นภภร จิวะรังสินี: เขียน เปลี่ยน โลก จากปัญหาสิทธิผ่านรสชาติ ‘Free Anchan’ เปลี่ยนความขมขื่น สู่พลังอันยิ่งใหญ่

นภภร จิวะรังสินี: เขียน เปลี่ยน โลก จากปัญหาสิทธิผ่านรสชาติ ‘Free Anchan’  เปลี่ยนความขมขื่น สู่พลังอันยิ่งใหญ่

รสชาติแห่งความขมขื่น ความสิ้นหวัง และความทุกข์ทรมานของคนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการของรัฐ สำหรับคุณแล้วมีรสสัมผัสอย่างไร? ‘บอส - นภภร’ เปลี่ยนไอศกรีมหวานละมุนเป็นรสชาติที่จะมาเปิดเปลือยให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ของหวานก็สามารถใช้แสดงออกเชิงการเมืองได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการกระทำอื่นใด

‘เมื่อรสชาติเป็นมากกว่าการลิ้มรสสัมผัส’ คุยกับ ‘บอส - นภภร’ ผู้รังสรรค์รสชาติแห่งความหวัง และรสชาติแห่งความขมขื่นของป้าอัญชัญผ่านไอศกรีมโฮมเมด ในแคมเปญ ‘Write for Rights’ ที่คุณจะไม่มีทางเข้าใจจนกว่าจะได้อ่านและชิมมัน  

“ตอนที่แอมเนสตี้ติดต่อให้ทำไอศกรีม ก็หวั่น ๆ ว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ได้กลัวว่าจะถูกจับเข้าคุกไหม แต่คิดว่าจะมี IO มาโจมตีร้านเราไหม อยากบอกว่าการที่ร้านรับทำไอศกรีมรส Write for Rights และ Free Anchan เราไม่ได้สนับสนุนการต่อสู้ด้วยความรุนแรง แต่เราอยากใช้อาหาร ความหวาน มาสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสิทธิมนุษยชน” 

นภภร จิวะรังสินี: เขียน เปลี่ยน โลก จากปัญหาสิทธิผ่านรสชาติ ‘Free Anchan’  เปลี่ยนความขมขื่น สู่พลังอันยิ่งใหญ่ ถึงคุณ ... ผู้ที่ถวิลหาสังคมแห่งความเท่าเทียม รู้หรือไม่สิ่งที่คุณถวิลหารสชาติเป็นแบบใด? และจะเป็นอย่างไรหากรสชาติแห่งการเติบโตถูกนิยามว่ามี ‘รสขม’ นั่นอาจเป็นเพราะผู้คนเหล่านั้น เจอเหตุการณ์ที่เลวร้ายหรือต้องทุกข์ทน ราวกับกินยาขม เพื่อบรรเทาไข้ที่ร้าวรานในกายใจ

แล้วทำไม ‘รสชาติ’ มักถูกหยิบมาเปรียบเปรยแทนความรู้สึก? หากให้อธิบายโดยอิงข้อมูลตามหลักวิชาการมาประกอบ คงบอกได้ว่า ‘รสชาติ’ เป็นสิ่งที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบประสาทสัมผัสที่หลากหลาย และประสบการณ์การลิ้มรสหลายอย่างในชีวิต ที่มักมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาร่วมด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนการเสพประสบการณ์ร่วมกัน ที่ทำให้สามารถหยิบใจความสำคัญ รสสัมผัสที่อยู่เบื้องลึกในชีวิตจิตใจ มาอธิบายแทนความรู้สึกบางอย่างให้เข้าใจร่วมกันง่ายขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่รสชาติชีวิตที่ผ่านการอ่าน ได้ยิน ได้รู้จัก แต่เป็นการตักของหวานบางอย่างเข้าปาก แล้วได้ลิ้มรสความหวังและความขมขื่นที่แฝงอยู่ด้านในรสชาติ  

“ผมคิดว่าการเขียน คือการบอกเล่าอย่างหนึ่งผ่านตัวอักษร แต่การสื่อสาร มันไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแค่ตัวอักษร ผมเชื่อว่ารสชาติสื่อสารอะไรหลาย ๆ อย่างได้เหมือนกัน เหมือนศิลปะที่สื่อสารอะไรออกมาก็ได้ ถ้าเรามองไอศกรีมหรืออาหารเป็นศิลปะ ผมก็อยากจะสื่อสารบางเรื่องออกไปให้สังคมได้รับรู้” 

