‘ฮาโรลด์ รักก์’ อัจฉริยะปีศาจ นักวิชาการฝ่ายซ้าย ผู้ผลิตหนังสือเรียนต้องห้าม

‘ฮาโรลด์ รักก์’ อัจฉริยะปีศาจ นักวิชาการฝ่ายซ้าย ผู้ผลิตหนังสือเรียนต้องห้าม

นักวิชาการฝ่ายซ้ายซึ่งถูกเรียกเป็น ‘อัจฉริยะปีศาจ’ ผลิตหนังสือที่โดนแบน และถูกรัฐเพ่งเล็งสมัยเดียวกับ ‘ออปเพนไฮเมอร์’

  • ฮาโรลด์ รักก์ จัดทำเอกสารชุดความรู้ที่ชื่อว่า ‘Man and His Changing Society’ ในปี 1921 เน้นไปที่การโฟกัสปัญหาสังคมในสหรัฐอเมริกาและส่งเสริมให้นักเรียนแสวงหาวิธีการแก้ไขที่มีศักยภาพ 
  • ชุดหนังสือของเขาได้ตั้งคำถามกับการเมืองและเศรษฐกิจกระแสหลักในสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจ วิจารณ์ทุนนิยมแบบเสรี การกระจายความมั่งคั่งและรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ถือว่าเป็นคำถามใหญ่ต่อระบอบการเมืองและเศรษฐกิจที่มีอำนาจเหนือสหรัฐอเมริกาอย่างโจ่งแจ้ง 
  • องค์กรระดับชาติจัดตั้งการประท้วงระดับมวลชนส่งผลให้เกิดการถอดตำราออกจากโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในรัฐโอไฮโอมีการเผาตำรากันด้วย บริษัทผลิตตำราของรักก์ได้สนับสนุนค่าเดินทางของเขาให้ไปพบผู้ต่อต้านที่ไม่เคยแม้แต่จะอ่านหนังสือ คนเหล่านี้แค่หวาดกลัวคอมมิวนิสต์จนขึ้นสมอง

หากใครได้ดูภาพยนตร์ ‘ออปเพนไฮเมอร์’ (Oppenheimer) อาจจะขมวดคิ้วกับภาวะที่รัฐบาลและชาวอเมริกันมีปฏิกิริยาเชิงลบต่อผู้ที่มีแนวคิดทางสังคมนิยม หรือพวกฝ่ายซ้าย สาเหตุก็คือ มันเป็นผลพวงจากแนวคิดขวาพิฆาตซ้ายแบบแมคคาร์ธีที่มีต้นเชื้อมาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 

ว่ากันว่าช่วงทศวรรษ 1930 เป็นห้วงเวลาที่นักคิดนักวิชาการหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่มีใจให้กับฝ่ายซ้าย นอกจาก ‘โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ (Robert Oppenheimer) แล้ว ‘ฮาโรลด์ โอ. รักก์’ (Harold O. Rugg) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่สายการศึกษาที่ถูกเพ่งเล็งจากรัฐอยู่

รักก์ เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ปี 1886 ที่เมืองฟิทช์เบิร์ก รัฐแมสซาชูเซตส์ แต่แรกนั้นเขาจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธาจากวิทยาลัยดาร์ตมัธในปี 1908 และเริ่มสอนด้านวิศวกรรมเป็นเวลา 2 ปี เชื่อกันว่าประสบการณ์การสอนนั้นทำให้เขาสงสัยว่า ผู้คนนั้นเรียนรู้ได้อย่างไร จึงเปลี่ยนไปเรียนในสาขาครุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ และสำเร็จการศึกษาในปี 1915 

ต่อมารักก์ได้งานเป็นอาจารย์พร้อมทั้งนักวิจัยในมหาวิทยาลัยชิคาโก โดยให้ความสนใจอยู่กับการประยุกต์การวัดผลและสถิติในด้านการศึกษา ซึ่งไปกันได้ดีกับวิธีคิดแบบวิศวกรรมที่เขามีพื้นฐานอยู่ 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เขายังได้ทำงานให้กับรัฐบาลที่วอชิงตัน ดี.ซี. ไปด้วย ระหว่างนั้นเขาได้คุ้นเคยกับศิลปินและนักวิจารณ์ทางวัฒนธรรมที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตของเขาในเวลาต่อมา

