10 ก.ค. 2566 | 17:40 น.
- สงครามเพื่ออิสรภาพที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1954 - 1962 หลายประเทศในอาณานิคมของฝรั่งเศสลุกฮือกันขึ้นมาต่อต้าน เป็นเหตุให้ชาวแอลจีเรียที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองเอกราชของประเทศตน
- ‘ฟาติมา เบดาร์’ (Fatima Bedar) เยาวชนวัย 15 ปี คือหนึ่งในผู้เข้าร่วมประท้วง โชคร้ายที่เธอถูกพบเสียชีวิตอยู่ในแม่น้ำแซนในอีกสิบวันต่อมา
- เหตุการณ์ครั้งนั้นเรียกว่า การสังหารหมู่ประชาชนที่ปารีส 1961 และถูกปกปิดไว้นานกว่า 60 ปี เพียงเพราะไม่ต้องการให้โลกรู้ว่าตำรวจฝรั่งเศสฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปนับร้อยรายภายในเวลาเพียงหนึ่งวัน
“เราไม่แปลกใจเลยว่านาเฮล วัยรุ่นฝรั่งเศสที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตจะมีเชื้อสายแอลจีเรีย”
กงล้อประวัติศาสตร์ถึงคราวหมุนวนมาบรรจบกันอีกครั้ง หลังจาก ‘นาเฮล’ วัยรุ่นเชื้อสายแอลจีเรียวัย 17 ปี ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตขณะโดนเรียกกลางถนน แม้ตำรวจจะพยายามบอกว่าวัยรุ่นรายนี้มีท่าทีขัดขืนและไม่ฟังคำสั่งเจ้าหน้าที่รัฐ จนเป็นเหตุให้ตำรวจลั่นไกปลิดชีวิตเด็กหนุ่มทันที
แต่คำให้การของตำรวจกลับไม่ตรงกับภาพวิดีโอของประชาชนที่ถ่ายเก็บไว้ได้ จนเป็นเหตุให้ชาวฝรั่งเศสหลากเชื้อชาติลุกฮือขึ้นมาประท้วงโดยทันที เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ
ก่อนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมเดือนตุลาคม 1961
ย้อนกลับไปราว 60 ปีก่อน ตำรวจฝรั่งเศสเคยปราบปรามประชาชนเชื้อสายแอลจีเรียราว 30,000 คน ที่ออกมาเดินขบวนประท้วงอย่างสันติ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 100 คน (ภายในคืนเดียว) อีกทั้งพวกเขายังพยายามปกปิดความเลวทรามเหล่านี้เอาไว้อย่างมิดชิด ทำลายหลักฐานทุกอย่างที่จะบ่งชี้ว่าตำรวจได้กระทำการอันชั่วร้าย เพื่อไม่ให้โลกรับรู้ว่าฝรั่งเศสเคยเกิดเหตุการณ์ไม่น่าให้อภัยนี้เกิดขึ้น กระทั่งถูกเปิดเผยความจริงในอีก 6 ทศวรรษให้หลัง
แต่นี่ก็ไม่ใช่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริง เพราะนักประวัติศาสตร์หลายคนบอกตรงกันว่ามีศพลอยขึ้นมาตรงฝั่งแม่น้ำแซนราว 110 คน จึงเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นคงมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 300 คน และหนึ่งในนั้นคือ ‘ฟาติมา เบดาร์’ (Fatima Bedar) เยาวชนวัย 15 ปีที่ร่างของเธอลอยขึ้นมาจากก้นแม่น้ำแซนในวันที่ 31 ตุลาคม สิบวันหลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรม
“Here we drown Algerians”
(เราจับคนแอลจีเรียถ่วงน้ำที่นี่)
คือป้ายข้อความที่ผูกติดอยู่ตรงสะพานแม่น้ำแซน เพื่อประณามการกระทำในอดีตของตำรวจฝรั่งเศส นี่คือเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ แม้จะมีเพียงน้อยนิด อีกทั้งยังไม่มีการเปิดเผยทั้งรายชื่อและตัวเลขของผู้เสียชีวิต แต่ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ตำรวจทำร้ายประชาชนอย่างไร
ย้อนกลับไปก่อนที่จะเกิดการปราบปรามชาวแอลจีเรียในเดือนตุลาคม 1961 ช่วงเวลานั้นตรงกับสงครามเพื่ออิสรภาพที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1954 - 1962 ไม่เฉพาะแอลจีเรียเท่านั้นที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านฝรั่งเศส แต่หลายประเทศในอาณานิคมก็เริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจเช่นกัน
