เกาหลีใต้ ทุนนิยมกับประสบการณ์ คุมโควิด โดยไม่ปิดเมือง

เกาหลีใต้ ทุนนิยมกับประสบการณ์ คุมโควิด โดยไม่ปิดเมือง
"เกาหลีใต้เป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย เรารู้สึกว่า การล็อกดาวน์ไม่ใช่ทางเลือกที่สมเหตุสมผล" ศาสตราจารย์ คิม วู-จู (Kim Woo-joo) จาก Korea University Guro Hospital ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด กล่าว (Science Mag) หลังเกาหลีใต้พบผู้ป่วยโควิด-19 คนแรก เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนวัย 36 ปี ที่เดินทางมาเที่ยวช่วงฉลองตรุษจีนเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2020 จากนั้นตัวเลขของผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบางช่วงก็เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวจากการติดเชื้อหมู่ในกลุ่มของศาสนิกลัทธิหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในวันเดียวกว่า 900 คน แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยังคงรับมือการระบาดอย่างรอบคอบ ประชาชนส่วนใหญ่ยังอยู่ในความสงบ ภาพการแย่งชิงข้าวของอย่างโกลาหลแทบไม่พบรายงานในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังไม่ใช้มาตรการที่รุนแรงอย่างการ "ล็อกดาวน์" เมืองต่าง ๆ อย่างที่ทำกันในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงในทวีปยุโรป แต่กลับใช้วิธีตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระยะต้น ๆ การพบผู้ติดเชื้อในเกาหลีใต้ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และค่อย ๆ ลดลงจากหลักหลายร้อยคนต่อวัน จนเหลือวันละไม่ถึง 100 คน และมีตัวเลขของผู้ที่หายจากการติดเชื้อมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากความสามารถของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่สามารถทำการตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถหา “ต้นตอ” ของพาหะ และสกัดไม่ให้ผู้ติดเชื้อในระยะต้นไปแพร่เชื้อต่อ โดยเกาหลีใต้สามารถตรวจเชื้อได้ถึงวันละ 15,000 ครั้ง ถึงวันที่ 3 เมษายน เกาหลีใต้มีการทดสอบหาเชื้อแล้วถึง 443,273 ครั้ง และจากผลตรวจ 424,365 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อ 10,062 คน หรือคิดเป็น 2.4% เท่านั้น   แสดงให้เห็นว่า เกาหลีใต้ไล่ตรวจผู้คนอย่างไม่หวงชุดตรวจหาเชื้อ ต่างจากหลายประเทศที่จะไม่ยอมใช้ชุดตรวจที่มีอย่างจำกัดกับคนไข้ที่แม้จะแสดงอาการแต่อาการไม่หนัก ทำให้ผู้ป่วยบางรายกว่าจะถูกตรวจพบเชื้อก็อยู่ในระยะที่ช่วยเหลือได้ยากแล้ว และการไม่ตรวจหาเชื้อในผู้ป่วยตั้งแต่มีอาการอ่อน ๆ ก็ยิ่งทำให้การหาต้นตอการแพร่เชื้อเกิดขึ้นช้า ระหว่างนั้นผู้ที่ยังไม่ถูกพบเชื้อ แต่ติดเชื้อแล้วก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ต่อ จนกว่าจะมีอาการหนักและถูกพบเชื้อในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ การรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในแต่ละประเทศจึงแตกต่างกัน ใช่ว่าทุกประเทศจะสามารถทำอย่างเกาหลีใต้ได้ ด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากร เมื่อไม่อาจตรวจหาเชื้อได้อย่างกว้างขวาง หลายประเทศจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับปิดเมืองแทน ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถจัดการรับมือด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากหลายประเทศได้นั้น ศาสตราจารย์ คิม วู-จู (Kim Woo-joo) จาก Korea University Guro Hospital  ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ผู้มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี เคยรับมือกับการระบาดของวัณโรค เอดส์ หัด SARS