Spirited Away: แอนิเมชันว่าด้วยด้านมืดของบริโภคนิยม ที่ปักหมุด “จิบลิ” ให้รู้จักทั่วโลก

Spirited Away: แอนิเมชันว่าด้วยด้านมืดของบริโภคนิยม ที่ปักหมุด “จิบลิ” ให้รู้จักทั่วโลก
แม้สตูดิโอจิบลิ (Ghibli) จะก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1985 แต่ก็ใช้เวลาพักใหญ่กว่าที่แอนิเมชันจากสตูดิโอแห่งนี้จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างทั่วโลก ซึ่งหนังที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมากจนเกิดเป็นกระแสดังกล่าวได้แก่ Spirited Away (2001)  หนังเรื่องนี้สร้างสถิติหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำรายได้ในญี่ปุ่นสูงสุดตลอดกาล (และยังคงครองสถิตินี้มาตลอด 19 ปี), เป็นหนังออสการ์แอนิเมชันยอดเยี่ยมเรื่องเดียวที่เป็นแบบ 2 มิติใช้มือวาด, เป็นหนังออสการ์แอนิเมชันยอดเยี่ยมเรื่องเดียวที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ เป็นต้น ถึงตอนนี้ Spirited Away ถือเป็นหนังในดวงใจของใครหลายคน และส่งอิทธิพลต่อแอนิเมชันยุคหลังมากมาย  ในไทยนั้น ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะไม่เคยเข้าฉายในโรงหนังเลย อีกทั้งดีวีดีลิขสิทธิ์ก็มีการเผยแพร่หลังหนังฉายมากกว่า 10 ปี แต่ผู้ชมก็ยังคุ้นเคยกับหนังเรื่องนี้ดี ซึ่งเป็นผลมาจากดีวีดีผิดลิขสิทธิ์ และการที่หนังถูกพูดถึงในสื่อต่าง ๆ มากมาย กระทั่งมาถึงตอนนี้ที่เทคโนโลยีสตรีมมิงทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงความบันเทิงได้ง่ายขึ้น Spirited Away จึงมีให้รับชมใน Netflix เกือบทุกประเทศในโลก [caption id="attachment_20438" align="aligncenter" width="1200"] Spirited Away: แอนิเมชันว่าด้วยด้านมืดของบริโภคนิยม ที่ปักหมุด “จิบลิ” ให้รู้จักทั่วโลก พ่อแม่ของจิฮิโระที่กลายร่างเป็นหมู เนื่องจากกินอาหารถวายเทพเจ้า[/caption] Spirited Away เป็นแอนิเมชันแนวแฟนตาซีผสม coming of age ผลงานกำกับของ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) หนังบอกเล่าเรื่องราวของ จิฮิโระ เด็กหญิงวัย 10 ปีที่ย้ายบ้านไปอยู่เมืองอื่นพร้อมกับพ่อแม่ ระหว่างเดินทางพ่อของเธอได้ขับรถหลงทางจนพบกับอุโมงค์ลึกลับ พวกเขาเดินข้ามอุโมงค์จนหลุดไปอยู่ในโลกวิญญาณ พ่อแม่ของจิฮิโระกลายร่างเป็นหมูเนื่องจากกินอาหารถวายเทพเจ้า ส่วนเธอต้องเอาตัวรอดด้วยการทำงานในโรงอาบน้ำซึ่งมีเทพเจ้ามาใช้บริการมากมาย โรงอาบน้ำแห่งนี้มีแม่มดยูบาบะเป็นเจ้าของ จิฮิโระได้เซ็นสัญญาทำงานกับยูบาบะและถูกยึดชื่อไปจนถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เซน’ ที่นั่นเธอถูกมองอย่างดูแคลนด้วยความที่เป็นมนุษย์จนต้องพยายามพิสูจน์ตัวเอง เธอได้รับการช่วยเหลือจากคามาจิ-ชายแก่ผู้ควบคุมเตาต้มน้ำร้อน,  หลิน-หญิงสาวคนงาน และฮาคุ-พ่อมดลูกน้องของยูบาบะซึ่งรู้สึกคุ้นเคยกับเธอ โดยจิฮิโระต้องหาทางพาตัวเองและพ่อแม่กลับไปที่โลกมนุษย์ให้ได้ [caption id="attachment_20437" align="aligncenter" width="1200"] Spirited Away: แอนิเมชันว่าด้วยด้านมืดของบริโภคนิยม ที่ปักหมุด “จิบลิ” ให้รู้จักทั่วโลก ฮายาโอะ มิยาซากิ[/caption] จากโปรเจกต์ที่ไม่ตั้งใจ สู่ผลงานชั้นเยี่ยม Spirited Away เป็นหนังที่มีความซับซ้อนและรุ่มรวยทั้งเนื้อหา ภาพ งานสร้าง ทำให้หลายคนเข้าใจว่ามันถูกวางแผนมาอย่างดีตั้งแต่เริ่มสร้าง แต่ที่จริงหนังเรื่องนี้เริ่มจากความไม่ได้ตั้งใจ และมีการปรับเปลี่ยนกลางคันหลายอย่างกว่าจะออกมาเป็นแบบที่เห็น ก่อนหน้าจะมีโปรเจกต์นี้ มิยาซากิประกาศในเดือนมกราคม ปี 1998 ว่า เขาจะเกษียณตัวเองจากการเป็นผู้กำกับ เนื่องจากตอนนั้นเขาอายุเกือบ 60 ปี แก่เกินกว่าจะทำแอนิเมชันซึ่งเป็นงานที่ใช้พลังงานเยอะ เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมาเขาทำงานหนักติดต่อกันยาวนาน ทั้งการเป็นผู้ก่อตั้ง/ผู้บริหารสตูดิโอจิบลิ (มี อิซาโอะ ทาคาฮาตะ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ) และการกำกับหนังแอนิเมชันแบบติด ๆ กัน อย่าง Nausicaä of the Valley of the Wind, Laputa: Castle in the Sky, My Neighbor Totoro, Kiki's Delivery Service, Porco Rosso, Princess Mononoke มิยาซากิจึงต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาดูแลจิบลิแทน ส่วนเขาจะเปลี่ยนไปทำโปรเจกต์แอนิเมชันส่วนตัวเล็ก ๆ รวมถึงเขียนมังงะและดูแลการสร้างจิบลิมิวเซียม แต่ชีวิตกลับผิดแผน เมื่อ โยชิฟูมิ คอนโด (ผู้กำกับหนังจิบลิเรื่อง Whisper of the Heart) ซึ่งมิยาซากิวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดเกิดเสียชีวิตกะทันหันด้วยโรคหัวใจ ทำให้เขาหวนกลับคืนสู่จิบลิ และเตรียมกำกับหนังเรื่องใหม่อีกครั้ง (หลังจากนั้น มิยาซากิได้ประกาศเกษียณตัวเองอีกหลายครั้ง แต่ก็ยังคงกลับมากำกับหนังเรื่อย ๆ) โดยเขาได้เสนอโปรเจกต์หนังแฟนตาซีที่มีตัวเอกเป็นเด็กผู้หญิงวัย 10 ปี ซึ่งพัฒนาเป็น Spirited Away ในที่สุด ความที่มิยาซากิเป็นผู้กำกับออเตอร์ (auteur) ที่วิสัยทัศน์ในตัวหนังมาจากเขาเป็นหลัก อีกทั้งยังรับผิดชอบหน้าที่หลัก ๆ ด้วยตัวเอง ทั้งกำกับ, เขียนบท, เขียนสตอรีบอร์ด, วาดภาพประกอบหลัก ส่งผลให้ความคืบหน้าของโปรเจกต์ขึ้นอยู่กับเขาเป็นหลัก การที่มิยาซากิมักแก้บทหนังและรื้อภาพประกอบใหม่กลางคัน ส่งผลให้งานสร้างเกิดความล่าช้าในระดับที่หนังกำลังจะฉายอีก 