สเตฟานี บูซารี: นักข่าวที่ออกมาแฉการโกหกของรัฐบาลไนจีเรีย

สเตฟานี บูซารี: นักข่าวที่ออกมาแฉการโกหกของรัฐบาลไนจีเรีย
ทั่วโลกอาจได้รู้จักชื่อกลุ่ม โบโก ฮาราม (Boko Haram) กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ที่ก่อเหตุลักพาตัวเด็กสาวมากกว่า 200 คน จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองชีบ็อก รัฐบอร์โน ประเทศไนจีเรีย รวดเร็วกว่านี้ หากรัฐบาลไนจีเรียไม่ปัดความรับผิดชอบโดยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็น ‘ข่าวปลอม’ ที่ถูกใครบางคนกุขึ้นเพื่อโจมตีรัฐบาล โชคดีที่ สเตฟานี บูซารี (Stephanie Busari) ผู้สื่อข่าวจาก CNN ได้มีโอกาสพูดคุยกับเหล่าพ่อแม่ของเด็ก ๆ ที่มาประท้วงอยู่หน้าทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงอาบูจาเสียก่อน เธอจึงพยายามสืบหาหลักฐานและติดตามข่าวในประเด็นแบบเกาะไม่ปล่อย นำสู่การเผยแพร่คลิปวิดีโอที่เปิดเผยว่าสิ่งที่รัฐบาลไนจีเรียบอกว่า เป็นข่าวปลอม เป็นเรื่องโกหกที่ถูกกุขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องจริง และราคาที่พวกเขาจ่ายไปเพื่อปิดข่าวความล้มเหลวด้านการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง ก็คือชีวิตของเด็กสาวกว่า 200 คน เหตุการณ์ลักพาตัวเด็กสาวจากเมืองชีบ็อก เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วในกลางดึกของวันที่ 4 เมษายน ปี 2014 เมื่อเด็กสาวนับร้อย ๆ คน ถูกปลุกขึ้นจากเตียงในหอพักโรงเรียน ก่อนจะถูกต้อนไปขึ้นรถบรรทุกโดยมีอาวุธสงครามจ่อหลัง ค่ำคืนที่มีการขนย้ายพวกเธอไปสู่สถานที่ซึ่งไม่มีใครตามหาได้ เด็กหญิงมากมายพยายามหลบหนีจากรถบรรทุกด้วยการกระโดดลงมาขณะที่รถวิ่งอยู่ บางคนรอดชีวิตมาได้ แต่หลายคนไม่โชคดีเช่นนั้น “ฉันได้รู้จักกับเด็กสาวคนหนึ่งชื่อว่า ฮาดีซา เธอเป็นหนึ่งในเด็กหญิงกว่า 50 คนที่กระโดดลงมาจากรถบรรทุกในคืนนั้น ฮาดีซาเป็นเด็กขี้อาย และมีรอยยิ้มที่สดใส แต่น่าเสียดายที่เธอจะต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดหลังถูกลักพาตัวครั้งนั้นไปตลอดชีวิต เพราะเธอขาหักทั้งสองข้างหลังจากที่กระโดดลงมา และอาจต้องใช้ยาไปตลอด” สเตฟานี กล่าวถึงหนึ่งในเหยื่อที่ต้องทรมานกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บนเวที TED Talk ทั้งที่ควรจะเป็นเรื่องใหญ่โตในประเทศ เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตคนหลายร้อยคน และยังเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายโดยตรง แต่เพราะการปิดข่าวจนเงียบเชียบของรัฐบาลไนจีเรีย เรื่องราวเหล่านี้จึงถูกเผยแพร่ให้โลกรู้คล้อยหลังจากวันเกิดเหตุกว่า 3 สัปดาห์ ที่น่าขื่นไปกว่านั้น กลุ่มที่ออกมาป่าวร้องเรื่องราวเหล่านี้จนเป็นข่าว ดันเป็นกลุ่มโบโก ฮาราม เสียเอง พวกเขาออกมาประกาศว่า จะนำเด็กสาวทั้งหมดที่ลักพาตัวไปขายเป็น ‘ทาส’ หรือแม้แต่เอาไปเป็น ‘เจ้าสาว’ ของสมาชิกกลุ่มมุสลิมสุดโต่งในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ชาด และ แคเมอรูน ด้วยราคาเพียงแค่ 2,000 ไนรา (ประมาณ 360 บาท)  ทั้งหมดก็เพื่อลงโทษที่พวกเธอบังอาจไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนของพวกชาวคริสต์ ซึ่งถือเป็นบาปมหันต์ในสายตาของกลุ่มโบโก ฮาราม แล้วกลุ่มโบโก ฮาราม คือใคร ทำไมต้องก่อเหตุร้ายแรง? เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นกำเนิด