ผู้ใหญ่บ้านสมบัติ โชติกลาง: ช่วยชาวบ้านปลดหนี้หลักล้านจากการพัฒนาการเกษตร

ผู้ใหญ่บ้านสมบัติ โชติกลาง: ช่วยชาวบ้านปลดหนี้หลักล้านจากการพัฒนาการเกษตร
“ตอนนี้คนรุ่นใหม่ที่ไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดกลับมาอยู่บ้านเยอะมากค่ะ ครอบครัวที่เขาไปเพราะเมื่อก่อนที่นี่แห้งแล้ง พื้นที่ก็จะเดี๋ยวน้ำท่วม เดี๋ยวภัยแล้ง อะไรต่าง ๆ มันก็จะเกิดปัญหาการหารายได้ ไม่มีโรงงาน ไม่มีที่ ทำนาอย่างเดียว แล้วก็ไม่มีแหล่งรายได้เกิดขึ้นในชุมชนเขตนี้ ไม่มีโรงงานต่าง ๆ เขาก็จะขึ้นหรือว่าลงไปหาทำงานต่างจังหวัด ก็ไปเรื่อย ๆ ทีนี้เดี๋ยวนี้ก็เริ่มกลับคืนมาเกือบประมาณสัก 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว เขากลับมาบ้าน เพราะว่าเศรษฐกิจเริ่มจะถดถอย และเป็นช่วงโควิด-19 เขากลับมาทำนาทำการเกษตร เขาบอกว่ารู้อย่างนี้กลับมาตั้งนานแล้ว เพราะว่าไม่รู้ว่ามาอยู่บ้านแล้วมันจะสบาย ไม่ต้องมีเงิน วัน ๆ ก็อยู่ได้ เพราะว่าอะไรเราก็ทำกินเองได้ ปลูกกินเองได้ ส่วนใหญ่จะพึ่งตัวเองกันหมด รายได้ก็พออยู่ประทังชีวิต มันก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรก็เลยกลับมา” ช่วงบ่ายวันที่นัดสัมภาษณ์ที่บ้านเตย หลังจากที่พาชาวบ้านมาร่วมพัฒนาพื้นที่ศูนย์กลางเรียนรู้ชุมชนแล้ว ผู้ใหญ่บ้านสมบัติ โชติกลาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านเตย ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ได้ปลีกตัวออกมาคุยกับ The People ด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน หากแต่ว่าใครก็ตามได้เห็นท้องนาผืนใหญ่เขียวขจี เห็นสระน้ำขนาดใหญ่ของหมู่บ้าน เห็นผักแต่ละแปลงของลูกบ้านที่บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวของหมู่บ้านนี้ และต้องไม่ลืมว่า เราได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจพัฒนาพื้นที่ของชาวบ้าน...สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ เมื่อนำมาประกอบกัน คงเป็นที่มาเบื้องหลังของรอยยิ้มของผู้ใหญ่บ้านสมบัติ โชติกลาง นี้กระมัง ผู้ใหญ่บ้านสมบัติ โชติกลาง: ช่วยชาวบ้านปลดหนี้หลักล้านจากการพัฒนาการเกษตร “ผู้ใหญ่นี่ก็อยู่มาตั้งแต่เกิดนะคะ ก็เกิดทันกำนันรุ่นก่อน ๆ หลายปี ปีนี้อายุ 50 กว่าแล้ว ถือว่าเห็นมาหลายยุคหลายสมัย “ตั้งแต่เด็กเนอะ สมัยก่อนจริง ๆ หมู่บ้านนี้มันจะอยู่ห่างไกลความเจริญ ก็จะไม่ค่อยได้พบปะกับคนภายนอกเท่าไร ก็เหมือนหมู่บ้านเหมือนเกาะ จะไม่มีทางรถจะไม่มีอะไร ใช้แต่ทางเรืออย่างเดียว จะขึ้นเรือไปไหนก็ลำบาก วิถีชีวิตก็เลยกลายเป็นแบบชุมชนเดี่ยว ๆ อยู่ในหมู่บ้านที่ทำการเกษตร 100 เปอร์เซ็นต์เลย ไม่ได้มีอาชีพอื่นเลย