“สเตียน กุสตาฟ ธูลิน” บิดาผู้ให้กำเนิดถุงพลาสติกใบแรกของโลก

“สเตียน กุสตาฟ ธูลิน” บิดาผู้ให้กำเนิดถุงพลาสติกใบแรกของโลก
พวกเราต่างรู้กันดีว่า “ถุงพลาสติก” โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากเป็นเศษขยะที่อุดตันตามท่อระบายน้ำแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสัตว์เมื่อกินเข้าไปอีกด้วย ผู้ที่ได้รับเครดิตว่าเป็นคนให้กำเนิดถุงพลาสติกใบแรกของโลก คือวิศวกรสวีดิชที่มีชื่อว่า “สเตียน กุสตาฟ ธูลิน” (Sten Gustaf Thulin) เขาเกิดเมื่อปี 1914 ที่เมืองลุนด์ เมืองเล็ก ๆ ในเขตสโกเน ทางตอนใต้ของประเทศสวีเดน ก่อนจะย้ายมาทำงานที่บริษัท Celloplast ในเมืองนอร์เชอปิง เมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของสวีเดน ธูลิน ได้พยายามพัฒนาการผลิตถุงพลาสติกจากโพลีเอทิลีน (Polyethylene) หลังจากในปี 1933 นักเคมีชาวอังกฤษได้สูตรการผลิตโพลีเอทิลีนในเชิงอุตสาหกรรมมาโดยบังเอิญ ทำให้พลาสติกที่เกิดจากสารตั้งต้นเอทิลีนสามารถนำมาผลิตเป็นสิ่งของต่าง ๆ มากมาย และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือการเอาไปผลิตเป็นถุงใส่ของสารพัดประโยชน์ ช่วงแรก ถุงใส่ของที่ผลิตจากโพลีเอทิลีนยังไม่ค่อยได้รับความนิยม เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงและมีขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ธูลินเชื่อว่าถุงพลาสติกจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มาเปลี่ยนโลก เขาเลยจับมือกับเพื่อนร่วมงานที่ Celloplast ซุ่มคิดค้นวิธีผลิตถุงโพลีเอทิลีนแบบใหม่ที่หยิบจับง่าย ใส่ของได้มาก และที่สำคัญคือราคาต้องไม่แพง หลังจากใช้เวลาเป็นปี วันหนึ่งในปี 1962 เขาได้ไอเดียการผลิตถุงพลาสติกด้วยการนำโพลีเอทิลีนมารีดเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำสองแผ่นมาประกบ เชื่อมทั้งสี่ด้านเข้าด้วยกัน ก่อนจะเจาะบางส่วนออกเพื่อให้กลายเป็นหูสำหรับใช้หิ้ว ถ้านึกภาพไม่ออกให้คิดถึงเสื้อทีเชิ้ตที่มีช่องว่าสำหรับสวมแขนและคอ ซึ่งตอนแรกธูลินตั้งชื่อเจ้าถุงนี้ว่า “ทีเชิ้ต” แล้วขอจดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1962 และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 เมษายน 1965 ส่วนในประเทศไทยเราเรียกถุงพลาสติกแบบนี้ว่า “ถุงก๊อบแก๊บ” เนื่องจากเสียงของถุงที่ดังเมื่อมีการสัมผัส ซึ่งที่มาของเสียงเกิดจากการเรียงตัวเป็นผลึกในเนื้อโมเลกุลสูงนั่นเอง หลังจากวันนั้นโลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป “สเตียน กุสตาฟ ธูลิน” บิดาผู้ให้กำเนิดถุงพลาสติกใบแรกของโลก ถุงพลาสติกแบบใหม่ที่น้ำหนักเบา คงทน ราคาไม่แพง และผลิตได้ง่ายนี้ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ภายในช่วงทศวรรษที่ 60 บริษัท Celloplast สามารถผลิตถุงพลาสติกได้มากกว่าปีละ 600 ล้านใบ และเพิ่มขึ้นเป็น 760 ล้านใบในเวลาไม่นาน ถุงพลาสติกแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกาที่การใช้ถุงพลาสติกเติบโตอย่างรวดเร็วไปพร้อมการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทน้ำมันซึ่งมีวัตถุดิบปิโตรเคมีในมืออย่างเหลือเฟือ จนในช่วงกลางทศวรรษที่ 80 ถุงพลาสติกก็เข้ามาแทนที่ถุงกระดาษในสหรัฐอเมริกาได้อย่างสมบูรณ์ ธูลิน ทำงานที่ Celloplast จนเกษียณอายุในปี 1979 แล้วย้ายไปอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ ที่ที่เขาใช้ชีวิตอย่างสงบจวบจนวันสุดท้ายของชีวิตในปี 2006 ด้วยอายุ 92 ปี ทิ้งสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์นี้ไว้ให้เป็นประเด็นสังคม เพราะถุงพลาสติกที่ธูลินสร้างสรรค์ขึ้นมานี้ไม่ต่างอะไรจากรถยนต์วอลโว่, แร็คหลังคาธูเล่, เฟอร์นิเจอร์อิเกีย หรือสิ่งของหลายอย่างที่ได้ชื่อว่าผลิตภายใต้ธงฟ้าเหลือง ที่มีจุดเด่นเรื่องความทนทายาด ซึ่งเจ้าถุงพลาสติกบาง ๆ พวกนี้กว่าจะย่อยสลายได้ในธรรมชาติ บางใบอาจต้องใช้เวลานานนับศตวรรษเลยทีเดียว คงไม่ผิดนักที่จะเรียกถุงพลาสติกว่ามีชีวิตกึ่งอมตะ ด้วยภาพตัวร้ายของถุงพลาสติก ทำให้หลายคนมองว่า ธูลิน คือนักประดิษฐ์ที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด แต่เชื่อว่าในวันนั้นความตั้งใจของเขาไม่ได้ต้องการให้สิ่งประดิษฐ์นี้เกลื่อนกลาดไปทั่วโลก แต่เขาต้องการนวัตกรรมใหม่ที่เพิ่มความสะดวกสบาย และทำให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้นต่างหาก ถุงพลาสติกเลยเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะคุณสมบัติทั้งหมดต้องแลกมาด้วยต้นทุนในการกำจัดที่สูงมาก และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมามากมาย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับถุงผ้าที่มีต้นทุนในการกำจัดน้อย เพราะสามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ และไม่ทำให้เกิดมลภาวะ แต่ถุงพลาสติกมีจุดแข็งตรงที่ต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าถุงผ้าที่มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูงกว่ามาก เพราะกว่าจะได้ถุงผ้าฝ้ายสักใบ เราต้องตัดต้นไม้เพื่อปลูกฝ้ายเป็นจำนวนมาก และใช้น้ำในการผลิตอีกมหาศาล ถุงพลาสติกจะมีประโยชน์อนันต์หรือโทษมหันต์ เลยขึ้นอยู่กับผู้ที่นำมันมาใช้ ถ้านำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด แทนที่จะใช้ใส่ของแค่ไม่กี่นาทีจากร้านสะดวกซื้อแล้วโยนทิ้งถังขยะ หรือหาวิธีการกำจัดถุงพลาสติกที่ถูกต้อง เพียงแค่นี้ก็เป็นการช่วยโลกแบบง่าย ๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ เพราะสุดท้ายแล้วถุงพลาสติกไม่ใช่ตัวการในการทำลายโลกอย่างที่หลายคนคิดกัน แต่สิ่งที่กำลังจะกัดกร่อนโลกนี้อย่างรวดเร็วคือพฤติกรรมความเคยชินของเราเท่านั้นเอง   ที่มา : https://www.unenvironment.org https://disposableamerica.org https://www.unenvironment.org