6 เดือน แต่หนังก็ยังหาตอนจบไม่ได้ และซีนหลัก ๆ ของหนังก็ยังไม่ถูกวาด จนจิบลิต้องระดมแอนิเมเตอร์เพิ่มเติมจำนวนมากมาช่วยงานเพื่อให้หนังเสร็จทันเดดไลน์ “ช่วงทำสตอรีบอร์ดหนังเรื่องนี้ ผมมีเพียงเนื้อเรื่องคร่าว ๆ จนกระทั่งโปรดักชันเริ่มแล้ว เนื้อเรื่องก็ยังไม่เสร็จ ยังคงมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามที่มันควรจะเป็น” มิยาซากิกล่าว แล้วพูดถึงกระบวนการสร้างหนังที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอีกว่า “มันไม่ใช่ตัวผมที่เป็นคนสร้างหนัง แต่หนังสร้างตัวของมันเอง และผมไม่มีทางเลือกนอกจากจะทำตามมัน”  จากตอนแรกที่หนังมีแนวโน้มว่าจะออกมาเป็นมหากาพย์โลกวิญญาณความยาว 3 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลให้งบประมาณและเวลาสร้างของหนังบานปลายจากเดิม เขาได้แก้ไขด้วยการเปลี่ยนเนื้อเรื่องให้สั้นลง เรียบง่ายขึ้น และเน้นที่ตัวเอกอย่างจิฮิโระเป็นหลัก โดยตัดซับพลอตตัวละครอื่นออกเกือบหมด จนความยาวหนังเหลือ 2 ชั่วโมงและหนังเสร็จทันเดดไลน์  ตัวหนังที่ออกมานั้นแสดงให้เห็นถึงฝีมือการทำแอนิเมชันในระดับกระบี่มือหนึ่งของมิยาซากิ ทั้งลายเส้นที่สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ โดยเป็นการใช้มือวาดเป็นหลัก (มีการใช้ซีจีช่วยเล็กน้อย), การใช้สีซึ่งเน้นไปที่โทนส้มแดง, การออกแบบตัวละครที่น่าจดจำ, การออกแบบฉาก ซึ่งสถาปัตยกรรมในหนังเป็นการผสมผสานระหว่างญี่ปุ่นโบราณกับสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว (โรงอาบน้ำในหนังได้แรงบันดาลใจจากอาคาร Edo-Tokyo Open Air Architectural Museum) รวมถึงเนื้อเรื่องที่ลึกซึ้งและซับซ้อน Spirited Away เป็นหนังแฟนตาซีเต็มไปด้วยจินตนาการ จึงทำให้มีความเป็นการ์ตูนเด็กที่ดูสนุก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นหนังสำหรับผู้ใหญ่ เพราะมีเนื้อหาและประเด็นที่ซับซ้อน มีหลายเลเยอร์ มีสัญลักษณ์ให้ตีความได้หลากหลาย มันจึงเป็นหนังที่ควรดูมากกว่าหนึ่งรอบหากต้องการเก็บรายละเอียดให้ครบถ้วน  (และหากดูซ้ำในช่วงอายุต่างกันก็อาจตีความหนังแตกต่างกันด้วย) นอกจากนั้น หนังยังมีจังหวะที่ช้าและเรียบนิ่งกว่าแอนิเมชันตะวันตกทั่วไป, มีหลายช่วงที่มีความดาร์ก หม่นเศร้า โหดร้าย น่ากลัว, หนังมีบทสรุปที่ไม่สมหวัง อีกทั้งยังมีหลายปมที่ไม่ถูกคลี่คลาย   หนังประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้ในญี่ปุ่น 229.