้ 1 - 2 เดือน แม่ก็พาไปสมัครเรียน กศน. เจ้าหน้าที่เขาบอกว่าสมัครเรียนไม่ได้นะ แล้วระวังจะโดนตำรวจจับด้วย เอาเด็กไปส่งที่สถานสงเคราะห์เลย จนเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำ ก็ได้ติดต่อกันเรื่อย ๆ เพื่อช่วยเหลือ” คุณมะลิเล่าถึงช่วงเวลาของการพาน้องเนยเข้าเรียน
แม้คุณแม่จะไม่รู้กระบวนการขั้นตอนการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. รวมถึงโครงการ Care for Children ที่มีการลงนามข้อตกลงโครงการร่วมกันเพื่อพัฒนาการดูแลเด็กในครอบครัวในประเทศไทย
ทั้งสองภาคส่วนจึงเข้ามาประสานงาน ติดตามการดำเนินการต่าง ๆ ทำให้เนยได้อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์อย่างถูกต้อง และสามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้สำเร็จ
“ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวทดแทน แม่ให้ทุกอย่าง ทดแทนสิ่งที่ขาดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความอบอุ่น ให้การศึกษา และหลักการใช้ชีวิตค่ะ (ร้องไห้)” เด็กสาวกล่าวถึงความรู้สึกของเธอที่มีต่อคุณแม่และบ้านหลังใหม่ที่โอบรับเธอเป็นสมาชิกอย่างเต็มใจ
ปัจจุบันน้องเนยกำลังจะศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในโรงเรียนใกล้บ้าน และมีความตั้งใจที่จะศึกษาต่อด้านการบัญชี เนื่องจากมีความถนัดและชื่นชอบวิชาด้านการคำนวณ เนยได้รู้จักการอยู่ร่วมกับครอบครัวใหม่ เป็นสมาชิกหนึ่งของบ้านที่มีบทบาทหน้าที่รู้จักแบ่งเบาภาระในครอบครัว ได้ทำกิจกรรมและได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป
ขณะที่คุณมะลิในบทบาทคุณแม่ลูกห้า ที่มีลูกสาววัยรุ่นเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งคน เด็กคนนี้เข้ามาเติมเต็มความสุขและความสดชื่นในบ้าน ยามว่างก็พากันเข้าวัดทำบุญส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัว
“สำหรับครอบครัวที่พอมีพอกิน อยากให้เปิดใจรับเด็ก เพื่อเติมเต็มให้เขา เพราะเขาไม่มีโอกาส ถึงจะไม่ใช่เครือญาติ แต่อย่างแม่ที่ช่วยน้องเนยมา เราก็มีความรัก ความผูกพันกันไม่ต่างจากครอบครัวอื่น ๆ” คุณมะลิกล่าวทิ้งท้าย
เพราะเด็กผู้ลืมตาเกิดมาบนโลก แม้ไม่ใช่สายเลือด แต่พวกเขาคือลูกของผู้ใหญ่ทุกคน กว่ามือน้อย ๆ และสองเท้าเล็ก ๆ จะสัมผัสโลกรอบตัวจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ล้วนเกิดจากการอุ้มชูของผู้คนมากมาย ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคนที่จะไม่นิ่งดูดาย ร่วมกันดูเเล หรือให้การอุปถัมภ์พวกเขา
โครงการ Care for Children เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความเชื่อเหล่านั้น นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2541 จากการเป็นโครงการนำร่องในเซี่ยงไฮ้ สู่ผู้บุกเบิกการดูแลเด็กกำพร้าแบบ ‘Foster Care’ หรือการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เด็กโดยครอบครัวในประเทศจีนและขยายต่อมายังประเทศไทย เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตขึ้นมาในครอบครัวในรูปแบบปกติทั่วไป จนได้รับรางวัลการเป็นโครงการจัดหาครอบครัวเพื่อเด็กที่ดีที่สุด
ในคอนเซ็ปต์ #Giveachildfamily หรือหาบ้านให้เด็ก ทดแทนการส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักเด็กกำพร้าที่มีเด็กจำนวนมาก อาจมีการดูแลไม่ทั่วถึง หรือเด็กอาจเกิดความรู้สึกวิตกกังวล หรือเครียดได้ เป็นอีกทางเลือกในสวัสดิการสำหรับเด็ก เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตอย่างสมวัย ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและมีคุณภาพต่อไป
ณ ขณะนี้ แม้จะมีเด็กหลายร้อยคนทั่วประเทศไทยได้รับการดูแลด้วยความรักและเอาใจใส่ในครอบครัวในท้องถิ่น แต่ยังมีเด็กอีกหลายพันคนที่กำลังรอคอยโอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่มีความสุข หากสนใจทราบรายละเอียดในการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ หรือสมัครเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่
ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร:
สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี - โทร 02 354 7483
สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ - โทร 02 286 2013
บ้านพักเด็กและครอบครัวทุกแห่งในกรุงเทพฯ - โทร 02 354 7580
ในพื้นที่ภูมิภาค:
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
สถานรองรับเด็ก 33 แห่ง
บ้านพักเด็กและครอบครัว 76 แห่งทั่วประเทศ