นอกจากการเกษตร แล้วก็เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงวัว เลี้ยงควายอะไรประมาณนี้แหละ” นี่คือสภาพหมู่บ้านก่อนที่ผู้ใหญ่สมบัติจะเข้ามาทำงานการเมืองหมู่บ้าน จนในที่สุด เมื่อถึงวัยทำงาน เธอจึงมาลองงานนี้ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ด้วยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหมู่บ้านเตย “ตอนแรกก็ลำบากใจเหมือนกัน กว่าจะมาปรับเปลี่ยนอะไรได้แต่ละเรื่องมันยาก เพราะว่าเขาใช้วิถีดั้งเดิมอยู่มาก่อน เริ่มจากจุดเปลี่ยนทีแรกเขาก็จะพึ่งพาตัวเองแหละสมัยก่อน พอมายุคใหม่ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ เขาก็จะเริ่มต่างคนต่างอยู่แล้ว จะทำอะไรก็ไม่ค่อยจับกลุ่ม ไม่ค่อยมีส่วนร่วมกันหลัง ๆ มา ทีนี้เราก็มาเห็นเริ่มเข้าไปสู่วงการโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เพราะว่าอาเป็นกำนัน ขาดผู้ช่วยพอดี ก็เลยมาให้รับเราไปเป็นผู้ช่วยสักหน่อยหนึ่ง พอเข้าไปแล้วมันรู้สึกว่า เอ๊ะ...จุดลึก ๆ เข้าไปต้องการพัฒนา พอเข้าไปแล้วเห็นว่าในหมู่บ้านเรายังขาดอะไรอีกเยอะ” นั่นเองที่ทำให้ผู้ใหญ่สมบัติเข้ามาทำงานเป็นผู้นำชุมชนอย่างเต็มตัว “ชาวบ้านก็มีแต่ทำการเกษตรกันทั้งหมด ทีนี้เราก็เลยมาคิดว่าเราจะทำยังไงในกลุ่มเป้าหมายที่จะมาแก้ปัญหาในชุมชนได้ ก็คืออยากให้อยู่ในระดับที่พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น จุดเปลี่ยนเริ่มปี 2551 ผู้ใหญ่เริ่มเข้ามาเป็นผู้ช่วยได้ 6 ปี พอปี 2551-2552 ปุ๊บ ผู้ใหญ่เป็นปี 2552 พอปี 2552 ก็เข้ามาเป็นผู้นำชุมชนเต็มตัว เราก็มีโอกาสที่จะมาพัฒนาได้เต็มรูปแบบ เพราะถ้าเราเป็นผู้ช่วย เราก็ยังต้องฟังเสียงผู้บังคับบัญชาอยู่ “ประมาณช่วงแรกเข้ามาเป็นได้เดือนเดียวก็เริ่มนำชาวบ้านพึ่งตนเองก่อน อันดับแรกก็คือในเรื่องของขั้นพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานก็คือที่นี่ลำบากในเรื่องการเดินทาง มันจะเดินทางไปไหน ๆ ก็ลำบากหมดแหละ เพราะว่าหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของงบประมาณสร้างถนนหนทางมันลำบากมาก เขาจะไม่ค่อยมีงบประมาณมาให้ ทีนี้ถนนเดินทางไปไหนก็ลำบาก ก็ทำให้เกิดอันตราย ก็มาปรึกษากันว่าจะทำยังไง เราเป็นผู้ใหญ่ได้เดือนหนึ่ง ก็มีแนวคิดว่าเราจะทำยังไงจะให้ไม่ต้องไปพึ่งคนอื่น ก็คือระดมพลแหละ ประมาณ 100 คน แล้วก็ระดมเงินทุนในชุมชน บริจาคกันเองได้ 80,000 กว่าบาท ก็มานำชาวบ้านวันละ 100 คน 2 วันทำถนน ซ่อมถนนเสร็จหมดเลย ตลอดเส้นทาง 5 กิโลเมตร ที่ชำรุดเสียหายเราซ่อมได้หมด” ผู้ใหญ่บ้านสมบัติ โชติกลาง: ช่วยชาวบ้านปลดหนี้หลักล้านจากการพัฒนาการเกษตร เพราะเริ่มวิเคราะห์แล้วว่า