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (สร้างสถิติหนังที่ทำรายได้สูงสุดในญี่ปุ่นจนถึงตอนนี้) และทำรายได้ทั่วโลก 347 ล้านเหรียญสหรัฐ (ล่าสุดหนังเข้าฉายในจีนในปี  2019 ทำรายได้ไป 69 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อคิดว่าหนังเข้าฉายช้ากว่าที่อื่นไป 18 ปี) หนังคว้ารางวัลหมีทองคำ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเบอร์ลิน และคว้าออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมในปี 2002  ท่ามกลางความยินดีของแฟนหนังจำนวนมากที่แอนิเมชันในดวงใจไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จ ทว่ามิยาซากิกลับไม่ได้ไปร่วมงานออสการ์ โดยให้เหตุผลว่า “ผมไม่อยากไปเยือนประเทศที่ทิ้งระเบิดถล่มอิรัก”  [caption id="attachment_20439" align="aligncenter" width="1200"] Spirited Away: แอนิเมชันว่าด้วยด้านมืดของบริโภคนิยม ที่ปักหมุด “จิบลิ” ให้รู้จักทั่วโลก บรรยากาศในโรงอาบน้ำ[/caption] การเติบโตทางจิตวิญญาณของเด็กหญิง Spirited Away ผสมผสานหนังสองแนวทางที่แตกต่างเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว นั่นคือ ‘หนังแนวแฟนตาซีเหนือจริง’ และ ‘หนังวิเคราะห์จิตวิทยาที่เน้นความสมจริง’ สำหรับความเป็นแฟนตาซีนั้น หนังมีเนื้อเรื่องใกล้เคียงกับวรรณกรรมอย่าง Alice in Wonderland และ The Wizard of Oz ที่เล่าเรื่องของเด็กหญิงที่หลงไปอยู่ในโลกแฟนตาซี โดยเธอต้องผจญภัยเพื่อเอาตัวรอดและหาทางกลับมาโลกใบเดิม  โลกวิญญาณในหนังเรื่องนี้ อ้างอิงจากตำนานความเชื่อของลัทธิชินโตที่ว่าเทพเจ้า (Kami) มีอยู่มากมายและสถิตอยู่แทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ต้นไม้ แมลง รูปปั้น ฯลฯ ส่งผลให้สิ่งต่าง ๆ ล้วนมีค่าและไม่ควรถูกทำลาย ส่วนการที่ฉากหลังเป็นโรงอาบน้ำ มาจากความเชื่อที่ว่าชาวบ้านมักอัญเชิญทวยเทพมาอาบน้ำในบ้านของพวกเขา  แม้จะเต็มไปด้วยองค์ประกอบแฟนตาซี แต่หัวใจของหนังอยู่ที่ประเด็นจิตวิทยาซึ่งเน้นความสมจริงอย่าง ‘การเรียนรู้และการเติบโตทางจิตใจของเด็กหญิงวัย 10 ปี’ เธอต้องรับมือกับปัญหาอุปสรรคด้วยตัวเองโดยไม่มีผู้ปกครองช่วยเหลือ อีกทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้มีความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ และการเสียสละ มิยาซากิได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ตัวละครจิฮิโระจากลูกสาวของเพื่อนซึ่งมาหาเขาที่บ้านทุกซัมเมอร์ “ช่วงเวลานั้นไม่ค่อยมีหนังสำหรับเด็กหญิงวัยแบบเธอสักเท่าไร  ส่วนมังงะสำหรับเด็กผู้หญิง (shōjo manga) ก็เต็มไปด้วยเรื่องรักใคร่หรือเรื่องฉาบฉวย ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการหรือปลาบปลื้มจนถึงขั้นจดจำไว้ในใจ ผมเลยอยากทำหนังที่มีเด็กแบบพวกเธอเป็นฮีโร่ และต้องสมจริงมากพอจนพวกเธอรู้สึกเชื่อมโยงได้”  การที่ตัวเอกในหนังของเขาเป็นเด็กผู้หญิงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหนังเรื่องก่อน ๆ ของเขาอย่าง Nausicaä of the Valley of the Wind, My Neighbor Totoro, Kiki’s Delivery Service ก็มีตัวเอกเป็นเด็กผู้หญิงเช่นกัน ซึ่งความแตกต่างอยู่ที่ Spirited Away โฟกัสไปที่การสำรวจตัวตนของตัวเอกมากกว่าเรื่องอื่น ๆ “หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องราวที่ตัวละครแปรเปลี่ยนเป็นคนใหม่ แต่คือการดึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเธออยู่แล้วออกมาเมื่อสถานการณ์บังคับ” เขากล่าว เสียงวิจารณ์ที่จิฮิโระมักได้รับคือ เธอมีความ ‘บ้าน ๆ’ เกินกว่าจะเป็นตัวเอก ทั้งหน้าตากับนิสัยที่ไม่น่ารัก อีกทั้งไม่มีความสามารถหรือพลังอะไรเป็นพิเศษ “ตอนแรกผมก็หงุดหงิดกับเธอ และคิดว่าจะทำให้เธอน่ารักขึ้นกว่านี้ได้ไหม แต่พอหนังเรื่องนี้ใกล้เสร็จผมก็พบว่าเธอมีเสน่ห์มากพอแล้ว” เขากล่าว “เพื่อให้ผู้ชมที่เป็นเด็กผู้หญิงรู้สึกเชื่อมโยงและอินไปกับจิฮิโระ ผมจึงกำหนดให้เธอมีพฤติกรรมแบบเด็กหญิงอายุ 10 ปีทั่วไป เช่น เวลาที่พ่อแม่เรียกชื่อ เธอจะยังไม่ขานรับจนกว่าจะเรียกเป็นหนที่สองหรือสาม ซึ่งนั่นเป็นพฤติกรรมของเด็กส่วนใหญ่”  [caption id="attachment_20440" align="aligncenter" width="1200"] Spirited Away: แอนิเมชันว่าด้วยด้านมืดของบริโภคนิยม ที่ปักหมุด “จิบลิ” ให้รู้จักทั่วโลก ภูติไร้หน้า[/caption] ตัวตน การทำงาน และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อีกประเด็นที่เห็นได้ชัดในหนังเรื่องนี้คือการทำงานและการเข้าสังคม ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้เห็นในหนังแฟนตาซีสักเท่าไร การที่จิฮิโระจะอยู่ในโลกวิญญาณต่อไปได้โดยไม่เลือนหายไปนั้น เธอจะต้องหางานทำ ผลก็คือจากเด็กที่ใช้ชีวิตสบายและถูกตามใจ เธอถูกผลักให้ต้องออกมาทำงานหนักและยืนด้วยลำแข้งตัวเองโดยไม่มีผู้ปกครองช่วยเหลือ ทำให้เธอต้องปรับปรุงตัวเองใหม่ด้วยการเป็นคนสู้งาน ขยัน เข้มแข็ง มั่นใจ มีวินัย กล้าทำในสิ่งท้าทาย ใช้สติปัญญาแก้ปัญหา ออกไปพบปะผู้คนและช่วยเหลือผู้อื่น  การที่จิฮิโระถูกยึดชื่อเสียงเรียงนามไปก่อนเริ่มทำงาน เป็นการเปรียบเปรยให้เห็นถึงความหมายของการทำงานว่ามันคือการละทิ้งตัวตนและอัตลักษณ์ของแต่ละคน เพื่อกลายเป็นคนงานหนึ่งยูนิตในหน่วยงานนั้น ๆ แต่อีกด้านหนึ่ง เธอก็ถูกย้ำเตือนอยู่บ่อยครั้งว่าอย่าลืมชื่อที่แท้จริงของตัวเอง เป็นการสื่อว่าอย่าปล่อยให้หน่วยงานหรือสังคมชักจูงหรือเข้ามากลืนตัวตนมากเกินไป จนสูญเสียความเป็นตัวเอง  อีกหนึ่งตัวละครที่สื่อถึงประเด็นนี้ก็คือ ภูติไร้หน้า (No Face) ภูติสีดำสวมหน้ากากขาว  มันเป็นตัวละครที่โด่งดังอย่างมาก มักปรากฏในสื่อและสินค้าเมอร์ชานไดซ์ต่าง ๆ อีกทั้งมีคนแต่งตัวคอสเพลย์เลียนแบบมากมาย เสน่ห์ของตัวละครนี้อยู่ที่ความเรียบง่าย แต่ก็แฝงไว้ด้วยความลึกลับ และเปิดโอกาสให้ตีความได้หลากหลาย ช่วงแรกของหนัง ภูติตัวนี้ปรากฏขึ้นในลักษณะภูติขี้อาย พูดไม่ได้ ไม่มีเพื่อน จนกระทั่งจิฮิโระได้หยิบยื่นมิตรภาพให้ แต่ต่อมามันได้พยายามเอาใจคนงานในโรงอาบน้ำด้วยการเสกทองคำและของมีค่าให้ จากนั้นก็ได้ดูดซับพฤติกรรมอุปนิสัยที่เต็มไปด้วยความโลภจากการกลืนกินคนงานเข้าไป ส่งผลให้มันกลายร่างเป็นปีศาจที่น่ากลัว จนจิฮิโระต้องเอายาถอนพิษให้ถึงกลับมาเป็นแบบเดิม สุดท้ายเรื่องราวก็คลี่คลายด้วยการที่ภูติไร้หน้าไปทำงานอยู่ที่กระท่อมของเซนิบะ-แม่มดพี่สาวฝาแฝดของยูบาบะ ซึ่งเงียบสงบและห่างไกลจากความโลภและความวุ่นวาย แตกต่างจากโรงอาบน้ำ ทำให้ภูติไร้หน้าได้ค้นพบอัตลักษณ์ของตัวเอง โดยพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาอาจไม่ใช่เงินทองเหมือนคนอื่น เช่นเดียวกับจิฮิโระที่ไม่สนใจเงินทองแม้จะถูกหยิบยื่นให้ ภูติตัวนี้สะท้อนถึงคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะหาอัตลักษณ์ตัวเองไม่เจอ ไม่มีตัวตนหรือจุดยืน ไม่มีที่มาที่ไป แปลกแยก เข้าสังคมไม่ได้ ข้างในเต็มไปด้วยความว่างเปล่า พร้อมจะไหลไปตามอิทธิพลของคนรอบข้างและกระแสสังคม โดยเป็นตัวละครที่ทำให้ผู้ชมฉุกคิดว่าสิ่งไหนคืออัตลักษณ์หรือความสุขที่แท้จริงของเรา [caption id="attachment_20441" align="aligncenter" width="1200"] Spirited Away: แอนิเมชันว่าด้วยด้านมืดของบริโภคนิยม ที่ปักหมุด “จิบลิ” ให้รู้จักทั่วโลก ยูบาบะ[/caption] การอนุรักษ์ธรรมชาติ และผลเสียของลัทธิบริโภคนิยม อีกประเด็นที่อยู่ในหนังก็คือการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่มักปรากฏในหนังเรื่องก่อน ๆ ของเขาอย่าง Nausicaä of the Valley of the Wind, Princess Mononoke, Ponyo เป็นต้น หนังเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความเจริญและการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วส่งผลให้ธรรมชาติถูกทำลายและโลกเสียสมดุลเป็นอย่างมาก  ความสำคัญของประเด็นนี้ใน Spirited Away เห็นได้จากการที่ 2 ตัวละครสำคัญในเรื่องเป็นเทพเจ้าแม่น้ำ องค์แรกปรากฏตัวในหนังให้เห็นทีแรกในฐานะภูตสกปรกที่เต็มไปด้วยโคลนและมีกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง จนสร้างความอลหม่านในโรงอาบน้ำอย่างมาก แต่เมื่อจิฮิโระได้ช่วยทำความสะอาดจนมีเศษขยะหลุดออกมามากมาย