‘สาว สาว สาว’ เกิร์ลกรุ๊ปขบถที่ความเป็นพี่น้องสำคัญกว่าวง

‘สาว สาว สาว’ เกิร์ลกรุ๊ปขบถที่ความเป็นพี่น้องสำคัญกว่าวง

เรื่องราวความรัก ความผูกพัน ของ ‘สาว สาว สาว’ สามสาวจอมขบถที่มารวมตัวกันร้องเพลง เติมเต็มช่องว่างทางการตลาดในสมัยก่อน และกลายเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้

KEY

POINTS

  • กำเนิดวงสาว สาว สาว การรวมตัวของวัยรุ่นสามคนที่ “เกิดกลางวงดนตรี” และใช้ชีวิตร่วมกันมาตั้งแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้
  • การร่วมหัวจมท้ายกันทั้งตอนชื่อเสียงโด่งดังสุดขีด ตอนตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าจะยุบวง และการกลับมารวมตัวกันเฉพาะกิจ 
  • ความประทับใจที่ได้เห็นว่าเพลงของตัวเองยังถูกนำมาร้อง และมีคนทุกวัยเต้นตามอย่างสนุกสนาน 

ย้อนตำนาน ‘สาว สาว สาว’ เกิร์ลกรุ๊ปที่เกิดจากการรวมตัวของสามสาวจอมขบถ ที่ความเป็นพี่น้องสำคัญกว่าวง

แอม – แหม่ม – ปุ้ม เป็นเด็กที่เรียกได้ว่า “เกิดกลางวงดนตรี” พวกเธอคลุกคลีอยู่ในแวดวงอาชีพเสียงเพลงตั้งแต่ลืมตาดูโลก ก่อนจะถูกจับให้มาร้องเพลงด้วยกันเป็น ‘เกิร์ลกรุ๊ป’ ตั้งแต่วันที่ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์คำว่า ‘เกิร์ลกรุ๊ป’

ทั้งสามไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นสาวสวยร้องเพลงเพราะ แต่ออกตัวว่าเป็น ‘เด็กแหกคอก’ ที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับโลกดนตรีในสมัยนั้นด้วยความสดใส ไร้การปรุงแต่ง

นอกจากปรากฏการณ์ ‘ฮิตห้องส่งแตก’ จากการออกรายการ ‘โลกดนตรี’ และการได้รับความรักจากแฟน ๆ อย่างล้นหลามในยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย พวกเธอยังมีผลงานเพลงดังหลายต่อหลายเพลง ที่แฟนเพลงรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ยังร้องตามกันได้จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประตูใจ, เป็นแฟนกันได้ยังไง, ดอกไม้ของน้ำใจ, ภาพฝัน ฯลฯ

โดยเฉพาะ “รักมิใช่ดวงดาวเมื่อพราวแสง ใช่ร้อนแรงดั่งแสงอาทิตย์ส่อง” หรือเพลง ‘รักคือฝันไป’ นั่นเอง

The People ชวนย้อนความทรงจำไปกับสามพี่น้อง แอม – แหม่ม – ปุ้ม ที่ยืนยันว่าแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่ความสัมพันธ์ของพวกเธอไม่มีวันเปลี่ยน ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มกันได้เลย

The People: คำถามแรกอยากให้เล่าจุดเริ่มต้นที่นำทุกคนมาสู่ถนนสายดนตรี

แอม เสาวลักษณ์: ไม่ได้เดินมา เกิดกลางวงเลย (หัวเราะ) ไม่ได้ไปไหนเลย เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นนักร้องนักดนตรี พี่ป้าน้าอา คุณลุงคุณป้า อยู่บ้านเดียวกัน เราไม่ได้เข้าวงการ แต่เราไม่เคยออกไปไหนเลย เราอยู่ในนั้น เกิดมาตรงนั้นแหละค่ะ เกิดตรงนั้นเลย อุแว้เลย

แหม่ม พัชริดา: พี่ปุ้มเป็นลูกพี่ลูกน้องของพี่แอม แม่ของทั้งคู่เป็นพี่น้องกันแท้ ๆ แล้วคุณแม่พี่แอมก็เป็นนักร้องอย่างที่ทุกคนทราบ คุณพ่อก็เป็นนักดนตรี ครอบครัวของพี่แอมกับพี่ปุ้มเนี่ยก็เป็นนักดนตรีกันแทบจะทุกคน ตัวแหม่มเองก็เป็นลูกนักร้อง แล้วแม่เราสองคนก็เป็นเพื่อนสนิทกัน พอเกิดมาเนี่ยมันอยู่ในแวดวงของอาชีพนี้อยู่แล้ว

ส่วนการลีดให้พวกเราเข้ามาสู่วงการเพลงเนี่ย มันก็คือการที่เป็นลูกแม่ เป็นหลานป้า แล้วตอนนั้นคุณระย้า (ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร) เขาอยากได้นักร้องอายุน้อย ๆ วัยรุ่นร้องเพลงดี ๆ ก็มีคนแนะนำมาว่า นี่ไงเม้า (สุดา ชื่นบาน) กับแดง (ฉันทนา กิติยพันธ์) มีลูก แล้วป้าแดงก็บอกว่าเราก็มีหลานที่ร้องเพลงเพราะ ถึงบอกว่าเราเผอิญเกิดตรงนี้ แล้วมันก็เลย lead the way to

The People: อะไรคือจุดที่ทำให้สาว สาว สาว outstanding ออกมา

แอม เสาวลักษณ์: เพราะว่ามันแปลก เพราะว่ามันไม่มี

ปุ้ม อรวรรณ: ช่วงนั้นมันไม่มีนักร้องวัยรุ่นเลย มีแต่รุ่นพี่เราขึ้นไป ไปถึงน้าไปถึงอะไรอย่างนี้ค่ะ แนวเพลงก็มีแค่ลูกทุ่งกับลูกกรุง แล้วก็มีแต่ผู้ชายส่วนใหญ่ แล้วอยู่ดี ๆ พวกเราโผล่มา 3 คน เป็นเด็กวัยรุ่นกะโปโล มันก็เป็นภาพที่แปลก

แอม เสาวลักษณ์: มันไม่มีคำว่าเกิร์ลกรุ๊ปด้วย ตอนนั้นมันไม่มีชื่อเรียก

แหม่ม พัชริดา: แล้วที่แตกต่างน่าจะเป็นเพราะว่า คนอื่นเขาจะเป็นแนวเพลงเพราะ มีเนื้อหาสาระที่สละสลวย แม้แต่วงวัยรุ่นเขาก็จะร้องเพลงแบบนั้น แต่เราเป็นผู้หญิง 3 คนที่ไม่ได้ร้องเพลงที่มันเป็นเพลงอมตะหรือเพลงอะไร อยู่ดี ๆ ก็มาแบบรักมิใช่ คือมันไปโดนความต้องการของวัยเดียวกัน มันโผล่มาตรงช่องว่างนั้นพอดี

ปุ้ม อรวรรณ: ประกอบกับเสื้อผ้าหน้าผมก็ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขา (หัวเราะ)
 

แหม่ม พัชริดา: คือเรา 3 คน มันเป็นความสดใสที่เราเป็นจริง ๆ คือเราไม่ได้เป็นผู้หญิงสาวสวย 3 คนร้องเพลงเพราะ สวย ๆ เหมือนอยู่ดี ๆ เด็ก 3 คน คนหนึ่งแบบซนน่ารักสดใส แต่เป็นแบบคนกล้า อีกคนหนึ่งก็เป็นเหมือนน้องเล็กแต่ก็สนุกสนาน อีกคนหนึ่งก็เป็นคนที่ร้องเพลงเพราะ แต่ก็สามารถดูเหมือนเป็นคนเรียบร้อย 

แอม เสาวลักษณ์: แต่ขบถ ทุกคนขบถหมด

แหม่ม พัชริดา: แหกคอกบ้า ๆ บอ ๆ กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ใช่แต่งตัวเรียบร้อยแล้วก็ออกมายืนร้องเพลงนิ่ง ๆ เท่านั้นเองค่ะ

The People: แสดงว่าเป็นสิ่งที่มีคนมองเห็น แล้วดึงศักยภาพความน่ารักสดใสตรงนี้ออกมา

แหม่ม พัชริดา: ไม่ได้มีการดึงศักยภาพ ตอนนั้นคุณระย้าเป็นเจ้าของรายการรถไฟดนตรี แล้วเขาก็จะทำค่ายเพลง เขาก็อยากได้นักร้องวัยรุ่น เขาเป็นนักจัดรายการวิทยุ เขาคงเห็นว่าช่องว่างตรงนี้มันยังมี เขาก็ถาม ๆ คนที่รู้จักแม่เรา จนรู้จักเรา 

แอม เสาวลักษณ์: แล้วก่อนหน้านั้นเคยออกทีวี

แหม่ม พัชริดา: ใช่ แต่ไม่ใช่ว่าเขามาเห็นเรา แล้วเขาเอาเราไปดึงศักยภาพ เขาก็แค่เอาเราไป แล้วเขาก็ให้เราร้องให้ฟัง แต่พอขึ้นเวที เราก็เป็นของเราแบบนี้ 

แอม เสาวลักษณ์: สมัยนั้นมันไม่ค่อยมีนักร้องที่ประสานเสียงด้วย เต้นด้วย ใส่เสื้อผ้าญี่ปุ่นด้วย มันก็เลยเป็นของแปลกขึ้นมา 

แหม่ม พัชริดา: โชคดีที่คุณระย้าแกไม่ได้เป็นคนมาคิดสร้างสรรค์ให้เราต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แกเลือกเราแล้วแกก็ให้เราร้องเพลง แล้วก็ให้เราอยู่บนเวที เราอยากเต้นก็คือเราอยากเต้น เราอยากแต่งตัวแบบนี้ก็คือแต่งตัวแบบนี้

แอม เสาวลักษณ์: เราไม่มีสไตลิสต์ ไม่มีช่างหน้าช่างผม ปกเทปก็น้าระย้าชวนไปกินข้าวที่บางปู

ปุ้ม อรวรรณ: เสร็จแล้วก็บอกว่ามาถ่ายปกเทปก็แล้วกัน

แหม่ม พัชริดา: แค่บอกว่าให้ใส่เสื้อสีเดียวกันมา เราก็งง

The People: ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมดนตรีในปัจจุบัน จะต้องมีการเซตตั้งแต่ต้นเลย มีการใส่โปรแกรมการตลาดเข้าไป ส่วนนี้พี่ ๆ คิดเห็นอย่างไร 

