สมบัติ ยกเชื้อ: ผู้ใหญ่บ้านที่สร้างเครือข่ายแห่งความสุขด้วยการทำสมาร์ทฟาร์ม

สมบัติ ยกเชื้อ: ผู้ใหญ่บ้านที่สร้างเครือข่ายแห่งความสุขด้วยการทำสมาร์ทฟาร์ม
“ผมอยากทำให้ที่บ้านนากลางของเรา กลายเป็นศูนย์กลางแห่งความสุข ตามคำขวัญที่ว่า นากลางเป็นศูนย์กลางแห่งความสุข แล้วขยายความสุขนี้ไปยังเครือข่ายทั่วทั้งประเทศ” ความตั้งใจที่จะทำให้ทุกคนมีความสุข คือปณิธานก่อนที่ สมบัติ ยกเชื้อ จะเข้ารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านนากลาง ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยภายหลังได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน เขาได้นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ครบคู่กับการทำสมาร์ทฟาร์ม เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ของบ้านนากลาง ที่ปัจจุบันแทบไม่เหลือพื้นที่ทำการเกษตรให้กลับมาเป็นสีเขียวอีกครั้งหนึ่ง แล้วกลายเป็นศูนย์กลางของความอุดมสมบูรณ์ในที่สุด  “บ้านนากลางเดิมในอดีตเป็นชุมชนที่ทำนาเป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นเมือง มีคนมาอยู่อาศัยมากขึ้น พื้นที่ทำการเกษตรเลยลดน้อยลงไป เราเลยเอาการทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มมาใช้ เพราะเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้มีพื้นที่น้อยแต่ให้ผลผลิตมาก ทำให้บ้านนากลางกลายเป็นศูนย์กลางของความอุดมสมบูรณ์ มีความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างความมั่นคงด้านอาชีพ และสร้างความมั่นคงด้านรายได้”  สมบัติ ยกเชื้อ: ผู้ใหญ่บ้านที่สร้างเครือข่ายแห่งความสุขด้วยการทำสมาร์ทฟาร์ม เทคโนโลยีการทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มที่ผู้ใหญ่สมบัตินำมาใช้มีทั้งเซนเซอร์ที่ใช้ตรวจวัดอุณหภูมิ และความชื้นในอากาศ ซึ่งเชื่อมระบบเข้ากับสมาร์ทโฟน เพื่อให้สามารถตรวจสอบและสั่งการผ่านออนไลน์ได้ตลอดเวลา นอกจากความสะดวกสบายในการดูแลแล้ว เทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ยังมีส่วนช่วยให้ผลผลิตที่ผู้ใหญ่บ้านสมบัติและคนในชุมชนรวมกันผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน และจำหน่ายได้ราคาดี  นอกจากการทำเกษตรแบบเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว ผู้ใหญ่สมบัติยังใช้ความคิดนอกกรอบเพื่อพัฒนาต่อยอดในการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชาวบ้านนากลาง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกเมลอน มะเขือเทศ และผักสลัด ซึ่งเป็นการทำเกษตรที่แตกต่างจากพืชทั่วไปที่พื้นที่นี้เคยเพาะปลูกได้ แล้วเขายังได้นำเอาองค์ความรู้นี้ไปเผยแพร่ให้ชุมชนอื่น ๆ ในหลายจังหวัด เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายการเกษตรในภาคใต้ รวมไปถึงการนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอีกด้วย “เรามีร้านค้าชุมชนที่รวบรวมผลผลิตจากชาวบ้านในเครือข่ายเพาะปลูกของเรา ทั้งพืชผักต่าง ๆ แล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า ที่นำมาแปรรูปเป็นน้ำพริกเห็ดนางฟ้า เอาผักสลัดมาแปรรูปเป็นผักสลัดสำเร็จรูปใส่จานพร้อมรับประทาน การที่เราดำเนินการเรื่องสมาร์ทฟาร์ม ยังช่วยทำให้เกิดกลุ่มอาชีพในหมู่บ้านที่ส่วนมากนำเอาวัตถุดิบที่มีมาแปรรูป อย่างเช่น กลุ่มมัดย้อมธรรมชาติ กลุ่มอนุรักษ์สมุนไพรเพื่อนำมาทำเป็นสมุนไพรแช่เท้าสำหรับนักท่องเที่ยว ช่วยสร้างรายได้ให้กับทุกกลุ่มอาชีพ” หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ผู้ใหญ่บ้านสมบัติได้น้อมนำมาใช้ นำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีและความสุขที่ยั่งยืนของคนในชุมชน ดูได้จากการที่ชาวบ้านบ้านนากลาง และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ แทบไม่ประสบปัญหาเรื่องอาหารการกินเลยช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากมีการทำเกษตรที่หลากหลาย และอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้  สมบัติ ยกเชื้อ: ผู้ใหญ่บ้านที่สร้างเครือข่ายแห่งความสุขด้วยการทำสมาร์ทฟาร์ม ผู้ใหญ่คนเก่งแห่งบ้านนากลางได้บอกอีกว่า เป้าหมายต่อไปของเขาคือการสร้างเครือข่าย และทำการตลาดที่เชื่อมโยงในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนของตำบลโคกกลอย ซึ่งเป็นการจัดการทำแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างรายได้ที่ผู้ใหญ่บ้านสมบัติได้วางแผนรวมกับทางอำเภอและจังหวัด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคงด้านอาหาร สร้างความมั่นคงด้านอาชีพ สร้างความมั่นคงด้านรายได้ ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านไปสู่ศูนย์กลางแห่งความสุขของบ้านนากลาง “เมื่อหมู่บ้านเรามีความสุขแล้ว เราก็พยายามที่จะเชื่อมโยงกับเครือข่ายหมู่บ้านอื่น ๆ ให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการที่บ้านนากลางใช้ได้ผล การที่จะทำให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนได้ เราต้องยึดหลักการพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อน เราเลยต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อให้ทั้งคนในชุมชน และเครือข่ายสามารถพึ่งพาตัวเองได้ก่อนด้วยการทำการเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม” สมบัติ ยกเชื้อ: ผู้ใหญ่บ้านที่สร้างเครือข่ายแห่งความสุขด้วยการทำสมาร์ทฟาร์ม รางวัลหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองระดับภาค ที่หมู่บ้านนากลางของผู้ใหญ่บ้านสมบัติ เพิ่งได้รับเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และเป็น 1 หมู่บ้านใน 4 หมู่บ้านในระดับประเทศที่ได้รับรางวัลนี้ ช่วยยืนยันถึงความสำเร็จในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ทำให้ในวันนี้ความตั้งใจของผู้ใหญ่บ้านสมบัติ ยกเชื้อ ที่อยากเข้ามาบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชนตามภารกิจสำคัญของเจ้าหน้าที่กรมการปกครองทุกคน เข้ามาใกล้ความจริงขึ้นอีกก้าวหนึ่ง  “การเป็นผู้นำเราต้องให้เขาก่อน ให้ทั้งจิตใจ ทั้งอภัย ให้ทั้งโอกาส เราไม่อยากจะมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่ หรือตำแหน่งอื่นที่ใหญ่กว่านี้ แต่สิ่งที่ทำให้อยากเข้ามาทำงานเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะอยากเข้ามา บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน อยากทำให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งต่อความสุขนั้นไปยังเครือข่ายอื่น ๆ เพื่อกระจายความสุขให้ขยายออกไป”