แอมเนสตี้ ประเทศไทย ส่งเสียงถึง ‘แพทองธาร’ ทบทวนท่าทีต่อ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง แม้ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา

แอมเนสตี้ ประเทศไทย ส่งเสียงถึง ‘แพทองธาร’ ทบทวนท่าทีต่อ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง แม้ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ส่งเสียงถึง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี ทบทวนท่าทีต้อนรับ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ระบุแม้เกิดแผ่นดินไหวยังเดินหน้าโจมตีประชาชน

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แสดงความกังวลต่อการที่รัฐบาลไทยเปิดประเทศต้อนรับ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมบิมสเทค (BIMSTEC) ที่กรุงเทพฯ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลกเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องในเมียนมา เพราะการให้พื้นที่กับผู้นำรัฐประหารในเมียนมาเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาคมโลก 

บัญชา ลีลาเกื้อกูล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี  2564 กองทัพเมียนมาได้สังหารประชาชนกว่า 6,000 คน ควบคุมตัวบุคคลโดยพลการกว่า 20,000 คน และได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตตามคำสั่งศาลอีกครั้งหนึ่ง มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 3.5 ล้านคน กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้บันทึกข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ที่ถูกกองทัพควบคุมตัว การโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย และการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งอาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม

ขณะที่ มิน อ่อง หล่าย เดินทางมาที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 เมษายน แอมเนสตี้พบว่าสถานการณ์ในเมียนยังมีการละเมิดเรื่องสิทธิมนุษยชนหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568  จากรายงานของสื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพเมียนมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2,065 ราย และผู้บาดเจ็บกว่า 3,900 คน ซึ่งในแต่ละวันพบจำนวนผู้บาดและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัญหาการสื่อสาร ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าตัวเลขที่แท้จริงจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา

“แอมเนสตี้มีข้อมูลว่า ปัจจุบันกองทัพเมียนมายังเดินหน้าโจมตีทางอากาศและโจมตีรูปแบบอื่นๆ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว รวมถึงพบการขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ที่เป็นทางผ่านที่ตั้งของกลุ่มผู้เห็นต่างจากกองทัพเมียนมา และหลายพื้นที่ประชาชนขาดแคลนน้ำดื่ม อาหาร ที่พักอาศัย ยารักษาโรค และไฟฟ้า ชาวบ้านบางส่วนต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กแทน ในขณะที่คนอีกจำนวนมากต้องอาศัยนอนอยู่ริมถนนโดยใช้เสื่อ ผ้าใบ และกางมุ้งกันยุงหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว”

"การเปิดเวทีระหว่างประเทศให้กับ มิน อ่อง หล่าย ที่มีหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และศาลอาร์เจนตินา ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการเนรเทศและการประหัตประหารชาวโรฮิงญาในเมียนมาและบางส่วนในบังกลาเทศ เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะการประชุมนี้ไม่ใช่เพียงการประชุมระดับภูมิภาค แต่เป็นเวทีที่อาจถูกใช้เพื่อฟอกขาวภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งที่ความเป็นจริงพวกเขายังคงใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตัวเอง  แม้จะมีสถานการณ์แผ่นดินไหวก็ไม่ละเว้นการโจมตีทางอากาศและการโจมตีรูปแบบอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากล"

บัญชา กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลไทยให้พื้นที่ผู้นำกองทัพเมียนมาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้มาร่วมงานการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับประชาคมโลกโดยเฉพาะกับประเทศที่ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน ทำลายกระบวนการยุติธรรมสากลและหลักนิติธรรมระหว่างประเทศโดยรวม และการที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ประเทศไทยจึงมีหน้าที่ต้องปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง  

“ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ต้องเลือกยืนเคียงข้างประชาชนที่ถูกประหัตประหาร การต้อนรับมิน อ่อง หล่าย ที่มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้น ถือเป็นการเพิกเฉยต่อชะตากรรมของประชาชนเมียนมาที่กำลังถูกกดขี่และถูกสังหาร รัฐต่าง ๆ มีหน้าที่ร่วมกันในการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยในอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ รัฐบาลไทยต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าให้ความสำคัญเร่งด่วนกับชีวิตผู้คน และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในเมียนมาจะต้องมาก่อนผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” บัญชา กล่าวทิ้งท้าย

*บิมสเทค คือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation – BIMSTEC) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจาก 7 ประเทศในแถบอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย