20 ก.พ. 2568 | 17:00 น.
KEY
POINTS
“จับเวลาผมซะ ท่านสุภาพบุรุษทั้งหลาย”
คือคำพูดที่ศัลยแพทย์ชาวสก็อตนาม ‘โรเบิร์ต ลิสตัน’ (Robert Liston) มักประกาศต่อหน้าผู้ชมหลายสิบชีวิต ก่อนลงมือผ่าตัดด้วยความเร็วอันน่าเหลือเชื่อ ชนิดที่ว่าภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที ก็สามารถแยกขาติดเชื้อออกจากร่างบนเตียงได้สำเร็จ ท่ามกลางสายตาชื่นชมของบรรดานักเรียนแพทย์ และเสียงร้องโอดโอยของผู้ป่วยที่ดังขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ
ย้อนกลับไปในต้นคริสตวรรษที่ 19 ความรู้ทางการแพทย์ยังอยู่ในขั้นลองผิดลองถูก การผ่าตัดนับเป็นวิธีที่สุ่มเสี่ยง มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 1 ใน 4 ทั้งจากแผลที่ติดเชื้อหลังผ่าเสร็จ และจากความเจ็บปวดที่เข้าขั้นทุกข์ทรมาน เนื่องจากยาสลบยังไม่ถูกคิดค้นขึ้น สิ่งสามัญในยุคนั้นคือเสียงร้องโหยหวนของผู้ป่วยที่ดังลั่นห้อง ก่อนหยุดไปเองเมื่อร่างกายทนไม่ไหวจนหมดสติ หรือหนักกว่านั้นคือช็อกจนเสียชีวิต
นั่นคือสาเหตุที่การผ่าตัดแต่ละครั้งต้องทำอย่างเร่งรีบ ด้วยแนวคิดว่า ยิ่งเสร็จเร็ว คนไข้ก็ยิ่งทรมานน้อยลง และในยุคที่วงการแพทย์พยายามหาวิธีในการย่นระยะเวลาผ่าตัดนั้น ลิสตันคือบุคลากรแนวหน้าผู้ได้รับฉายาว่า ‘The Fastest Knife in the West End’ หรือ ‘มีดที่เร็วที่สุดแห่งเวสต์เอนด์’ ด้วยความชำนาญในการผ่าเปิดเนื้อเยื่อ ตัดกระดูกภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที ผู้ป่วยในมือของเขาจึงมีโอกาสเสียชีวิตเพียง 1 ใน 10 มากกว่าศัลยแพทย์ทั่วไปถึงสองเท่า
กระนั้น ลิสตันเองก็เป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่น ๆ การทำงานของเขาสามารถเกิดข้อผิดพลาด เพียงแต่เมื่อ ‘ความผิดพลาด’ นั้นเกิดจากมือที่กำลังตวัดมีดคมกริบด้วยความเร็วผิดมนุษย์ ผลลัพธ์แต่ละครั้งจึงชวนสยดสยอง ดังเช่นเคส ‘ผ่า 1 ตาย 3’ ที่ได้รับการขนานนามในวงการแพทย์ว่า เคสที่มี ‘อัตราเสียชีวิต 300%’ (300% Mortality Rate) ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อ ๆ ไป
แต่ถึงแม้ลิสตันจะมีประวัติทำผู้ป่วยบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอย่างพิสดารมาระดับหนึ่ง ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หากวงการแพทย์ปราศจากหมอมือไวผู้นี้ พัฒนาการของการผ่าตัดก็คงไม่ราบรื่น เพราะนอกจากลิสตันจะเป็นผู้ริเริ่มใช้ยาสลบครั้งแรกในยุโรปแล้ว เขายังเป็นผู้ออกแบบเครื่องมือผ่าตัดหลายชนิด ที่แม้จะผ่านมาเกือบสองศตวรรษ ก็ยังสามารถพบเห็นได้ในห้องผ่าตัดยุคปัจจุบัน