แหม่ม พัชริดา: ด้วยความที่ยุคปัจจุบันนี้ เราทำงานในวงการในบริษัทที่สร้างศิลปินมาก่อน มันคือระบบ แต่สมัยพวกพี่เกิดแล้วเติบโตมา ในวงการเพลงมันไม่มีระบบ มันเพิ่งมามีระบบเอาตอนแกรมมี่ ซึ่งแกรมมี่เองตอนนั้นที่เปิดขึ้นมา ก็คือหลังจากรถไฟดนตรีประมาณ 5 - 6 ปี แล้วแกรมมี่เป็นผู้ที่ค่อย ๆ สร้างระบบเพลงไทยสากลขึ้นมา หลังจากนั้นทุกบริษัทก็มีระบบการสร้างศิลปินและการวางคอนเซ็ปต์

แอม เสาวลักษณ์: เราเห็นเด็ก ๆ ไปเรียนแล้วน่าสนุกอะ มีไปเรียน Dance ไปอะไรใช่ไหมคะ มีที่ให้เรียน เขาโชคดี ตอนนั้นเราต้องแกะท่าเต้นจากคอนเสิร์ตญี่ปุ่น เพราะเราไม่รู้จะไปดูที่ไหน เพราะว่าแม่ ๆ เราก็ร้องเพลงฝรั่ง ถ้าเราจะไปเอาอย่างฝรั่งมันก็จะไกลตัวมาก ฝรั่งมันจะออกแนวโป๊ ๆ เซ็กซี่ซึ่ งมันไม่ใช่พวกเรา เราก็เลยต้องกระเถิบมาทาง J-Pop  

แหม่ม พัชริดา: ซึ่งก็ไม่ได้มีความคิดจะสร้างคาแรกเตอร์นะคะ มันเหมือนเราดูแล้วตื่นตาตื่นใจ มันไปเองตามธรรมชาติ

แอม เสาวลักษณ์: เราไม่มีอะไรให้เกาะเลยนะ มาลอย ๆ อาจจะเป็นเพราะแบบนี้ ที่ทำให้วงดูลักษณะเหมือนเด็กญี่ปุ่น เพราะว่ามันใกล้เคียงที่สุดแล้ว แล้วก็ดูไม่แก่แดดเกินไป

The People: จุดไหนที่รู้สึกว่าตัวเองดังแล้ว 

แหม่ม พัชริดา: จุดที่ไปไหนแล้วคนรู้จักค่ะ ก่อนหน้านั้นไม่มีใครเรียกชื่อเรา เวลาเราไปเดินไหนก็ไม่มีใครรู้จักเรา มีแต่คนเรียกเราตอนที่เขาเห็นเราเดินตามหลังแม่ว่า โอ้ ลูกสุดาเหรอ อะไรอย่างนี้ ก็เมื่อมีคนเรียกชื่อเรา แหม่ม ๆ แอม ๆ อย่างนี้

แอม เสาวลักษณ์: ที่ตกใจปึ้ง คงเป็นตอนที่โลกดนตรีแตก คือก่อนหน้านั้นเขาก็เปิดรายการมาตั้งเยอะแล้ว ก็ยังไม่เคยมีวงไหนทำห้องส่งเขาพัง มันก็เป็นปรากฏการณ์แรกที่ทำให้เราหันมามองหน้ากัน 

แหม่ม พัชริดา: แล้วก็การที่เราออกจากหลังเวทีไม่ได้ เพราะว่าคนดูไม่กลับ ตอนนั้นคุณแม่ขับรถให้ ต้องอาศัยถึง สห. เพื่อพาเรากลับบ้าน เพราะไม่อย่างนั้นกลัวรถจะแล่นทับเท้าเขา ขอให้นึกภาพว่าพวกเราอยู่ในรถซึ่งเหมือนปลาที่อยู่ในตู้ แวดล้อมด้วยคนที่ตบประตู พี่แอมยิ้มหน่อย อะไรแบบนั้นค่ะ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราสำเหนียกในครั้งแรกว่า เฮ้ย นี่คือดังแล้วใช่ไหม คือถ้าเป็นตอนนี้  ก็จะเป็นแฟนด้อม แต่ว่า ณ ตอนนั้นมียังไม่มีคำว่าแฟนคลับเลย

The People: เคยมีลักษณะมา crazy เราเป็นพิเศษ มารอเราหน้าสตูฯ หรือมามอบดอกไม้ ซื้อของให้ในลักษณะแฟนคลับไหมคะ

แอม เสาวลักษณ์ : ก็มี (หัวเราะ) คือหน้าบ้านพี่จะมีพุ่มต้นเข็ม พอลงจากรถก็เห็นอะไรบางอย่างอยู่ในพุ่มไม้ แล้วก็มีคนกระโดดออกมา ยื่นถุงผัดกะเพราให้ เพราะว่าพี่เคยสัมภาษณ์ว่าพี่ชอบกินผัดกะเพรา คืออีนี่อย่างกับโจร เราก็ตกใจ

‘สาว สาว สาว’ เกิร์ลกรุ๊ปขบถที่ความเป็นพี่น้องสำคัญกว่าวง

The People: แต่ไม่ได้ถึงขั้นรุกล้ำความเป็นส่วนตัว หรือตั้งเป็นกองกำลังพิทักษ์พี่แอม

แอม เสาวลักษณ์: อ๋อ ไม่มี ๆ     

ปุ้ม อรวรรณ: อุ้ย ยุคนั้นการสื่อสารกับคนดูไม่ได้ใกล้ชิดกันขนาดนั้นค่ะ ถ้าจะสื่อสารกับเราคือเขียนจดหมายมาเท่านั้น

