'อุตสาหกรรมเพลงไทย' ในยุคซอฟต์พาวเวอร์กับความหวังที่จะหลุดจากบ่วงยถากรรม

'อุตสาหกรรมเพลงไทย' ในยุคซอฟต์พาวเวอร์กับความหวังที่จะหลุดจากบ่วงยถากรรม

โครงการ Music Exchange จุดประกายเพลงไทยสู่เวทีโลก พร้อมแก้ปัญหาลิขสิทธิ์และปลูกฝังความเข้าใจดนตรีในสังคม หวังสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้อุตสาหกรรมเพลงไทย

“ทุกวันนี้อุตสาหกรรมเพลงไทยมันถูกปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ไม่ใช่แค่ศิลปินที่เดือดร้อน คนฟังเองก็เหมือนกัน”

‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Genie Records สังกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึงความทุกข์ของผู้ทำงานในวงการเพลงไทยยุคปัจจุบัน ซึ่งในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เขามองเห็นถึง ‘ความยาก’ ของการทำเพลง รวมถึงการปั้นศิลปินให้เป็นที่รู้จักมาโดยตลอด

การเข้ามาครั้งนี้ของวิเชียร เขาพกความมุ่งมั่นมาอย่างเต็มที่ โดยไม่ลืมหอบหิ้วความหวังมาพร้อมกัน เพราะเขาในบทบาทใหม่หวังจะช่วยลดข้อขัดแย้งหรือความดำมืดของอุตสาหกรรมเพลงไทย และผลักดันศิลปินไทยไประดับสากลให้ได้สักครึ่งหนึ่งก็ยังดี

ประจวบกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA (Creative Economy Agency) ได้ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ จัดทำโครงการ Music Exchange ขึ้นมาในปี 2567 โครงการซึ่งช่วยจุดประกายให้ชายคนนี้มีความหวังจะเห็นศิลปินไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก

วิเชียรไม่รอช้า ไม่ว่าทางสำนักงานต้องการข้อมูลแบบใด เขาพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เราจะเห็นได้บ่อยนักที่รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาว่าจะผลักดันอุตสาหกรรมเพลงไทยอย่างจริงจัง จนถึงขนาดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้นมา

หลังจากแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันหลายต่อหลายครั้ง วิเชียรยอมรับว่าการทำงานกับภาครัฐมีขั้นตอนซับซ้อนและยุ่งยากกว่าที่คิด เพราะในชีวิตนี้ไม่เคยจินตาการเลยว่า การจะผลักดันโครงการสักโครงการหนึ่งให้สำเร็จต้องใช้พลังกาย-ใจมากถึงเพียงนี้

“ตอนที่ถูกชวนมาทำตรงนี้ผมนั่งคิดอยู่ 3 วินาที

“ผมบอกเอาก็เอาวะ เหนื่อยแน่เลย แต่มันเป็นโอกาสที่เราจะทำอะไรเพื่อสังคม ผมว่าเรามองความหวังตรงนี้ดีกว่า ทั้งที่รู้ว่ามันยากโคตร โดยเฉพาะการเริ่มต้น มันยากอยู่แล้วทุกเรื่อง แต่ผมอยากจะลองทำดูสักตั้ง”

\'อุตสาหกรรมเพลงไทย\' ในยุคซอฟต์พาวเวอร์กับความหวังที่จะหลุดจากบ่วงยถากรรม

วิเชียรเล่าถึงวันแรกที่เขาได้รับการชักชวนให้มาร่วมสร้างปรากฏการณ์คลื่นความนิยม Thai Music Wave ให้เกิดแรงกระเพื่อมสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลไทย แต่อย่างที่บอกสิ่งที่ยากกว่าการเริ่มต้น คือ ระบบราชการไทย

“ระบบราชการก็ยากนะ โห กว่าผมจะเรียนรู้ภาษา จำชื่อย่อของหน่วยงาน ตารางเวลาทำงานของเขาก็ไม่เหมือนเรา แต่ถามว่าพี่มีความหวังมั้ย พี่มีความหวังเสมอ”

ความหวังของวิเชียรผลิดอกออกผลให้เห็นอย่างช้า ๆ หลังจากหารืออย่างหนักหน่วง โครงการ Music Exchange จึงเปิดตัวขึ้นและได้รับกระแสตอบรับในทิศทางบวก สอดคล้องกับคำตอบของ ‘ดร.ชาคริต พิชญางกูร’ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ซึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Music Exchange เป็นโครงการ Flagship โดยจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีของไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

