ถอดรหัส ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เมื่อ ‘นายกฯ เศรษฐา’ เตือนคนรวยอย่าอวดรวย

ถอดรหัส ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เมื่อ ‘นายกฯ เศรษฐา’ เตือนคนรวยอย่าอวดรวย

เข้าใจสาเหตุ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่หยั่งรากลึกในประเทศไทย และแนวทางการแก้ปัญหาที่ประเทศไทยได้เริ่มทำมาแล้ว

  • การวนกลับมาของเทรนด์ Quiet Luxury อาจสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับพลวัตทางสังคมของแฟชั่น ที่เกิดขึ้นในยามที่ประชากรจำนวนมหาศาลทั่วโลกกำลังดิ้นรนหาเงินเข้าบ้าน และการแสดงความมั่งคั่งแบบสุดโต่งกลายเป็นเรื่องไม่สมควร
  • ‘Credit Suisse’ เคยประเมินว่า คนรวยที่สุด 10% ของไทย ถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และสัดส่วนสินทรัพย์ที่ถือครองโดยคน 1% ที่รวยที่สุด เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2008 - 2018

“…การที่ท่านเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นผู้นำองค์กร มีผู้ใต้บังคับบัญชาเยอะ การที่เราแสดงออกถึงการที่เรามีเยอะ ผมว่าเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องคำนึงให้ดี เพราะคนที่เขาไม่มี คนที่เขามีน้อยกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่เศรษฐกิจเปราะบาง ในสภาพที่มีคนไม่พอใจ ในสภาพที่ประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดประเทศหนึ่ง” 

นี่เป็นข้อความที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตือนเหล่านักธุรกิจและนักลงทุน ที่ร่วมฟังสัมมนา กรุงเทพธุรกิจ’ Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today 

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย นายกฯ ชื่อเศรษฐากำลังบอกเหล่าเศรษฐีให้ช่วยหลีกเลี่ยงพฤติกรรม “อวดรวย” กันก่อน ซึ่งมันชวนให้เรานึกถึงเทรนด์ ‘รวยแบบไม่ตะโกน’ (Quiet Luxury หรือ Stealth Wealth) ที่กำลังมาแรงสุด ๆ ในปี 2023

ถ้าแปลตรงตัว ทั้ง Quiet Luxury และ Stealth Wealth หมายถึง ความหรูหรามั่งคั่งแบบเงียบ ๆ สะท้อนผ่านเสื้อผ้าที่เน้นความเรียบหรู ประณีต ใช้วัสดุอย่างดี ทนทาน ที่สำคัญคือไม่มีโลโก้ให้เห็นเด่นชัดเพื่อพยายามตะโกนบอกทุกคนว่า “ค่าตัวฉันแพงมากเลยนะ”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เทรนด์ Quiet Luxury หรือ Stealth Wealth ครอบงำโลกแฟชั่น เพราะเทรนด์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (The Great Recession)

การวนกลับมาของเทรนด์ Quiet Luxury จึงอาจสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับพลวัตทางสังคมของแฟชั่น ที่เกิดขึ้นในยามที่ประชากรจำนวนมหาศาลทั่วโลกกำลังดิ้นรนหาเงินเข้าบ้าน และการแสดงความมั่งคั่งแบบสุดโต่งกลายเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะมันอาจไปกระทบต่อจิตใจของคนที่ไม่มีหรือมีน้อยกว่า ตามที่นายกฯ เศรษฐาบอกข้างต้น 

แต่สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า คนรวยจะหยุดซื้อของฟุ่มเฟือย หรูหรา ตรงกันข้ามพวกเขายังคงใช้เงินจับจ่ายต่อไป เพียงแต่เลือกสินค้าที่ไม่แสดงออกถึงความร่ำรวยเท่านั้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าสายตาหรือจุดสนใจ (ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเคสนาฬิกายืมเพื่อนของลุงป้อม หรือเคสนาฬิกาของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่เปลี่ยนจากเรือนหลักร้อยล้านเป็นเรือนหมื่น ตอนบินกลับไทย)

ส่วนคนจนคงไม่ต้องพูดเยอะ แน่นอนว่าเรายังคงจนต่อไปราวกับกัดกินความจนที่ปะปนอยู่ในก้อนเกลือ แถมยังมีแนวโน้มจะจนยิ่งขึ้นอีกหากพิจารณาจากเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน ยังไม่นับหนี้นอกระบบ ที่มีมูลค่ามหาศาลจนตามเก็บตัวเลขไม่หวาดไม่ไหว 

