สเตลลา ลีเบค : คุณยายผู้ตกเป็นเหยื่อคดีกาแฟร้อนที่โดนทั้งเครื่องดื่มและสื่อ ‘ลวก’

สเตลลา ลีเบค : คุณยายผู้ตกเป็นเหยื่อคดีกาแฟร้อนที่โดนทั้งเครื่องดื่มและสื่อ ‘ลวก’

สเตลลา ลีเบค (Stella Liebeck) คุณยายผู้โชคร้ายที่ถูกเครื่องดื่มของแมคโดนัลด์ ‘ลวก’ ซ้ำร้ายด้วยบาดแผลจากการประโคมข่าวของสื่อที่จะกลายเป็นอุทาหรณ์สะท้อนกลับมาสอนเราทุกคน

หญิงชราอายุ 81 ปี ได้รับเงินชดเชยกว่าสามล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หลังจากที่เธอยื่นฟ้องต่อศาลว่ากาแฟของแมคโดนัลด์ ‘ร้อนเกินไป

 

กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างหนักในสหรัฐอเมริกา เมื่อหญิงชราคนหนึ่งทำกาแฟร้อนที่เพิ่งซื้อจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังหกใส่ตักของตัวเองขณะอยู่บนรถ แล้วยื่นฟ้องต่อศาลว่ากาแฟนั้นร้อนเกินไป จนในที่สุดเธอสามารถชนะคดีแล้วกลายเป็นมหาเศรษฐีเงินล้านในชั่วพริบตา

หากมองอย่างผิวเผิน หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าคน ๆ หนึ่งสามารถเปลี่ยนความสะเพร่าของตนเป็นเงินล้านได้อย่างไร ? หรือบางคนอาจจะคิดว่านี่คือการฉวยโอกาสหากินชัด ๆ แต่หากลองมองรายละเอียดคดีและสิ่งที่เกิดขึ้นให้ลึกลงไปกว่านั้น ความรู้สึกที่เรามีต่อคดีอาจจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะ ‘กาแฟ’ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ลวกหญิงชราผู้นี้จนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่การประโคมข่าวของสื่อจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างบาดแผลพุพองที่จะติดตัวคน ๆ หนึ่งไปตลอดชีวิต

กาแฟ (โคตร) ร้อนหนึ่งแก้ว 

รุ่งเช้าวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1992 เป็นวันธรรมดาอีกวันของพนักงานห้างสรรพสินค้ารุ่นเก๋าวัย 79 ปีอย่าง ‘สเตลลา ลีเบค’ (Stella Liebeck) ผู้ต้องการกาแฟสักแก้ว เพื่อให้วันหนึ่งของเธอดำเนินไปอย่างราบรื่น 

สเตลลานั่งอยู่บนรถโดยมีหลานชายของเธอขับฟอร์ด โพรบ (Ford Probe) ปี 1989 เข้าไปสั่งอาหารเช้าและเครื่องดื่มที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาเมืองแอลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก (Albuquerque, New Mexico) ในช่องทางไดร์ฟทรู (Drive Thru)

 

คือรถฟอร์ด โพรบเนี่ย มันไม่มีตรงไหนวางแก้วได้เลย

ภายในรถมันโน้มเอียงไปหมด คุณแม่ของฉันเลยบอกให้หลานไปจอดก่อน

เธอจะได้ใส่ครีมและน้ำตาลลงในกาแฟได้สะดวก

 

เนื่องจากไม่มีจุดไหนเลยที่สเตลลาสามารถวางแก้วกาแฟได้ หลังรถจอดสนิท เธอจึงเหน็บแก้วกาแฟไว้ที่ขาเพื่อที่จะเปิดฝามันได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ระหว่างที่เธอกำลังเปิดฝา กาแฟร้อนระอุในแก้วแมคโดนัลด์ได้กระฉอกออกมา ทำให้เธอสะดุ้งจนกาแฟทั้งแก้วหกท่วมเบาะและตักของเธอเต็ม ๆ 

 

สิ่งที่ฉันจำได้คือฉันกรีดร้องและพยายามจะตะเกียกตะกายออกจากรถ

แต่ในตอนนั้นฉันไม่ได้รู้สึกเจ็บอะไรขนาดนั้นและฉันก็ไม่นึกว่ามันจะรุนแรงขนาดนี้ด้วย

 

ด้วยประสิทธิภาพในการดูดซับความร้อนของกางเกงผ้าฝ้ายที่เธอใส่ในวันนั้น ยิ่งทำให้ของเหลวที่มีความร้อนกว่า 180 องศาฟาเรนไฮต์ลวกขาและบริเวณใกล้เคียงเธอจนหมด หลังจากที่ของเหลวร้อนถูกซับและเช็ดออกไปจนหมด สเตลลารู้สึกคลื่นไส้ หนาวผิดปกติ และหน้ามืด หลานชายของเธอจึงรีบพาไปส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงให้เร็วที่สุด

 

ขนาดฉันเป็นพยาบาล ฉันเองยังรู้สึกกลัวเลย เมื่อเห็นแม่ตัวเองต้องทนกับบาดแผลแบบนั้น

 

 

ด้วยบาดแผลน้ำร้อนลวกที่ร้ายแรงถึงระดับที่สาม (Third-Degree Burn) แถมยังครอบคลุมตั้งแต่ต้นขา ขาหนีบ ลามไปถึงบริเวณบั้นท้ายและอวัยวะเพศของเธอ หมอวินิจฉัยว่ากาแฟแก้วนั้นได้ลวกพื้นผิวบนร่างกายของสเตลลาไปกว่า 16 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะบริเวณอุ้งเชิงกราน (Pelvic Region) และรอยลวกนั้นหนักถึงขั้นที่ต้องดำเนินการปลูกถ่ายผิวหนังใหม่ (Skin Graft) จึงทำให้เธอต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลกว่าแปดวัน แถมพ่วงมากับการรักษาอีกมากมาย ซึ่งกินเวลากว่าสองปี

 

สู่การฟ้องร้องและชดเชยค่าเสียหาย

คงไม่มีใครคิดมาก่อนว่ากาแฟแมคโดนัลด์ราคาแค่ครึ่งเหรียญจะพ่วงมากับสิทธิ์ลุ้นรับแจ็คพอตการโดนลวกที่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลกว่าหมื่นเหรียญ อย่างน้อยก็สเตลลาคนหนึ่งที่ไม่ได้คิดเช่นนั้น เธอจึงเขียนจดหมายไปหาแมคโดนัลด์เพื่อเรียกร้องเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลกว่าหกเดือน และขอให้แมคโดนัลด์ลดอุณหภูมิเครื่องดื่มร้อนลงบ้าง จะได้ไม่มีคนต้องมาแจ็คพอตแตกแบบเธออีก แต่แมคโดนัลด์ยินดีจะจ่ายเงินชดเชยให้ให้เธอเพียง 800 เหรียญซึ่งยังไม่ครอบคลุมค่ารักษาเลยด้วยซ้ำ สเตลลา ลีเบคจึงตัดสินใจฟ้องใครสักคนเป็นครั้งแรกในชีวิต

สเตลลายื่นเรื่องถึงอัยการ เคนเนธ แวกเนอร์ (Kenneth Wagner) เพื่อฟ้องบริษัทแมคโดนัลด์ถึงความอันตรายซ่อนเร้นนี้ และจากการสืบเสาะหาข้อมูลก็ค้นพบว่า แมคโดนัลด์มีนโยบายกำหนดอุณหภูมิของกาแฟร้อนไว้ที่ 190 องศาฟาเรนไฮต์ และเสิร์ฟที่อุณหภูมิ 180 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังกล่าวว่า การสัมผัสของเหลวระดับนั้นเพียง 7 วินาทีหรือน้อยกว่า ก็สามารถก่อให้เกิดบาดแผลไหม้ขั้นที่สามได้แล้ว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับร้านอื่นที่เสิร์ฟเครื่องดื่มร้อนที่อุณหภูมิ 160 องศาฟาเรนไฮต์ ถ้าเกิดอุบัติเหตุที่คล้ายคลึงกันกับกรณีนี้ จะมีเวลาถึง 20 วินาทีกว่าเครื่องดื่มจะสร้างแผลไหม้ระดับสามเหมือนในกรณีของแมคโดนัลด์ 

นอกจากนั้นยังมีรายงานอีกว่าในช่วงปี 1983 ถึง 1992 มีเหยื่อกว่า 700 รายที่ประสบอุบัติเหตุจากกาแฟร้อนของแมคโดนัลด์ และในตัวเลขเหล่านั้นมีเด็กรวมอยู่ด้วย แวกเนอร์จึงนำหลักฐานให้คณะลูกขุนพิจารณาว่าสินค้าของแมคโดนัลด์ ‘ร้อนเกินจำเป็น’ (Unreasonably Hot) ซึ่งนำไปสู่อันตรายต่อผู้บริโภค และพวกเขาก็ไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหาโดยการลดอุณหภูมิเลยแม้แต่น้อย

 

เขาบอกว่าตัวเลขของคนที่โดนกาแฟแมคโดนัลด์ลวก

ไม่มีนัยสำคัญต่อตัวเลขผู้ซื้อทั้งหมดในทางสถิติเลย

ดังนั้นเขาจึงยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนอะไรไปจากเดิมทั้งนั้น

 

แม้ว่าบริษัทฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่จะมีทนายมาช่วยสู้คดีด้วยข้อโต้แย้งที่ว่าการทำกาแฟหกเป็นความประมาทของสเตลลาเอง แถมการที่พวกเขาผลิตกาแฟ ณ อุณหภูมินั้นก็เพราะผู้บริโภคเองนั่นแหละที่ต้องการกาแฟร้อน ๆ แต่น้ำหนักของข้อโต้แย้งนี้ก็ถูกปัดตกไปเมื่อเหล่าคณะลูกขุนได้เห็นภาพบาดแผลรอยลวกของสเตลลา ลีเบค 

ภาพเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าทางโรงพยาบาลต้องปลูกถ่ายผิวหนังมากแค่ไหนเพื่อที่จะรักษารอยไหม้ระดับสามได้ทั้งหมด และทำให้คนที่เห็นภาพ โดยเฉพาะคณะลูกขุน เข้าใจว่าเหตุการณ์นี้มันไม่ใช่แค่กาแฟร้อนหนึ่งแก้ว

ถึงกาแฟที่รสชาติดีจะมาจากการชงด้วยความร้อนที่มีอุณหภูมิสูง แต่กาแฟที่สามารถลวกผิวคน ๆ หนึ่งจนต้องปลูกถ่ายผิวหนังใหม่ก็คงเป็นความอร่อยที่ไม่ค่อยคุ้มค่าสักเท่าไหร่นัก แถมยังเป็นข้อโต้แย้งที่ฟังไม่ขึ้น คณะลูกขุนจึงตัดสินให้แมคโดนัลด์จ่ายค่าชดเชยความเสียหายแก่สเตลลาเป็นจำนวนเงิน 200,000 เหรียญ (แต่ถูกปรับลดลงเหลือ 160,000 ในเวลาต่อมา หลังจากการพิจารณาว่าความรับผิดชอบ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นของสเตลลา) 

มากไปกว่านั้น ผู้พิพากษาคดียังตัดสินให้บริษัทแม็ดโดนัลด์จ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษ เท่ากับรายได้ในการขายกาแฟของแม็ดโดนัลด์สองวันเป็นเงิน 2.7 ล้านเหรียญเพื่อเชือดไก่ให้ลิงดูเป็นเยี่ยงอย่างและป้องปรามไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต แม้ภายหลังค่าเสียหายนี้จะถูกปรับลดไปเหลือ 480,000 เหรียญ แต่ดูเหมือนว่าสื่อและสังคมจะมีภาพจำไปแล้วว่าสเตลลา ลีเบคคือคนที่ทำกาแฟร้อนหกใส่ตัวเอง แล้วฟ้องเพื่อเอาเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปครอบครอง

 

กาแฟว่าร้อนแล้ว... แต่สื่อร้อนกว่า

คดีกาแฟร้อนลวกนี้นับเป็นคดีที่เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงและมีรายละเอียดมากมายก่อนจะไปถึงกระบวนการตัดสิน แต่สิ่งเดียวที่สื่อส่วนใหญ่สนใจคือ ‘เงินล้าน’ (ที่ถูกลดในภายหลัง) ข่าวนี้จึงดังเป็นพลุแตกโดยมีสำนักข่าวหลายแห่งในหลายประเทศ ติดต่อแวกเนอร์ผู้เป็นทนายของสเตลลาเพื่อสัมภาษณ์ แต่ยิ่งข่าวถูกตีแผ่ไปมากเท่าไหร่ ข้อมูลที่ครบถ้วนก็ยิ่งหล่นหายไปมากเท่านั้น

คดีของสเตลลาถูกตีแผ่ในวารสารแอลบูเคอร์คี (Albuquerque Journal) กว่า 697 คำ แต่ต่อมาสำนักข่าวบางแห่งตีแผ่เรื่องนี้ลงในหนังสือพิมพ์เพียงแค่ 48 คำเท่านั้น สเตลลาที่บาดเจ็บจากการถูกลวกด้วยกาแฟร้อนจึงถูกสังคมเข้าใจผิด ว่าเป็นคนโลภที่ทำไปเพราะต้องการเงิน จากข้อมูลที่ถูกเล่าแบบไม่รอบด้าน

 

เธอเหน็บกาแฟไว้ที่บริเวณขาขณะขับรถ

ทำกาแฟหกแล้วลวกขาตัวเอง ฟ้องแมคโดนัลด์ และไปเอาเงินจากเขา

 

มีหลายคนมากจริง ๆ ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ด้วยความเชื่อของตัวเขาเอง

ถึงฉันบอกเขาว่า ‘แม่ฉันไม่ได้ขับรถนะ รถมันจอดสนิท’

คนเหล่านั้นก็จะบอกว่า ‘ไม่นะ ตอนนั้นเธอน่ะขับรถอยู่’ อยู่ดี

 

คำพูดแรกมาจาก จอร์จ วิลล์ (George Will) คอลัมต์นิสต์ชื่อดัง เมื่อเขากล่าวถึงคดีของสเตลลา ถ้อยคำต่อมามาจากความในใจของ จูดี้ แอลเลน (Judy Allen) บุตรสาวของสเตลลา หลังจากที่ข่าวถูกแพร่หลายด้วยปริมาณคำที่จำกัดผสานกับสิ่งที่สังคมเลือกจะเชื่อ ความเข้าใจผิดจึงก่อตัวขึ้นจากความจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่แทนที่ข้อมูลที่ขาดหายไป ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การ ‘เอคโคแชมเบอร์’ (Echo Chamber) ระหว่างสื่อและสังคมขึ้น

หลายรายการโทรทัศน์อย่างเช่น Seinfeld และ The Simpsons ก็มีการกล่าวถึงในเชิงล้อเลียนและเสียดสีคดีกาแฟร้อน ลูกสาวของสเตลลาเคยให้สัมภาษณ์ว่าแม่ของเธอเหมือนถูกรังแกโดยความเข้าใจผิดของสังคมที่ยังคงอยู่ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีบทความที่นำเสนอมุมมองใหม่ ๆ หรือหนังสารคดีอย่าง Hot Coffee (2011) มาตีแผ่ความเข้าใจใหม่แล้วก็ตาม

สเตลลา ลีเบคจากไปอย่างสงบในปี 2004 ด้วยวัย 91 ปี แม้ไร้ซึ่งการติดต่อจากอดีตคู่กรณี แต่อุณหภูมิกาแฟร้อนของแมคโดนัลด์ก็ถูกลดจากเดิมไป 10 องศาฟาเรนไฮต์ อย่างน้อยผู้บริโภคก็มีเวลานานกว่าเดิมในการปัดของเหลวร้อนออกไปจากร่างกายก่อนที่มันจะลวกผิวหนังแบบสเตลลา

หลังจากนั้น ผู้คนจำนวนมากก็เริ่มตระหนักถึงอันตรายใกล้ตัวจากเครื่องดื่มร้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ บริษัทฟาสต์ฟู้ดเจ้าอื่น ๆ จึงถูกเรียกร้องให้ลดอุณหภูมิไปตาม ๆ กัน 

แม้ร่างกายเธอจะไม่เหมือนเดิมอีกเลยหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น แต่สเตลลา ลีเบคก็เป็นผู้กล้าหาญที่ต่อสู้เพื่อความปลอดภัยและความยุติธรรมในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งที่เป็นเหยื่อ และมากไปกว่านั้น กรณีของเธอยังแสดงให้เห็นอีกว่า...

กาแฟร้อนอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ควรปรับลดอุณหภูมิลง
 

อ้างอิง: 

The Verdict: How the Hot Coffee Lawsuit Led to Tort Reform - The Carlson Law Firm

Liebeck v. McDonald’s - American Museum of Tort Law

Remember the Hot Coffee Lawsuit? It Changed the Way McDonald’s Heats Coffee Forever - Reader's Digest

What a lot of people get wrong about the infamous 1994 McDonald’s hot coffee lawsuit - VOX

THE MCDONALD’S HOT COFFEE CASE - Consumers Attorney of California

Woman Burned by McDonald's Hot Coffee, Then the News Media | Retro Report | The New York Times

Hot Coffee by Susan Saladoff (2011)