26 มี.ค. 2566 | 14:48 น.
- ‘ฟินแลนด์’ คว้าแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 6 จากการจัดอันดับของ World Happiness Report
- ความจริงแล้วคนฟินแลนด์ก็งงเหมือนกันนะ ที่ใครก็ต่างยกย่องว่าประเทศของพวกเขามีความสุขที่สุดในโลก เพราะพวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขขนาดนั้น
- ชาวฟินแลนด์ยึดคติที่ว่า “ไม่มีใครผ่านชีวิตมาได้โดยปราศจากโศกนาฏกรรม”
‘ฟินแลนด์’ แทบจะกลายเป็นนิยามของความสุขไปแล้ว ล่าสุดก็คว้าแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 6 จากการจัดอันดับของ World Happiness Report ทั้งที่สภาพอากาศในฟินแลนด์นับว่าโหดมาก ฤดูหนาวแสนทรมานยาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์ (อารมณ์คล้ายประเทศไทยที่มีแต่ฤดูร้อน) บางพื้นที่ของฟินแลนด์แทบไม่ได้รับแสงแดดเลยในบางช่วงของปี ปลูกอะไรก็ไม่ค่อยจะขึ้น
แต่ถึงกระนั้น สภาพอากาศก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขวางความสุขของชาวฟินแลนด์เลย เหตุผลสำคัญเพราะฟินแลนด์มี “ระบบที่เอื้อต่อการลดความเคร่งเครียด” ทั้งการศึกษาที่ไม่กดดันเด็กจนเกินไป วันหยุดที่มากจนน่าอิจฉา ประกันสุขภาพที่ไว้วางใจได้
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นผลจากการวางรากฐานทางสังคมและการเมืองที่แข็งแกร่ง บวกกับความที่เป็นประเทศขนาดเล็ก เลยขับเคลื่อนอะไรได้คล่องกว่า
อ่านถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าเราจะขยี้เรื่อง “ถ้าการเมืองดี...” เพราะวันนี้เราจะล้วงลึกไปถึงจิตวิญญาณของชาวฟินแลนด์ที่ทำให้พวกเขามีความสุขและพึงพอใจในชีวิต นอกเหนือจากเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น
ปรัชญา 'ซิสุ' (Sisu) ของชาวฟินแลนด์
หลายประเทศ เวลาถูกถามว่า “สบายดีมั้ย?” คนมักจะตอบว่า “สบายดีจ้ะ” (พร้อมฉีกยิ้มจนตาหยี) อาจเป็นเพราะไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองกำลังทุกข์ แฟนมีกิ๊ก เงินไม่พอใช้ เพื่อนนินทา ฯลฯ หรือขี้เกียจนั่งสาธยายว่าวันๆ ต้องเจอเรื่องอะไรบ้าง
แต่สำหรับชาวฟินแลนด์ เวลาเจอคำถามเดียวกันนี้ ถ้าเขาไม่มีความสุขจริงๆ เขาจะไม่เสแสร้งเลย จึงเป็นเรื่องธรรมดามากที่พวกเขาจะตอบว่า “ช่วงนี้ไม่โอเคเลยหว่ะ” หรือ “รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่”
เพราะชาวฟินแลนด์ไม่มีมารยาทเหรอ? หรือชาวฟินแลนด์เป็นพวกอมทุกข์?