แหม่ม พัชริดา: ใช่ โทรศัพท์ยังไม่มีเลย

ปุ้ม อรวรรณ: กว่าเราจะตอบกลับไปก็คือเป็นอาทิตย์ คนดูจะมาเจอเราได้ก็มีที่คอนเสิร์ตเท่านั้นเอง ซึ่งก็แทบจะไม่ได้คุยอะไรกันเลย เพราะว่าพวกเราเล่นเสร็จ เราก็กลับเลย ไม่ได้มีแฟนมีตหลังจากนั้น แล้วสมัยก่อนก็ไม่มีแฟนมีต เพิ่งมามีตอนหลังนี่แหละ เราก็ เอ๊ะ เขามีด้วยเหรอ (หัวเราะ) 

The People: พี่ทั้ง 3 คนมองเรื่องอุตสาหกรรมดนตรีในปัจจุบันอย่างไร เมื่อเทียบกับยุค 80s - 90s 

แหม่ม พัชริดา: พี่ว่าดนตรีมันมีวิวัฒนาการของมันไปตามระบบ ทุกวันนี้คนเข้าถึงการทำเพลงง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเป็นนักดนตรีก็เล่นก็แต่งเพลงได้ เพราะมีคอมพิวเตอร์ มีโปรแกรมต่าง ๆ แต่สมัยก่อน คนที่อยากเป็นนักดนตรีหรืออยากเป็นนักร้อง เขาต้องไปทางนั้น เช่นไปร้องเพลงกลางคืน ไปร้องเพลงตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างพวกเราเนี่ยถือว่าเป็นเด็กที่ชอบร้องเพลง เราก็ร้องของเราในโรงเรียน มันก็โดดเด่นขึ้นมา เช่นถ้าพูดถึงโรงเรียนราชินี ต้องมีพี่แอม ต้องมีพี่เอ๋ พัณนิดา เพราะฉะนั้นวันนี้ ลักษณะของเพลงที่เปลี่ยนไป มันเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการของโลก

แอม เสาวลักษณ์: มันตามเทคโนโลยีด้วยนะคะ

แหม่ม พัชริดา: แต่ตัวคน พี่ว่ามันเหมือนกันแหละ ไอ้คนที่อยากเป็น มันก็จะมีวิถีทางในการเอาตัวเองเข้ามาอยู่ตรงนี้ เช่นถ้าเป็นสมัยก่อน พวกพี่คงทำ YouTube เนาะ ถ้าเราอยากร้องเพลงอะ

แอม เสาวลักษณ์: อืม มันไม่มีไง ไม่ใช่ไม่มี YouTube มันไม่มีความอยากจะเป็นอะไรเลย (หัวเราะ) ไม่รู้เรื่องเลยจริง ๆ

แหม่ม พัชริดา: เมื่อก่อนพวกเราร้องเพราะอยากร้อง ไม่ได้คิดถึงเทปเพลง

แอม เสาวลักษณ์: ไม่ได้รู้ด้วยซ้ำไป จริง ๆ ไม่รู้ว่าจะมีอัลบั้มชุดที่ 2 ด้วยซ้ำไป คิดว่าทีเดียวม้วนเดียวจบ ได้ตังค์ค่าขนม แค่นั้นจบ จนถูกตามไปอัดเสียงอัลบั้ม 2 เราก็เริ่มเงอะงะ เริ่มแบบ อ้าว มีเหรอ

The People: อัลบั้ม 2 ประตูใจ ใช่ไหมคะ ที่เป็นจุดพลิก ดังขึ้นมากกว่าอัลบั้มแรก รักปักใจ 

แหม่ม พัชริดา: ใช่ ประตูใจ รักคือฝันไป

ปุ้ม อรวรรณ: ชุดแรกเหมือนคนยังงง ๆ อยู่ เราเองก็งงด้วย ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม เราก็งง ด้วยความที่ตอนนั้นเราก็เด็กมาก ๆ แต่งตัวอะไรก็ยังไม่เป็น แต่งหน้าก็ไม่เป็น บรรดาคุณแม่ก็จะเป็นฝ่ายจัดหาให้ เสื้อผ้าก็เลยค่อนข้างโตเกินตัว คนก็ยังงงว่า มันจะเอาอย่างไรกันแน่ มันจะเด็กหรือจะผู้ใหญ่ 

แอม เสาวลักษณ์: ลิปสติกก็ของแม่

ปุ้ม อรวรรณ: พอชุด 2 ทางรถไฟดนตรี เขาเริ่มเห็นแล้วว่า เพลงชุดแรกมันโตไป เขาก็มีการปรับลงมาให้มันตรงกับวัยเรา แล้วพอดีว่ามีเพลงประตูใจกับรักคือฝันไป

‘สาว สาว สาว’ เกิร์ลกรุ๊ปขบถที่ความเป็นพี่น้องสำคัญกว่าวง

แหม่ม พัชริดา: ด้วยการเอาคนที่เป็นวัยรุ่นเหมือนกัน  อาศัยความได้เปรียบในการเป็นรายการที่วัยรุ่นฟัง ก็ประกาศหา ใครชอบแต่งเพลงอะไร ส่งเพลงเข้ามา มันก็เลยมีเพลงที่ชื่อรักคือฝันไป ประตูใจ

