เกียบัน: ตำรวจอวกาศผู้บัญญัติคำศัพท์ไทย “บรรยากาศมาคุ”

เกียบัน: ตำรวจอวกาศผู้บัญญัติคำศัพท์ไทย “บรรยากาศมาคุ”

เกียบัน: ตำรวจอวกาศผู้บัญญัติคำศัพท์ไทย “บรรยากาศมาคุ”

คิดว่าคงมีคนไทยจำนวนมากใช้คำว่า “บรรยากาศมาคุ” เพื่ออธิบายสภาวะตึงเครียดของสถานการณ์ หรือใช้อธิบายความอึมครึมของบรรยากาศ แน่ ๆ

แต่น่าจะมีไม่มากนักที่รู้ว่าที่มาของคำคำนี้ จริง ๆ มาจาก “ตำรวจอวกาศ” ของญี่ปุ่นนี่เอง ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง “ตำรวจอวกาศเกียบัน” (Space Sheriff Gavan: 宇宙刑事ギャバン)

ก่อนอื่น เผื่อมีใครเอะใจว่าทำไมภาษาอังกฤษสะกด Gavan แต่ภาษาไทยดันกลายเป็น “เกียบัน” ไปได้ คือตัว Ga จริง ๆ ในภาษาญี่ปุ่นรวบมาจากเสียง กิ (gi) กับเสียง ยะ (ya) แล้วอ่าน กิยะ แบบรวบคำเร็ว ๆ เลยกลายเป็น “เกีย”

ส่วนตัว v จริง ๆ ในภาษาอังกฤษเป็นเสียงที่ก้ำกึ่งระหว่าง ว และ ฟ (เป็นเสียง Voiced Labiodental Fricative) ซึ่งไม่มีเสียงนี้ในภาษาญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเลยนิยมแทนเสียงนี้แบบเนียน ๆ ด้วยเสียงตัว b ไปเลย เพราะฉะนั้นในภาษาญี่ปุ่น v = b เมื่อเขียน Gavan เลยกลายเป็น “เกียบัน” ไปซะงั้น

สมัยก่อน ภาพยนตร์ตระกูลคนแสดงจริงแนวนี้ ไม่ได้มีแค่ Kamen Rider เท่านั้น แต่มีตระกูล Metal Hero ด้วย คือพวกตำรวจอวกาศ หรือ ตำรวจเหล็ก นั่นเอง ตามที่เคยเขียนไปในคอลัมน์ “สู้ต่อไป จีบัน: ตายแล้วเกิดใหม่ ตำนานแห่งตำรวจเหล็กสุดดรามา” ซึ่งจีบันนี่ยังถือว่าใหม่มากเพราะออกอากาศในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1989-1990 ในขณะที่เกียบันนี่สิของจริงเพราะว่าออกอากาศในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1982-1983 แน่ะ! เกียบันเลยเป็นต้นกำเนิดแห่งภาพยนตร์ตำรวจอวกาศ และเป็นต้นกำเนิดแห่งภาพยนตร์ตระกูล Metal Hero ไปโดยปริยาย

อันที่จริงก่อนปี ค.ศ.1982 นั้น ญี่ปุ่นก็มีภาพยนตร์ตระกูล Ultraman และ Kamen Rider แล้ว แต่ตอนนั้นตลาดยังเติบโตได้อีก ยังต้องการฮีโร่หน้าใหม่ ๆ นอกเหนือจาก Ultraman กับ Kamen Rider จึงมีทีมงานคิดพล็อตใหม่ขึ้นมาให้เป็นแนวตำรวจอวกาศพร้อมดาบเลเซอร์ (อิทธิพลจาก Star Wars) เลยได้ไอเดียใหม่เอี่ยม กลายเป็นพล็อตเรื่องของเกียบันไปเลย

เนื้อเรื่องกล่าวถึงโลกในอนาคตที่มีการติดต่อเดินทางข้ามดวงดาวกันได้แล้ว มี “สมาพันธ์อาชญากรอวกาศมะคู” (ยุคนั้นในไทยแปลว่า “สลัดอวกาศมาคุ” หรือ “จักรวรรดิมาคุ”) ที่มารุกรานโลกมนุษย์ พระเอกของเรา อิชิโจจิ เร็ตสึ ผู้เป็นลูกครึ่งมนุษย์และต่างดาว รับหน้าที่เป็นตำรวจอวกาศเกียบันเพื่อต่อสู้กับพวกมะคูเพื่อพิทักษ์โลก ซึ่งมีความขี้โม้สุดขอบอวกาศมาก

เวลาแปลงร่าง พระเอกจะตะโกนว่า “โจชะกุ (蒸着)” แล้วยานแม่โดลกีรันก็จะส่งชุดเกราะอวกาศมาเป็นอนุภาคแสงเพื่อมาประกอบร่างกับพระเอกของเราให้กลายเป็นเกียบัน (แน่นอนว่าห้ามตะโกนว่า HENSHIN เพราะไม่ใช่ Kamen Rider ไงล่ะ!) โดยการโจชะกุนี้ กินเวลาเพียง 0.05 วินาที! และมีการอธิบายอย่างละเอียดด้วยว่าเนื่องจากเกียบันใช้เวลาแปลงร่างเร็วมากจนสายตามนุษย์มองตามไม่ทัน เอาล่ะ งั้นเรามาดูกันช้า ๆ อีกรอบ! แล้วก็จะสาธิตขั้นตอนการแปลงร่างให้ดูช้า ๆ อีกรอบ คือหากินกันแบบนี้ก็ได้เหรอ?