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 1920 เขาได้ย้ายไปสอนที่วิทยาลัยครู ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่เมืองนิวยอร์ก และเป็นผู้อำนวยการที่สำนัก Lincoln อันเป็นสำนักที่ทดลองการสอนร่วมกับวิทยาลัยครู ณ ที่แห่งนั้นเขาได้ร่วมกับนักคิดทางศิลปะและวรรณกรรมกลุ่มหนึ่ง เขาสนใจในการปลุกความสร้างสรรค์ในปัจเจกมากกว่าการสอนเด็กทั้งชั้นด้วยมาตรฐานเดียว และให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องเด็กเป็นศูนย์กลาง (child-centered education)

ต้นทศวรรษ 1920 เขาตีพิมพ์บทความที่เสนอว่า วิชาสังคมศึกษาที่มีหลากหลายวิชาควรถูกสอนเป็นองค์รวมเชื่อมต่อกัน เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายให้แก่นักเรียน และไม่เป็นภาระของครู (เช่นเดียวกัน เมื่อมองกลับมาที่ไทย ทุกวันนี้กลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษาฯ ได้แบ่งออกเป็นศาสนา, หน้าที่พลเมือง, เศรษฐศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์) 

เขายังเชื่อว่าวิธีการที่ดีที่สุดให้นักเรียนรู้สึกร่วมกับวิชาสังคมศึกษาคือ การเข้าถึงผ่านมุมมองด้านความยุติธรรมทางสังคม เขาจึงเน้นไปที่หลักสูตรที่เน้นไปที่การสืบสวนปัญหาทางสังคม

รักก์อยู่ในขบวนการ ‘social reconstructionist’ (ขอแปลว่า ขบวนการการประกอบสร้างซ้ำทางสังคม) ที่ตั้งคำถามกับความคิดก่อนหน้าอย่างสำนักคิดดาร์วินทางสังคม และทุนนิยมแบบเสรีนิยม ขบวนการดังกล่าวไม่ได้เรียกร้องให้โค่นล้มรัฐบาลหรือระบบเศรษฐกิจ แบบที่ฝ่ายขวามักมองแบบเหมารวมว่า พวกฝ่ายซ้ายทั้งหมดคือพวกล้มล้าง แต่รักก์ได้สร้างข้อถกเถียงกับระบบเศรษฐกิจว่า มันต้องการการวางแผนอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดสังคมที่ยุติธรรม 

รักก์และพวกพ้องยังเชื่อว่า โรงเรียนจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่หลักสูตรแบบเดิม ๆ มักจะสนับสนุนไปที่การสร้างผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่า ดังนั้น วิชาสังคมศึกษาควรจะถูกแทนที่ด้วยหลักสูตรที่มีนวัตกรรมและมีลักษณะข้ามศาสตร์โดยเน้นไปที่ปฏิสัมพันธ์ของเหล่าพลเมือง เช่นเดียวกับที่ควรเน้นปฏิบัติการทางสังคมที่สนับสนุนให้ปัจเจกทำงานร่วมกันเพื่อที่จะส่งผลบวกต่อสังคม เขายืนยันว่าโรงเรียนควรเตรียมพร้อมให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับกระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตย 

มีคำกล่าวว่า “ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ หนังสือเรียนคือผู้สอน ไม่ใช่ครู” หนังสือเรียนมักจะมีบทบาทในการก่อรูปเนื้อหาและหลักสูตรในวิชาสังคมศึกษา รักก์จึงให้ความสำคัญกับหนังสือเรียน เขามองว่าจุดประสงค์ของหนังสือเรียนคือการสอนนักเรียนเพื่อให้ตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมอเมริกัน และการกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม 