แอม เสาวลักษณ์: แต่นี่ไม่ได้ฟัง ไม่รู้เรื่องด้วยนะตอนนั้น ก็ไม่ได้เป็นแฟนรายการวิทยุ เรื่องของวันนั้นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่จริง ๆ ผู้ใหญ่คุยกับผู้ใหญ่ เรายังไม่มีวุฒิภาวะใด ๆ ที่จะเป็นสายอะไรได้ทั้งนั้นเลย

ปุ้ม อรวรรณ: เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือไปร้อง

แอม เสาวลักษณ์: ไปร้องเพลงแล้วก็เล่นตู้เกม เมื่อก่อนนี้มันหายากมาก ที่ห้องอัดศรีสยาม ใครร้อง ร้องไป ที่เหลือก็หยอดเหรียญ มันคือเด็กมาก นิยามเด็กในสมัยพี่กับเด็กปัจจุบันนี้มันเป็นคนละคำว่าเด็กกันเลย เด็กสมัยก่อนมันคือเด็กจริง ๆ มันอ๊องจริง ๆ สมมตินับเข้ารายการ 5 4 3 2  ไม่เหมือนเด็กเดี๋ยวนี้ เขามีความพร้อม เขาถูกฝึกมา มีคลาส เขาพร้อมที่จะเป็น Star อยู่แล้ว 5 4 3 2 เขาอาจจะสวยเก๋มาเลย แต่พวกเราเนี่ยมะเทิ่งมาก อะไรวะ

The People: ช่วงที่พี่ ๆ อยู่ในวงการดนตรี ตอนนั้นราว ๆ ปี 2524 จนถึง 2533 ถูกไหมคะ 

ปุ้ม อรวรรณ: ใช่

แหม่ม พัชริดา: เป๊ะมาก

The People: อะไรคือจุดที่ทำให้พวกพี่รู้สึกอิ่มตัว แบบโอเค บ๊ายบาย แยกย้ายไปทำอะไรที่ตัวเองชอบ 

แหม่ม พัชริดา: มันก็ปี 2533 นั่นแหละ มันคือการทำซ้ำ ทำแล้วทำอีก แต่คนเราเนี่ยมันพัฒนาความรู้สึก ความคิดทางอายุของเราจากเด็ก 14 มาจนถึงวันที่อายุ 23 มันเปลี่ยนแน่นอน แต่ทีนี้พอมันอยู่ในจุดของการที่สาว สาว สาวได้รับความนิยมในฐานะที่ร้องเพลงวัยรุ่น มีท่าเต้นน่ารักกุ๊กกิ๊ก มันก็ยังเป็นความรู้สึกว่า สาว สาว สาวต้องเป็นแบบนั้น แต่คนอายุ 20 กว่าเนี่ย บางทีแล้วพวกเราเป็นพวกที่ล้ำในแง่ของที่ว่า เราเป็นนักร้อง เราเป็นนักร้องจริง ๆ เราอยากทำโชว์ เราอยากนะ แต่งตัวเนอะ เราอยากทำอะไรที่มันเป็นโชว์ On Stage คนไม่เข้าใจ              

‘สาว สาว สาว’ เกิร์ลกรุ๊ปขบถที่ความเป็นพี่น้องสำคัญกว่าวง

แอม เสาวลักษณ์: โตขึ้นน่ะค่ะ ตอนที่เราเล็ก ๆ ยังเด็กกันอยู่ การจับมาผสมผสานกันมันง่าย เพราะว่ามันคลีนมาก เอาไงเอากัน แม่สั่งว่าให้ทำอะไรก็ทำ แต่เด็กมันก็ต้องโตขึ้น เหมือนคุณดูแฮร์รี พอตเตอร์ ตั้งแต่เล่ม 1 ไปจนถึงเล่มสุดท้ายเนี่ย คือเด็กมันโตเร็วจริง ๆ แล้วพอมาตอนท้ายมันก็เหมือนประมาณว่า แดเนียล เรดคลิฟฟ์ ไม่อยากใส่แว่นเสกคาถาแล้ว ประมาณนั้น แต่ว่ามันหนีไม่ได้ เพราะมันดังมาจากสิ่งนั้น ใช่ไหมคะ มันเลยเกิดทางตันตรงที่ว่า จะคงเป็นสาว สาว สาวต่อไปได้อย่างไร เพราะมันขัดแย้งกับชีวิตจริงที่โตแล้ว                                                              

ปุ้ม อรวรรณ: คนดูอยากจะฟรีซเราไว้ที่เดิม แต่ว่าเราไม่ได้แล้ว 

แอม เสาวลักษณ์ : เราคือจบฮอกวอตส์

ปุ้ม อรวรรณ: เราก็เลยรู้สึกว่า เราอยากจะพอก่อน อยากจะเติบโตกันแล้ว อยากจะทำในสิ่งที่แต่ละคนชอบกัน เพราะว่าพอโต มันเริ่มมีความเห็นของตัวเองไง 
แอม เสาวลักษณ์: เป็นเอกฉันท์ของเรา 3 คน