“สมาพันธ์อาชญากรอวกาศมะคู” นี่เองที่คนไทยนิยมเรียกว่า “มาคุ” เพราะมีลักษณะเด่นคือ เวลาที่ฝั่งผู้ร้ายเริ่มสู้ไม่ได้ ทางสมาพันธ์จะมีการปรับบรรยากาศพิเศษขึ้นมา เป็นบรรยากาศรกร้างเต็มไปด้วยหินแบบภูเขา และท้องฟ้ามืดมิดไปหมด มีเมฆดำปกคลุมน่าอึดอัดมาก ตามเนื้อเรื่องคือจะมีแรงดึงดูดสูงกว่าโลกหลายเท่ามาก และเพิ่มพลังให้ปีศาจมีความสามารถต่าง ๆ พิเศษเพิ่มขึ้นตามแต่ละตอน ในการสร้างบรรยากาศนี้เองในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “มะคู-คูกัง (魔空空間)” ถ้าแปลตรงตัวเป๊ะคือ “บรรยากาศมาร” ประมาณนั้นเอง

แต่ที่คำว่า “มาคุ” มันเกิดฮิตมาก ๆ ตั้งแต่บัดโน้นจนบัดนี้ เพราะว่าช่อง 9 แปลแบบทับศัพท์ไปเลยว่า “บรรยากาศมาคุ” นั่นเอง และคำศัพท์คำใหม่ในภาษาไทยจึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งปี ค.ศ.2019 ก็ยังมีคนใช้คำว่าบรรยากาศมาคุ กันอยู่เลย

จริง ๆ แล้วการสร้างบรรยากาศมาคุนั้นเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ เพราะเป็นการแต่งพล็อตบรรยากาศมาคุเพื่อให้สะดวกในการถ่ายทำเท่านั้นเอง เทคโนโลยีการถ่ายทำสมัยก่อนยังไม่ก้าวหน้า ยังไม่มี CG แบบสมัยนี้ พอทำให้เป็นบรรยากาศมาคุแล้ว ทุกอย่างดำมืดและมีแต่ก้อนหิน ทำให้ถ่ายทำฉากต่อสู้ได้ง่าย ปล่อยท่าไม้ตายได้ง่ายกว่า อีกทั้งทำให้การใช้ดาบเลเซอร์ดูสวยงามขึ้น

นอกจากนี้ ชุดของเกียบันเป็นสีเงินสะท้อนแสงมาก ถ้าถ่ายทำในตึกหรือบ้านเรือนปกติ จะเห็นกล้องเห็นอุปกรณ์และเห็นทีมงานถ่ายทำสะท้อนเข้าไปในเงาของชุดเกียบัน ซึ่งจะทำให้ดูแย่มาก พอทำให้เป็นบรรยากาศมาคุแล้ว ก็ตัดปัญหาภาพสะท้อนบนชุดไปได้ และทำให้เกียบันดูเท่และลึกลับขึ้นอีกเป็นกองเวลาอยู่ในความมืดมากกว่าเวลาอยู่กลางแสงอาทิตย์

ทำไมคนจำนวนมากถึงประทับใจเรื่องเกียบันจนกลายเป็นคำเรียกติดปากในภาษาไทยมาจนทุกวันนี้?

1. บรรยากาศมาคุ - คือเป็นหนังเรื่องแรกที่มีการสร้างบรรยากาศให้น่ากลัว มีคำศัพท์เฉพาะเรียกฉากดังกล่าว และช่อง 9 ก็คิดถูกที่ไม่แปลตรงตัวว่า “บรรยากาศมาร” แต่ทับศัพท์ว่า “บรรยากาศมาคุ” จนกลายเป็นคำศัพท์ในภาษาไทยไปตลอดกาล

2. ดาบเลเซอร์ - เป็นเจ้าแรกแห่ง Super Hero ของเอเชียที่ใช้ดาบเลเซอร์ มันเท่มากกกกก ยิ่งตัดกับความมืดมิดของบรรยากาศมาคุ ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อยากได้ดาบเลเซอร์มาไว้ในครอบครองเลยทีเดียว

3. อาวุธไฮเทค - อาวุธเท่มาก ๆ ๆ โดยเฉพาะยานของเกียบัน ที่ถอดส่วนล่างมาแปลงร่างเป็นมังกรได้ คือเท่แบบ โคตรเท่ เกียบันจะกระโดดไปยืนเต๊ะท่าคอยบัญชาการอยู่บนหัวของหุ่นยนต์มังกรในการต่อสู้ ถือว่าแหวกแนวมากสำหรับดีไซน์หุ่นยนต์ในยุคนั้นที่นิยมเป็นหุ่นรูปร่างคน แต่เรื่องนี้มาเป็นมังกร (นึกถึงมังกรใน Game of Thrones ในร่างที่เป็นหุ่นยนต์ จะนึกออกเลยว่าเท่มาก)

4. เสียงพากย์น้าต๋อย – น้าต๋อยคือปูชนียบุคคลแห่งวงการการ์ตูนและภาพยนตร์ฮีโร่อย่างแท้จริง

5. การอธิบายฉากเปลงร่างอีกรอบ - เป็นพล็อตที่เด็ก ๆ ติดอกติดใจมาก แข่งกันท่องสคริปต์ตามเสียงน้าต๋อยกันใหญ่

ภาพยนตร์ฮีโร่ของญี่ปุ่นหลายเรื่อง อยู่คู่สังคมไทยมานาน และกลายเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมให้เด็ก ๆ รู้จักแยกแยะสิ่งดีและไม่ดีออกจากกัน เกียบันจึงนับเป็นผลงานอมตะของญี่ปุ่นตลอดไป จนมีการเอามาสร้างใหม่เป็นเกียบันคนใหม่ และเชิญเกียบันคนเก่ามาแสดงเป็นรุ่นลุงอีกด้วย