ชื่อกลุ่ม “โบโก ฮาราม” มาจากภาษาฮัวซา ซึ่งเป็นภาษาของชนเผ่าหนึ่งในไนจีเรีย แปลว่า “การศึกษาตะวันตกเป็นสิ่งต้องห้าม” พวกเขาคือกลุ่มคนที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งทางความเชื่อระหว่างชาวไนจีเรียที่นับถือศาสนาอิสลามทางตอนเหนือ กับชาวไนจีเรียที่นับถือศาสนาคริสต์ในพื้นที่อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ พวกเขาเป็นเพียงชนเผ่าเล็ก ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างกระจัดกระจาย แต่เพราะมีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์และวัฒนธรรมตะวันตกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาจึงเริ่มรวมตัวกันเพื่อต่อต้านแนวคิดดังกล่าว ช่วงแรกก็ยังดำเนินแนวทางต่อสู้ด้วยสันติวิธี แต่หลังจากได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากชนเผ่าใกล้เคียง กลุ่มโบโก ฮาราม จึงถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ และถูกกวาดล้างอย่างหนักโดยทหารที่เคยทำหน้าที่ปกป้องประชาชน พวกเขาจึงเริ่มลุกฮือต่อต้านด้วยกำลัง และกลายมาเป็นกลุ่มติดอาวุธโบโก ฮาราม นักรบศักดิ์สิทธิ์หัวรุนแรงของพระเจ้าในเวลาต่อมา เป้าหมายของกลุ่มโบโก ฮาราม คือการจัดตั้งรัฐอิสลาม และใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) เต็มรูปแบบ พวกเขาต่อต้านชาวคริสต์ ต่อต้านการศึกษาแบบตะวันตก รวมถึงต่อต้านการให้การศึกษาแก่ผู้หญิง นี่จึงเป็นเหตุผลที่การก่อเหตุของคนกลุ่มนี้ นอกจากจะเป็นการวางระเบิด กราดยิงโจมตีโบสถ์คริสต์ รวมถึงสถานที่ราชการ และแหล่งคนพลุกพล่านต่าง ๆ ก็ยังมาในรูปแบบการลักพาตัวเด็กสาวอย่างอุกอาจไปจากหมู่บ้าน หรือโรงเรียน เพื่อเตือนให้คนที่ต่อต้านความเชื่อของพวกเขาได้ระวังลูกหลานของตัวเองเอาไว้ให้ดี ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์ลักพาตัวในเมืองชิบ็อก หลังจากกลุ่มโบโก ฮาราม ประกาศว่าพวกเขานี่แหละที่ลักพาตัวเด็กสาวเหล่านั้นไปขายแล้ว แต่ท่าทีของรัฐบาลไนจีเรียที่นิ่งเฉย ทำให้บรรดาพ่อแม่และญาติพี่น้องของเด็กสาวก็เริ่มทนไม่ไหว พวกเขาตัดสินใจออกมาเดินขบวนและชุมนุมประท้วงที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงอาบูจา เพื่อกดดันให้ กู๊ดลัค โจนาธาน (Goodluck Jonathan) ประธานาธิบดีในขณะนั้น ทำอะไรกับเรื่องนี้สักที ไม่ใช่เอาแต่ปิดข่าวเงียบ เพราะไม่อยากสูญเสียภาพลักษณ์อันน่าเชื่อถือของเจ้าภาพการจัดงานประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum on Africa 2014) ในปีนั้นไป แน่นอนว่าหลังจากเหตุการณ์ลักพาตัวของกลุ่มโบโก ฮาราม เปิดเผยขึ้น รัฐบาลไนจีเรียถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ผู้คนมากมายจากทั่วโลกต่างหันมาเรียกร้องผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยติดแฮชแท็ก #BringBackOurGirls ทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศช่วยกันติดตามหาเด็กสาวทั้งหมดที่ถูกลักพาตัวไป  ด้านคนดังจากหลากหลายวงการไม่ว่าจะเป็น มิเชล โอบามา, มาลาลา ยูซาฟไซ, ฮิลลารี คลินตัน, แองเจลีนา โจลี, แอนน์ แฮททาเวย์, คารา เดเลวีน รวมทั้งผู้คนอีกกว่า 450,000 คน ก็ร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไนจีเรียทำทุกวิถีทางเพื่อนำตัวเด็กสาวกลับมาอย่างปลอดภัย  