ซึ่งในแอลจีเรียได้มีการตั้งกลุ่ม CRUA (Comité Révolutionnaire d’Unité et d’Action) ขึ้นมาโดยใช้รูปแบบการปฏิวัติเพื่อปลดปล่อยแอลจีเรีย แต่ก็เป็นอันต้องพับเก็บความตั้งใจไป จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรีย (The National Liberation Front of Algeria: FLN) และนั่นคือที่มาของจุดเริ่มต้นเหตุแห่งการนองเลือดที่ลุกลามจากแอลจีเรียมายังกรุงปารีส ดินแดนที่ใครต่างใฝ่ฝันอยากจะสัมผัสความรุ่มรวยของวัฒนธรรม
แน่นอนว่าสงครามที่ยืดเยื้อทำให้ชาวแอลจีเรียในฝรั่งเศสเริ่มทอดถอนใจ พวกเขาเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุดลงสักที จึงได้ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสรับรองเอกราชของแอลจีเรีย ขณะเดียวกันก็ขอให้พวกเขายกเลิกเคอร์ฟิวกับชาวแอลจีเรียเสียที เพราะหากยังมีเคอร์ฟิวอยู่อย่างนี้ ชีวิตของพวกเขาก็ไม่ต่างจากสัตว์ที่อยู่ในกรง คอยเฝ้ามองคนภายนอกใช้ชีวิตอย่างอิสระโดยไม่สามารถใช้ชีวิตได้เลย
และนั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมพวกเขาจึงชักชวนกันออกมาเดินขบวนอย่างพร้อมเพรียง ถือป้าย แบกอุดมการณ์อันหนักอึ้ง พร้อมกับความหวังที่จะเห็นชาวแอลจีเรียที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
แต่ก็เป็นแค่เพียงภาพฝัน จากวันนั้นจนวันนี้ ชาวฝรั่งเศสหลายรายยังคงมีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพ พวกเขาไม่พึงใจที่จะเห็นคนต่างถิ่นมาอาศัยร่วมผืนแผ่นดินเดียวกัน ซึ่งกลุ่มคนที่โดนเหยียดเชื้อชาติมากเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นคนผิวดำหรือผู้ที่มีเชื้อสายอาหรับ
และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฝรั่งเศสมักมีเหตุการณ์ตำรวจทำเกินกว่าเหตุออกมาให้ชาวโลกเห็นเป็นระยะ
เด็กหญิงในแม่น้ำแซน
ฟาติมา เบดาร์ อายุเพียง 15 ปีตอนที่ร่างของเธอถูกพบในแม่น้ำแซน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1961 ไม่กี่วันหลังจากตำรวจฝรั่งเศสก่อเหตุสังหารประชาชน
ความผิดเพียงอย่างเดียวของเยาวชนรายนี้คือ เธอเลือกที่จะเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพให้กลับคืนสู่มือน้อย ๆ ของเธอเอง แต่แล้วความฝันและความหวังที่จะใช้ชีวิตในดินแดนที่เธอฝากฝังความตั้งใจเอาไว้ กลับไม่เป็นดั่งใจหวัง ชีวิตของเธอถูกพรากลงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่เดินอยู่ในขบวนประท้วง
ฟาติมาเพิ่งเลิกเรียน เธอสะพายกระเป๋านักเรียน ถักเปียสองข้างเก็บไว้อย่างเรียบร้อย นี่คือภาพที่ผู้ร่วมเรียกร้องเห็น แต่ตำรวจกลับมองว่าเธอคือ ผู้ก่อการร้าย
เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงใส่ชาวแอลจีเรียทั้งผู้ใหญ่ เด็ก โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่มีใครรู้ว่าคนออกคำสั่งคือใคร มีเพียงร่างไร้วิญญาณนอนแผ่อยู่กลางถนน เมื่อพวกเขาล้มลง ตำรวจก็จะพากันแบกร่างเหล่านั้นโยนทิ้งลงแม่น้ำแซน เป็นการจบชีวิตผู้บริสุทธิ์ภายในชั่วพริบตาโดยไม่สนว่าพวกเขา ‘ตายสนิท’ หรือ ‘แค่สลบ’
“พี่สาวผมเธอเป็นคนเรียนเก่ง แต่อย่างว่าเธอค่อนข้างสนใจการเมืองมากเกินไปหน่อย”
น้องชายที่มีอายุน้อยกว่าฟาติมา 6 ปีเล่าความทรงจำที่มีต่อฟาติมา พี่สาวที่คอยเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็ก เธอจึงไม่ต่างจากแม่อีกคนที่เขารักและผูกพัน
“ผมใช้เวลาทำใจอยู่พักใหญ่ จนแน่ใจแล้วว่าจะไม่มีวันได้เจอกับเธออีก”
