โซเฟีย อมอรูโซ : สาวมั่นผู้บุกเบิกธุรกิจเสื้อผ้าออนไลน์คนแรก ๆ สู่แรงบันดาลใจของซีรีส์ GIRLBOSS

โซเฟีย อมอรูโซ : สาวมั่นผู้บุกเบิกธุรกิจเสื้อผ้าออนไลน์คนแรก ๆ สู่แรงบันดาลใจของซีรีส์ GIRLBOSS
“เราจะทำเงินได้ร้อยล้านดอลลาร์ในปีนี้” “ไม่ ฉันไม่เคยยืมเงินใครเลยสักครั้ง” “ไม่ ฉันไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย” “ไม่ ฉันไม่เคยมีประสบการณ์การทำธุรกิจเลย”   นี่คือคำพูดของ ‘โซเฟีย อมอรูโซ’ (Sophia Amoruso) เมื่อเข้าประชุมกับบริษัทอื่น ๆ ซึ่งสร้างความประทับใจเจือความประหลาดใจให้กับผู้ฟังไปพร้อม ๆ กัน โซเฟีย อมอรูโซ คือนักธุรกิจสาวชาวอเมริกันที่เริ่มต้นจากการเปิดร้านเสื้อผ้าวินเทจในอีเบย์ตั้งแต่อายุ 23 ก่อนจะออกมาตั้งบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าออนไลน์ชื่อ Nasty Gal ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจากรายได้ 223,000 ดอลลาร์ในปี 2008 เพิ่มมาเกือบถึง 23 ล้านดอลลาร์ในปี 2011 จน The New York Times ตั้งฉายาให้เธอว่าเป็น ‘ซินเดอเรลลาแห่งเทคโนโลยี'  (a Cinderella of tech) ส่วน Business Insider ยกให้เธอเป็นหนึ่งในซีอีโอที่เซ็กซี่ที่สุด และนิตยสาร Inc. จัดอันดับให้ Nasty Gal เป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในอเมริกาเมื่อปี 2012 ไม่เพียงสื่อต่าง ๆ ที่พูดถึงชีวิตของเธอ ในปี 2014 โซเฟียได้เขียนหนังสือ #GIRLBOSS โดยฉบับแปลไทยมีชื่อว่า 'เพราะเป็นผู้หญิงไม่แคร์ใคร ฉันถึงได้เป็นนายคน' บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเอง ตามมาด้วยซีรีส์ใน Netflix ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของเธอ แต่ก็มีหลายฉากที่ต่างออกไป เพื่อเพิ่มอรรถรสให้ซีรีส์สนุกไม่ต่างจากในหนังสือ อย่างฉากที่เพื่อนสาวของโซเฟียช่วยงานเธอมาตั้งแต่ต้น กว่าจะได้ค่าจ้างก็ผ่านการทะเลาะกับเพื่อนจนเกือบแยกทางกัน ทั้งที่ความเป็นจริง เธอเพิ่งจ้างพนักงานคนแรกหลังเปิดเว็บไซต์ได้ไม่นานและให้เงินเดือนมากกว่าตัวเอง และเรื่องราวต่อไปนี้คือเบื้องหลังของ ‘สาวแกร่ง’ หนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจเสื้อผ้าออนไลน์   ก่อนจะมาเป็นนักธุรกิจ เธอคือนักแหกกฎ หากย้อนไปยังวัยเยาว์ โซเฟียคือเด็กน้อยตัวแสบที่มองว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเธอ ทั้งยังฝากวีรกรรมชวนกุมขมับไว้มากมาย ตั้งแต่การสร้างงานศิลปะด้วยวิธีละเลงอึลงบนผนังในวัยอนุบาล การเป็นเด็กอยู่ไม่ติดที่จนครูสงสัยว่าเธออาจเป็นสมาธิสั้นหรือไม่ก็โรคทูเร็ตต์ (อาการกล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น ย่นจมูก เอียงคอ ยักไหล่ซ้ำ ๆ มากกว่าคนทั่วไป) ในวัยประถมฯ และเด็กหญิงที่แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นทั้งโรคซึมเศร้าและสมาธิสั้น ในวัยมัธยมฯ ปลาย “ถ้าคุณเข้ากับโรงเรียนไม่ได้ คนอื่นก็จะมองว่าคุณผิดปกติ คุณต่างหากที่มีข้อบกพร่อง ไม่ใช่ระบบการศึกษา ฉันไม่ได้สนับสนุนให้พวกขี้เกียจโดดเรียนไปนั่งเล่นที่เบอร์เกอร์คิงนะ แต่ฉันคิดว่าเราควรยอมรับว่าโรงเรียนไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนหรอก ฉันจึงอยากบอก #สาวแกร่ง ทั้งหลายว่า ถึงผลการเรียนของคุณจะย่ำแย่ แต่อย่าได้ปล่อยให้มันมาทำลายจิตวิญญาณของตัวคุณเอง เพราะนั่นไม่ได้หมายความว่าคุณโง่หรือไร้ค่า หรือไม่มีวันทำอะไรสำเร็จสักอย่าง แต่มันหมายความว่าคุณมีความสามารถในเรื่องอื่นต่างหาก” สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอตัดสินใจเรียนที่บ้านก่อนจะหันหลังให้การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ก้าวออกมาใช้ชีวิตของตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้น เธอเองก็ยังไม่รู้ว่าความชอบหรือความสามารถอย่างอื่นของเธอคืออะไร โซเฟียจึงเริ่มจากการทำงานพิเศษและเปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่การขายน้ำมะนาว ส่งหนังสือพิมพ์ เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ไปจนถึงการเป็นนางแบบเด็ก “ฉันต้องทำเรื่องบ้า ๆ เยอะแยะเพื่อทดสอบว่าตัวเองชอบอะไรบ้าง (แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องบ้า ๆ หรอก) ถึงจะเป็นโชคร้ายของนายจ้างทุกคนที่ฉันชอบลาออกแล้วทิ้งปัญหาไว้ให้ แต่การลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็คุ้มค่าจริง ๆ” โซเฟียเคยลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง ทั้งงานที่ไม่ใช่และงานที่ไม่ถูกกฎหมาย อย่างการขายหนังสือที่เธอขโมยมา จนกระทั่งปี 2006 โซเฟียในวัย 22 ปี ได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต นั่นคือการเป็นโรคไส้เลื่อน เธอจำเป็นต้องหางานประจำเพื่อให้ได้สิทธิประกันสุขภาพ และโชคดีที่ได้งานเป็นคนตรวจบัตรตรงโถงทางเข้าของโรงเรียนสอนศิลปะ ซึ่งมีเวลาว่างพอจะฆ่าเวลาด้วยการเล่นอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอตัดสินใจขายของในอีเบย์ โดยตั้งชื่อร้านว่า ‘แนสตีกัล วินเทจ’ (Nasty Gal Vintage)  ทันทีที่เธอคลิกสมัครแอคเคานท์นี้ในอีเบย์ การผจญภัยในโลกธุรกิจของเธอก็เริ่มต้นขึ้น...   เป็นทุกอย่างในแนสตีกัลแล้ว ย้อนกลับไปในวัย 13 ปี โซเฟียตกหลุมรักเสื้อผ้าแนวย้อนยุค ทุกครั้งที่ไปห้างฯ เธอแทบไม่ได้เสื้อผ้าใหม่ ๆ กลับมา แถมยังบอกแม่ว่าเสื้อผ้าพวกนี้ดูไม่สมราคาเอาซะเลย ก่อนจะตรงดิ่งไปคว้าเสื้อผ้ามือสอง ความชอบเสื้อผ้าแนวย้อนยุคนี้ถูกนำมาสานต่อเป็นธุรกิจในร้านแนสตีกัล วินเทจ เธอเปิดประมูลเสื้อผ้ามือสองในอีเบย์ซึ่งได้ราคาสูงกว่าต้นทุนหลายเท่า หลังจากนั้นธุรกิจของเธอได้เริ่มขยับขยาย แต่โซเฟียก็ยังรับบท ‘เป็นทุกอย่างให้แนสตีกัล’ ตั้งแต่สไตลิสต์ แต่งหน้าทำผม เลือกเสื้อผ้า เครื่องประดับต่าง ๆ มาให้เข้าชุด ไปจนถึงการเป็นช่างภาพด้วยตัวเอง  หลังได้ชุดและภาพที่ใช่ เธอเริ่มวางขายสินค้าโดยใช้โปรแกรมหาเพื่อนของมายสเปซ เพิ่มเพื่อนที่เป็นสาว ๆ ผู้รักการแต่งตัวแนวย้อนยุค และแปะลิงก์คนเข้าไปดูร้านของเธอในอีเบย์ จากนั้นเธอจะเขียนข้อความในกระดานข่าวและบล็อกของมายสเปซ ทุกครั้งที่มีการประมูลสินค้าของร้าน รวมทั้งตอบกลับทุกความคิดเห็นในมายสเปซด้วยตัวเอง  นอกจากนี้ การประมูลแต่ละครั้งเธอจะตั้งชื่อสินค้าที่ผู้คนใช้ในการค้นหา (คล้ายกับการหา Keyword เพื่อทำ SEO หรือการทำให้เว็บไซต์ของตัวเองติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของกูเกิลในยุคนี้) อย่างช่วงปี 2007 คำสุดฮิตคือ ชุดกระโปรงลูกไม้ โบฮีเมียน ฮิปปี ซึ่งเธอไม่รู้ตัวเลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้แนสตีกัลประสบความสำเร็จ “ในเวลานั้นฉันไม่รู้เลยว่า ‘การวิจัยการตลาด’ หรือ ‘การตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง’ คืออะไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกค้าหลายคนของฉันมี ‘คุณลักษณะคล้ายกัน’ ฉันรู้แค่ว่าการพูดคุยกับสาว ๆ ที่อุดหนุนฉันคือสิ่งสำคัญ และมันเป็นเช่นนั้นเสมอ” และแม้เธอจะเกลียดงานในระบบที่เคยทำมาทั้งหมด แต่เธอก็ได้บทเรียนสำคัญที่นำมาปรับใช้กับธุรกิจครั้งนี้ได้ อย่างการพูดว่า “ขอตรวจสอบดูก่อนนะคะ” แทนที่จะบอกว่า “ไม่ทราบค่ะ”  หรือการขอโทษลูกค้า แม้ไม่ใช่ความผิดของตัวเองโดยตรง แต่บริษัทที่ทำงานอยู่ทำให้ลูกค้าผิดหวัง เธอก็ต้องเข้าใจลูกค้าเช่นกัน    รู้จักลูกค้าและทำการตลาดแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อเธอถูกร้องเรียนว่าทำผิดกฎอีเบย์ บวกกับความต้องการขยายธุรกิจของตัวเอง เธอจึงออกมาตั้งบริษัทและเว็บไซต์ nastygalvintage.com แทน ซึ่งนักธุรกิจสาวคนนี้มีชื่อเสียงเรื่องการก่อตั้งบริษัทขึ้นโดยปราศจากการกู้หนี้ยืมสิน แต่นั่นไม่ใช่เพราะ ‘ความตั้งใจ’ แต่เธอ ‘จำเป็น’ ต้องใช้ต้นทุนให้น้อยที่สุด เพราะช่วงวัย 19 ปี เธอต้องย้ายที่อยู่บ่อย ๆ กว่าใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตจำนวน 28 ดอลลาร์จะมาถึง เธอก็เสียเครดิตเรื่องสินเชื่อไปซะแล้ว  “เวลามีคนเขียนบทความเกี่ยวกับแนสตีกัล พวกเขามักพูดถึงเรื่องที่ฉันสร้างบริษัทขึ้นมาได้โดยไม่มีหนี้สิน เพราะนี่เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในโลกธุรกิจ แต่สิ่งที่บทความเหล่านั้นไม่ได้พูดถึงก็คือ ฉันไม่ได้เป็นคนเลือกว่าจะสร้างธุรกิจโดยไม่ก่อหนี้สิน ฉันไม่มีทางเลือกต่างหาก” ข้อจำกัดนี้ทำให้เธอต้องคิดหาวิธีประหยัดงบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นำไปสู่วิธีทำ ‘การตลาดแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จของแนสตีกัล “บริษัทจำนวนมากต้องเสียเงินเป็นล้าน ๆ ดอลลาร์ไปกับการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ฉันแค่ทำตามสัญชาตญาณและปฏิบัติต่อลูกค้าเหมือนเพื่อน ถึงจะไม่มีเจ้านายคอยประเมินผลงาน ฉันก็ต้องทำให้ดีที่สุด” การตลาดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่โซเฟียกล่าวถึงคือ ‘ความใส่ใจทุกรายละเอียด’ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกเสื้อผ้า ถ่ายภาพ วางขาย จนเสื้อผ้าส่งไปถึงมือของลูกค้า เวลาเขียนคำบรรยายสินค้า เธอจะใส่รายละเอียดทุกอย่าง ทั้งขนาด ตำหนิ สภาพสินค้าจริง แม้แต่คำแนะนำการแต่งตัวว่าควรจับคู่เสื้อตัวนี้กับชุดแบบไหน เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่ตรงกับความเป็นจริงและมีความสุขกับการสวมใส่เสื้อผ้าจากแนสตีกัล และมีครั้งหนึ่ง เธอส่งเสื้อแจ็กเก็ตของชาแนลไปซัก แต่กระดุมหลุดไปหนึ่งเม็ด ระหว่างนั้น เธอถึงกับติดต่อชาแนลให้หากระดุมรุ่นนี้ให้ แม้จะเสียเวลาและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เธอจะไม่ยอมให้ลูกค้าได้รับของในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ และเธอก็โล่งใจทันทีที่เห็นลูกค้าตื่นเต้นมากเมื่อได้รับแจ็กเก็ตตัวนี้ “ฉันใส่ใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้แต่การติดที่อยู่ของลูกค้าเบี้ยว หลังผ่านเรื่องพวกนี้มา ฉันก็เข้าใจว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นตัววัดว่าธุรกิจจะรุ่งหรือจะร่วง” หลังเปิดบริษัทมาได้สักพัก จากการทำเงินได้ 150,000 ดอลลาร์ต่อปี ขยับมาเป็น 150,000 ต่อวัน ก่อนจะก้าวสู่การเป็นธุรกิจค้าปลีกหลักล้านดอลลาร์ เป็นร้านเสื้อผ้าที่ครองใจสาว ๆ และได้รับความสนใจจากสื่อจำนวนมาก   รู้จักโลกธุรกิจ  “ฉันไม่ว่าอะไรหรอกที่สื่อต่าง ๆ จะคิดว่าเรื่องของฉันเป็นเหมือนเทพนิยาย การได้รับความสนใจจากสื่อเป็นเรื่องที่ดี แต่ฉันจะไม่ทำให้คนอื่นคิดว่าทุกอย่างนี้เกิดในชั่วข้ามคืน ฉันยอมรับว่าตัวเองโชคดีในหลาย ๆ เรื่อง แต่ก็ต้องขอย้ำว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ฉันต้องใช้เวลาหลายปีอยู่กับการขุดคุ้ยกองผ้าย้อนยุคจนเล็บดำปี๋ ได้แผลพุพองจากการอบผ้า และต้องคอยควานหาทิชชูใช้แล้วที่ถูกยัดอยู่ในกระเป๋าเสื้อโค้ทก่อนจะนำไปซัก” ก่อนจะมาถึงจุดนี้ แน่นอนว่าโซเฟียต้องก้าวผ่านอุปสรรคและข้อจำกัดของการขายสินค้าออนไลน์ ตั้งแต่การเปิดประมูลสินค้าในอีเบย์ หากไม่ทำตามตารางอย่างเคร่งครัด ลูกค้าจะหันหน้าหนีไปประมูลของอย่างอื่นแทน หรือการถูกกล่าวหาว่าปั่นราคาในอีเบย์ บ้างก็บอกว่าเสื้อผ้าที่ไม่ได้เก่ากว่ายุค 1960 ของเธอไม่ควรถูกเรียกว่าย้อนยุค  สิ่งเหล่านี้ทำให้โซเฟียต้องมีวินัยไปพร้อมกับการรู้จักปล่อยวางและเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจบนโลกออนไลน์ แม้แต่ตอนที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง การทำธุรกิจของเธอก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย โซเฟียเคยเดินเข้าไปหาบริษัทที่อยากร่วมงานด้วย แต่เธอกลับถูกปฏิเสธทันที เธอจึงตัดสินใจหยิบมือถือขึ้นมาเปิดเว็บไซต์ แล้วอธิบายว่าเขาจะพลาดอะไรไปบ้างหากไม่ได้ร่วมงานกับเธอ เพราะเธอยึดมั่นในแนวคิดที่ว่า “เวลาได้ยินคำว่าไม่ ฉันไม่ค่อยฟังหรอก และถ้าไม่เอ่ยปากขอ คุณจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ” นอกจากความยากในเรื่องการหามิตรในแง่ธุรกิจแล้ว เรื่องคู่แข่งก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเธอมองเรื่องนี้ว่า “ไม่ว่าคุณจะคบใคร คนคนนั้นย่อมมีแฟนเก่า เช่นเดียวกับที่ทุกธุรกิจย่อมมีคู่แข่ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณว่าจะใช้เวลานึกถึงพวกเขามากแค่ไหน...เพราะคุณก็ยังเป็นคุณอยู่ดี เรื่องธุรกิจก็เช่นกัน ไม่มีกฎแห่งกรรมข้อไหนบอกว่าธุรกิจของคุณจะประสบความสำเร็จถ้าคนอื่นล้มเหลว ถ้าอย่างนั้น เราก็แค่อวยพรให้เขาโชคดีและหันกลับมาสนใจเรื่องของตัวเองก็พอ” สิ่งเหล่านี้ทำให้แนสตีกัลประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดด ก่อนจะปิดฉากลงในปี 2016 เมื่อบริษัทของเธอล้มละลาย ทำให้เธอต้องก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของ Nasty Gal แต่ผ่านไปไม่นาน #สาวแกร่ง คนนี้ได้ลุกขึ้นมาใหม่อย่างสง่างาม ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทสื่อ Girl Boss Media (http://www.girlboss.com/) ซึ่งเป็นบริษัทที่น่าจับตามองในยุคนี้ และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะล้มลงกี่ครั้ง แต่โซเฟีย อมอรูโซ ก็ยังเชื่อมั่นในตัวเองและลุกขึ้นมาด้วยความเชื่อที่ว่า โชคเข้าข้างคนที่กล้าลงมือทำเสมอ และเธอมองว่าแนวคิดเรื่องความสำเร็จและความล้มเหลวคือการมองโลกแบบขาวกับดำ ทั้งที่โลกความเป็นจริงคือสีเทา ทุก ๆ อย่างมีข้อดีและข้อเสีย ฉะนั้นเราสามารถนิยามความสำเร็จและล้มเหลวได้ในแบบของตัวเอง “ชีวิตไม่หยุดรอใคร จงก้าวต่อไปเรื่อย ๆ จงตื่นตัวและดำเนินชีวิตต่อไป ชีวิตเราไม่มีระบบแก้ไขข้อความอัตโนมัติ คุณจึงต้องคิดให้ดีก่อนตัดสินใจทำอะไร การแหกกฎเพื่อความสนุกเป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งที่ท้าทายจริง ๆ คือการรู้ว่ากฎข้อไหนควรยอมรับ และกฎข้อไหนควรเขียนขึ้นมาใหม่ ยิ่งคุณลองทำ ลองเสี่ยง และทำผิดพลาดมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งรู้จักตัวเอง รู้จักโลก และมีแนวทางชัดเจนมากขึ้น”     ที่มา https://peoplepill.com/people/sophia-amoruso  หนังสือ #GIRLBOSS ไม่แคร์ใคร ฉันถึงได้เป็นนายคน เขียนโดย Sophia Smoruso