อาร์เน เซมสรอตต์: ตั้งกองทุนเพื่อ ‘ไถ่’ คนจนออกจากคุก เพราะเชื่อว่าคุกเป็นสถานที่จองจำกลุ่มคนเปราะบาง

อาร์เน เซมสรอตต์: ตั้งกองทุนเพื่อ ‘ไถ่’ คนจนออกจากคุก เพราะเชื่อว่าคุกเป็นสถานที่จองจำกลุ่มคนเปราะบาง

อาร์เน เซมสรอตต์ (Arne Semsrott) นักเคลื่อนไหวผู้จัดตั้งกองทุนเสรีภาพ กองทุนที่มีไว้เพื่อประกันตัวกลุ่มคนที่ถูกจำคุกจากข้อหาไม่ซื้อตั๋วโดยสารขึ้นขนส่งสาธารณะ

“ทำไมคนต้องถูกจำคุกเพียงเพราะไม่มีตั๋วรถไฟ ทำไมพวกเขาต้องโดนตัดสินโทษรุนแรงเพราะข้อกล่าวหานี้ด้วย ในเมื่อประเทศเรา(เยอรมนี)ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอีกมาก ตั้งแต่คนไร้บ้าน ไปจนถึงกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ

“ผมว่าการนำคนจนไปขังในเรือนจำ มันเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดทิศผิดทางไปหน่อย”

อาร์เน เซมสรอตต์ (Arne Semsrott) นักข่าว นักเคลื่อนไหว และผู้ก่อตั้งกองทุนเสรีภาพ Freiheitsfonds (The Freedom Fund) วัย 35 ปีประกาศเจตจำนงอันแรงกล้า เขาคือผู้ออกมาเคลื่อนไหวและจัดตั้งกองทุนไถ่ถอนพลเมืองที่ถูกคุมขัง เพียงเพราะไม่มีเงินซื้อตั๋วโดยสารขนส่งสาธารณะ

กองทุนเสรีภาพ คือองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังกายใจของเหล่าหนุ่มสาวชาวเยอรมัน ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อความอยุติธรรม เพราะพวกเขาเห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ปกคลุมไปทั่วผืนแผ่นดิน รวมไปถึงช่องโหว่ทางกฎหมายเยอรมนี จึงเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่านี่คือหนทางเดียวที่จะช่วยปลดปล่อยเพื่อนร่วมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางออกจากเรือนจำ

“เห็นได้ชัดว่ากฎหมายมันเลือกปฏิบัติกับคนจน คนไร้บ้าน และคนที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ”

นี่คือสิ่งที่อาร์เนเชื่อมาโดยตลอด และเป็นอุดมการณ์ที่ใช้ขับเคลื่อนทุกการกระทำของเขา ปลายปี 2021 เขาสามารถช่วยปล่อยตัวชาย 12 คนออกจากเรือนจำภายในวันเดียว และปล่อยตัวผู้หญิงอีก 9 คนในวันต่อมา โดยใช้เงินราว 780,000 บาท ไถ่ถอนผู้กระทำผิดจากการไม่ซื้อตั๋วรถไฟ

แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่การกระทำของเขาเป็นสัญลักษณ์อันแข็งกล้า ที่อาจทำให้รัฐมองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ คาดกันว่ามีคนถูกสั่งจำคุก เพราะไม่จ่ายค่าโดยสารสาธารณะอยู่ราว 7,000 คนในเรือนจำเยอรมนี ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับจึงต้องลงเอยอยู่ในเรือนจำอย่างเลี่ยงไม่ได้

ตั้งแต่นั้นมาอาร์เนก็มักออกเดินทางไปเยือนคุกหลายแห่งในเยอรมนี เพื่อปล่อยคนที่ถูกจำคุกจากข้อกล่าวหาดังกล่าว เขาเชื่อมาโดยตลอดว่า การกระทำของเขาไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ในทางกลับกันเขาอยากเห็นกฎหมายเปลี่ยนแปลง เพราะไม่อย่างนั้น เยอรมนีคงไม่ต่างจากประเทศที่ประชาธิปไตยถูกเผาทำลาย โดยเงื้อมมือของอำนาจตุลาการ

หากถามว่าทำไมคนเกือบหมื่นถึงยอมอยู่หลังกรงเหล็ก ทำไมไม่จ่ายเงินค่าปรับให้มันจบ ๆ ไป อาร์เนอธิบายว่า ที่เยอรมนีหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบคนไม่มีตั๋วโดยสาร พวกเขาจะปรับเงิน 60 ยูโร (ราว 2,300 บาท) ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากขนาดนั้น จึงเลือกไปอยู่ในเรือนจำ