โดยเป็นขยะฝีมือมนุษย์ที่ทับถมในแม่น้ำเป็นเวลานาน เช่น ยางรถยนต์ จักรยาน หม้อหุงข้าว ฯลฯ ภูตดังกล่าวก็ปรากฏโฉมให้เห็นเป็นเทพแห่งแม่น้ำอีกครั้ง  เทพเจ้าแม่น้ำอีกองค์ได้แก่ พระเอกอย่าง ฮาคุ ซึ่งสามารถแปลงร่างเป็นมังกรได้ เขามีความคุ้นเคยกับจิฮิโระและคอยช่วยเหลือเธอตอนอยู่ในโลกวิญญาณ หนังเปิดเผยในช่วงท้ายว่าที่จริงเขาคือเทพแห่งแม่น้ำโคฮาคุ ซึ่งตอนนี้ไม่มีอยู่แล้วเพราะถูกถมที่เพื่อสร้างเป็นอพาร์ตเมนต์ โดยความรู้สึกคุ้นเคยมาจากการที่ฮาคุเคยช่วยชีวิตเธอในตอนเด็กเมื่อตกลงไปในแม่น้ำ  ชะตากรรมของฮาคุสะท้อนถึงชะตากรรมของธรรมชาติที่ถูกทำลายและถูกกระทำย่ำยี ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างฮาคุกับจิฮิโระก็ไม่ได้ออกมาในรูปแบบความรักโรแมนติกชายหญิง แต่เป็นความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลช่วยเหลือพึ่งพากัน สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หนังยังแสดงให้เห็นถึงด้านมืดของลัทธิบริโภคนิยมในญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเกิดความละโมบและต้องการครอบครองทุกอย่างแบบล้นเกิน อีกทั้งยังเห็นว่าเงินทองเป็นพระเจ้าและคิดว่าใช้มันซื้อได้ทุกอย่าง เห็นได้จากพ่อแม่ของจิฮิโระที่กินอาหารเทพเจ้า โดยคิดว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาต และคิดว่าการใช้เงินสดหรือเครดิตการ์ดจ่ายค่าอาหารจะช่วยเคลียร์เรื่องนี้ได้ แต่ภายหลังพวกเขาก็กลายร่างเป็นหมู สื่อถึงความตะกละที่ไม่มีสิ้นสุด  ความโลภยังปรากฏให้เห็นในเหล่าตัวละครในโรงอาบน้ำ จะเห็นได้ว่าโรงอาบน้ำนั้นมีขนาดใหญ่โตหรูหรา เช่นเดียวกับห้องพักของยูบาบะที่อยู่ด้านบนของตึกซึ่งหรูหราและเต็มไปด้วยของมีค่า สถานที่ดังกล่าวนั้นจะเห็นได้ว่าเต็มไปด้วยความวุ่นวายและอาจไม่ใช่หนทางความสุขที่แท้จริง หนังแสดงให้เห็นถึงชีวิตอีกเส้นทางหนึ่งผ่านตัวละครแม่มดพี่สาวฝาแฝดของยูบาบะอย่าง เซนิบะ ที่อาศัยอยู่ในกระท่อมเล็ก ๆ สุดเรียบง่ายในป่าอันมีความสงบแตกต่างจากโรงอาบน้ำ สื่อเป็นนัยว่าชีวิตภายใต้ลัทธิทุนนิยมหรือบริโภคนิยมไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดไว้เพียงเส้นทางเดียว จากที่กล่าวมาทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า หนังที่หน้าหนังดูเหมือนเป็นแนวผจญภัยหวือหวาที่พาผู้ชมหลบหนีไปจากโลกความจริงเรื่องนี้ กลับกลายเป็นหนังที่ชักชวนให้ผู้ชมย้อนกลับไปสำรวจโลกแห่งความเป็นจริง และสำรวจตัวตนของตัวเองว่าที่จริงเราเป็นใครและต้องการอะไรกันแน่   อ้างอิง: ข้อมูลบางส่วนนำมาจากหนังสือ ‘Miyazakiworld: A Life in Art’ โดยซูซาน เนเปียร์ (2018, Yale University Press)