‘อดุลย์ สามอ่อน’ นักเตะทีมหมูป่าที่ต่างชาติยอมรับ สู่นักเรียนเตรียมแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา

‘อดุลย์ สามอ่อน’ นักเตะทีมหมูป่าที่ต่างชาติยอมรับ สู่นักเรียนเตรียมแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา

อัปเดตชีวิตของ ‘อดุลย์ สามอ่อน’ นักเตะทีมหมูป่าเพียงคนเดียวที่ตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษกลางถ้ำจนต่างชาติยอมรับ สู่นักเตะโรงเรียนและกำลังจะเข้าเรียนเตรียมแพทย์ในฤดูใบไม้ร่วงนี้

  • อดุลย์ สามอ่อน คือ นักเตะทีมหมูป่าที่ตอบคำถามนักดำน้ำชาวอังกฤษได้ในวันที่พวกเขากำลังรอความช่วยเหลือในถ้ำขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2561
  • หลังจากนั้น เขาได้รับโอกาสไปเรียนภาษาเพิ่มและศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเดอะมาสเตอร์ สคูลที่สหรัฐอเมริกา
  • วันนี้ เขาเรียนจบและเตรียมเข้าสู่หลักสูตรเตรียมแพทย์เพื่อสานฝันการทำงานใน UN

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จัก ‘นักฟุตบอลทีมหมูป่า’ ที่ติดอยู่ในถ้ำขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เป็นเวลา 221 ชั่วโมง หรือ 17 วัน 

เหตุผลที่คนทั้งโลกฉายสปอตไลต์มาที่จังหวัดเชียงรายของไทย เพราะเหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นปฏิบัติการที่ยากและซับซ้อน เพราะต้องสู้กับฟ้าฝนที่ทำให้ปริมาณน้ำสูงขึ้น รวมถึงทางที่คดเคี้ยวและซับซ้อนภายในถ้ำ ณ เวลานั้น ประเทศไทยจึงประสานงานนักดำน้ำที่เก่งที่สุดในโลกเข้าร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือ เพื่อช่วยเด็ก ๆ และโค้ชออกมาข้างนอกได้อย่างปลอดภัย 

หากยังจำได้ ระหว่างปฏิบัติการช่วยเหลือ คนที่โดดเด่นออกมาจากเพื่อน ๆ นักเตะที่วัยไล่เลี่ยกัน คือ ‘อดุลย์ สามอ่อน’ วัย 15 ปี เป็นเพียงสมาชิกเพียงคนเดียวที่สามารถตอบคำถาม ‘ริชาร์ด สแตนตัน’ และ ‘จอห์น โวลันเธน’ ทีมนักประดาน้ำชาวอังกฤษทั้งสองคนที่เข้าไปเจอพวกเขากลุ่มแรกได้ว่า พวกเขามาทั้งหมด 13 คน และต้องการความช่วยเหลือ

แต่วันนี้ เขาเป็นเด็กนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษาแบบหมาด ๆ จากโรงเรียน เดอะ มาสเตอร์ส สคูล (The Masters School) รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเตรียมสานฝันการเป็นแพทย์ของเขาด้วยการวางแผนและรับทุนสาขา ‘พรีเมดิคัล’ หรือหลักสูตรการศึกษาก่อนเข้าแพทยศาสตร์ที่วิทยาลัยมิดเดิลเบอรี สหรัฐอเมริกา

กว่าจะมาถึงวันนี้ อดุลย์ผ่านอะไรมาบ้าง ชวนทุกคนย้อนดูเส้นทางตลอด 5 ปีของเขาที่เริ่มต้นจากเด็กไร้สัญชาติที่มากความสามารถ การใช้ชีวิตในต่างแดน และฝันการเป็นแพทย์เพื่อรักษาผู้คนรอบตัว

เด็กไร้สัญชาติที่พูดได้หลายภาษา

จริง ๆ แล้ว อดุลย์คือเด็กที่เกิดในไทย แต่ขาดการรับรองการเกิด ทำให้เขากลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ แต่ก็มีรายงานข่าวจากคุณครู หลังจากที่อดุลย์ออกจากถ้ำมาได้ไม่นานว่า เด็กคนนี้เป็นเด็กที่มีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตัวเอง รวมถึงยังเป็นเด็กเรียนดี ชอบทำกิจกรรม และสามารถสื่อสารได้หลายภาษา คือ ภาษาไทย พม่า อังกฤษ และจีน

นอกจากนี้ คุณครูของโรงเรียนบ้านเวียงพาน โรงเรียนที่อดุลย์เรียนอยู่ตอนนั้น บอกว่า ปัญหาที่อดุลย์ยังไม่ได้สัญชาติ อาจจะเป็นเพราะขั้นตอนการพิจารณาที่จะต้องดูคุณสมบัติของเด็กคนนั้น แม้โรงเรียนจะส่งชื่อเขาไปทุกปีแล้วก็ตาม 

แต่สุดท้าย อดุลย์ก็ได้รับสัญชาติสำเร็จ อีกทั้งการแสดงความสามารถในการตอบคำถามนักดำน้ำชาวอังกฤษในวันที่เขายังติดอยู่ในถ้ำก็ทำให้อดุลย์ได้รับทุนการศึกษาจากมิดเดิลเบอรี (Middlebury College) ในรัฐเวอร์มอนด์ สหรัฐอเมริกา 

เพื่อไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม และยังได้รับทุนจาก เดอะ มาสเตอร์ส สคูล (The Masters School) สำหรับเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเช่นกัน

 