หลังลืมตาดูโลกในวันที่ 28 ตุลาคม 1794 ณ เขตการปกครองเวสต์ โลเธียน ประเทศสก็อตแลนด์ โรเบิร์ต ลิสตันก็ได้แสดงความเก่งกาจโดยการเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระในวัย 14 ปี ก่อนที่ใน 2 ปีต่อมา จะได้รับโอกาสฝึกงานกับ ‘จอห์น บาร์เคลย์’ (John Barclay) นักกายวิภาคศาสตร์ชื่อดัง และได้รับแต่งตั้งเป็นศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาล Royal Infirmary แห่งกรุงเอดินบะระในอีก 4 ปีให้หลัง เรียกได้ว่าลิสตัน ก้าวขาข้างหนึ่งเข้ามาในตำแหน่งแพทย์มือฉมังขณะอายุได้เพียง 20 ปีเท่านั้น
ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า อะไรคือสิ่งที่บ่มเพาะให้ลิสตันเชี่ยวชาญการผ่าตัดเป็นพิเศษ นอกจากการได้ฝึกงานกับนักกายวิภาคศาสตร์ชื่อดัง ก็คงเป็นเรื่องของพรสวรรค์ รู้ตัวอีก ความแม่นยำในการใช้มีดก็ส่งให้เขาเปิดห้องเรียนสอนวิชาแพทย์เป็นของตนเองในปี 1818 รับสอนนักศึกษาภาคฤดูหนาวจำนวนทั้งสิ้น 60 คนในช่วงเริ่มต้น ฝีมือของเขาเป็นที่กล่าวขานในฐานะศัลยแพทย์หนุ่มผู้สามารถทำการผ่าตัดภายในเวลาไม่ถึงสองนาที พร้อมสถิติสูงสุดอยู่ที่ 28 วินาที ในขณะที่แพทย์ในยุคเดียวกันใช้เวลา 4-5 นาทีเป็นอย่างน้อย
อาจพูดได้ว่า ยุคของลิสตันคือช่วงเวลาที่การแพทย์กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา วิธีรักษาสมัยใหม่เริ่มเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ความเชื่อผิด ๆ อย่างการเจาะเลือดทิ้งเพื่อรักษาแทบทุกโรคยังคงได้รับความนิยม ยังไม่นับรวมถึงสุขอนามัยที่มักจะถูกหมางเมิน และศักยภาพในการวินิจฉัยโรคซึ่งเรียกได้ว่าจำกัดจำเขี่ย อาการป่วยหลายอย่างไม่สามารถระบุได้เว้นแต่จะผ่าดู หรือในบางครั้ง โรคที่ดูไม่หนักหนาในปัจจุบันก็อาจต้องลงเอยด้วยการตัดอวัยวะทิ้ง
แต่แม้จะเป็นเรื่องปกติในยุคนั้น ลิสตันผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ดังกล่าวกลับไม่เห็นด้วย
“ความสมบูรณ์ของอวัยวะคือสิ่งที่ [แพทย์] เก็บรักษาไว้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ การตัดแขนและขาจะลดน้อยลง และการผ่าตัดจะหายไป ยิ่งการแพทย์เจริญขึ้นมากเท่าไหร่ การผ่าตัดก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น ใครจะเถียงล่ะว่า การเก็บแขนขาเอาไว้คือสิ่งที่เลอค่า [กว่าการตัดทิ้ง]”
นอกจากนั้น ลิสตันยังขึ้นชื่อเรื่องความ ‘เอนเทอร์เทน’ การผ่าตัดของเขาจะถูกจัดขึ้นในห้องขนาดใหญ่ พร้อมที่นั่งคล้ายอัฒจันทร์ (Operation Stadium) โดยมีผู้ชมเป็นทั้งแพทย์ นักศึกษา และในบางครั้งอาจรวมถึงบุคคลทั่วไป นอกจากการลดทอนความเครียดของผู้ชมด้วยคำพูดติดปากว่า “จับเวลาผมซะ ท่านสุภาพบุรุษทั้งหลาย” พร้อมโชว์ทักษะการผ่าตัดระดับเทพแล้ว ลิสตันยังคำนึงถึงสภาพอารมณ์ของผู้ป่วย โดยหากอีกฝ่ายมีท่าทางตื่นกลัวจนเกินไป ก็จะเลื่อนการผ่าตัดออกไปก่อนทันที
“สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องคำนึงถึงสุขภาพจิตของคนไข้ พวกเขาควรรู้สึกมั่นใจ มีความหวัง ไม่ใช่กระวนกระวาย การดูแลหลังผ่าเสร็จคือสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า แพทย์ต้องตระหนักว่างานของตนเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น คนไข้ต้องได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่ระหว่างการพักฟื้น”
ชื่อของลิสตันจัดได้ว่าโจษจัน สร้างคุณูปการให้วงการแพทย์ผ่านการช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมาก ทว่าชื่อเสียงส่วนหนึ่งกลับต้องด่างพร้อมด้วยเคสผ่าตัดสุดสะเทือนขวัญ ซึ่งถูกจารึกในฐานะการผ่าตัดที่ทำคนเสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
เหตุสะเทือนขวัญเกิดขึ้นในเคสของผู้ป่วยรายหนึ่งที่ลิสตันวินิจฉัยว่าต้องตัดขา การผ่าตัดถูกจัดขึ้นตามปกติในห้องเรียนแพทย์ ท่ามกลางผู้คนมากมายที่จับจ้องมาจากบนอัฒจันทร์ และอีกส่วนหนึ่งซึ่งยืนล้อมวงรอบเตียงคนไข้ในระยะประชิด
ลิสตันทำการผ่าตัดอย่างฉับไวดังที่เคยทำมาตลอด เพียงแต่ว่าครั้งนี้ เขาทำพลาดโดยการตัดนิ้วผู้ช่วยของตนขาด ปิดท้ายด้วยการเหวี่ยงมีด (จะด้วยความตกใจหรือสาเหตุใดก็สุดรู้) ไปถูกชายเสื้อของผู้ชมรายหนึ่ง ผลปรากฏว่าอีกฝ่ายล้มฟุบลงตรงนั้น ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว อันเกิดจากความตกใจ ก่อนที่ในอีกไม่กี่วันให้หลัง มีดที่อาจไม่ได้ทำการฆ่าเชื้อดีพอ อันเป็นเรื่องปกติของวงการแพทย์ในยุคนั้น ก็ทำให้ผู้ป่วยและผู้ช่วยเคราะห์ร้ายติดเชื้อจนเสียชีวิตตามไปด้วย
นั่นคือที่มาของวลี ‘300% Mortality Rate’ หรือเคสผ่าตัดที่มีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 300 เปอร์เซ็นต์ และทำให้ชื่อของลิสตันถูกจดจำในฐานะศัลยแพทย์ผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญ มากกว่าในฐานะบุคลากรมากความสามารถผู้สร้างคุณูปการให้วงการแพทย์อย่างมหาศาล
ทว่าความจริงแล้ว นั่นไม่ใช่ความผิดพลาดเดียวของลิสตัน เพราะในหลาย ๆ ครั้ง ด้วยความรีบเร่ง ประกอบกับมีดซึ่งถูกออกแบบให้คมกริบ ก็ทำให้เขาเคยพลั้งมือ ผ่าเอาลูกอัณฑะของผู้ป่วยรายหนึ่งออกไปด้วยระหว่างผ่าตัดต้นขา ทั้งยังเคยเข้าใจผิด มองพลาดว่าเส้นเลือดแดงใหญ่ของเด็กชายคนหนึ่งเป็นติ่งเนื้อส่วนเกิน จึงทำการผ่าทิ้ง และคร่าชีวิตผู้ป่วยเคราะห์ร้ายด้วยอาการเสียเลือดมาก
เมื่อประกอบกับกรณีผ่า 1 ตาย 3 แสนลือลั่น ก็ทำให้ชื่อเสียงของลิสตันคล้ายกับพังทลายลงชั่วคราว เคราะห์ดีที่คุณูปาการต่อมาของเขาคือสิ่งที่เรียกได้ว่า ‘พลิกวงการ’ นำมาซึ่งการถูกจดจำในด้านดี และคำชื่นชมต่อความเก่งกาจของศัลยแพทย์ผู้นี้ได้บ้าง
