‘Speed Watching’ ชีวิตติดสปีดของมนุษย์กดเร่ง เทรนด์ใหม่หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปใน Gen Z

‘Speed Watching’ ชีวิตติดสปีดของมนุษย์กดเร่ง เทรนด์ใหม่หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปใน Gen Z

เมื่อ ‘เวลาเป็นของมีค่า’ คน Gen Z จึงกลายเป็น ‘มนุษย์กดเร่ง’

KEY

POINTS

  • หลังจากที่เหล่าผู้สร้าง ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายของการสร้างคอนเทนต์คว้าใจผู้ชมผ่านระบบสตรีมมิ่งที่ผู้ชมสามารถหยุดชมได้ทุกเมื่อ ล่าสุดเหล่าครีเอเตอร์ยังต้องพบกับความท้าทายใหม่อีกครั้ง เมื่อผู้ชมหันมาสนใจกับการ ‘เร่งสปีดเวลา’ (Speed Watching) ในการชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ในช่วง 4 - 5 ปีหลัง
  • จากการสำรวจของยูทูบในเดือนมิถุนายน 2022 พบว่าผู้ชมส่วนใหญ่ยังคงรับชมคอนเทนต์ในความเร็วปกติ แต่จะมีผู้ชมอีกกลุ่มที่ชื่นชอบเร่งสปีดการรับชมไปเลยแบบไม่หยุดพัก สำหรับสปีดความเร็วที่นิยมกันในยูทูบมากที่สุดจะอยู่ที่ 1.5x, 2x และ 1.25x ตามลำดับ ซึ่งพฤติกรรมจะผันแปรไปตามช่วงเวลา และอุปกรณ์ที่ใช้รับชมอีกด้วย
  • ส่วนการศึกษาล่าสุดของอาจารย์สาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California: UCLA) พบว่าการดูวิดีโอและการบรรยายที่ความเร็ว ‘สองเท่า’ ของความเร็วจริง ยังทำให้นักศึกษาสามารถจดจำข้อมูลที่เรียนได้เป็นอย่างดีไม่ต่างกับการดูที่ความเร็วปกติ แถมยังช่วยประหยัดเวลาลงไปได้มาก

“ซีรีส์เรื่องนี้สนุกมาก ไม่ต้องกดเร่งสปีดเลย”

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นคอมเมนต์แนวนี้ผ่านตากันอย่างแน่นอน บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็ตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า ตอนนี้เรานิยม ‘กดเร่ง’ หรือ ‘กดข้าม’ กันจนเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ แล้วเหรอ 

หลังจากที่เหล่าผู้สร้าง ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายของการสร้างคอนเทนต์คว้าใจผู้ชมผ่านระบบสตรีมมิ่งที่ผู้ชมสามารถหยุดชมได้ทุกเมื่อ ซึ่งแตกต่างจากการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ที่ผู้ชมไม่สามารถลุกหนีไปไหนได้อย่างในสมัยก่อน ล่าสุดเหล่าครีเอเตอร์ยังต้องพบกับความท้าทายใหม่อีกครั้ง เมื่อผู้ชมหันมาสนใจกับการ ‘เร่งสปีดเวลา’ (Speed Watching) ในการชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ในช่วง 4 - 5 ปีหลัง

จุดกำเนิดของปรากฏการณ์นี้ น่าจะมาจากการที่เน็ตฟลิกซ์ริเริ่มทดลองใช้ฟีเจอร์ ‘สปีด 1.5x’ เมื่อราว ๆ 4 ปีก่อน ก่อนจะเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในปี 2020 จนทำให้ผู้สร้างหนังและผู้กำกับหลายท่านไม่พอใจ อย่าง ‘จัดด์ อะพาโทว์’ (Judd Apatow) ผู้กำกับชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานชื่อดังอย่าง ‘The 40-Year-Old Virgin’ (2005) และ ‘You Don’t Mess with the Zohan’ (2008) ก็ได้ทวีตข้อความต่อสู้กับเน็ตฟลิกซ์ว่า “อย่ามาจุ้นจ้านกับเวลาในหนังของเรา เพราะเราได้ส่งมอบผลงานที่ดีที่สุดออกไปแล้ว”