ในหนังสือคู่มือครูเขามักนำเสนอวลีว่า “ทำไมเธอถึงคิดแบบนั้น” “เธอมีความคิดที่เปิดกว้างต่อสิ่งต่างๆ ไหม” “อะไรคืออำนาจหน้าที่ของเธอ” “เธอเคยคิดถึงมันทุกแง่ทุกมุมหรือยัง” ในฐานะที่ต้องการให้นักเรียนเข้าถึง “ความเข้าใจอย่างอดทน” อาจกล่าวได้ว่า ตำราของรักก์เน้นการคิดเชิงวิพากษ์มากกว่าการส่งผ่านความรู้

เขาเริ่มจัดทำเอกสารชุดความรู้ที่ชื่อว่า ‘Man and His Changing Society’ ในปี 1921 เพื่อเสนอความรู้ที่มากกว่าประวัติศาสตร์แห่งชาติฉบับเป็นทางการ ชุดหนังสือนี้เน้นไปที่การโฟกัสปัญหาสังคมในสหรัฐอเมริกา และส่งเสริมให้นักเรียนแสวงหาวิธีการแก้ไขที่มีศักยภาพ เอกสารชุดนั้นขายได้กว่า 750,000 ชุด ต่อมาได้ถูกจัดพิมพ์เป็นหนังสือเรียนและขายเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 1929 และนี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหา หนังสือชุดนี้ขายดีในระดับ 5.5 ล้านเล่ม กระจายไปกว่า 5,000 โรงเรียน บางปีขายได้มากถึง 3 แสนเล่ม

ชุดหนังสือของเขาได้ตั้งคำถามกับการเมืองและเศรษฐกิจกระแสหลักในสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจ วิจารณ์ทุนนิยมแบบเสรี การกระจายความมั่งคั่งและรายได้ที่ไม่เป็นธรรม สาเหตุและผลที่ตามมาของการว่างงาน ความขัดแย้งทางชนชั้น การอพยพ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางวัฒนธรรม และแนวคิดแบบจักรวรรดินิยม ถือว่าเป็นคำถามใหญ่ต่อระบอบการเมืองและเศรษฐกิจที่มีอำนาจเหนือสหรัฐอเมริกาอย่างโจ่งแจ้ง 

ตัวอย่างเช่น คำถามท้ายบท A History of American Government and Culture มีคำถามว่า “ในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ เราควรถามว่า ประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลได้อย่างไร -ใครมีอภิสิทธิ์และรับผิดชอบในการโหวตบ้าง -ใครถูกกีดกันหรือใครที่คุมอำนาจอยู่”

มีส่วนหนึ่งของเนื้อหา เขาสร้างแบบจำลองทางสังคมผ่านคน 3 ประเภท คือ นายคนยาก - นายชนชั้นกลางแรงงานปกขาว - นายนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง ได้ข้อสรุปว่ามีแต่คนหลังเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงความงามและความสะดวกสบายกว่าคนอื่น และนี่คือสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน

ในอีกด้านตำราของรักก์ยังเน้น ‘การสืบค้นแบบปฏิบัติการเชิงสังคม’ เขาสนับสนุนให้นักเรียนสืบค้นชุมชนท้องถิ่นของพวกเขาเพื่อหวังว่าจะระบุอัตลักษณ์ตัวตนอย่างเปิดเผย และมีส่วนในการเยียวยาสังคมที่กำลังป่วยไข้ ผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์เมือง ด้วยการรวบรวมเอกสารเก่าแก่ การเรียนรู้นำไปสู่ความพยายามจะเข้าใจเพื่อนบ้าน ชีวิตครอบครัว และองค์กรทางสังคม และรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเช่นนี้สำหรับฝั่งนายทุนแล้วถือเป็นเรื่องอันตรายร้ายแรง และยิ่งสังคมอเมริกันช่วงนั้น เริ่มหวั่นวิตกกับภัยคอมมิวนิสต์อีกครั้งในช่วงสหภาพโซเวียตเริ่มเข้มแข็งขึ้นและมีอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ 

บรรษัททางหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ชื่อว่า ‘Hearst’ ได้ออกหน้า ร่วมกับวงการโฆษณาและอุตสาหกรรม กับกลุ่มทรงอิทธิพลทางสังคมได้โจมตีหนังสือเรียนดังกล่าวผ่านนิตยสาร ‘Time’ ว่า ได้สร้างภาพผิด ๆ ว่าอเมริกาเป็นดินแดนแห่งโอกาสอันไม่เท่าเทียม และใส่ร้ายต่อรัฐธรรมนูญว่า มีหลักฐานว่าด้วยจิตสำนึกทางชนชั้นตามสำนวนของฝ่ายซ้าย  

ปี 1937 ‘บี.ซี. ฟอร์บส์’ (B.C. Forbes) นักข่าวสายการเงินและผู้ก่อตั้งนิตยสารชื่อเดียวกับเขา ได้พยายามถอดถอนแบบเรียนออกจากโรงเรียนด้วยข้อหาว่า “ไม่เป็นอเมริกัน, เป็นพวกสังคมนิยม และจ้องจะล้มล้าง” แต่ความพยายามไม่ประสบความสำเร็จ 

ฟอร์บส์พยายามต่อไปด้วยการเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ Hearst และนิตยสารของเขาเพื่อปั่นกระแสจากมวลชนให้ต่อต้านหนังสือเรียนของรักก์ โดยเฉพาะหนังสือเรียนได้วิพากษ์อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ว่าเป็นธุรกิจที่ทรงอิทธิพลทั้งยังมุ่งเน้นกำไร ฟอร์บส์ได้ด่ากลับอย่างรุนแรงว่า ไม่เป็นอเมริกันอย่างอุบาทว์ (viciously un-American) และบิดเบือนความจริงเพื่อที่จะโน้มน้าวคนรุ่นหลังให้เชื่อว่า การประกอบการของเอกชนนั้นเป็นสิ่งที่แย่และร้ายกาจ

สมาคมอุตสาหกรรมแห่งชาติได้จัดทำรายงานชื่อว่า ‘Robey Report’ โดยศาสตราจารย์ด้านธนาคารแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รายงานนั้นได้รีวิวหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษากว่า 600 ชุด และระบุว่า มีหนังสือเรียนจำนวนหนึ่ง ‘น่าสงสัย’ เพราะว่ามีการวิพากษ์สิ่งที่เรียกว่า ระบบ ‘กิจการอิสระ’ และรูปแบบของรัฐบาลอเมริกาปัจจุบัน นอกจากนั้น ปี 1939 สหพันธ์โฆษณาแห่งอเมริกาและพันธมิตรได้ตอบโต้หนังสือเรียนของรักก์ที่สอนให้ระวังการอ้างผิด ๆ ของโฆษณา ทำให้พวกเขารณรงค์ต่อต้าน ‘การโฆษณาชวนเชื่อของรักก์’ ด้วยใบปลิว 

ช็อตสุดท้ายที่ตามมาขยี้ก็คือ ‘American Legion Magazine’ ฉบับเดือนกันยายน ปี 1940 ตีพิมพ์บทความชื่อว่า ‘กบฏในหนังสือเรียน’ ซึ่งประกอบด้วยการ์ตูนแสดงภาพรักก์ที่มีนัยน์ตาของปิศาจและเด็กนักเรียนที่สวมแว่นสีชมพูซึ่งมีนัยถึงปีศาจคอมมิวนิสต์นั่นเอง ลักษณะดังกล่าวคงไม่ต่างอะไรกับการที่ฝ่ายขวาในหลายประเทศกระทั่งในประเทศไทยที่ปั่นหัวผู้คนเพื่อสร้างความจงเกลียดจงชังต่อแนวคิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ 