แหม่ม พัชริดา: แต่หนูกลับรู้สึกโชคดีนะ ที่เรามีความ…

แอม เสาวลักษณ์: เบื่อพร้อมกัน

แหม่ม พัชริดา: เรามีความขบถในตัว แต่ในการเดินเราก็มีความกล้า เพราะว่าถ้าเราเป็นเด็กที่ดังมาแล้ว แล้วเรายึดติด แล้วเราก็ขอเป็นสาว สาว สาวอยู่นั่น เพราะมันก็โอเค มันอาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาชีวิตของพวกเรา แต่พวกเรากลับคิดเหมือนกันว่า เฮ้ย มันถึงเวลาต้องจบ 

แอม เสาวลักษณ์: แล้วการเรียนก็เริ่มยากขึ้น แล้วมันก็เริ่มหงุดหงิดกับการจัดสรรเวลาที่ไม่ลงตัว เราก็เริ่มหน้าหงิก เราไม่ได้หงิกใส่กันนะ แต่เรา 3 คนหงิกใส่งานที่ต้องไปทำ เพราะเรารู้สึกว่ามันกังวล มันไม่ง่ายแล้ว

แหม่ม พัชริดา: มันไม่ง่ายเลยที่จะทำ 2 อย่าง

แอม เสาวลักษณ์:  โดยเฉพาะที่มันไม่ใช่งานธรรมดาด้วย มันเป็นงานที่ Public ขนาดตอนเราเอ็นทรานซ์ก็ยังถูกจ้องว่าใครเลือกที่ไหน มันจะติดหรือไม่ติด ใครจบช้าจบเร็ว คือ Pressure มันเยอะมาก เราก็เลยแบบว่า     

แหม่ม พัชริดา: เลิกดีกว่า

แอม เสาวลักษณ์: เฮ้ย ไม่ไหวแล้ว พอดีกว่า เพราะว่าเราก็ทำไม่ไหวแล้ว เราโตแล้ว แต่พอเราทำเพลง แม้กระทั่งเพลงที่ดนตรีหนักแน่นขึ้น เนื้อหาโตขึ้น มันก็ขายไม่ดีค่ะ เพราะว่าคนก็แบบ อ๊ะ ทำไมสาว สาว สาวเปลี่ยนไป 

ปุ้ม อรวรรณ: ทำไมเปลี่ยนไป เขาก็อยากให้เราเป็นลูกกวาด น่ารัก 

แอม เสาวลักษณ์: ทำไมมันใส่ขาวดำวะ 

แหม่ม พัชริดา: คือเรียกว่ามาถึงจุดอิ่มตัวจริง ๆ แล้วก็แยกย้ายกัน คือถ้าพูดถึงวงดนตรีจะยุบวงหรือว่าแยกย้ายกัน บางส่วนอาจจะจากกันไม่ค่อยดีเท่าไร ทะเลาะกันหรืออะไรอย่างนี้ แต่ตรงกลุ่มของพี่เนี่ย คือทุกคนเอกฉันท์ว่าอิ่มตัวแล้วก็บ๊ายบายกัน

แอม เสาวลักษณ์: พี่จะบอกให้ทุกคนเห็นภาพง่าย ๆ เลยนะคะ เรา 3 คนโตขึ้นมาด้วยกัน รู้จักกันมาตั้งแต่เกิดเลยมั้ง ตั้งแต่เด็กเลย เพราะว่าอันนี้ (แอม-ปุ้ม) คือแม่เป็นพี่น้องกัน เราใช้ตายายคู่เดียวกันนะคะ อันนี้ (แอม-แหม่ม) คุณแม่เป็นเพื่อนสนิทกันอย่างมาก เพราะฉะนั้นตั้งแต่เด็กเนี่ย เราอยู่ด้วยกันมาตลอดก่อนที่จะมีคำว่าสาว สาว สาว คือเด็ก 3 คนนี้อยู่อย่างนี้ แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็มีคำว่าสาว สาว สาวมาครอบเป็นหลังคาไว้

แหม่ม พัชริดา: แต่เราก็ยังอยู่อย่างนี้

แอม เสาวลักษณ์: แล้วเราก็อยู่อย่างนี้ ทำงานไปด้วยกัน แล้วก็เรียนหนังสือไป อยู่มาวันหนึ่งเอาคำว่าสาว สาว สาวออกไป แต่เด็ก 3 คนก็ยังอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้น บางทีเราก็ไม่ค่อยเก็ตคำถามคนอื่น เพราะเราลืมคิดแทนเขาไป เช่นว่าพวกพี่รู้สึกอย่างไรคะที่ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง เอ๊ะ ก็เจอกันทุกวันนี่หว่า

ปุ้ม อรวรรณ: ถึงเราไม่ได้มีงานอะไรก็จะเจอกันอยู่แล้ว

แอม เสาวลักษณ์: ก็เจอกันตลอด เราไม่เคยเลิกคบกันเลย

แหม่ม พัชริดา : เราน่าจะไม่เหมือนชาวบ้านเขา เพราะคนอื่นเขาเลิกวงเพราะความคิดเห็นไม่เหมือนกัน แต่ของเราเผอิญเราเป็นครอบครัวมาก่อน

แอม เสาวลักษณ์: เอาเป็นว่าเรา 3 คนสำคัญกว่าวง คิดว่าวงมันก็คือแค่ปรากฏการณ์อันหนึ่ง มันมาสวมชีวิตเราช่วงหนึ่ง แล้วมันก็หมดช่วงของมันไป และไอ้ 3 พี่น้องนี่ก็ยังเหมือนเดิมแค่นั้นเอง 