เปล่าเลย ไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นเพราะชาวฟินแลนด์เขามีปรัชญาที่ชื่อว่า 'ซิสุ' (Sisu) แปลตรงตัวก็คือ “ลำไส้” (Guts) ซึ่งในภาษาอังกฤษจะแปลว่า “ความกล้าหาญ” หรือ “ความอดทน” ก็ได้
ซิสุ เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบความอดทนในแบบฉบับชาวฟินแลนด์ ที่ทำให้พวกเขาเผชิญความท้าท้ายได้อย่างทรนง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ปั่นจักรยานขึ้นเนิน หรือตอนที่ต้องประชุมงานยากๆ ซิสุจะเป็นเหมือนเสียงที่คอยกระซิบข้างหูพวกเขาว่า “แกเอาอยู่หน่า”
'แฟรงก์ มาร์เตลา' นักปรัชญาชาวฟินแลนด์ บอกว่า ชาวฟินแลนด์เป็นพวกที่ยอมรับว่าตัวเองกำลังอยู่ในความรู้สึกด้านลบหรือช่วงเวลาที่ยากลำบาก พวกเขายึดคติที่ว่า
“ไม่มีใครผ่านชีวิตมาได้โดยปราศจากโศกนาฏกรรม”
มันเลยเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่พวกเขาจะบอกเล่าความทุกข์ที่พบเจอในชีวิตให้คนรอบตัวฟัง เพราะท้ายที่สุดแล้ว “ความสามารถในการอดทนต่อความทุกข์ในระยะยาวต่างหาก ที่เป็นเหตุผลสำคัญของการมีความสุข”
ชาวฟินแลนด์มีสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน
คนฟินแลนด์เป็นพวกทำงานหนัก แต่ยังยึดหลักชั่วโมงทำงานที่เหมาะสม บวกกับข้อดีอีกอย่างคือพวกเขาไม่ต้องหมดเวลาไปกับการเดินทาง ทำให้ในแต่ละวันมีเวลาว่างค่อนข้างมาก พอเลิกงานปุ๊บพวกเขาก็ออกไปทำอะไรที่อยากทำ หรือจะเอาเวลาไปดูแลตัวเองก็ได้ จึงไม่แปลกที่กราฟความสุขของพวกเขาจะพุ่งสูงลิ่ว
ชาวฟินแลนด์ใกล้ชิดธรรมชาติ
ที่ฟินแลนด์มีกฎที่ชื่อว่า ‘Everyman’s Right’ ซึ่งอนุญาตให้ชาวฟินแลนด์มีสิทธิ์เข้าถึงป่า ทะเลสาป ทะเล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คนฟินแลนด์เลยชอบออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น แคมป์ปิ้ง เก็บลูกเบอร์รี่ เก็บเห็ด ปีนเขา ขี่ม้า เล่นสกี โดยเฉพาะการว่ายน้ำในทะเลบอลติก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวฟินแลนด์ชื่นชอบกันมาก
แต่ถึงแม้จะไม่ใช่การออกกำลังกาย พวกเขาก็ได้ใกล้ชิดธรรมชาติอยู่ดี เพราะแม้จะอยู่ใจกลางเมืองก็ยังมีผืนป่าเขียวขจี (ไม่ใช่มองไปทางไหนก็มีแต่ตึก มีแต่ห้าง) ซึ่งการได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาตินี้เอง ที่ช่วยลดระดับความเครียดจากการทำงานและภาระหน้าที่ของพวกเขาลงได้
ชาวฟินแลนด์ชอบเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
ชาวฟินแลนด์เป็นพวกกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเอง และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของพวกเขา แต่การเรียนรู้ที่ว่า ไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้ภาษาใหม่หรือการฝึกทักษะที่เกี่ยวกับการทำงานเสมอไปหรอกนะ บางทีสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ก็เป็นทักษะทั่วไป เช่น หัดทำอาหารเมนูใหม่ หรือหัดแล่นเรือ
การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นี้เอง ที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าได้ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า นอกเหนือไปจากกิจวัตรประจำวันที่น่าเบื่อหน่าย
ฟินแลนด์เป็นสังคมแห่งความไว้วางใจ