กองทุนเสรีภาพจึงเหมือนเป็นตั๋วพิเศษที่ช่วยชีวิตกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ให้ร่วงหล่น อาร์เนยังบอกอีกว่าการเข้ามาของกองทุนช่วยให้เงินที่สูญไปกลับเข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 12 ล้านยูโร (ประมาณ 470,000 บาท)

“ผมว่าเรือนจำคงรักกองทุนเราน่าดู ทำไมน่ะเหรอ คุณคิดดูสิ คนที่ติดคุกส่วนใหญ่เพราะไม่มีเงินซื้อตั๋วโดยสารทั้งนั้นแหละ พวกเขาก็คือกลุ่มคนที่มีปัญหาทางการเงิน บางคนก็มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาทางจิต ไม่มีบ้านเป็นหลักเป็นแหล่ง ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียว”

ความพยายามเข้ามาช่วยประกันตัวกลุ่มคนเปราะบางในเรือนจำ เริ่มเกิดผลเมื่อหลาย ๆ แห่งเริ่มมีแบบฟอร์มให้สมัครเข้าร่วมกองทุนเสรีภาพ ซึ่งในความคิดของอาร์เนเขาค่อนข้างผิดหวังกับประเทศนี้ไม่น้อย เพราะด้านหนึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายสั่งจำคุกพวกเขา ขณะเดียวกันก็ให้คนที่จับตัวมาร้องขอความช่วยเหลือจากภาคประชาชน ตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปัจจุบัน อาร์เนช่วยประกันตัวผู้กระทำผิดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 850 คน แม้จะเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่เขาเชื่อว่ารัฐบาลจะยินยอมเปลี่ยนกฎหมายบางส่วน เพื่อไม่ให้คุกกลายเป็นสถานที่กักขังคนจน

ขณะเดียวกัน สมาคมบริษัทขนส่งเยอรมัน (VDV) ซึ่งเป็นตัวแทนภาคขนส่งบริษัทรถไฟและรถบัสมากกว่า 600 แห่ง ออกมาแถลงการณ์เพิ่มเติมถึงบทลงโทษที่รุนแรง “เรามีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลงโทษผู้กระทำผิด เพื่อเป็นเครื่องมือป้องปรามไม่ให้มีผู้กระทำผิดในอนาคต เพราะหากไม่มีบทลงโทษที่เด็ดขาด อุตสาหกรรมของเราจะขาดทุนย่อยยับไม่ต่ำกว่า 300 ล้านยูโรต่อปี (ราว 12 ล้านบาท)”

แม้ว่าในปัจจุบัน จะยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าเยอรมนีจะออกมาแก้กฎหมายก่อนการเลือกตั้งในปี 2025 หรือไม่ แต่อาร์เนจะยังคงให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมประเทศต่อไป โดยไม่มีองค์กรใดเข้ามาแทรกแซง “สำหรับ NGO พวกเรามักโดนคนตั้งคำถามอยู่เสมอ สมมติว่าถ้าผมเลือกทำงานในฐานะคณะกรรมการถ่านหิน ผมก็อาจจะวิพากษ์การกระทำของคณะกรรมการชุดนั้นได้อย่างเต็มที่ ผมเลยขอตัดตัวเองออกจากวงจร ไม่ขอขึ้นตรงต่อหน่วยงานไหนจะดีกว่า”

ส่วนก้าวต่อไปของกฎหมายเยอรมนีในความคิดของอาร์เน เขาบอกว่ารัฐบาลควรมีความโปร่งใสมากกว่านี้ ประชาชนจะต้องสามารถตรวจสอบทุกการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นจะอยู่ระดับใดก็ตาม

เพราะสุดท้ายแล้ว ใต้หล้านี้ไม่มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่าประชาชน

 

ภาพ: Getty Images

 

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/news/world-europe-66664823

https://www.firstpost.com/world/germany-putting-people-in-jail-for-dodging-public-transport-fares-as-volunteers-come-forward-to-help-13180342.html

https://www.quora.com/Why-does-Arne-Semsrott-believe-that-prisons-are-the-wrong-place-for-people-who-are-caught-riding-without-a-ticket

https://polist.medium.com/nico-und-arne-semsrott-im-interview-47e8b233b6f6