The People: แล้วถ้าพี่ 3 คนขัดแย้งกัน ส่วนใหญ่จะขัดแย้งกันเรื่องอะไร

แอม เสาวลักษณ์: ขี้หมูขี้หมา (หัวเราะ)

ปุ้ม อรวรรณ: เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องกระจุกกระจิก

แอม เสาวลักษณ์: แต่ไม่ค่อยมีโกรธกันข้ามวันข้ามคืน

แหม่ม พัชริดา: คือถ้าเป็นครอบครัวแล้วอะค่ะ เอาง่าย ๆ คิดถึงตัวเอง ถ้าเป็นพี่เป็นน้อง เป็นพ่อเป็นแม่เราเนี่ย ไอ้เรื่องใหญ่ ๆ เรากลับไม่มีปัญหา เพราะว่าเรายอมรับข้อดีข้อเสียของกันและกัน และเราโตมาด้วยกัน เราเห็นแล้วละว่าอันนี้คืออะไร เพราะฉะนั้นเรื่องใหญ่จึงเป็นเรื่องที่เหมือนกับเราตั้งรับ

แอม เสาวลักษณ์: ตกผลึกหมดแล้ว

แหม่ม พัชริดา: เราตั้งรับกันได้หมดแล้วว่าต่อให้ใหญ่กว่านี้ก็ไม่แตก แต่ไอ้เรื่องที่ทำให้ต้องมานั่งเถียงกันก็คือเรื่องกินเรื่องนอนเรื่อง โอ้…

แอม เสาวลักษณ์: แกกินจืด ตะกี้ไม่ใส่พริก อันนี้ทำไมใส่แขนกุดแขนยาว เสื้อกระโปรงสั้นไปไหม เนี่ยคือเป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขางงว่ามันคืออะไร

ปุ้ม อรวรรณ: อะไรของแก (หัวเราะ)

‘สาว สาว สาว’ เกิร์ลกรุ๊ปขบถที่ความเป็นพี่น้องสำคัญกว่าวง

แหม่ม พัชริดา: แล้วก็ไม่ได้มีปัญหาเพื่อมาให้ก่อให้เกิดปัญหากัน แต่เหมือนมีมาเพื่อที่ทำไปทั้งหมดเมื่อกี้ ที่เถียงกันมาแทบตายเนี่ย มันไม่มีอะไรเกิดขึ้น ศูนย์

แอม เสาวลักษณ์: เสร็จปุ๊บ พอแม่มาปุ๊บ เงียบ ทุกคนแตก (หัวเราะ) 

The People: ถ้าอย่างนั้นกล่าวแบบนี้ได้ไหมคะว่า ‘รักไม่ใช่ดวงดาวเมื่อพราวแสงเนี่ย’ คือตัวจุดประกายกลับมาอีกรอบหนึ่งของพี่ 3 คน 

แอม เสาวลักษณ์: ก็น่าจะจากหนัง ‘แฟนฉัน’ เนอะ 

ปุ้ม อรวรรณ: หลังจากที่พวกเราเลิกวงกันไป ก็มีหนัง ‘แฟนฉัน’ มาเป็นการ Remind ว่าเฮ้ย มีพวกเราอยู่นะ แล้วหลังจากนั้นก็มีแฮชแท็ก ‘รักไม่ใช่ดวงดาว’ เราก็รู้สึกว่า มันก็ทำให้เราไม่หายไป ดีใจจัง (หัวเราะ)

The People: เวที Reunion ก็จะต้องร้องเพลงนี้เสมอ

แอม เสาวลักษณ์: ถ้าไม่ร้องคงเช็คเด้ง 

แหม่ม พัชริดา: อันนี้เป็นเรื่องที่เราอะเมซิ่งเหมือนกันนะคะว่า เพลงรักคือฝันไป มันกลายเป็นเพลงที่ทุกคนสนุกกับมัน เด็กบางคนร้องโดยเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือสาว สาว สาว ไม่รู้จักวง บางทีเขามาเห็นพี่แอม เห็นแหม่ม เห็นพี่ปุ้ม อ้าว นี่เพลงพี่เหรอ อย่างนี้ค่ะ

แอม เสาวลักษณ์: พี่เพิ่งเล่นละครมา ละครแฟนฉัน เล่นละครเวทีกับเด็ก ๆ คุณบอยก็ถามเด็ก ๆ รู้ไหมว่าพี่แอมคือใคร คนนี้เขาเป็นเจ้าของเพลง ‘รักคือฝันไป’ นะ ที่พวกเราเต้นกัน เขาเป็น Original นะ ทุกคนแบบ เฮ้! อาจจะนึกว่ายังไม่ตายอีกเหรอ (หัวเราะ) นึกว่าหมดอายุไปแล้วอย่างนี้ มันก็ขำอะ เพลงมันลิงก์ไปถึงเด็กแล้ว แต่เด็กไม่รู้ว่าเพลงของใคร จนกระทั่งมาทำงานด้วยกัน พอเด็ก ๆ รู้ว่าเป็นเพลงพี่แอม มันเสิร์ชเลย แล้วมันก็เห็นเราตอนอุบาทว์มาก รักมิใช่ หน้าก็นิ่ง ๆ ด้วยนะ อะไรสักอย่างหนึ่ง

ปุ้ม อรวรรณ: ดูตอนนี้หลอน ๆ ยังไงก็ไม่รู้ เหมือนเพลงสมัยทุกวันนี้ที่ Cover กันมาหลาย ๆ รุ่น จนเราไม่รู้เลยว่าใครเป็นต้นฉบับ 

