‘มัทรี’ ของศรีดาวเรือง กับการท้าทายบทบาทของความเป็นผู้หญิงในสังคม

‘มัทรี’ ของศรีดาวเรือง กับการท้าทายบทบาทของความเป็นผู้หญิงในสังคม
“จิตใจฉันไม่ยินดียินร้ายแล้วคุณตำรวจ ร่างกายคนเราเกิดมามันไม่ใช่ของเราอย่างที่พระท่านเทศน์...เกิดแล้วเดี๋ยวก็ตาย...ลูกนี่ก็ไม่ใช่ของชั้น…” “ชั้นจะบวชชี พอกันทีลูกผัว ชั้นตัดได้จริง ๆ นะคะหมวดก็เห็น...ขนาดลูก...ชั้นยังตัดได้” บทสนทนาข้างต้นมาจากเรื่องสั้น ‘มัทรี’ ของศรีดาวเรือง เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของหญิงสาวอายุ 19 ปีที่มีลูกสามคน สามีก็ทิ้งเธอและลูกไปอยู่กับหญิงคนใหม่ เธอไม่ต้องการจะเลี้ยงลูกทั้งสามคนนี้ และประกาศยกลูกให้คนอื่น แต่ก็ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งเธอตัดสินใจทิ้งลูกไว้ที่ป้ายรถเมล์ ตำรวจจับได้จึงพาเธอไปที่โรงพักและพยายามเกลี้ยกล่อมให้เธอรับลูกทั้งสามคนไปเลี้ยง แต่เธอก็ยืนกรานปฏิเสธอย่างเดียว ฟังดูเผิน ๆ เรื่องนี้อาจไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของเด็กสาวใจแตกที่มีลูกสามคนตั้งแต่อายุ 19 และไม่อยากเลี้ยงดู ไม่อยากรับผิดชอบ มันเป็นเรื่องที่เราสามารถเห็นได้ตามข่าวในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ หรือตามชาแนลข่าวในยูทูบทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพในทุกวัน แน่นอนเราเห็นมันทุกวัน และเราก็ตัดสินเรื่องแบบนี้ได้อย่างรวดเร็วในทุกๆ ครั้งด้วย เราแทบไม่มีคำถามอะไรจากเรื่องนี้เลย ในบทความ ‘วรรณาคดีของศรีดาวเรือง’ ของ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ กล่าวถึงศรีดาวเรืองเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “ศรีดาวเรืองเป็นนักเขียนสตรีที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ถูกมองข้ามและได้รับการประเมินค่าโดยวงการวรรณกรรมศึกษาในเมืองไทยไว้ต่ำเกินจริงอย่างไม่น่าให้อภัย” คำกล่าวอ้างของชูศักดิ์นั้นไม่เกินเลยความเป็นจริงแต่อย่างใด เพราะศรีดาวเรืองคือนักเขียนที่ได้รับการประเมินค่าต่ำเกินจริงอย่างมาก แม้จะมีผลงานวรรณกรรมมากมาย แต่แวดวงวรรณกรรมศึกษาในสังคมไทยกลับให้ความสนใจผลงานของศรีดาวเรืองน้อยมาก แต่สำหรับนักวิชาการในโลกที่หนึ่ง ผลงานของศรีดาวเรืองนั้นอยู่ในระดับสั่นสะเทือน สร้างความสนใจให้กับแวดวงวรรณกรรมศึกษาไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของผู้หญิง ศรีดาวเรืองไม่เคยกล่าวอ้างว่าเธอคือนักสตรีนิยมไม่ว่าจะเป็นสายใด ๆ ในโลกนี้ก็ตาม แต่ผลงานของเธอนั้นไม่เพียงแต่นำเสนอมุมมองของความเป็นผู้หญิงในแง่มุมที่เราไม่อาจฉุกคิดได้ แต่มันยังตั้งคำถามอย่างถึงรากกับสถานะและการดำรงอยู่ของความเป็นผู้หญิงในสังคมอีกด้วย เช่นในเรื่อง ‘มัทรี’ ที่นำเอามาเสนอในวันนี้ เรื่องสั้นเรื่องนี้ตบหน้าสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ตลอดจนนักศีลธรรมทั้งหลายที่อยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า ‘ปิตาธิปไตย’ โดยที่ศรีดาวเรืองไม่ต้องหล่นศัพท์แสงยาก ๆ ในเชิงทฤษฎีสตรีนิยมเลยแม้แต่คำเดียว... เรื่องราวในเรื่องสั้นชิ้นนี้เป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่ตรงประเด็น ไม่ต้องใช้การบรรยายและฉากให้มากความ มีแค่การสนทนาบนโรงพักเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว การสนทนาที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นระหว่างตำรวจกับหญิงสาวนั้นแสดงให้เห็นความแตกต่างของสถานะทางสังคมอย่างชัดเจน นั่นคือ คนหนึ่งเป็นตำรวจ มีอำนาจตามกฎหมาย เป็นผู้ควบคุมกฎหมาย และเป็นผู้ชาย ส่วนอีกฝ่ายอยู่ในชนชั้นล่างของสังคม อายุน้อยกว่า และเป็นผู้หญิง ตลอดการสนทนา ฝ่ายตำรวจพยายามโน้มน้าว ข่มขู่ ด่าว่า และสั่งสอนในเชิงศีลธรรมให้หญิงสาวรับผิดชอบกับหน้าที่ของ ‘ความเป็นแม่’ “ถ้าไม่ต้องการลูกแล้วมีขึ้นมาทำไม ขอโทษนะ...หมามันยังรักลูกของมันเลย” เรามักได้ยินได้ฟังคำกล่าวอ้างเช่นนี้มาใช้ในการสั่งสอนบรรดาผู้หญิงที่ไม่อยากเลี้ยงลูกอยู่เสมอ นั่นเป็นเพราะในมโนสำนึกของเรามีประโยคที่ย้ำเตือนกับเราเสมอในทำนองว่า “ผู้หญิง (ที่มีลูก) นั้นต้องมีหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูก ดูแลลูก เอาใจใส่ลูก ลูกคือชีวิตของแม่” อันที่จริงแล้วประโยคนี้หรือแนวคิดเช่นนี้ไม่ได้มีอะไรผิดในตัวมันเองเลย ทุกอย่างถูกต้อง เพียงแต่เราไม่เคยคิดว่ามีอะไรบางอย่างที่หายไปอย่างจงใจ สิ่งที่หายไปคือ ‘ผู้ชาย’ ภาระของครอบครัวในการเลี้ยงดูลูกตกอยู่กับผู้หญิงเสมอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผู้หญิงต้องเป็นคนรับผิดชอบลูกก่อน นี่อาจเป็นคำถามที่ควรจะเกิดขึ้น (หรือไม่) ว่าทำไมสังคมถึงมีความคาดหวังและผลักภาระให้การดูแลลูกเป็นของผู้หญิงแต่เพียงผู้เดียว สิ่งที่น่าสนใจก็คือบ่อยครั้งเรามักจะตัดสินปัญหาเช่นนี้ด้วยมุมมองของศีลธรรมแบบศาสนา ในสังคมไทยก็คือพุทธศาสนานั่นเอง เรามักยกเรื่องบาปบุญ เวรกรรม สวรรค์ นรก สารพัดบรรดามีเท่าที่จะนึกได้ หรือเท่าที่มีอยู่ในหลักธรรมอันสูงส่งของพุทธศาสนา ‘มาสาดใส่กัน’ เช่นที่ตำรวจบอกว่า ชอบไปวัดแล้วทำไมไม่ใจบุญสงสารลูกเต้าบ้าง “นายตำรวจรู้สึกขวางหูขวางตา การสอบสวนผู้ต้องหาส่วนมากแม้จะปากแข็ง แต่ก็มีเหตุผลชวนให้เชื่อได้มากกว่านี้ แต่หล่อนนี่มีแต่ศาสนาลม ๆ แล้ง ๆ มาบังหน้า และเป็นชนิดปัญญาอ่อน เห็นทีคงต้องส่งไปให้หมอโรงพยาบาลประสาท หรือไม่ก็ปล่อยหล่อนไปตามเรื่อง...” “นายตำรวจรู้สึกโกรธที่หล่อนดูไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง แว่บหนึ่งเขาคิดว่าหล่อนคงเป็นกะหรี่ แต่แล้วก็เลิกคิด เพราะกะหรี่นั้นมักเลี้ยงลูกของตัวเอง...” ในความคิดของตำรวจ หญิงสาวคนนี้นั้นแทบจะไม่มีอะไรสมประกอบเลยสักอย่างเดียว แล้วยังมาอ้างพุทธศาสนาลม ๆ แล้ง ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องศาสนานี้เองที่ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้นั้นดูเข้มข้นและน่าสนใจอย่างยิ่ง หญิงสาวพูดกับตำรวจว่า “ให้หนูไปบวชเถอะ” และถามว่าทีคนอื่นบวชทำไมไม่มีใครว่า นายตำรวจก็ตอบว่า “ก็...ก็นั่นเขาไม่มีห่วง เขาไม่ได้ปัดสวะให้พ้นตัวอย่างเรานี่...มีที่ไหนกัน...จะทิ้งลูกไปบวช พูดง่ายๆ จะหนีความรับผิดชอบโดยใช้ศาสนาบังหน้า...ว่างั้นเถอะ...ถ้าลูกมันเต็มอกเต็มใจไปทุกข์ยากอยู่ข้างถนนแล้วจะแสดงว่าแม่มันตัดกิเลสได้งั้นรึ” หญิงสาวคนนี้ไม่จำนนต่อการให้เหตุผลของตำรวจ จึงได้ถามไปว่า ทีผู้ชายทำไมทำได้ นายตำรวจถามว่าใคร หญิงสาวตอบว่า “พระเวสสันดร” หลังจากคำตอบนี้ นายตำรวจก็จนในเหตุผลไม่รู้จะตอบโต้อย่างไร จากนั้นจึงสั่งให้ลูกน้องเอาตัวหญิงสาวคนนี้ไปส่งโรงพยาบาล ประเด็นที่น่าใคร่ครวญอย่างหนึ่งก็คือ กำหนดหน้าที่ของผู้หญิงในสังคมไทยนั้นในแง่หนึ่งมันถูกอ้างอิงกับกรอบคิดทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธ และนัยที่สำคัญของการวิพากษ์แนวคิดดังกล่าวก็สะท้อนอยู่ในชื่อของเรื่องสั้นนี้ด้วยคือ ‘มัทรี’ ซึ่งก็คือชายาของพระเวสสันดร และเรื่องพระเวสสันดรนั้นก็เป็นชาดกที่สำคัญในสังคมไทยในฐานะพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราอาจกล่าวได้ว่า พระเวสสันดรนั้นคือความเป็นอุดมคติของสังคมไทยอย่างหนึ่ง ในแง่ของคุณงามความดี การบำเพ็ญบารมีที่ทำได้ยากยิ่ง เช่นการ ‘ให้’ ลูกของตนเป็นทานแก่ชูชก คุณธรรมของพระเวสสันดรกลายเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญอย่างหนึ่งในทางศีลธรรมของสังคมไทย แต่เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้นำเอาภาพในอีกแง่มุมหนึ่งของคุณธรรมแบบพระเวสสันดรมาตีความและตั้งคำถามใหม่ และเป็นคำถามที่สั่นคลอนความเชื่อทางศีลธรรมของสังคมไทยได้อย่างแหลมคม ผู้ชายจะทำอะไรก็ได้ ต่อให้เป็นการทิ้งลูกทิ้งเมียไปบวช แต่ถ้าทำเพื่อศาสนาแล้วจะถือว่าเป็นการทำให้เพื่อคนส่วนมาก ในขณะที่ผู้หญิงจะทิ้งลูกไปบวชบ้างกลับกลายเป็นความเห็นแก่ตัว เอาศาสนามาบังหน้า หมายังรักลูก ทำไมผู้หญิงไม่รักลูก ความคิดความเชื่อเหล่านี้แท้จริงแล้วมันคือการโยนภาระอันหนักอึ้งให้กับผู้หญิงในนามของคุณงามความดีที่ ‘ต้อง’ ปฏิบัตินั่นเอง การชี้ให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงในสังคมโดยเฉพาะสังคมไทยนั้นมันจึงมีความหนักแน่น เพราะมันถูกอ้างอิงอยู่กับกรอบคิดทางศาสนา การตั้งคำถามกับเรื่องนี้หากไม่ทำให้ผู้ตั้งคำถามถูกลดทอนคุณค่าในตัวเองลงไปเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์แล้วยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทอีกด้วย ในสังคมไทยนั้น ความบ้าอาจไม่ได้หมายถึงสารเคมีในสมองผิดปกติ หากแต่หมายถึงการไม่อยู่ในจารีตและทำนองคลองธรรมที่ดีตามอุดมคติของสังคมไทย กล่าวคือหากเป็นคนในอุดมคติของสังคมไทยไม่ได้ถ้าไม่ตาย (เพราะโดนทำร้าย) ก็ต้องเป็นบ้า...เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ มัทรีของศรีดาวเรืองนั้นเรียบง่าย ดิบ ตรงไปตรงมา และกระชากยื้อยุดให้ฉุกคิดว่า การดำรงอยู่ของความเป็นผู้หญิงในสังคมไทยนั้นมันอยู่อย่างไรด้วยคำพูดไม่กี่ประโยคเท่านั้นเอง อ้างอิง : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. 2558. ‘วรรณาคดีของศรีดาวเรือง’ ใน อ่านใหม่. กรุงเทพฯ: อ่าน. เรื่อง : ปลายสิงห์ ขาวปลอด เพจคดีไม่มีวรรณะ