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ฟาติมาสนใจการเมือง คงเป็นเพราะทุกครั้งที่พ่อไปประชุมร่วมกับกลุ่ม FLN เธอมักร้องขอตามไปด้วยทุกครั้ง ทำให้เธอมองเห็นความไม่สมเหตุสมผลที่ทางการฝรั่งเศสกระทำต่อแรงงานต่างชาติ เพราะก่อนหน้านั้นครอบครัวเบดาร์อาศัยอยู่ที่แอลจีเรียมาตลอด ก่อนจะโยกย้ายถิ่นฐานมาแสวงหาอิสรภาพ ณ ดินแดนใหม่ โดยเลือกปารีสเป็นสถานที่สร้างฝัน
ฟาติมาในวัย 6 ขวบต้องปรับตัวยกใหญ่ เธอต้องเรียนภาษาใหม่ หาเพื่อนใหม่ และทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมใหม่ ๆ แม้จะทำเธอหัวหมุนไม่น้อย แต่เธอก็มีความสุขในเมืองที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากปารีส
แน่นอนว่าเด็กหญิงเชื้อสายแอลจีเรียทำได้ดีทุกอย่าง เธอเป็นเด็กเรียนเก่ง เข้ากับเพื่อนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความกระตือรือร้นที่จะช่วยที่บ้านทำงานอยู่เสมอ
17 ตุลาคม 1961 ฟาติมาไปโรงเรียนตามปกติ แต่ครั้งนี้แม่ของเธอกำชับว่าอย่าเข้าไปปารีสเด็ดขาด แต่ฟาติมาไม่ได้รับปาก เธอยิ้มให้แม่ ก่อนจะโบกมือลาเหมือนทุกครั้ง แต่กลับเป็นครั้งสุดท้ายที่ครอบครัวเบดาร์จะเห็นภาพรอยยิ้มอันสดใสของลูกสาวเพียงคนเดียวของพวกเขา
ชีวิตที่ถูกพราก
สิบวันแล้วที่ฟาติมาหายตัวไป ไม่มีวี่แวว ไร้สัญญาณของการมีชีวิตอยู่ แม้ครอบครัวจะออกตามหา แจ้งความกับตำรวจ และออกประกาศทั่วเมือง แต่กลับไม่มีใครเห็นเธอแม้แต่คนเดียว ชีวิตที่หล่นหายของเธอปลิดปลิวราวกับของไร้ค่า ไม่มีแม้แต่คำอธิบายว่าฟาติมาหายไปไหน
จนกระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม ร่างของผู้เสียชีวิตเริ่มทยอยกันโผล่ขึ้นมาที่ริมฝั่งแม่น้ำแซน ครอบครัวเบดาร์ยังคงออกตามหาเธออยู่เหมือนทุกครั้ง และสะดุดเข้ากับร่างหนึ่งที่นอนคว่ำหน้า เห็นเพียงเปียสองข้างที่ถักรวบไว้อย่างดี พ่อของเธอจำได้ทันทีว่านี่คือ ฟาติมา...ลูกสาวที่หายตัวไป
ถึงจะเห็นได้ชัดว่าฟาติมาเสียชีวิตเพราะโศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ตำรวจกลับปฏิเสธทุกอย่างโดยบอกเพียงว่า ฟาติมาเสียชีวิตลงเพราะฆ่าตัวตาย การตายของเธอจึงไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจ และปิดคดีลงโดยไม่สืบหาความจริง
จาก 1961 - 2023 รัฐบาลฝรั่งเศสรับรู้เหตุการณ์นองเลือดมาโดยตลอด แต่เพิ่งออกมาบอกกับประชาชน รวมถึงชาวโลกว่า การกระทำในอดีตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถให้อภัยได้ แต่ก็ยังไม่มีคำขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตรง
และประวัติศาสตร์ก็กลับมาซ้ำรอยอีกครั้งใน 62 ปีให้หลัง เมื่อตำรวจลงมือปลิดชีวิตเยาวชนวัย 17 ปีอย่างไม่ยุติธรรม เพราะอคติทางชาติพันธุ์ที่บังตา และพร้อมจะเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่งไป เพียงเพราะพวกเขามีเชื้อชาติและสีผิวที่แตกต่าง
ไม่รู้ว่าจะต้องสูญเสียอีกกี่ชีวิต อคติที่บดบังจะถูกพร่าเลือนจนมองเห็นว่า ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีเชื้อชาติ ศาสนา หรือชาติพันธุ์ใด พวกเขาล้วนเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีไม่ต่างกัน
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง :
https://www.bbc.com/news/world-africa-58927939
https://www.thaipost.net/columnist-people/6151/
https://www.the101.world/racism-in-france-national-football-team/
ชุติเดช เมธีชุติกุล. การเมืองภายใน ผู้นำ และนโยบายต่างประเทศ: De Gaulle กับการกำหนดนโยบายต่างประเทศฝรั่งเศสเรื่องสงครามแอลจีเรีย. วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 46 ฉบับที่ 1 (2559): 117-139. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.