The People: ความหมายของเพลงมันเปลี่ยนไหมคะ ในยุคที่เรา 20 กว่า ๆ กับตอนนี้ที่ได้มาร้องอีกครั้ง

แหม่ม พัชริดา: ความหมายไม่เปลี่ยน

แอม เสาวลักษณ์: ไม่เปลี่ยน เพราะว่าเราไม่เคยตีความมันเลย

แหม่ม : แต่เปลี่ยนในความเข้าใจ คือเมื่อก่อนร้องไปแบบนกแก้วนกขุนทองนะ แต่ตอนนี้ทุกวันนี้เกิดมีคำถามกับคนแต่งเพลงคือ พี่วินัย จรัสอาชา หรือสมัยนั้นคุณระย้าตั้งชื่อให้ว่า วินัย วิษณุกร แล้วเราก็งงในความสับสนของเพลง รักไม่ใช่ดวงดาวเมื่อพราวแสง ใช่ร้อนแรงดั่งแสงอาทิตย์ส่อง รักคือดวงจันทร์ อ้าว พี่วินัย ตกลงตอนแต่งนั่นก๊งเหล้าอยู่หรืออะไร ทำไมถึงงง 

ปุ้ม อรวรรณ: นี่ไม่เคยตีความเลย

แอม เสาวลักษณ์: ไม่เคยตีความจนกระทั่งพี่ดี้มาถาม พี่ดี้เข้าใจผิดนึกว่าพี่เป็นคนแต่ง พี่ดี้บอก ไอ้แอม อะไรของเอ็งวะ มึงจะเอาอะไร รักไม่ใช่คืออะไร เอ็งเขียนอะไร หนูไม่ได้เขียน เขาก็เลยรู้เป็นเพลงของพี่วินัย ไม่ใช่พี่ดี้คนเดียว หนูก็สงสัยเหมือนกัน (หัวเราะ)

แหม่ม พัชริดา: แต่พี่วินัย ตอนแต่งเพลงนี้ก็คือวัยรุ่นคนหนึ่งนะคะ แต่พี่ว่ามันเป็นเพลงที่อมตะ ด้วยความที่ หนึ่ง คำมันคล้องจอง แล้วมันง่ายในการพูดถึงอะไรก็ไม่รู้

แอม เสาวลักษณ์: ร้องตามง่าย

ปุ้ม อรวรรณ: เมโลดี้ก็ง่าย ๆ ร้องตามได้ง่าย 

แหม่ม พัชริดา: แต่ด้วยความที่เป็นเด็กก็หักมุมว่า รักไม่ใช่อันนั้น รักไม่ใช่อันนี้นะ แต่รักนั้นคือฝันไป (หัวเราะ)

แอม : เราก็อะไรก็ไม่รู้ เราก็ลาละลาไป

แหม่ม พัชริดา: เอ็นดู

ปุ้ม อรวรรณ: นกแก้ว นกขุนทอง 

แอม เสาวลักษณ์: ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของฟีลมากกว่า เพลงนี้ไม่เน้นลงลึกอะไร

แหม่ม พัชริดา: คือเหมือนเพลงนี้มาปั๊บ เต้นสนุก

แอม เสาวลักษณ์: วางตะเกียบ วางช้อนส้อม 
.
แหม่ม พัชริดา: ไม่เข้าใจเหมือนกันทุกวันนี้ เพลงนี้ขึ้นทุกคนต้องลุกขึ้นเต้น บางทีเต้นแรงกว่าเราอีก 

‘สาว สาว สาว’ เกิร์ลกรุ๊ปขบถที่ความเป็นพี่น้องสำคัญกว่าวง

แอม เสาวลักษณ์: ล่าสุดเพิ่งไปสุราษฎร์มา มีคนดูอายุ 92 แล้วนะคะ 

แหม่ม พัชริดา: เต้นมั้ย

แอม เสาวลักษณ์: เต้นค่ะ 92 แล้วแข็งแรงมาก เดินมาจนข้างหน้าเวทีเลย แล้วก็มาเต้นรักคือฝันไป 

ปุ้ม อรวรรณ: เคยมีเด็กมาตีลังกา จำได้ไหม แล้วเขาก็ร้องได้ด้วย

แหม่ม พัชริดา: มันกลายเป็นเพลงของคนทุกยุคทุกวัย ซึ่งเราก็งง เพราะจริง ๆ ตอนนั้นมันเป็นเพลงของยุคเรา วัยรุ่นที่โตมาด้วยกันจะรู้จักเพลงนี้

แม้สุดท้ายแล้ว เราจะหาคำตอบไม่ได้ว่า เหตุใดเพลงของสาว สาว สาวจึงเป็นอมตะนิรันดร์กาลมาถึงวันนี้ แต่เมื่อได้สัมผัสความรัก ความผูกพันที่เหนียวแน่น ของสามพี่น้อง แอม – ปุ้ม – แหม่ม เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า สาว สาว สาว จะไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำของแฟนเพลงชาวไทย และเพลงของพวกเธอจะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างแน่นอน 

 

เรื่อง : เสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน และพาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม
.
#ThePeople #deep_people #สาว สาว สาว  #รักคือฝันไป #ประตูใจคอนเสิร์ต #แอม_เสาวลักษณ์ #แหม่ม_พัชริดา #ปุ้ม_อรวรรณ