ชีวิตต่างแดนครั้งแรก 

“ตอนที่ผมมาอยู่ที่นี่แรก ๆ ผมไม่มั่นใจและเป็นคนขี้อาย แต่ครอบครัวนี้ทำให้ผมมั่นใจมากขึ้น เพราะเรากินข้าวเย็นด้วยกัน แล้วพูดคุยกันตลอด”

คือคำบอกเล่าของอดุลย์ผ่านรายงานพิเศษของรายการโทรทัศน์ช่องทาวเวอร์ บรอดคาสต์ นิวส์ (Tower Broadcast News) ในปี 2563 ที่เล่าเรื่องชีวิตของอดุลย์ หลังเข้ามาเรียนที่สหรัฐอเมริกาได้ไม่นาน

อดุลย์ในสายตาของ แลน สไตน์ (Lan Stein) ลูกชายคนเดียวของบ้านสไตน์ อดุลย์เป็นเพื่อนที่เขาสนิทคนหนึ่ง บางครั้งก็ออกไปเล่นกีฬาด้วยกัน ออกกำลังกาย ไปยิมหรือเรียนวิชาเดียวกัน 

ด้วยความอบอุ่นของครอบครัวนี้ ทำให้เขาไม่เหงา และอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้อย่างมีความสุข

“อาจมีช่วงเวลาที่เขาต้องเจอกับความยากลำบาก แต่เขาก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี” แอนดรูว์ สไตน์ อธิบายลักษณะของอดุลย์ไว้แบบนั้น

 

นักฟุตบอลโรงเรียน

หลังจากอดุลย์เข้ามาเรียนที่เดอะ มาสเตอร์ส สคูล เขาได้รับโอกาสเข้าร่วมเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลก ทำให้การลงเล่นฤดูกาลแรกของเขาต้องเลื่อนออกไป แล้วในปี 2565 เขาจึงลงเล่นอีกครั้งในฐานะกัปตันร่วม 

“อดุลย์เป็นตัวเต็งสำหรับการเป็นกัปตันปีนี้ แม้จะเป็นปีแรกของเขาในสนามก็ตาม แต่เขาเป็นคนฉลาด ขยัน และตั้งใจจริง” เนียล แจ็คเกอร์นอท (Niel Jaggernauth) ผู้ช่วยโค้ชทีมฟุตบอลของโรงเรียนอธิบายไว้

แล้วทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดีตามที่โค้ชบอก เพราะกัปตันอดุลย์พาทีมคว้าแชมป์จากการแข่งขันสมาคมโรงเรียนเอกชนของนิวยอร์กได้สำเร็จ อดุลย์ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารของโรงเรียนว่า ตอนที่ได้แชมป์ เขาคิดไม่ถึงเลย เพราะสำหรับเขา เป้าหมายของการมาอยู่ที่นิวยอร์กคือการมาเรียนเพื่อเปิดประสบการณ์ ไม่ได้มาคว้าแชมป์

ในบทสัมภาษณ์เดียวกัน อดุลย์ยังบอกอีกว่า “เมื่อไหร่ที่คุณเล่นฟุตบอล คุณจะต้องมั่นใจที่จะโชว์ศักยภาพการเล่นของตัวเอง เพื่อให้เพื่อนร่วมทีมไว้ใจมากพอที่จะส่งบอลให้คุณ”

 

อยากเป็นหมอ 

แม้จะชอบเล่นฟุตบอลจนได้เป็นกัปตันทีมฟุตบอลของโรงเรียน แต่ความฝันของอดุลย์คือการเป็นหมอ เพื่อดูแลสุขภาพของครอบครัวในอนาคต

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 เดอะ มาสเตอร์ส สคูล โพสต์คลิปและเผยว่า อดุลย์เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนแล้ว ทั้งยังมีรายงานข่าวออกมาด้วยว่า ริค สแตนตัน หนึ่งในนักดำน้ำชาวอังกฤษที่ช่วยเหลืออดุลย์มาร่วมงานด้วย

รวมถึงอดุลย์ยังเล่าให้สำนักข่าวบีบีซีไทยฟังช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมาว่า เขาได้รับทุนศึกษาต่อสาขาพรีเมดิคัล หรือหลักสูตรการศึกษาก่อนเข้าแพทยศาสตร์ของวิทยาลัยมิดเดิลเบอรี แล้วจะเริ่มเรียนภาคการศึกษาแรกในฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึง

เหตุผลหลัก คือ ตอนเด็กอดุลย์เป็นเด็กป่วยง่าย ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ ดังนั้น เมื่อโอกาสมาถึง เขาจึงวางแผนเรียนต่อสานฝันการเป็นหมอเพื่อพ่อแม่และตัวเอง

ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ คือ “ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากทำงานยูเอ็น (สหประชาชาติ) อยากไปช่วยคนในหลาย ๆ ที่ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ คือการเป็นหมอ ไปช่วยคนด้วยการรักษาเขา”

แม้อดุลย์จะยังไม่ได้สวมชุดกาวน์อย่างที่ตั้งใจ เพราะต้องรอเวลาสำหรับการฝึกฝนความชำนาญ แต่เราเชื่อว่า ความสามารถและความตั้งใจของอดุลย์จะผลักดันให้เขาเป็นหมอที่จะช่วยเหลือทุกคนด้วยใจจริง 

แล้ววันหนึ่งจากคนที่เคยถูกช่วยเหลืออาจกลายเป็นคนที่มอบความช่วยเหลือให้ผู้อื่นก็ได้ เพราะอดุลย์อาจเป็นคนนั้น

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ภาพ : อดุลย์ สามอ่อน จาก Getty Images

อ้างอิง

BBC Thai

USA TODAY

The Thaiger

youtube

issuu