คำพรรณนาที่เรียงร้อยหลายบรรทัดด้านบน เป็นมุมมองและอุดมการณ์ของ ‘บอส - นภภร จิวะรังสินี’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมด Floaters Ice Cream ที่บอกเล่าความรู้สึกกับเราในสวนอันร่มรื่นหน้าออฟฟิศหลังเล็ก ๆ ท่ามกลางบรรยากาศลมแรง ฝนจะตก ฟ้าจะผ่า แต่บทสนทนาก็ราบรื่นจนจบ 

การคุยกันครั้งนี้เกิดจากการที่เราได้มีโอกาสเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคนธรรมดา ตัวเล็ก ๆ แต่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่และเต็มเปี่ยมไปด้วยความกล้าและความหวัง ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนแคมเปญ ‘Write for Rights - เขียน เปลี่ยน โลก’ กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้ส่งเสียงดังก้องในประเทศไทยและทั่วโลก ผ่านการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ จากรสชาติไอศกรีม

นภภร จิวะรังสินี: เขียน เปลี่ยน โลก จากปัญหาสิทธิผ่านรสชาติ ‘Free Anchan’  เปลี่ยนความขมขื่น สู่พลังอันยิ่งใหญ่ Writer for Rights รสชาติไอศกรีมจากชีวิตผู้คนที่ลิ้มรสประสบการณ์ในโลกใบนี้ 

‘บอส นภภร’ เล่าว่า เขาสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และอาจเป็นเพราะเรียนจบเอกจิตวิทยามาด้วย จึงทำให้มองเห็นปัญหาเหล่านี้ผ่านเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันได้ชัดเจนมากขึ้น เช่นความไม่เท่าเทียมกันในครอบครัวและที่ทำงาน ที่เขาอยากทำให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็อยากทำให้เห็นและสำเร็จถึงเป้าหมายที่วาดหวังไว้ในชีวิตและจิตใจ  

และเพราะอยากพูดเรื่องราวชีวิตผ่าน ‘รสชาติ’ ความหวานที่บางครั้งก็ไม่หวานเหมือนหน้าตาหรือชื่อเสียงเรียงนาม จึงทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมแคมเปญ Write for Rights อย่างไม่ลังเล แม้รู้ดีว่าในการทำธุรกิจ การตัดสินใจแสดงจุดยืนบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเห็นต่างทางการเมือง สังคม หรือขั้วตรงข้ามจากอำนาจที่ฝังรากลึกในตอนนี้ อาจกระทบต่อภาพลักษณ์และรายได้ของเขารวมถึงบริษัทที่กำลังไต่เส้นลวดให้เติบโตดั่งใจหวัง แต่เขามองว่าสิ่งที่เลือกครั้งนี้ คือ การเลือกข้าง ‘ความเป็นมนุษย์’ จึงทำให้ไม่กังวลกับผลกระทบหรือแรงกระแทก แรงปะทะบางอย่างที่อาจจะตามมาหลังจากนี้  

นภภร จิวะรังสินี: เขียน เปลี่ยน โลก จากปัญหาสิทธิผ่านรสชาติ ‘Free Anchan’  เปลี่ยนความขมขื่น สู่พลังอันยิ่งใหญ่

เมื่อรสชาติเป็นมากกว่าความอร่อย

ด้วยแรงปรารถนาที่ต้องการสร้างประสบการณ์การกินไอศกรีมใหม่ๆ ให้ผู้ที่ชื่นชอบในเนื้อสัมผัสและรสชาติอันหลากหลายของไอศกรีมเหมือนกัน ‘บอส นภภร’ และผองเพื่อน ที่แม้จะไม่มีใครเรียนจบด้านการทำอาหารมาก่อน แต่ก็ตั้งใจรังสรรค์เมนูและรสชาติใหม่ ๆ ออกมา ภายใต้แบรนด์ Floaters Ice Cream มานานเกือบ 5 ปี โดยคัดสรรวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ พยายามใส่กิมมิคเข้าไปในรสชาติ เพื่อให้เกิดความสนุกและซ่อนเรื่องราวอะไรบางอย่างไว้ รวมถึงวัตถุดิบบางอย่างยังมีสตอรี่ของส่วนผสมที่บ่มเพาะจากวิถีชีวิตชาวบ้าน แล้วถูกส่งตรงมาถึงร้านไอศกรีมใจกลางเมืองใหญ่