คลื่นความไม่พอใจเหล่านี้ ทำให้องค์กรระดับชาติจัดตั้งการประท้วงระดับมวลชน ส่งผลให้เกิดการถอดตำราออกจากโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในรัฐโอไฮโอมีการเผาตำรากันด้วย บริษัทผลิตตำราของรักก์ได้สนับสนุนค่าเดินทางของเขาให้ไปพบผู้ต่อต้านที่ไม่เคยแม้แต่จะอ่านหนังสือ คนเหล่านี้แค่หวาดกลัวคอมมิวนิสต์จนขึ้นสมอง นำมาสู่การอ้างและด่าอย่างผิดๆ เกี่ยวกับหนังสือและผู้แต่ง ที่ตลกร้ายคือ รักก์ถือว่าไม่ใช่พวกซ้ายจัดในหมู่นักคิดมาร์กซิสต์ที่เป็นเพื่อนเขา

จากการที่ถูกรุกหนักดังกล่าว รักก์ได้ตอบโต้ด้วยการเขียนหนังสือชื่อว่า ‘That Men May Understand’ (1941) แม้ว่าหนังสือจะได้รับการยกย่องจากนักการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ แต่โรงเรียนทั้งหลายก็เดินหน้าถอดตำราออกจากโรงเรียน จนยอดขายตกลงเหลือเพียง 21,000 เล่ม ในปี 1945 อันเป็นปีเดียวกับที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด และภัยจากฝ่ายอักษะเจือจางลงไปแล้ว และจะเริ่มเปิดศักราชใหม่กับศัตรูอย่างสหภาพโซเวียต 

ไม่เพียงเท่านั้นนิตยสารรีดเดอร์ไดเจสต์ได้ป้ายสีเขาและพรรคพวกว่าเป็น ‘อัจฉริยะปีศาจ’ หนังสือของเขาถูกประณามว่าใช้สถิติแบบหลอกลวงด้วยโฆษณาชวนเชื่อแบบพวกสังคมนิยม ผลของการถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากฝ่ายทุน ก็คือ ปลายทศวรรษ 1950 หนังสือของเขาไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป 

นอกจากหนังสือของรักก์แล้ว ยังมีอีกหลายเล่มที่ถูกโจมตีในทำนองเดียวกันแต่ไม่โดดเด่นเท่างานของรักก์ แม้ว่าข้อกล่าวหาร้ายแรงต่อเขาจะถูกถอนออกไป แต่ก็ทำให้หนังสือของเขาหมดความนิยมและไม่ได้รับการใช้งานในโรงเรียนอีกต่อไป

หลังจากถูกลดความน่าเชื่อถือโดยขบวนการฝ่ายขวา เขาก็ยังทำงานเป็นนักวิชาการที่กระตือรือร้นไปจนวันตาย รักก์เสียชีวิตในปี 1960 อายุรวมได้ 74 ปี เขาจากไปก่อนออปเพนไฮเมอร์ 7 ปี หนังสือเล่มสุดท้ายที่ยังไม่แล้วเสร็จก็คือ ‘Imagination’ ซึ่งต่อมาก็ถูกปรับปรุงจนแล้วเสร็จในปี 1963 

รักก์ทำงานอย่างยาวนานและเป็นผู้บุกเบิกการค้นคว้าความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างสรรค์และทฤษฎีทางการศึกษา ถือเป็นนักการศึกษาสำคัญคนหนึ่งในแวดวงการศึกษาอเมริกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกป้ายสีและทำให้เกิดมลทินเพียงใดก็ตาม


ภาพ : raunerlibrary.blogspot
อ้างอิง
Larry D.Burton. ‘Harold Rugg, American educator’. Encyclopedia Britannica. Retrieved on 27 July 2023 from https://www.britannica.com/biography/Harold-Rugg

Peter F. Carbone, Jr, ‘The Other Side of Harold Rugg’, History of Education Quarterly, Vol. 11, No. 3 (Autumn, 1971), pp. 265-278

Sandra Mathison and Wayne Ross, ‘Social Studies Education,’ Battleground Schools Volume 1, Westport : Green Press, 2007 

Stephen J. Thornton, ‘Harold Rugg 1886 - 1960’, Fifty Modern Thinkers on Education, Routledge, 2001