แม้เหล่าครีเอเตอร์จะออกมาเรียกร้อง รวมไปถึงแฟนหนังรุ่นเก่าที่มองว่า การรับชมแบบเร็ว ๆ เป็นการ ‘ไม่ให้เกียรติ’ ผลงานและเจ้าของผลงาน โดยเฉพาะผลงานคลาสสิกขึ้นหิ้ง เพราะทำให้เสียบรรยากาศเสียอรรถรสแบบดั้งเดิม แต่เอาเข้าจริงกระบวนการที่ว่านี้กลับเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบ เพราะยูทูบ (YouTube) แพลตฟอร์มวิดีโอที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกก็มองเกมขาดมาตั้งแต่ต้น จึงริเริ่มฟีเจอร์ปรับความเร็ววิดีโอขึ้นมาตั้งแต่ปี 2010 แต่ทว่าฟีเจอร์นี้กลับไม่ได้รับความสนใจเลย จนเริ่มมาฮิตติดตลาดในช่วง 4 - 5 ปีให้หลัง ซึ่งพอเทียบดูแล้วก็ตรงกับการที่เน็ตฟลิกซ์เพิ่มฟีเจอร์นี้ขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าวได้แบบพอดิบพอดี

ปรากฏการณ์ 1.5x - 2.0x ฟีเวอร์

ตอนนี้ยูทูบมีฟีเจอร์รองรับการรับชมอยู่ที่ 0.25x, 0.5x, 0.75x, ปกติ (ค่าเริ่มต้น), 1.25x, 1.5x, 1.75x และ 2x ทำให้ผู้ชมสามารถกำหนดความเร็วได้ด้วยตัวเอง ว่าอยากรับชมด้วยความเร็วแบบ ‘ช้าลง’ หรือ ‘ไวขึ้น’

จากการสำรวจของยูทูบเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 พบว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังคงรับชมด้วยความเร็วปกติ แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่ามีผู้ชมกลุ่มหนึ่งเลือกใช้ฟีเจอร์เพิ่มความเร็วอย่างไม่มีหยุดพัก โดยกินเวลามากถึง 85% ของเวลารับชมทั้งหมด หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ คนที่เลือกรับชมด้วยความเร็วแบบเร่งสปีดก็แทบจะไม่ดูคอนเทนต์ในความเร็วปกติเลย 

สำหรับสปีดความเร็วที่นิยมกันมากที่สุดจะอยู่ที่ 1.5x หรือความเร็วกว่าปกติ 1.5 เท่า ต่อด้วย 2x และ 1.25x ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีความเร็วพิเศษแบบ 1.1x ที่มีผู้ชมบางส่วนขอตั้งค่าเอง ราวกับเป็นการขอกระชับเวลาขึ้นมาอีกเพียงเล็กน้อยให้พอสุขใจ 

นอกจากนี้ ‘ช่วงเวลา’ ในแต่ละวันก็มีผลต่อการเร่งความเร็วในการรับชมอีกด้วย เมื่อยูทูบพบว่าผู้ชมส่วนมากมักเร่งสปีดคอนเทนต์ที่รับชมหลังจากพระอาทิตย์ตก โดยเฉพาะช่วงหลังเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป ก่อนความเร็วจะค่อย ๆ ลดลงไปเมื่อถึงยามเช้า แล้ววนลูปมาใช้ความเร็วกันอีกครั้งหลังมื้ออาหารเย็น ซึ่งแน่นอนว่าความเร็วที่ใช้มากที่สุดก็ยังคงเป็น 1.5 เท่า ซึ่งมีการใช้งานสูงสุดระหว่าง 21.00 น. ถึง 01.00 น.

เช่นเดียวกับอุปกรณ์ (Device) ก็มีผลต่อการเร่งสปีดเช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ตโฟนทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS มักใช้ความเร็วในการเล่นอยู่ที่ 1.5 เท่า ส่วนผู้ที่รับชมจากสมาร์ตทีวีมักนิยมใช้ความเร็วปกติ ตามมาด้วยความเร็ว 1.25 เท่า แต่อุปกรณ์ที่เป็นเจ้าของความเร็วที่แท้จริงต้องยกให้กับคอมพิวเตอร์ (PC) ที่ผู้ใช้งานยูทูบมีแนวโน้มที่จะรับชมด้วยความเร็วติดสปีดถึง 2 เท่า​​​​​ 