ปัญหาใหญ่ที่ชาวบ้านประสบพบเจอนั่นคือ ชาวไร่ชาวนาเป็นหนี้เป็นสิน เพราะต้นทุนทางการเกษตรสูงมาก ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเตยจึงเกิดขึ้น “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเตย ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2554 เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2551 แต่เปิดใช้จริง ๆ ก็คือ พ.ศ 2554 จุดมุ่งหมายคือให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน เราก็จะไปจัดหากลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน มีกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เราก็มารวบรวมแล้วก็มาอยู่ในศูนย์เรียนรู้บ้านเตย ทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนและนอกชุมชน ปัจจุบันสถิติคนที่เข้ามาเราสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคนต่าง ๆ นอกชุมชนด้วยประมาณ 20,000-30,000 คนที่เข้ามา “ศูนย์การเรียนรู้ฯ เริ่มต้นคือเรามาวิเคราะห์ในชุมชนว่าเรามีจุดแข็งตรงไหน แล้วก็มาทำว่าปัญหาของเราจุดอ่อนในเรื่องของปุ๋ย เราใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไป เป็นหนี้ปีหนึ่ง 4 ล้านกว่าบาท วิเคราะห์ออกมาแล้ว วิเคราะห์ออกมาเป็นหนี้เรื่องปุ๋ยประมาณ 4 ล้านกว่าบาท ใช้ปุ๋ยเคมีทั้งนั้นเลย “ทีนี้พื้นที่ของเราก็ดินเค็มอยู่แล้ว เราไม่มีทางจะแก้ไขปัญหาได้เลย นอกเหนือจากเราจะต้องมาปรับใช้ว่าเราจะทำยังไงถึงจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ก็คือชุมชนต้องมาประชาคมร่วมกัน เอาว่าเอาอะไรที่จะมาแก้ปัญหาในชุมชนได้ ก็คือมาผลิตปุ๋ยใช้เองในชุมชน ก็คือสร้างโรงปุ๋ยขึ้นมา แล้วก็ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นสมาชิกทุกคน จากที่มีหนี้ 4 ล้านกว่าบาท 2 ปีเชื่อไหม 2 ปีหมดหนี้ไปเกือบประมาณ 3 ล้านบาท เหลือหนี้อีกแค่ 1 ล้านกว่าบาท ชุมชนก็เลยลืมตาอ้าปากได้ พึ่งตัวเองได้ ทำให้มีหนี้สินลดลง แล้วทำให้การเป็นอยู่ที่เราใช้อยู่ก็ดีขึ้น “แก้ปัญหาดินเค็มใช้ทฤษฎีปลูกแฝกในแปลงนา ส่วนในแปลงนาเขาจะไถกลบตอซัง แล้วก็ปลูกพืชสดก็จะเป็นปอเทืองเสียส่วนใหญ่ แล้วก็จะไถกลบตอซัง แล้วก็น้ำหมักจุลินทรีย์ต่าง ๆ เราก็เอาไปใส่ในแปลงนา ทีนี้ถ้าในหมู่บ้านเมื่อก่อนปลูกต้นไม้ไม่ขึ้นนะ อะไรก็ขึ้นยาก ต้นไม้ผลไม้ต่าง ๆ ไม่ขึ้นเลย เดี๋ยวนี้เขาปรับปรุงก็คือใบไม้ต่าง ๆ ที่เขาไม่ทิ้ง เขาจะไม่เผาทิ้ง ที่นี่ไม่เผาทำลายไม้ ใบไม้กิ่งไม้อะไรต่าง ๆ เขาจะไม่ทำลาย เขาจะเก็บรวบรวมมาแล้วก็มาคลุมดิน ใช้ทฤษฎีคลุมดิน แล้วก็ใช้น้ำหมักชีวภาพที่เขาทำเองมาปรุงดิน ให้ดินจากที่เค็มกลายเป็นดินที่ดีขึ้น ปลูกอะไรก็ขึ้น