ความเชื่อใจในฟินแลนด์อยู่ในระดับสูงมาก อาจเพราะเป็นประเทศเล็กๆ หันไปทางไหนก็เจอแต่คนรู้จัก ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกเหงาหรือเดียวดาย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ตรงข้ามกับความสุข
เมื่อปี 2021 มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ความเหงาถูกยกให้เป็นหนึ่งในเหตุผลด้านลบที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อความพึงพอใจในชีวิต และการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนอื่นเป็นสิ่งจำเป็นในการเติมเต็มชีวิต
“ความพึงพอใจ” มาก่อน "ความสุข"
ความจริงแล้วคนฟินแลนด์ก็งงเหมือนกันนะ ที่ใครก็ต่างยกย่องว่าประเทศของพวกเขามีความสุขที่สุดในโลก เพราะพวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขตลอดเวลาสักหน่อย
ในประเด็นนี้ มาร์เตลาอธิบายว่า ความจริงแล้วฟินแลนด์เป็นดินแดนแห่งความพึงพอใจอันเงียบสงบ ผู้คนไม่ได้แสดงความดีใจออกนอกหน้าตลอดเวลา หากแต่ต้องสำรวจลึกลงไปในจิตใจจึงจะพบว่าพวกเขากำลังพึงพอใจกับชีวิต
พูดง่ายๆ คือ ความสุขของชาวฟินแลนด์ ไม่ได้หมายถึงอารมณ์ฟินๆ ตอนเจอศิลปินคนโปรด ถูกหวย ได้เลื่อนตำแหน่ง คนที่ปิ๊งทักมาก่อน อะไรแบบนั้น แต่หมายถึงความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตที่มีอยู่ต่อเนื่องต่างหาก
ถ้าสังเกตดีๆ รายงานของ World Happiness Report เขาไม่ได้เก็บผลสำรวจประชากรแต่ละประเทศด้วยคำถามที่ว่า คุณกำลังมีความสุขอยู่หรือเปล่า? แต่จริงๆ แล้ว เขาถามว่า คุณมีความพึงพอใจในชีวิตหรือเปล่า?
หมายความว่าคนฟินแลนด์เขาไม่ได้ดิ้นรนเพื่อหาความบันเทิงใจหรือความครึ้มอกครึ้มใจ แต่เขารู้สึกพึงพอใจกับเรื่องที่มันมีอยู่แล้วในชีวิต เช่น กาแฟที่ไม่ได้แพงมากแต่กลิ่นหอมและเข้มกำลังดี หรือรถสักคันที่อาจจะไม่ได้หรูมาก แต่ไม่เคยงอแงเวลาเขาขับไปไหน และความพึงพอใจเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้แหละ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขาไปตลอดทั้งวัน
“Onni ei tule etsien, vaan eläen,”
ในวัฒนธรรมตะวันตก มีการพูดถึงความสุขอยู่บ่อยๆ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลในการใช้ชีวิตให้มีความสุข พวกเขาจมอยู่กับมายาคติที่ว่า “หากทำทุกอย่างถูกต้อง เราก็จะมีความสุข” ซึ่งมันก็ไม่จริงเสมอไปหรอก เพราะลำพังตัวเองจะไปควบคุมทุกอย่างได้ยังไง ชีวิตมันยังมีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อีกมากที่จู่ๆ ก็พุ่งเข้าหาเราแบบไม่ทันตั้งตัว แล้วสกัดเราไม่ให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ดังนั้นชาวฟินแลนด์จึงไม่ได้สนใจกับการมุ่งสร้างความสำเร็จทางวัตถุหรือความร่ำรวย แต่จะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ต่อคนรอบตัวมากกว่า พวกเขามีสุภาษิตว่า
“Onni ei tule etsien, vaan eläen,” แปลว่า ความสุขไม่ได้มาจากการค้นหา แต่มาจากการมีชีวิตอยู่
ในฐานะที่เป็นนักปรัชญา มาร์เตลาเคยถูกถามหลายครั้งว่า ความหมายของชีวิตคืออะไร ซึ่งเขาตอบเพียงประโยคเดียวว่า
“ความหมายในชีวิตคือการทำให้ตัวเองมีความหมายต่อผู้อื่น แล้วคุณจะพบว่ามันไม่ได้เป็นเพียงความหมายต่อชีวิตเท่านั้น แต่มันยังเป็นหนทางนำไปสู่ความสุขอีกด้วย”
อ้างอิง: