สตานิสลาฟ เปตรอฟ ยับยั้งสงครามนิวเคลียร์ จากปัญญาประดิษฐ์บกพร่อง

สตานิสลาฟ เปตรอฟ ยับยั้งสงครามนิวเคลียร์ จากปัญญาประดิษฐ์บกพร่อง
ในสงครามเย็น โลกได้เผชิญหน้ากับวิกฤตสงครามนิวเคลียร์อยู่หลายครั้ง เช่นกรณีที่เป็นที่รับรู้มากที่สุดอย่างวิกฤตนิวเคลียร์คิวบาในปี 1962 เมื่อโซเวียตที่ประกาศว่าจะช่วยป้องกันคิวบาจากการรุกรานของสหรัฐฯ พยายามติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์บนแผ่นดินคิวบา ประเทศคอมมิวนิสต์ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งสหรัฐฯ ไปเพียงไม่ถึง 100 ไมล์ หรืออีกครั้งที่เกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ในช่วงเช้าของวันที่ 26 กันยายน 1983 บนดินแดนของโซเวียต โดยที่สหรัฐฯ คู่กรณีไม่ได้รับรู้เลยว่า ประเทศคู่สงคราม (เย็น) กำลังพิจารณาปล่อยขีปนาวุธนิวเคลียร์โจมตี จากสัญญาณเตือนที่ได้รับจากระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งหากผู้ที่นั่งเฝ้าระบบเตือนภัยของโซเวียตไม่ใช่ “สตานิสลาฟ เปตรอฟ” (Stanislav Petrov) โลกของเราอาจจะไม่ได้อยู่ในสภาพอย่างที่เห็นก็เป็นได้ ก่อนหน้าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นราว 3 สัปดาห์ โซเวียตเพิ่งยิงเครื่องบินสายการบินโคเรียนแอร์ไลน์ของเกาหลีใต้ที่บินล้ำน่านฟ้าของโซเวียต สังหารชีวิตประชาชน 269 รายไปหยก ๆ ช่วงเวลาดังกล่าวจึงถือเป็นภาวะที่ตึงเครียดเป็นอย่างสูง เพราะโซเวียตย่อมคาดหมายว่า สหรัฐฯ อาจหาจังหวะที่จะเอาคืนโซเวียตแทนพันธมิตร  แล้วจู่ ๆ คอมพิวเตอร์ระบบเตือนภัยของโซเวียตซึ่งประเมินความเสี่ยงจากการถูกรุกรานด้วยข้อมูลจากดาวเทียมทหารก็ส่งสัญญาณเตือนว่า โซเวียตกำลังตกอยู่ใต้การโจมตีด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีปจำนวน 5 หัว ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่ขีปนาวุธถูกยิงออกมาจนถึงเวลาที่ระเบิดทำงานอยู่ที่ราว 25 นาที การตัดสินใจที่เกิดขึ้นจึงต้องเกิดอย่างรวดเร็วก่อนที่หายนะอันใกล้จะเข้ามาถึง จากข้อมูลของ The New York Times เปตรอฟ เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 1939 ใกล้กับเมืองวลาดีวอสตอค มีพ่อเป็นนักบินขับไล่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนแม่เป็นนางพยาบาล เขาจบด้านวิศวกรรมระบบวิทยุระดับสูงของกองทัพอากาศโซเวียตในกรุงเคียฟของยูเครน จบแล้วเขาเข้าประจำการในหน่วยงานรักษาความปลอดภัยทางอากาศ และได้รับหน้าที่ดูแลระบบเตือนภัยจากขีปนาวุธตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970s “มันไม่มีกฎว่า เราจะต้องรายงานการโจมตีภายในระยะเวลาเท่าไร” เปตรอฟกล่าวกับ BBC “แต่เรารู้ดีว่าทุกวินาทีที่หน่วงเหนี่ยว จะทำให้เวลาอันมีค่าค่อย ๆ หมดไป ผู้นำทั้งด้านทหารและการเมืองของโซเวียตต้องได้รับรายงานโดยไม่มีล่าช้า สิ่งที่ผมต้องทำก็คือ เอื้อมมือคว้าโทรศัพท์เพื่อต่อสายตรงถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง แต่ผมขยับตัวไม่ได้ ผมรู้สึกนั่งอยู่บนกระทะทองแดง” เปตรอฟ กล่าวถึงสถานการณ์เมื่อเขาได้รับสัญญาณเตือนว่าโซเวียตกำลังถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เปตรอฟเล่าว่า เมื่อมีเสียงสัญญาณเตือนครั้งแรก เขาได้แต่นั่งมองหน้าจอที่มีสัญญาณไฟสีแดงที่มีคำเตือนว่า “ปล่อยขีปนาวุธ” ไม่เพียงเท่านั้นระบบยังระบุว่า ข้อมูลที่ใช้ในการประมวลผลยังมีความน่าเชื่อถือระดับ “สูงสุด” หมายความว่า สหรัฐฯ จะต้องยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ออกมาแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย “หนึ่งนาทีต่อมา สัญญาณเตือนดังขึ้นอีกครั้ง ขีปนาวุธลูกที่สองถูกยิงออกมาแล้ว จากนั้นก็มีลูกที่สาม ลูกที่สี่ และลูกที่ห้า คอมพิวเตอร์ยังเปลี่ยนสัญญาณเตือนจาก ‘ยิง’ มาเป็น ‘ขีปนาวุธมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย’ อีกด้วย” เปตรอฟกล่าว ด้วยข้อมูลที่เขาได้รับ หากเขาส่งรายงานขึ้นไปยังผู้บังคับบัญชา ย่อมเป็นที่คาดหมายได้แน่ว่า ผู้นำโซเวียตจะไม่ยอมปล่อยให้ประเทศถูกทำลายอย่างไม่ตอบโต้ และจะต้องยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ออกไปเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าที่ตัวเองจะถูกยิงเพื่อเป็นการแก้แค้นอย่างแน่นอน  แต่เปตรอฟกลับไม่ทำเช่นนั้น ด้วยสัญชาตญาณบางอย่างที่บอกว่า คอมพิวเตอร์ของระบบเตือนภัยที่อ้างว่า ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยงของตัวเองมีความน่าเชื่อถือระดับ “สูงสุด” มีข้อที่น่าสงสัย และเลือกที่จะรายงานต่อผู้บังคับบัญชาว่า ระบบทำงานผิดพลาด แทนที่จะรายงานว่า ระบบเตือนว่าประเทศตกอยู่ใต้การโจมตีของอาวุธนิวเคลียร์ “อีก 23 นาทีต่อมา ผมรู้แล้วว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะถ้ามีการโจมตีเกิดขึ้นแล้ว ผมต้องรับรู้ได้ มันทำให้ผมโล่งใจมาก” เปตรอฟกล่าว  ตอนที่เปตรอฟให้สัมภาษณ์กับ BBC เป็นระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว เขายอมรับว่า ความมั่นใจว่าสัญญาณเตือนดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนที่ผิดพลาดอยู่ที่ราว 50-50 เท่านั้น แต่ด้วยสัญชาตญาณบวกกับการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใจเย็น เขาเห็นว่า ถ้ากองทัพสหรัฐฯ จะเปิดฉากรุกราน คงจะไม่เริ่มด้วยการถล่มนิวเคลียร์เพียงแค่ 5 ลูกเท่านั้น อีกทั้งระบบเรดาร์ภาคพื้นดินของโซเวียตก็ไม่สามารถตรวจพบการโจมตีอย่างที่คอมพิวเตอร์ของระบบเตือนภัยล่วงหน้าแจ้งเตือน เขาจึงเลือกที่จะเชื่อว่า ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ถูกเร่งพัฒนาและรีบเข็นออกมาใช้ไม่ให้น้อยหน้าสหรัฐฯ ที่มีระบบเดียวกันก่อนแล้วน่าจะทำงานผิดพลาด เบื้องต้น เปตรอฟได้รับคำชื่นชมกับการตัดสินใจอย่างเยือกเย็น ทำให้โลกเลี่ยงหายนะครั้งใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเปตรอฟอ้างว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่รายอื่นนั่งทำหน้าที่แทน ผลลัพธ์คงไม่ได้ออกมาแบบนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเป็นคนเดียวในทีมที่ผ่านการศึกษาในระบบของพลเรือน ขณะที่เจ้าหน้าที่รายอื่นล้วนเป็นทหารอาชีพที่ถูกฝึกให้ออกและรับคำสั่งเท่านั้น แต่หลังจากนั้นเปตรอฟก็ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน และพบความบกพร่องของเขาในการทำหน้าที่ในวันดังกล่าว เนื่องจากเขามิได้เขียนรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นลงในสมุดบันทึกการทำงาน ทำให้เขาต้องถูกลงโทษทางวินัย ซึ่งเปตรอฟกล่าวว่า กองทัพคงอับอายมากที่ระบบเตือนภัยของพวกเขาล้มเหลวอย่างง่าย ๆ โดยไม่มีการแทรกแซงจากภายนอกเลย ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวของเปตรอฟจึงไม่เป็นที่รับรู้ทั้งในและนอกโซเวียต จนกระทั่งมีการเผยแพร่บันทึกความทรงจำของ นายพลยูริ โวทินต์เซฟ (Yuri Votintsev)  อดีตผู้บังคับบัญชาของหน่วยป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธของกองทัพโซเวียต ทำให้วีรกรรมของเปตรอฟเป็นที่รับรู้หลังปี 1998 เขาจึงได้รับการยกย่องอย่างมากในโลกตะวันตก เขาได้เดินทางมาสหรัฐฯ ในปี 2006 เพื่อมารับรางวัลจาก Association of World Citizens และได้รับรางวัล Dresden Peace Prize ในปี 2013 นอกจากนี้ยังมีการทำภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่องราวของเขาในเรื่อง The Man Who Saved the World ออกมาในปี 2014 แต่เรื่องราวของเขามิได้ทำให้ชาวรัสเซียตื่นเต้นไปด้วย เขาใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ในแถบชานเมืองของกรุงมอสโคว โดยไม่เคยได้รับรางวัลหรือการยกย่องใด ๆ จากทางการ ความตายของเขาก็เกิดขึ้นโดยที่สังคมไม่รับรู้ จนกระทั่งอีก 4 เดือนต่อมา นักวิจัยชาวเยอรมันรายหนึ่งที่เป็นเพื่อนของเขาพยายามติดต่อถึงเขาผ่านทางลูกชาย จึงได้รู้ว่า เปตรอฟเสียชีวิตลงแล้วในวันที่ 17 พฤษภาคม 2017 ด้วยอาการปอดติดเชื้อ (The Guardian)