แล้วก็หวานอร่อยด้วย อย่างเช่นผลไม้ต่าง ๆ เมื่อก่อนไม่เคยเกิดขึ้นเลย เดี๋ยวนี้ปลูกได้ทุกอย่าง” ปัญหามีตรงไหน ก็แก้กันตรงนั้น พอแก้ปัญหาปุ๋ยแพงและดินเค็มแล้ว ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเตยไปต่อด้วยการทำน้ำสกัด เลี้ยงไส้เดือนและสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกผักในครัวเรือน ผู้ใหญ่บ้านสมบัติ โชติกลาง: ช่วยชาวบ้านปลดหนี้หลักล้านจากการพัฒนาการเกษตร “มันจะมีน้ำสกัดหลาย ๆ อย่างค่ะ น้ำหมักรุ่นแรก ๆ ก็คือน้ำหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือน เขาเรียกเศษผักเศษอาหารต่าง ๆ อันนี้ทำน้ำหมักไว้รดผักได้ ก็ใส่ในแปลงนาได้ ผักเหลือใช้ของเหลือใช้ในครัวเรือน เศษอาหารต่าง ๆ แต่ถ้าจะทำน้ำหมักที่ไว้ใช้เป็นน้ำยาสระผม น้ำยาล้างจานต่าง ๆ “ไส้เดือน คือจุดมุ่งหมายของคนเลี้ยงไส้เดือนจะรวมตัวกันจับกลุ่มกัน เพราะว่าเขาต้องการปุ๋ยที่เป็นธรรมชาติเอาไว้ใช้เอง หนึ่ง-ได้ปุ๋ย สอง-มีรายได้เสริมขึ้นมา คือขายกิโลฯ หนึ่ง เป็นไส้เดือนแอฟริกาขายได้กิโลฯ ละ 300 บาท ก็เป็นรายได้ที่เขาสามารถส่งเสียลูกได้เล่าเรียน ได้จบสูง ๆ ได้ อันนี้ก็เป็นอาชีพเสริมรองจากการทำนาอีกอย่างหนึ่ง “ทุกครัวเรือน แรก ๆ เราจะมีครัวเรือนต้นแบบก่อน 35 ครัวเรือน ครัวเรือนต้นแบบจะต้องปลูกผักกินเอง เลี้ยงไก่ เลี้ยงอะไรต่าง ๆ เลี้ยงปลา เมื่อก่อนเขาไม่ได้ปลูกที่จะหวังขายหรอก ปลูกเพื่อที่จะกินแล้วก็แบ่งปันพี่น้องในชุมชน แลกเปลี่ยนกัน ทีนี้ก็ขยายผลไปทุกหลังคาเรือน” ผู้ใหญ่บ้านสมบัติ พูดถึงหลักคิดเบื้องหลังความสำเร็จไว้ว่า “หลักคิดของผู้ใหญ่ในการบริหารจัดการชุมชนก็ง่าย ๆ เราก็คือเป็นผู้ให้ก่อน เสียสละอันดับแรก แล้วต้องมีคุณธรรมด้วย ก็คือมีอะไรต่าง ๆ เข้ามาเราจะไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก จะให้คนเท่าเทียมกัน คนที่ลำบากเราก็ให้ก่อน คนที่ไม่ลำบากก็เอาไว้ทีหลัง อันนี้คือเราต้องคิดอย่างนี้ถึงจะอยู่ได้ ถ้าเราเห็นแก่ญาติอย่างเดียว มีอะไรก็ให้ญาติเรา ญาติเราหมดทุกอย่าง มันจะไม่ได้ใจชาวบ้านหรอก เพราะว่าบางคนเขาก็เดือดร้อนเนอะ เราก็ต้องให้คนที่เขาเดือดร้อนกว่า “อย่างที่บอกนะคะก็คือในเรื่องของการบริหาร ผู้ใหญ่จะต้องเป็นธรรม มีอะไรเราก็ต้องให้ เสียสละก่อน คือเห็นประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว ทำงานทุกอย่างเราต้องเอาส่วนรวมไว้ก่อน เรื่องส่วนตัวไว้ทีหลัง” การพลิกผืนแผ่นดินบ้านเตยให้กลายเป็นทองคำ นอกจากจะทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีแล้ว ยังทำให้คนรุ่นใหม่ที่ไปทำงานที่อื่นกลับมาบ้าน มาทำมาหากินที่นี่ และพัฒนาชุมชนร่วมกับผู้ใหญ่สมบัติ โชติกลาง