ถ้าจะนับให้เห็นภาพ ผู้ใช้ยูทูบทั้งหมดที่ใช้ฟีเจอร์นี้ก็สามารถประหยัดเวลาในการชมวิดีโอโดยเฉลี่ยมากกว่า ‘900 ปีต่อวัน’ แต่ก็ดูเหมือนว่าความเร็วที่มีมาให้อาจจะยังไม่ถูกใจนัก เมื่อยูทูบยังคงได้รับข้อความร้องเรียนจากผู้ชมว่าขอให้เพิ่มสปีดการเล่นเป็น 3x, 3.5x และสูงสุดถึง 4x เลยทีเดียว

ต้นกำเนิด ‘ชีวิตติดสปีด’

ก่อนที่จะเกิดคำว่า ‘สปีดวอทชิ่ง’ (Speed Watching) เราเคยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘สกิม วอทชิ่ง’ (Skim Watching) ซึ่งมีความหมายไม่ต่างกับคำว่า ‘สกิมมิ่ง’ (Skimming) ที่แปลว่า การอ่านเร็ว ๆ เพื่อจับใจความสำคัญ Skim Watching จึงหมายถึงการรับชมเนื้อหาด้วยความเร็ว 

ผู้ที่ประกาศตัวเองว่าเป็นผู้ที่ริเริ่มแนวทางนี้ก็คือ ‘อเล็กซานเดอร์ ธีโอฮาริส’ (Alexander Theoharis) นักศึกษากฎหมายในซีแอตเทิลที่เขาได้ให้สัมภาษณ์ผ่านซีแอตเทิล ไทมส์ (Seattle Times) ในปี 2014 ว่า เขาคือคนแรก ๆ ที่เริ่มดูซีรีส์แบบเร่งสปีด โดยเปิดเผยว่าวันหนึ่งเขาบังเอิญกดปุ่มเร่งความเร็วของวิดีโอให้เร็วขึ้น 1.1 เท่า ขณะรับชมซีรีส์เรื่องโปรดของเขาบนวีแอลซี (VLC) แพลต์ฟอร์มฟรีวิดีโอยุคบุกเบิกสัญชาติอเมริกาที่มีต้นกำเนิดเมื่อปี 2001 

จากบทความของ Mashable SEA ที่ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ที่ติดนิสัยการเร่งสปีดวิดีโอเผยว่าหนึ่งในสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้การดูแบบเร่งสปีดนั้นก็เพื่อ ‘ประหยัดเวลา’ ซึ่งมาจากแนวคิดที่ว่า ‘ชีวิตมันสั้นเกินไป’ ที่จะใช้เวลากับอะไรสักอย่างนาน ๆ อย่างเช่น เกมการแข่งขันฟุตบอลที่กินเวลาอย่างน้อยเกือบ 2 ชั่วโมง ซึ่งการเร่งสปีดก็จะทำให้พวกเขาสามารถข้ามตอนไปดูช่วงไฮไลต์ หรือช่วงเวลาทำประตูได้เลย ในขณะที่อีกคนกลับมองว่าการเร่งความเร็วซีรีส์และภาพยนตร์ในเน็ตฟลิกซ์ก็ช่วยให้สามารถ ‘จดจ่อ’ กับเรื่องราวได้ดีกว่าการดูด้วยความเร็วปกติ และช่วยแก้ไขปัญหาอาการของโรคสมาธิสั้นได้ดีทีเดียว 

การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปก็มีผลต่อการกดเร่งความเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบออกกำลังกาย พบว่าเมื่อต้องออกกำลังกายอย่างเช่นการวิ่ง พวกเขาก็จะปรับความเร็วไปตามจังหวะการวิ่ง เพื่อให้จังหวะการรับชมและการวิ่งตรงกัน แม้ใครจะมองพฤติกรรมที่ว่านี้แปลกประหลาด แต่การดูเนื้อหาแบบนี้ทำให้พวกเขาทันกระแส และไม่ตกเทรนด์กับภาพยนตร์และซีรีส์ที่กำลังฮิตในช่วงเวลานั้น