ค.ศ. 1846 ทันตแพทย์ชาวอเมริกัน ‘วิลเลียม ที. จี. มอร์ตัน’ (Willam T. G. Morton) ได้สร้างประวัติศาสตร์โดยการใช้สาร ‘อีเธอร์’ แทนยาสลบเป็นครั้งแรก น่าเสียดายที่การค้นพบของเขายังถูกตั้งข้อสงสัย และไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร อันเนื่องมาจากชื่อเสียงด้านลบของเจ้าตัว
แต่ไม่ว่าการใช้อีเธอร์จะได้รับการยอมรับแค่ไหน ความสำเร็จของมันก็ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์จนกลายเป็นข่าวโด่งดัง ลิสตันผู้พยายามมองหาทุกวิถีทางในการลดทอนความเจ็บปวดของผู้ป่วยจึงตัดสินใจทดลองใช้ในอีก 1 ปีให้หลัง และในครั้งนี้ การผ่าตัดของเขาปราศจากข้อผิดพลาด เป็นเหตุให้ลิสตันถูกจดจำในฐานะแพทย์ผู้ริเริ่มใช้ยาสลบคนแรก ๆ อาจมากกว่าวิลเลียม ที. จี. มอร์ตัน เจ้าของการค้นพบตัวจริงเสียอีก โดยลิสตันเองก็เคยพูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า
“เทคนิคของพวกอเมริกันมันโค่นการสะกดจิตลงได้ทีเดียว”
โดย ‘การสะกดจิต’ นี้ หมายถึงวิธีการหนึ่งในยุคนั้นที่แพทย์มักพยายามสะกดจิตผู้ป่วยให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล
มรดกทางวิชาชีพของลิสตันไม่ได้มีแค่การใช้ยาสลบ แต่ยังรวมไปถึงการประดิษฐ์อุปกรณ์ผ่าตัดหลากหลายชนิด โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือช่วยย่นระยะเวลาในการผ่าตัด ใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่า เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงที่สุด ดังเช่น ‘Listion Amputation Knife’ หรือมีดผ่าตัดเล่มบางแต่คมกริบที่เรามักเคยเห็นผ่านตาอยู่บ่อย ๆ ในห้องผ่าตัดยุคปัจจุบัน
นอกจากนั้น ลิสตันยังเป็นหนึ่งในแพทย์ที่สนับสนุนให้รักษาความสะอาดระหว่างผ่าตัด ทั้งการสวมเสื้อคุลมมิดชิด และการล้างมือก่อนทำการผ่า อันเป็นสิ่งที่แพทย์ส่วนมากในยุคนั้นไม่ค่อยคำนึงถึง แม้หากมองผ่านสายตาคนปัจจุบัน การทำงานของลิสตันอาจไม่ถือว่าสะอาดมากนักด้วยข้อจำกัดทางยุคสมัย ดังจะเห็นได้ว่ามีกรณีที่คนไข้ติดเชื้อจนเสียชีวิตปรากฏให้เห็น แต่สิ่งที่ลิสตันทำไว้ตลอดอายุ 53 ปีก็เปรียบเสมือนมรดกที่ช่วยขับเคลื่อนวงการแพทย์ไปข้างหน้า
น่าเศร้าที่ในปี 1847 เพียงหนึ่งปีหลังการใช้ยาสลบครั้งแรกในยุโรป โรเบิร์ต ลิสตันก็เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง โดยมีนักเรียนแพทย์และเพื่อนในวงการเข้าร่วมงานศพมากถึง 500 ชีวิต ปิดตำนานศัลยแพทย์มือไวผู้ถูกจดจำในแง่ร้ายมากกว่าในแง่ดี ด้วยเคสผ่า 1 ตาย 3 และข้อผิดพลาดจากความฉับไวของเขา
แต่ถึงแม้จะผ่านมาเกือบสองศตวรรษ สิ่งที่ลิสตันพัฒนาขึ้นก็ยังสามารถช่วยชีวิตผู้คนมากมาย จนยากเหลือเกินที่จะตราหน้าเขาด้วยฉายา ‘ผ่า 1 ตาย 3’ หรือ ‘อัตราเสียชีวิต 300%’ โดยไม่ย้อนพูดถึงคุณูปการที่ชี้ชัดว่าศัลยแพทย์มือไวผู้นี้ฉกาจฉกรรจ์เพียงใด
เรื่อง : พงศภัค พวงจันทร์ (The People Junior)
ภาพ : Wikipedia
อ้างอิง :