13 ธ.ค. 2567 | 12:22 น.
ซึ่งในแต่ละประเทศต่างก็รังสรรค์ออกมาให้เป็นสถาปัตยกรรมชั้นยอดเพื่อดึงดูดให้เข้ามาเยี่ยมชมในพาวิลเลียนของประเทศตน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในพาวิลเลียนที่ทุกคนต่างให้ความสนใจและตั้งตารอคอยที่จะได้ชมความวิจิตรงดงามของอาคาร และในปี 2568 ประเทศไทยได้มีโอกาสไปร่วมงาน WORLD EXPO 2025 OSAKA, KANSAI, JAPAN ในส่วนของอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ภายใต้ชื่อ “ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน” ได้พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “THAILAND Connecting Lives for Greatest Happiness”สร้างสรรค์ชีวิตเพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ และ Thai-Smile Connecting Happiness World Destination ยิ้มสยามที่ก่อให้เกิดความสุขเป็นเป้าหมายปลายทางของคนทั่วโลก โดยหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยตั้งแต่ ภูมิจากธรรมชาติ ภูมิจากวิถี วัฒนธรรม นวัตกรรม จนถึงภูมิคุ้มกันจากศักยภาพและความพร้อม ด้านสาธารณสุข มาสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อชาวโลกให้เข้าถึงความเป็นไทย
ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร
สำหรับอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ได้รับการจัดให้อยู่ในรูปแบบการก่อสร้างแบบ Type A หมายถึงประเทศที่ได้รับพื้นที่ขนาดใหญ่ มีการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างเอง ทำให้สามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรม ศักยภาพของประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในครั้งนี้ชื่อว่า “ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน” ได้ถูกนำมาใช้เป็น คอนเซ็ปต์หลักในการออกแบบ ซึ่งสถาปนิกที่ออกแบบไทยแลนด์พาวิลเลียนในครั้งนี้ คือ ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร ผู้ถ่ายทอดไทยแลนด์พาวิลเลียนในมุมมองใหม่ที่แตกต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา กล่าวว่า
“เวลาพูดถึงความเป็นไทยในมิติสุขภาพนึกถึงอะไรที่โด่งดังไกลระดับโลก ทุกคนนึกถึง สุขภาพไทย, การนวดไทย และเวลเนส (Wellness) ของไทย ที่มีความโดดเด่นและล้ำหน้ามากๆ ดังนั้นภาพที่เราเห็นเรื่องของเวลเนส (Wellness) คือ ความอ่อนช้อย เราอยากแสดงความอ่อนช้อยถึงความเป็น Medical Hub ของไทยที่พูดถึงเวลเนส (Wellness) ต่างๆ ได้ดี ในแง่ของมิติด้านสถาปัตยกรรมไทย เรานึกถึง “รูปทรงจอมแห” ซึ่งเป็นรูปทรงที่พูดถึงความอ่อนช้อยได้เป็นอย่างดี ในสมัยก่อนสถาปัตยกรรมไทยมักมีรูปทรงจอมแห และใช้เทคนิค “การย่อมุม” มาทำให้เกิดความอ่อนช้อย แต่ในขณะเดียวกัน ความอ่อนช้อย ต้องสามารถตอบสนองกับฟังก์ชั่นการใช้งานของพาวิลเลียนได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ห้องเธียเตอร์, พื้นที่นิทรรศการ หรือแม้กระทั้งพื้นที่ขายสินค้า เป็นต้น ดังนั้นพาวิลเลียนจะต้องออกมาเป็นสถาปัตยกรรมที่ทั้งตอบโจทย์และแสดงออกถึงความเป็นไทยได้ นอกจากนี้ยังได้นำเทคนิคของสถาปัตยกรรมไทยในเรื่อง “ความสมดุลกันระหว่างด้านซ้ายและด้านขวา” มาช่วยแก้ปัญหาขนาดพื้นที่มีความแคบและยาว ซึ่งเราอยากให้พาวิลเลียนเป็นอาคารที่สมดุล ถ้าเราต้องทำอาคารที่สมดุลกัน เราต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 2 เท่า เพื่อจะเห็นอาคารที่สื่อสารถึงความเป็นไทยออกมาได้ เราจึงสร้างอาคารครึ่งเดียว แล้วใช้กระจกสะท้อนภาพ ทำให้เราเห็นอาคารครบส่วนทั้งหมด น่าจะเป็นเทคนิคสถาปัตยกรรมไทยที่เราคิดว่า จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยที่ครบถ้วนครับ”
สำหรับอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในครั้งนี้มีแนวคิดที่จะสะท้อนความเป็นไทยและศักยภาพสาธารณสุขไทยสู่สายตาของนานาชาติในหลากหลายมิติ ผ่านการตีความอัตลักษณ์ของไทย ซึ่งมีทั้งความงดงามและอ่อนช้อยเพื่อสอดแทรกลงไปในอาคาร ด้วยการลดทอนองค์ประกอบของศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณให้ผสานเข้ากับวิธีก่อสร้างสมัยใหม่ เช่น ใช้เทคนิคย่อมุมที่อยู่บนยอดอาคารมณฑป ซึ่งเป็นลักษณะ “ทรงจอมแห” เป็นรูปทรงของหลังคาสโลบลง แล้วยกขึ้นจากพื้น และมีระดับสูงต่ำตามลักษณะการใช้งานของพื้นที่ภายใน เพื่อให้ใช้พลังงานและทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังสอดแทรกลวดลายจักสานของ เฉลว มาประกอบเพื่อแสดงความเชื่อและภูมิปัญญาของคนไทย รวมทั้งการใช้สีสันและรูปแบบวัสดุแบบไทย ๆ ที่มีความละเมียดละเอียดลออ เพื่อสะท้อนภูมิปัญญาด้านวัสดุ งานฝีมืออันประณีต ทำให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสถึงความละเมียดละไมของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่ประยุกต์ใช้กับวัสดุและวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่
ที่มาของอาคารทรงครึ่งจั่วอันโดดเด่น สะดุดตา มาจากความตั้งใจแรกที่ผู้ออกแบบ ได้นำความสมดุลของหน้าจั่ว แบบสถาปัตยกรรมไทยมาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ตั้งอาคาร ซึ่งมีหน้าแคบและลึกยาว จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการลดทอนอาคารให้เหลือเพียงครึ่งจั่วและสร้างผนังกระจกสูงขนาบข้างอาคารยาวตลอดแนว เกิดเป็นเทคนิคภาพสะท้อนทำให้เห็นจั่วของอาคารที่สมบูรณ์น่าประทับใจ ในส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ได้นำ ประติมากรรม “เฉลว” ตัวแทนความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ คู่กับประติมากรรม ช้าง ตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ อายุยืนยาว และสัญลักษณ์แห่งการต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งยังมีมาสคอตนำโชค “น้องภูมิใจ” เป็นเสมือนผู้บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนอย่างอบอุ่น อีกทั้งเชื้อเชิญให้ผู้คนอยากเข้ามาเยี่ยมชมภายในอาคารได้เป็นอย่างดี
เชิญร่วมงาน WORLD EXPO 2025 OSAKA, KANSAI, JAPAN ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ติดตามข่าวสารได้ที่ Website และ Social Media thailandpavilionworldexpo2025