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ‘บรอดพีค’ (Broadpeak) บริษัทผู้ออกแบบวิดีโอสตรีมมิ่งให้กับบริษัทและองค์กรที่พบว่า คน Gen Z (คนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1997 - 2012) นิยมรับชมคอนเทนต์ผ่านเน็ตฟลิกซ์มากกว่าโทรทัศน์แบบดั้งเดิม อีกทั้งพวกเขายังมีความอดทนและมีความมุ่งมั่นน้อยกว่าคนรุ่นก่อน และถ้าเลือกได้ พวกเขามีแนวโน้มที่จะกดเร่งวิดีโอ และเลือกดูเฉพาะ ‘ฉากโปรด’ หรือตอนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเท่านั้น 

สำหรับคอนเทนต์โปรดของคน Gen Z จะเป็น ‘วิดีโอสั้น’ เพราะเป็นคอนเทนต์ที่ทำให้พวกเขาสามารถทำอะไรหลายอย่างได้พร้อมกัน อย่างการสลับไปมาระหว่างหน้าจอของอุปกรณ์ การทำงาน และพูดคุยชิตแชต ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายของแพลตฟอร์มวิดีโอในอนาคตก็คือ การให้ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้นอย่างเช่นที่เราได้เห็นกันแล้วในยูทูบ ไปจนถึงติ๊กต็อก (TikTok) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เน้นคอนเทนต์วิดีโอสั้นเป็นหลัก และที่น่าแปลกใจมากที่สุดจากผลสำรวจนี้ก็คือ คนรุ่นใหม่ยอมรับได้กับโฆษณา ถ้าโฆษณานั้นสอดคล้องกับความสนใจของพวกเขา 

ยุคทองของ TikTok

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ ติ๊กต็อก ได้เข้ามาครองตำแหน่งแพลตฟอร์มวิดีโอที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ด้วยการชูวิดีโอที่มีเนื้อหาสั้นกระชับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก ควบคู่ไปกับฟิลเตอร์สวย ๆ เพลงเพราะ ๆ และฟีเจอร์การบันทึกเสียงของตัวเอง เพื่อให้คน Gen-Z สามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันในฐานะคนเสพก็จะได้คอนเทนต์สดใหม่ที่มีเนื้อหากระชับ และเข้าใจง่าย

แน่นอนว่าหนึ่งในเอกลักษณ์ของติ๊กต็อกก็คือ ‘การพูดเร็ว ๆ’ แบบติดสปีด ที่กลายเป็นความคุ้นชินไปเป็นที่เรียบร้อย โดยความเร็วที่นิยมจะอยู่ที่ 1.75 เท่า ซึ่งไม่ใช่แค่คำพูดที่จะต้องเร็วเท่านั้น หากแต่ลามไปถึง ‘เพลงประกอบ’ ที่มักจะนำเพลงมาทำออกในเวอร์ชันเร็ว (Sped Up) จนเพลงบางเพลงก็สามารถกลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัดก็คือเพลง ‘The First Snow’ ของ ‘EXO’ ในอัลบั้ม ‘Winter Special Album : Miracle in December’ (2013) ซึ่งปกติแล้วเพลงนี้มักเป็นเพลงที่กลับเข้าชาร์ตทุกครั้ง เมื่อถึงฤดูหนาวในเกาหลี เพราะคนกลับมาฟังอยู่เรื่อย ๆ

แต่ในปีที่ผ่านมาเพลงนี้ในเวอร์ชัน Sped Up กลับโด่งดังแบบพลุแตกจากการทำแดนซ์ ชาเลนจ์ (Dance Challenge) ของผู้ใช้อย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งในติ๊กต็อก และรีลส์ (Reels)​ ในอินสตาแกรม (Instagram) ก็สามารถทำให้เพลงนี้กลับมาขึ้นถึงอันดับ 1 ครั้งแรกสมชื่อในชาร์ต Top 100 ของ ‘Melon’ หรือชาร์ตเพลงหลักของเกาหลีได้เป็นผลสำเร็จ โดยแซงหน้าเพลงใหม่ในชาร์ตได้อย่างน่าทึ่ง

ด้วยเหตุนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ความเร็ว’ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ ไม่เฉพาะแค่การเร่งวิดีโอในภาพยนตร์และซีรีส์เท่านั้น แต่ยังส่งต่อไปยังวงการเพลง โดยแฮชแท็ก #spedupsounds มีผู้เข้าชมเกือบ 1 หมื่นล้านครั้งบนติ๊กต็อก การรีมิกซ์เพลงฮิตให้ติดชาร์ตยิ่งขึ้นในเวอร์ชันเร่งสปีดก็ยิ่งเป็นที่นิยม จนตัวศิลปินเองต่างก็สนใจทำเพลงของพวกเขาออกมาในเวอร์ชัน Sped Up อย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน เพื่อให้แฟนคลับได้ร้องเล่นเต้นตาม และนำมาใช้ประกอบกับวิดีโอที่สร้างขึ้น

คนรุ่นใหม่เรียกว่า ‘การบริหารเวลา’

มาถึงตอนนี้ หากลองพิจารณาให้ชัด เทรนด์ Speed Watching ก็กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับหรือไม่ แต่แน่นอนว่าคน Gen-Z ส่วนใหญ่ซึมซับพฤติกรรมนี้จนเคยชิน อันเห็นได้จากสถิติและตัวเลขอ้างอิงที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น

แต่สำหรับใครที่กังวลใจว่าการเสพสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ จะมีผลเสียหรือทำให้ขาดความคิดที่ลึกซึ้งหรือไม่นั้น การศึกษาล่าสุดของอาจารย์สาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California: UCLA) พบว่าการดูวิดีโอและการบรรยายที่ความเร็ว ‘สองเท่า’ ของความเร็วจริง ยังคงทำให้นักศึกษาสามารถจดจำข้อมูลที่เรียนได้เป็นอย่างดีไม่ต่างกับการดูที่ความเร็วปกติ แถมยังช่วยประหยัดเวลาลงไปได้มาก เพราะต้องยอมรับว่าด้วยพฤติกรรมที่คนเราพึ่งพาสมาร์ตโฟนก็เป็นไปได้ยากที่จะจดจ่อกับอะไรนาน ๆ 

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (The National Center for Biotechnology Information) ก็ออกมาเผยเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลาความสนใจโดยเฉลี่ยของแต่ละบุคคลได้ลดลงจาก 12 วินาทีในปี 2000 เหลือ 8 วินาทีในปี 2013 ส่วนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเดนมาร์ก (The Technical University of Denmark) กล่าวเสริมว่าช่วงความสนใจของคนยุคใหม่ที่ลดลงเรื่อย ๆ นั้น เป็นเพราะข้อมูลและคอนเทนต์ที่แลกเปลี่ยนกันมีจำนวนมหาศาล แต่กลับมีเวลาไม่มากพอให้เสพจนครบ จนท้ายที่สุด ผู้คนก็หมดความอดทนในการรับชมด้วยความเร็วปกติ

ในเมื่อทั้งคนรุ่นเก่าและใหม่ล้วนบอกกันว่า ‘เวลาเป็นของมีค่า’ อย่างน้อย ๆ คนที่เลือก ‘รับชมวิดีโอแบบติดสปีด’ ก็จะสามารถรับชมคอนเทนต์ได้มากกว่าคนที่รับชมในความเร็วปกติ แต่สิ่งที่แน่นอน (กว่า) ก็คือ อีกไม่นานเหล่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้นี่แหละที่กำลังเติบโตขึ้น และกลายเป็นผู้มีอำนาจซื้อในอนาคต 

ดังนั้น ถ้าจะมองข้ามเทรนด์นี้ไปก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

 

เรื่อง :  รตินันท์ สินธวะรัตน์
ภาพ : Pexels

อ้างอิง :

Broadpeak. ​​Youth’s Watching Habits : How is GEN Z Consuming Video?

Claire Reilly. Binge-watching Netflix at 1.5x speed is the horror future we deserve

ETX Daily Up. Too Many Favorite Shows? Take Them In at High Speed

Mashable SEA. Does skim-watching videos on 2X speed hurt or help your brain?

Mia Borlongan. The growing trend of ‘speed watching’ among Millennials and Generation Zs

Natalija Ilic. Content on Social Media is Speeding Up But is It a Good Thing?

Patrick Kariuki. Why People Watch YouTube Videos at Faster Playback Speeds

Reid Watson. Need for Speed: How YouTubers watch video using playback speeds.  

Richard Glover. Speed-Watching TV Shows? The Slower the Better for Me