นี่คือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่ง’ ที่นายกฯ เศรษฐาพยายามแก้ปัญหา… ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย 

ความเหลื่อมล้ำไม่เพียงอยู่คู่สังคมไทยมายาวนานจนคนไทยเกิดความชาชิน แต่ยังหยั่งรากลึกถึงขั้นที่เมื่อปี 2018 ประเทศไทยติดท็อป 5 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของ ‘Credit Suisse’ ที่ประเมินด้วยว่า คนรวยที่สุด 10% ของไทย ถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และสัดส่วนสินทรัพย์ที่ถือครองโดยคน 1% ที่รวยที่สุด เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2008 - 2018

แต่ปี 2021 ไทยอันดับดีขึ้นจนน่าตกใจ กระโดดจากอันดับ 4 ไปอยู่ที่อันดับ 97 อย่างไรก็ตาม ในแง่วิชาการมีการตั้งคำถามถึงความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลที่ใช้ในรายงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยไม่มีการเก็บข้อมูลได้ดีพอ หรือไม่มีการเปิดเผยอย่างเพียงพอ ทั้งที่ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้น ๆ ของประเทศ

โดยเฉพาะในปี 2019 ที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตามมาด้วยการปิดกิจการห้างร้านมากมายเพื่อควบคุมการระบาด คนจำนวนมากตกงานและขาดรายได้แบบตั้งตัวไม่ทัน แม้รัฐบาลจะออกโครงการเยียวยาในภายหลัง แต่ก็มิอาจเยียวยาผู้ที่รับผลกระทบได้ทั้งหมด

นอกจากโควิด-19 ที่เหมือนเป็น ‘ตัวเปิด’ ให้คนไทยได้เผชิญหน้าจัง ๆ กับ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ทั้งในแง่รายได้และการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ปัจจัยเชิงนโยบายและโครงสร้างเศรษฐกิจเองก็แอบซุ่มอยู่ด้านหลังโควิด-19 อย่างเงียบเชียบ 

เหตุผลสำคัญเพราะคนไทยกว่า 30% ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ดังนั้นเวลาที่สินค้าเกษตรตกต่ำ คนไทยจึงได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ถ่างให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นอีก

ที่เล่ามาทั้งหมดยังเป็นแค่น้ำจิ้ม เพราะความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีแค่มิติของความมั่งคั่งเท่านั้น ยังมีมิติด้านโอกาส การศึกษา สิทธิแรงงาน ค่าแรง กำไรที่กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้รายเล็กแข่งขันยาก ฯลฯ

แต่ฟังแล้วอย่าเพิ่งปลงว่าปัญหาเหล่านี้จะแก้ไม่ได้ ความจริงแล้วมันพอแก้ได้ และประเทศไทยก็เริ่มแก้มาบ้างแล้ว

หลายประเทศในลาตินอเมริกาพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยใช้วิธีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและการเมืองผ่านมาตรการใหม่ ๆ เช่น การทำให้เด็กยากจนสามารถเข้าถึงการศึกษา ทำให้คนจนสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง การปฏิรูประบบภาษีซึ่งทำให้ประเทศมีรายได้พอที่จะใช้จ่ายด้านสังคม ฯลฯสำหรับ

ประเทศไทยเอง มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำลักษณะนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น นโยบายสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายขยายสินเชื่อให้กับคนรายได้น้อย และนโยบายการศึกษาฟรี 12 ปี 

ที่สำคัญมาตรการที่ยกตัวอย่างมานั้นเป็นเพียงกลไกลดความเหลื่อมล้ำที่เป็น ‘สวัสดิการของรัฐ’ อย่างไรก็ตาม เรายังมีกลไกลดความเหลื่อมล้ำอีก 4 กลุ่ม ทั้งกลไกทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม กลไกทางภาษีในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง กลไกบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน และกลไกกระจายอำนาจทางการเมืองและการคลัง 

เชื่อว่าคนไทยอยากเห็นการใช้ทั้ง 5 กลไก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเร็ววัน 

แม้นักเศรษฐศาสตร์บางคนจะมองว่าความเหลื่อมล้ำช่วยจูงใจให้คนทำงานหนัก ซึ่งจะนำไปสู่พัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเติบโต แต่สังคมก็ไม่จำเป็นต้องวนเวียนอยู่ในสภาวะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ มิใช่หรือ

 

อ้างอิง :

Thaipublica

Theactive

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)