\'อุตสาหกรรมเพลงไทย\' ในยุคซอฟต์พาวเวอร์กับความหวังที่จะหลุดจากบ่วงยถากรรม

“ส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการ Music Exchange ในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา มีศิลปินจำนวน 48 ศิลปิน/วง ที่เข้าร่วมโครงการไปแสดงผลงานใน 46 เทศกาลจาก 12 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร โดยมี 70 การแสดง เกิดโอกาสการทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 300 Business Matching รวมทั้งเกิดการรับรู้ประมาณ 34.9 ล้าน Eyeballs และมีอย่างน้อย 75 Delegates เข้าร่วมงานเทศกาลดนตรีในประเทศไทย”

นี่คือผลชี้ชัดว่าการทำงานอย่างหนักได้ตอบแทนความตั้งใจของพวกเขาอย่างเต็มที่ “นอกจากนี้ การดำเนินโครงการ Music Exchange ยังส่งเสริมในประเด็น Spillover effect ช่วยให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่จะเกิดขึ้นจากการเติบโตของศิลปินและอุตสาหกรรมดนตรีสู่การรับรู้ในระดับโลก หากศิลปินหรือเพลงไปดังในระดับโลกจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล เช่น กรณีของ BTS ศิลปินสามารถขายเพลง โปรโมทด้านการท่องเที่ยว การทำ CSR และการทำ Branding ด้วยการไปร่วมกับแบรนด์ดังต่าง ๆ ทั่วโลก อุตสาหกรรมดนตรีสามารถที่จะเป็นสะพานส่งต่อในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภาพใหญ่ของประเทศไทยได้”

\'อุตสาหกรรมเพลงไทย\' ในยุคซอฟต์พาวเวอร์กับความหวังที่จะหลุดจากบ่วงยถากรรม

ส่วนรายชื่อศิลปินไทยที่ได้แสดงผลงานในงานเทศกาลไทย (Thai Festival) ในต่างประเทศ คือ 4EVE และคริส-พีรวัส แสงโพธิรัตน์ เทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (Thai Festival in Beijing 2024)

ส่วนอีกหนึ่งประเทศ ที่ไทยเราส่งศิลปินไปร่วมเทศกาลก็น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ เทศกาลไทย จัดขึ้นที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย (Thai Festival in Moscow 2024) โดยมี วงศิลป์อีสาน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้มอบความม่วนให้ชาวรัสเซียได้สัมผัส

อันที่จริงมีรายชื่อศิลปินอีกจำนวนมาก ที่ได้รับการส่งออกไปเผยแพร่ความเป็นไทยให้โลกรับรู้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ทำให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยจริงจังกับการยกระดับอุตสาหกรรมเพลงไทยอยู่ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับมามองในประเทศไทย วิเชียรยอมรับตามตรงว่า เขาเองก็หนักใจไม่แพ้กัน

“วงการเพลงไทยมันมี dark side มาโดยตลอด ทั้งเทปผีซีดีเถื่อน 4share เต็มไปหมดเลยถูกมั้ย ยิ่งปัจจุบันเรามีแพลตฟอร์มให้เข้าไปหาฟังเพลงได้อีกเยอะมาก แต่เราไม่ได้ถูกสอนให้เข้าใจเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ถ้ามันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ต้น เด็กเขาจะเห็นคุณค่าของเพลงไทย และเพลงไทยจะมีคุณค่ามากกว่านี้แน่นอน”

อีกหนึ่งปัญหาที่เขามองเห็นคือ เรื่องลิขสิทธิ์ “ประเทศอื่นเขามีทีจัดเก็บแค่หนึ่งหรือสองที่ แต่มาดูประเทศเราสิ มีตั้ง 35 ที่”

ส่วนอีกหนึ่งอย่างที่เขาอยากเห็นวงการเพลงไทยก้าวต่อไป คือ เรื่องการเข้าถึงดนตรีได้ทุกหนแห่ง เขาไม่ได้อยากผลิตศิลปินมาเพิ่มในตลาดเพลง แต่สิ่งที่วิเชียรอยากทำคือการสร้างองค์ความร็ ความเข้าใจเรื่องคุณค่าของเพลงให้คนไทยได้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

“อย่างเรื่องการเข้าถึงดนตรี เราก็ทำ เพราะว่าเราสามารถทำออนไลน์ได้ เราอยากให้คนได้ educate แต่ไม่ได้ต้องการเพิ่มนักดนตรี สิ่งที่เราต้องการคือเพิ่ม music citizen มากกว่า”

และนี่คือภาพรวมของอุตสาหกรรมเพลงไทย ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างหนักหน่วงของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

หากเราสามารถร่วมมือกันสร้างความเข้าใจและเห็นคุณค่าของดนตรีในทุกมิติ อุตสาหกรรมเพลงไทยอาจไม่เพียงก้าวข้ามข้อจำกัดในประเทศ แต่ยังมีโอกาสก้าวไกลในเวทีโลกอย่างยั่งยืน เพราะดนตรีไม่ใช่แค่เสียงเพลง แต่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทุกคนในทุกยุคทุกสมัย

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)