ไข้หวัดหมู อีโบลา และ MERS มาแล้ว กล่าวกับ Asian Boss ว่า  “เพราะเกาหลี(ใต้) เคยผ่านประสบการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดหมู (swine flu) ในปี 2009 และ MERS ในปี 2015 มาแล้ว ซึ่งเมื่อ 5 ปีก่อน ชาวเกาหลีได้เรียนรู้ถึงการระบาด ด้วยเหตุที่เรามีประสบการณ์มาก่อน เราจึงรู้ว่าการล้างมือและสวมหน้ากากช่วยป้องกันการติดเชื้อได้”   “ช่วงที่ MERS ระบาด เรารู้แล้วว่าเราจำเป็นต้องเร่งพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อและต้องรีบใช้งานโดยเร็วที่สุด ตอนนั้นผมเป็นหัวหน้าทีมงานรับมือเร่งด่วนกับการระบาดของ MERS ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเราก็ระลึกได้ว่า เราไม่อาจพัฒนายาหรือวัคซีนขึ้นได้ทันที แต่เราสามารถผลิตชุดตรวจเชื้อที่ใช้วิธี PCR (polymerase chain reaction -  กระบวนการสังเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอเพิ่มขึ้นเป็นล้านเท่าจากต้นแบบในระยะเวลาอันสั้น) ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เราจึงเน้นไปที่การผลิตชุดตรวจนี้ให้มากและเข้าถึงง่ายที่สุด  “คนไข้คนหนึ่งอาจมีอาการไอและมีไข้  แต่ที่เราต้องการจะรู้ก็คือ เขาติดโควิด-19 รึเปล่า เราจะได้กักตัว รักษา และตรวจสอบว่า เขาเดินทางไปที่ไหน เจอกับใครบ้าง เราจะได้ตรวจคนกลุ่มนั้น และถ้าจำเป็นต้องกักตัวก็ต้องทำ นั่นคือหัวใจของการป้องกัน” สาเหตุที่เกาหลีใต้มีชุดตรวจหาเชื้อให้ใช้ได้อย่างเหลือเฟือนั้น คิมกล่าวว่า  “ตั้งแต่เกิดไข้หวัดหมูระบาดในปี 2015 รัฐบาลเกาหลีได้ลงทุนเป็นจำนวนมากกับการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจ PCR และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น บรรดาบริษัทที่ผลิตชุดตรวจเหล่านี้รู้ว่า พวกเขาสามารถหาเงินได้มากมายเลยจากการขายชุดตรวจ พวกเขาก็ยิ่งเอาเงินไปลงกับการวิจัยและพัฒนา นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นข้อดีอย่างที่สุดของระบบทุนนิยม ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างบริษัทเพื่อแย่งกำไรกัน มันมีแรงผลักดันมาจากเรื่องของการเงิน ความสามารถในการควบคุมโควิด-19 ในแบบเกาหลีใต้ จึงประกอบด้วยประสบการณ์ทำให้รู้ว่า การรอยาหรือวัคซีนที่จะมารักษาโรคระบาดได้นั้นต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาเป็นปี ๆ วิธีการที่ดีกว่าคือการสกัดกั้นการกระจายตัวของโรคตั้งแต่ต้น ทำให้ห่วงโซ่ของการระบาดขาดลง ภาครัฐจึงนำเงินไปลงกับการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อ อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เจ้าหน้าที่สกัดกั้นโรคได้อย่างรวดเร็ว  และชุดตรวจเหล่านี้ก็มีศักยภาพที่จะสร้างรายได้จำนวนมหาศาล บรรดาผู้ผลิตจึงแข่งขันกันพัฒนาและผลิตออกจำหน่าย ทำให้ในการระบาดครั้งนี้เกาหลีใต้มีชุดตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ และยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ (SD Biosensor หนึ่งในผู้ผลิตชุดตรวจของเกาหลีใต้ สามารถผลิตชุดตรวจได้มากถึงวันละ 3.5 แสนชุด และจะเร่งกำลังการผลิตมากขึ้นไปอีก - The Guardian นอกจากนี้ มาตรการการกักตัวและติดตามผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด การกระตุ้นให้ประชาชนรักษาระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชน บวกกับความเข้มงวดในการพิจารณาการเข้าเมือง ก็ทำให้เกาหลีใต้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ค่อย ๆ หล่นลงไปอยู่ในอันดับ 10+ ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ค่อย ๆ ลดลง ขณะที่ผู้หายดีออกจากโรงพยาบาลก็ค่อย ๆ มากขึ้น โดยยังไม่ต้องใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์”