25 มิ.ย. 2567 | 15:30 น.
KEY
POINTS
18 ปีก่อน คุณ ‘พรสุรีย์ กอนันทา’ ยื่นใบสมัครเข้าทำงานที่เชฟรอน โดยยังไม่เคยสัมผัสงานเอกชนมาก่อน รู้เพียงแค่ว่าเป็นบริษัทรายแรกที่ค้นพบก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ โจทย์แรกของเธอในฐานะผู้จัดการส่วนงานประชาสัมพันธ์คือการทำให้คนไทยรู้จักว่าเชฟรอนคือใคร และมีความสำคัญต่อประเทศชาติอย่างไร นี่คือโจทย์ที่ทำให้เธอต้องทำการบ้านอย่างหนัก เปลี่ยนบทบาทจากอดีตข้าราชการมาเป็นพนักงานบริษัทอย่างเต็มตัว แถมยังต้องผลักดันภาพของบริษัทระดับโลกให้คนไทยเข้าใจว่าเชฟรอนเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำที่ไม่ได้มีภารกิจแค่จัดหาพลังงาน แต่ยังเน้นการคืนประโยชน์สู่สังคม ที่ไม่ได้มองแค่การ “ให้” แต่พลังของ “ทุกฝ่าย” คือกุญแจที่สำคัญ
จากวันนั้นจนวันนี้ เธอในฐานะรองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ทำให้เห็นแล้วว่า DNA ของเชฟรอนได้สร้าง “พลังคน” ที่แข็งแกร่งอย่างไร เพื่อสร้างการเติบโตของสังคมไปพร้อมกันในฐานะหนึ่งในสมาชิกของโลกใบนี้
คุณพรสุรีย์ไม่ได้เรียนจบด้านการตลาด เธอจบปริญญาตรี จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยดีกรีเกียรตินิยมเหรียญทอง พ่วงด้วยนักเรียนทุนปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากทำงานใช้ทุนที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) หรือต่อมาคือสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จนเกินกำหนดโควต้า เธอตัดสินใจออกเดินทางหาประสบการณ์อีกครั้ง โดยสมัครเข้าทำงานที่เชฟรอน เพราะในใจลึก ๆ เธอเองก็หลงใหลในอุตสาหกรรมพลังงานอยู่เป็นทุนเดิม
ใช่ว่าเธอจะไม่มีประสบการณ์ด้านงานประชาสัมพันธ์โดยตรงเสียทีเดียว ก่อนหน้านั้น คุณพรสุรีย์ทำงานด้านนโยบายและแผนพลังงานมาโดยตลอด หนึ่งในงานที่ทำให้ค้นพบความชอบของตัวเองคงหนีไม่พ้น แคมเปญการรณรงค์ประหยัดพลังงาน ซึ่งไม่ได้ทำแค่ในหน่วยงานเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนไทยทั้งประเทศร่วมใจกันประหยัดพลังงาน จึงได้เข้าใจว่าศาสตร์ของงานประชาสัมพันธ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด
หลังจากเข้าทำงานที่บริษัทเชฟรอน คุณพรสุรีย์ได้สัมผัสถึงความจริงจังและจริงใจของคนเชฟรอน ได้เข้าใจว่าค่านิยมขององค์กรไม่ใช่สิ่งที่ถูกเขียนขึ้นมาอย่างสวยหรูอยู่ในหน้ากระดาษเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนพร้อมปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจในการส่งมอบพลังงานอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้มาตลอดกว่า 60 ปี ในประเทศไทย อีกด้านหนึ่งของเชฟรอนยังเน้นการสานพลังกับพันธมิตรทุกฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างจริงจัง ซึ่งคุณพรสุรีย์ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวตนของเธอให้พร้อมทำงานรับใช้สังคมมาจนถึงทุกวันนี้
และนี่คือเรื่องราวการเดินทาง 18 ปีของ ‘พรสุรีย์ กอนันทา’ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ทำให้คนไทยเข้าใจวิถีของเชฟรอนว่าไม่ได้มีแค่การให้ หากแต่พร้อมผลักดันทุกคนให้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคม ชุมชน เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน
วันแรกของการทำงาน คุณพรสุรีย์ยอมรับว่ารู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย เพราะสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการทำงานในระบบราชการ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ก้าวแรก เธอได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างให้ทุกคนเคารพความแตกต่างและเปิดใจรับฟัง พร้อมสนับสนุนให้พนักงานกล้าคิดและกล้าตัดสินใจ ซึ่งได้เติมเต็มความมุ่งมั่นของคุณพรสุรีย์ให้พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมกว่าเดิม โดยจากที่เห็นว่าเชฟรอนให้ความสำคัญกับการดูแลรับผิดชอบสังคมไม่แพ้การขับเคลื่อนพลังงาน ทำให้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง คุณพรสุรีย์ตั้งใจมีส่วนร่วมมากที่สุด และลงพื้นที่ไปด้วยตัวเองเท่าที่จะทำได้ ได้ไปรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยแม้จะเป็นส่วนเล็กๆ ขององค์กร แต่ก็ได้ทำสิ่งที่มีความหมาย และรู้สึกภาคภูมิใจอยู่เสมอ โดยจาก DNA ของเชฟรอนที่มาจากสโลแกน Chevron, The Human Energy หรือการเชื่อมั่นในพลังคนที่ปลูกฝังอยู่ในตัวตนของพนักงานเชฟรอน ได้หล่อหลอมให้องค์กรขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมมากมาย
จึงไม่แปลกว่าทำไมเราถึงเห็นเชฟรอนมีโครงการดี ๆ มอบให้กับสังคมมากมายขนาดนี้
ไม่ว่าจะเป็น โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาดูแลผืนน้ำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี, โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ รากแก้ว หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ค่ายรากแก้ว ค่ายอาสาที่จัดขึ้นมาเพื่อจุดประกายการเรียนรู้ ปูพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กไทยก่อนก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย มาไม่ต่ำกว่า 26 ปี, โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต โครงการรัฐร่วมเอกชนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็ม (STEM) พัฒนาและผลิตบุคลากรคุณภาพออกสู่สังคมไม่ต่ำกว่า 8 ปี
“สิ่งที่รู้สึกประทับใจในวันแรกจนถึงวันนี้คือ ช่วงที่เข้ามาทำงานใหม่ ๆ เราเห็นวิสัยทัศน์ เรารู้ว่าค่านิยมขององค์กรคืออะไร ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่แค่ในหน้ากระดาษ เราจะรู้จักคำว่า Chevron Way หรือก็คือสิ่งที่องค์กรยึดถือหลักในการทำงานคือ การได้ผลสำเร็จของงาน ต้องอยู่บนความถูกต้องอยู่เสมอ”
“เชฟรอนเข้มงวดมากว่างานที่เราทำต้องถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ การจะติดต่อประสานงานกับใคร ต้องมีหลักการ มีความโปร่งใส ระบุจุดประสงค์อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่กำลังทำส่งผลกระทบต่อธุรกิจหรือสังคมอย่างไรบ้าง”
นี่คือสิ่งที่เธอประทับใจไม่มีวันลืม และยังคงเป็นเช่นนี้เสมอ แม้จะผ่านมาแล้วเกือบสองทศวรรษก็ตาม เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เธอทำงานราชการมาก่อน ย่อมเป็นข้าของแผ่นดิน แน่นอนว่าสิ่งที่เธอทำก็คืองานที่ทำเพื่อประเทศและประชาชนมาโดยตลอด
“เราเคยทำงานข้าราชการมาก่อน ข้าราชการคือข้าของแผ่นดิน ทำงานรับใช้ประชาชนและแผ่นดินอยู่แล้ว แต่พอมาที่นี่ จำได้เลยว่างานแรกที่นายบอกให้ช่วยทำคือตรวจงานวิดีโอที่ใช้ประชาสัมพันธ์ภายในบริษัท เป็นกิจกรรมของพนักงานที่ไปช่วยสร้างโรงเรียนแถวชายแดน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเราไม่เข้าใจว่าทำไมบริษัทพลังงานต้องทำแบบนี้ เลยเป็นความประทับใจว่าพี่ ๆ พนักงานรวมถึงที่อยู่ ออฟชอร์ทุกคน พอว่างจากงานประจำกลางอ่าวไทย เขาก็ยกขบวนไปสร้างโรงเรียนที่ชายแดน”
“พอได้ไปคุยก็เข้าใจว่าการทำงานแบบนี้มันมาจากใจ ถึงเขาจะมีงานทำที่มั่นคง มีสวัสดิการที่ดี แต่เพื่อนๆ รอบบ้านเขาไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่า ก็ทำให้พี่ ๆ อยากจะทำอะไรเพื่อชุมชนบ้าง พอเห็นแบบนี้บ่อยๆ มันก็ซึมซับเข้ามาเองโดยไม่รู้ตัว”
หลังจากทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง อีกสิ่งที่เธอเห็นมากขึ้นทุกขณะที่อยู่ในองค์กรแห่งนี้คือ ความเสียสละ ไม่ว่าจะสละแรงกาย แรงใจ ไปจนถึงสละเวลาส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือสังคม
“การปลูกฝังเรื่องของจิตอาสาและทำงานเพื่อสังคม ฝังอยู่ใน DNA ของคนเชฟรอนตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้ว ตั้งแต่คนยังไม่รู้จักว่า CSR คืออะไร แล้วงานจิตอาสาจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร
นี่คือสิ่งที่ถูกฝังอยู่ในตัวคนเชฟรอนทุกคน”
“เพราะฉะนั้นในทุกโอกาส คนเชฟรอนจะเอาแรงไปช่วยสังคมโดยไม่ต้องร้องขอ ทุกครั้งที่เรามีกิจกรรมเพื่อสังคมให้พนักงานไปทำ เราเปิดรับอาสาสมัครแค่ 2-3 วันก็ต้องปิดแล้ว เพราะคนสมัครเยอะมาก นี่คือ DNA ของคนเชฟรอน”
หนึ่งในโครงการที่ทำให้คุณพรสุรีย์สลัดคราบผู้บริหารออก เหลือเพียงหญิงสาวธรรมดาที่พร้อมทุ่มเททุกอย่าง เพื่อร่วมส่งต่อองค์ความรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย คงหนีไม่พ้น ‘โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของโคกหนองนาโมเดล โมเดลที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศเข้าใจว่าศาสตร์พระราชา จะช่วยให้รอดพ้นจากวิกฤติต่าง ๆ ในชีวิตอย่างไร
“จริง ๆ ทุกโครงการที่เราทำ พนักงานทุกคนพร้อมมีส่วนร่วม เราไม่ใช่ ‘ผู้ให้’ แต่ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง คงต้องขอบคุณทุกภาคีเครือข่ายที่ให้เชฟรอนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะ ท่าน ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ท่านทำโครงการเผยแพร่ศาสตร์พระราชา เพื่อมาแก้ปัญหาดินน้ำป่าเป็นเวลานานมาก กระทั่งประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งตอนนั้นเรามองหาโครงการด้านนี้อยู่ จนได้มารู้จักกับท่านในจังหวะเวลาพอดีกัน”
แม้จะเป็นบริษัทระดับโลก แต่คุณพรสุรีย์ต้องพิสูจน์ตัวเองให้อาจารย์ยักษ์ยอมรับอยู่ไม่น้อย เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่เงินสามารถซื้อได้ เธอกับทีมผู้บริหาร จึงต้องถอดสูทสลัดคราบสาวออฟฟิศลงไปเข้าค่าย นอนกลางดิน กินกลางทราย เข้าป่า หาปลา ศึกษาลักษณะดินฟ้าอากาศ เรียนรู้การทำปุ๋ยธรรมชาติ การดูแลดิน ไปจนถึงเรียนรู้ว่าการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คืออะไร
เรียกได้ว่าใช้ชีวิตต่างจากวิถีการทำงานโดยสิ้นเชิง กระทั่งผ่านบททดสอบจากอาจารย์ยักษ์ จึงเป็นที่มาของโครงการระยะยาว 9 ปี ระยะเวลาที่เธอเชื่อมั่นและเป็นสิ่งพิสูจน์ว่า โครงการเพื่อสังคมที่ดีควรมีหน้าตาแบบไหน และโครงการนี้ตอบโจทย์ทุกอย่าง ทั้งสร้างความมีส่วนร่วม เรียกความสามัคคีให้เกิดขึ้นทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา เอกชน และภาคประชาสังคม ไปจนถึงสร้างความแตกต่างอย่างยั่งยืนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
“9 ปีผ่านไปเรามองเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน จากวันแรกที่คนไม่รู้จักว่าโคกหนองนาโมเดลคืออะไร ปั่นจักรยานรณรงค์ตลอดเส้นทางก็ไม่มีใครรู้จัก วันนี้คนรู้จักและทำตามกันแล้ว มันเป็นความภาคภูมิใจที่ไม่ได้มาจากเชฟรอนคนเดียว แต่คือทั้งองคาพยพที่ช่วยกันทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้น”
กว่าโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินจะได้รับการยอมรับขนาดนี้ ต้องย้อนกลับไปช่วงแรกเริ่ม เธอต้องกางกลยุทธ์ 4Es ของเชฟรอนในการพัฒนาโครงการเพื่อสังคมออกมา ทบทวนทุกตัวอักษรและความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ
ตั้งแต่การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Environment & Energy Conservation) การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต (Economic Development) การศึกษา (Education) และการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทํากิจกรรมเพื่อสังคม (Employee Engagement) แต่เสาหลักที่คุณพรสุรีย์ให้ความสำคัญมากที่สุดคงหนีไม่พ้น การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เพราะการดูแลธรรมชาตินอกจากจะช่วยให้มนุษย์เรามีชีวิตรอดแล้ว สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นก็รอดไปพร้อมกับเรา
“ช่วงแรกเราอาจจะเน้นเรื่องการศึกษา แต่เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนตาม ทุกวันนี้ปัญหาโลกรวนถูกพูดถึงในสังคมมากขึ้น เชฟรอนเองก็เช่นกัน เรามีหลายโครงการที่ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ‘โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’ เราทำงานร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มาเป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อสนับสนุนเกษตรยางพาราในการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือ โครงการล่าสุดของเรา ‘เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย’ (Foster Future Forests) เชฟรอน และ SPRC จับมือภาคีภาครัฐ ภาควิชาการ รวมถึงชุมชนในจังหวัดระยอง ร่วมกันฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ป่าชายเลน กลางเมืองจังหวัดระยอง ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา บนเนื้อที่ 100 ไร่ ให้เป็นระบบตามหลัก Science-based พื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอน”
“เรายังมีเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยโครงการเชฟรอนทุนเพื่อชีวิต หรือ Chevron Fund4Life สนับสนุนสตรีที่สูญเสียผู้นำครอบครัวในเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเข้าไปทำงานร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย เราไม่ได้นั่งอยู่ในห้องแอร์เพียงอย่างเดียว แต่ลงไปสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่ มอบอุปกรณ์ สร้างองค์ความรู้ พาเขาไปอบรมการทำกาแฟ ทำงานฝีมือต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพให้สตรีเหล่านั้นเป็นเสาหลักของครอบครัวได้ ซึ่งเราก็ทำอย่างต่อเนื่องมาเป็น 10 ปีแล้ว”
เมื่อพูดถึงแนวทางและเป้าหมายในการดำเนินโครงการ คุณพรสุรีย์เน้นย้ำถึงความยั่งยืนของโครงการเป็นหลัก โดยจะต้องมีการประเมินความต้องการของชุมชนหรือหน่วยงานที่เข้าร่วม ผสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงเรามีทีมงานทั้งส่วนกลางและภาคใต้คอยติดตามและประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนอย่างแท้จริง
“แต่ละโครงการเรามีเป้าหมายในการสร้างคน ปลูกจิตสำนึก สร้างต้นแบบ และพัฒนาองค์ความรู้ ทำให้โครงการเพื่อสังคมของเชฟรอนส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะยาว และตอบโจทย์การพัฒนาในหลายมิติ เพื่อสร้างความต่อเนื่องของโครงการและสร้างผลลัพธ์ที่เห็นผลได้จริง”
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ทุกสิ่งที่เธอทำมาตลอดระยะเวลา 18 ปีจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงคนจากเชฟรอนทั้งในและนอกแผนกกิจการองค์กร ที่พร้อมลุยทุกโครงการ ทำทุกอย่างเพื่อให้สังคมน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
“เชฟรอนตัวคนเดียวไม่สามารถทำให้ทุกอย่างสำเร็จได้ แต่ทุกอย่างเริ่มจากพลังของคน เชฟรอนคือ The Human Energy Company บริษัทพลังงานที่เชื่อมั่นในพลังของคน และการเชื่อมั่นในพลังของคน ไม่ใช่แค่เชื่อมั่นในพลังของพนักงาน แต่เชื่อในตัวของทุกคนโดยปราศจากเงื่อนไข”