ที่มาของวัตถุดิบที่ส่วนใหญ่เป็นสวนของชาวบ้าน เช่น ช็อกโกแลตจากพื้นที่หนองคาย สตรอว์เบอร์รีจากเชียงใหม่ ที่เกิดจากการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวสวนด้วยตัวเอง หรือการเริ่มต้นค้นหารสชาติไอศกรีม ในช่วงเปิดร้านแรกๆ ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าว่าชอบไหม เพื่อนำมาปรับปรุงให้ได้รสชาติที่ดีขึ้น จนกลายเป็น‘รสชาติที่เกิดจากผู้คน’ 

“ทุกคนที่เปิดร้านไอติมไม่เคยเปิดร้านอาหารเลย ส่วนตัวเรียนจบจิตวิทยามา มีเพื่อนเป็นแพทย์ เศรษฐศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ทุกคนชื่นชอบไอติมเหมือนกัน ที่อ้างถึงแพทย์ เพราะรสชาติของเราและวัตถุดิบจะเน้นเรื่องความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ”  นภภร จิวะรังสินี: เขียน เปลี่ยน โลก จากปัญหาสิทธิผ่านรสชาติ ‘Free Anchan’  เปลี่ยนความขมขื่น สู่พลังอันยิ่งใหญ่

เรื่องสิทธิเป็นรสชาติหนึ่งของสังคม

สำหรับเรื่องราวที่ ‘บอส นภภร’ จะมาบอกเล่าผ่านรสชาติของไอศกรีม มีทั้งหมด 2 เรื่อง 2 รสชาติ เริ่มต้นที่ ‘รสชาติ  Write for Rights’ รสชาติแห่งความหวังของการเขียน เปลี่ยน โลก เมนูที่นำแผ่นไวท์ช็อก (White Chocolate) มาจัดวางให้คล้ายกับหน้าหนังสือ ที่มีหยดหมึกสีน้ำเงินเป็นกิมมิคให้หน้าหนังสือดูมีมิติมากขึ้น ขณะที่ด้านในได้ซ่อนความหวานอมเปรี้ยว พร้อมกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของเสาวรสเอาไว้ เสมือนรอใครมาค้นพบ 

โดยคอนเซ็ปต์ของรสชาตินี้ คือบอกเล่าความรู้สึกหลังได้อ่านงานเขียนที่เป็นปากเป็นเสียงให้ผู้คน และสนับสนุนความเท่าเทียมของมนุษย์ เมื่อเปิดอ่าน (กินเข้าไป) แล้วรู้สึกชื่นใจ กินแล้วมีความหวัง เหมือนคอนเซ็ปต์หลักของเเคมเปญที่ว่า ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ แต่รสชาตินี้ ‘กินแล้วเปลี่ยนใจ’ ทำให้มีพลังและความหวังในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป 

ส่วนอีกรสเป็นเรื่องราวอันขมขื่นของ ‘ป้าอัญชัญ’ หรือ ‘อัญชัญ ปรีเลิศ’ หญิงวัยเกษียณ ที่ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 จากการแชร์คลิปเสียง เป็นความผิด 29 กรรมด้วยการถูกจำคุกถึง 43 ปี 6 เดือน  

รสชาตินี้  ‘บอส นภภร’ ตั้งชื่อว่า ‘Free Anchan’ จากข้อมูลที่เขาไปศึกษามาเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องราวของป้าอัญชัญ เขามองว่าหากกฎหมายบอกว่าผิด มันก็ผิด แต่คำถามคือผลการตัดสินโทษมันต้องหนักขนาดนี้หรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นความขมขื่นของคนที่อยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต แต่กลับต้องมาเจออะไรแบบนี้ 

นภภร จิวะรังสินี: เขียน เปลี่ยน โลก จากปัญหาสิทธิผ่านรสชาติ ‘Free Anchan’  เปลี่ยนความขมขื่น สู่พลังอันยิ่งใหญ่ รสชาติที่ออกมาจึงเกิดจากการตีความคำว่า ‘อัญชัน’ ดอกไม้ที่สวยงามและมีสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ แต่กลับไม่มีรสชาติอะไรเลย เมื่อนำมาผสมกับความขมขื่นที่เกิดขึ้นกับชีวิตของป้าอัญชัญ ที่ถูกกระทำอย่างไม่เท่าเทียม มันจึงออกมาในลักษณะเหมือนจะสวย หวาน แต่จริง ๆ มีความขมขื่นซ่อนอยู่ลึก ๆ 

รสชาติง่าย ๆ ที่เกิดจากการผสมระหว่าง ‘อัญชัน - มะนาว’ ถูกดีไซน์ให้ล้ำลึกด้วยการใช้ ‘รสเปรี้ยว’ ของมะนาวที่มีความเข้มข้น ในระดับเข้าปากแล้วถึงกับต้องหลับตาปี๋เป็นรสนำ เเต่เมื่อไอศกรีมละลายหมดมันจะทิ้งความขมติดอยู่ที่ปลายลิ้น ให้ความรู้สึกว่าเหมือนจะอร่อย เหมือนจะมีอะไร แต่จริง ๆ มันกลับมีความขื่นขมซ่อนอยู่

“รสชาติเหล่านี้อยากให้มาลองชิมกันมากกว่า คุณคงไม่เข้าใจมันหรอก จนกว่าคุณจะได้เริ่มชิมมัน ผมว่าก็เหมือนกัน ถ้าคุณไม่เริ่มอ่าน คุณจะไม่มีวันเข้าใจ คุณบอกว่าไปฟังสรุปจากคนอื่นมา มันไม่เหมือนกับประสบการณ์ที่คุณได้อ่านเองหรอก เช่นกันกับไอติมของผม เมื่อคุณได้ชิมมันคุณจะรู้ว่ามันสัมพันธ์กับเรื่องราวอย่างไร”

สำหรับปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ‘บอส นภภร’ มองว่าเป็นปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างที่ไม่เอื้อให้มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน ผลที่ออกมาจึงทำให้คนไทยถูกลิดรอนสิทธิในหลายมิติ ซึ่งทุกที่ในประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องนี้ คำถามคือภาครัฐให้ความสำคัญในการแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน เพราะเรื่องนี้เขามองว่าไม่เกี่ยวกับฐานะ แต่เป็นเรื่องของการดูแลที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น การกระจายอำนาจและการพัฒนาไปในพื้นที่ต่างจังหวัด 

หรือเรื่องราวของ ‘นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล’เจ้าของเพจ ‘สู้ดิวะ’ หมอหนุ่มวัย 28 ปี ที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เชียงใหม่ จนทำให้ป่วยเป็นมะเร็ง ที่หากเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐฯ คงมีการฟ้องร้องรัฐบาลไปแล้ว ว่าทำไมถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่พอเกิดขึ้นในประเทศไทย เหมือนมีอำนาจหนึ่งอยู่เหนือประชาชน แล้วทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะพูด ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับในฐานะพลเมือง 

ดังนั้น การจะทำให้ทุกคนรู้สึกตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม ต้องเริ่มจากการทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และต้องเริ่มจากความคิดหรือมายด์เซตก่อนว่า เราทุกคนมองคนอื่นเท่าเทียมกับเราหรือไม่ และการที่มีบทบาทหน้าที่ไม่เหมือนกัน แต่พูดคุยกันได้ สื่อสารกันได้ ก็ถือว่าเป็นความเท่าเทียมอย่างหนึ่งได้ เปรียบได้กับการที่เขาและแก๊งเพื่อนไม่มีใครเคยเรียนด้านอาหารมาก่อน แต่ก็สามารถสร้างแบรนด์ไอศกรีมของตัวเองได้ โดยเริ่มต้นจากความชอบเรื่องไอศกรีมเหมือนกัน  แบบนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างของความเท่าเทียมที่อยู่ใกล้ตัวมากขึ้น 

สำหรับแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ เป็นแคมเปญของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เชิญชวนผู้คนและผู้สนับสนุนจากทั่วโลก เขียนจดหมายให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวของเขาโดยตรง ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อทำให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังในโลกที่เรื่องสิทธิยังเป็นเรื่องที่ใกล้และไกลตัวของใครหลายคน

นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้คนที่เข้าร่วมยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบทุกคนได้ เพื่อรณรงค์ให้เห็นว่าประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม

นภภร จิวะรังสินี: เขียน เปลี่ยน โลก จากปัญหาสิทธิผ่านรสชาติ ‘Free Anchan’  เปลี่ยนความขมขื่น สู่พลังอันยิ่งใหญ่ เรื่องและภาพ: พุทธชมพู