แต่คำตอบของรัฐบาลที่มีให้กับสื่อมวลชนในเวลานั้น กลับออกมาในรูปแบบที่ปัดความรับผิดชอบอย่างไม่น่าเชื่อ “พวกเขาบอกว่า พวกเรายังไร้เดียงสา และไม่เข้าใจสถานการณ์การเมืองของไนจีเรีย เรื่องราวของเด็กสาวจากชิบ็อกเป็นข่าวปลอมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อโจมตีรัฐบาลเท่านั้น” สเตฟานี บูซารี หนึ่งในนักข่าวที่มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์เหล่าคนใหญ่คนโตของไนจีเรียที่งานประชุมเศรษฐกิจโลกคราวนั้น พูดถึงคำตอบบ่ายเบี่ยงที่สื่อมวลชนได้รับ แต่เพราะข้อมูลจากกลุ่มโบโก ฮาราม (ที่ขณะนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่) คือหลักฐานเดียวที่สื่อมวลชนมี ในที่สุด พวกเขาจึงต้องล่าถอยออกไป เพราะไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นความจริง “ฉันได้พูดคุยกับคนที่บอกว่าเป็นพ่อแม่ของเด็กสาวพวกนั้น พวกเขาพูดด้วยท่าทีใจสลาย แล้วบอกว่าวันที่พวกโบโก ฮาราม พาลูก ๆ ของพวกเขาไป พวกเขาถึงขนาดถือมีดเข้าไปในป่าแซมบีซา วิ่งตามหลังรถบรรทุกเพื่อจะเอาตัวลูกคืน แต่สุดท้ายก็ต้องล่าถอยเพราะมีดในมือไม่สามารถต่อสู้กับปืนของกลุ่มโบโก ฮาราม ได้” สเตฟานี เล่า เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่สเตฟานีไม่สามารถทำอะไรกับคำบอกเล่าเหล่านั้นได้ เพราะไม่มีข่าวคราวใด ๆ ที่คาดว่าจะเป็นข้อมูลชัดแจ้งของเหล่าเด็กสาวที่ถูกจับไปเลย เวลาผ่านไปนับปี ราวกับเรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พวกเขาอาจตายไปหมดแล้ว หรือไม่ก็เป็นเพียงข่าวปลอมอย่างที่รัฐบาลไนจีเรียบอก เวลานั้นสเตฟานีก็เกือบถอดใจไปแล้วเช่นกัน แต่แล้วจู่ ๆ เดือนเมษายน ปี 2016 สเตฟานีก็ได้รับคลิปวิดีโอตัวหนึ่งที่ส่งมาจากแหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนาม เนื้อหาในคลิปคือเด็กสาว 15 คน ยืนเรียงหน้ากระดาน 2 แถว พวกเธอถูกจับแต่งตัวด้วยฮิญาบสีดำผืนใหญ่ที่คลุมตั้งแต่ผมจนถึงลำตัว และถูกสั่งให้ตอบคำถามว่าตัวเองเป็นใคร ถูกจับจากที่ใด และความเป็นอยู่กับกลุ่มโบโก ฮาราม เป็นอย่างไรบ้าง ข้อมูลจากแหล่งข่าวบอกกับสเตฟานีว่า นี่คือคลิปที่กลุ่มโบโก ฮาราม เป็นคนถ่าย แต่ไม่แน่ใจว่าจุดประสงค์ของการถ่ายคือเพื่ออะไรกันแน่ “ทีแรกฉันไม่แน่ใจว่านั่นคือคลิปจริงหรือทำขึ้นมาหลอก ๆ ฉันพยายามยืนยันความถูกต้องด้วยการเดินทางไปคุยกับพ่อแม่ของเด็ก ๆ พวกนั้น เพื่อถามว่านี่ใช่ลูกของพวกเขาจริง ๆ ไหม และฉันไม่จำเป็นต้องรอนานเลย เพราะทันทีที่เริ่มคลิป หนึ่งในแม่ของเด็กเหล่านั้นก็เริ่มร้องไห้ แล้วบอกว่านั่นคือลูกของเธอ. แม่ของเด็กในคลิปคนนั้นคือ ริฟกาตู อาบูยา (Rifkatu Ayuba) ชี้ว่านั่นคือ ซาราตู (Saratu) ลูกสาวอายุ 15 ที่หายไปของเธอ เธอบอกกับสเตฟานีทั้งน้ำตาว่า ถ้าหากสามารถเอื้อมมือไปดึงลูกของเธอออกมาจากจอแล็ปท็อปได้ เธอก็จะทำ นี่จึงเป็นเหตุผลให้สเตฟานีตัดสินใจเผยแพร่คลิปดังกล่าว หลังจากได้รับการยืนยันจากเหล่าพ่อแม่  สเตฟานีตั้งชื่อคลิปวิดีโอว่า "proof of life" เพื่อยืนยันถึงการมีชีวิตอยู่ของเหล่าเด็กสาวที่เคยถูกจับไปเมื่อ 2 ปีก่อน และยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เคยถูกประกาศว่าเป็นข่าวปลอมโดยรัฐบาลไนจีเรีย ทั้งหมดคือเรื่องจริง และการที่รัฐบาลไนจีเรียบอกว่าเรื่องนี้เป็นแค่ข่าวปลอม ก็ยิ่งทำให้ความพยายามในการช่วยเหลือเด็กสาวเหล่านั้นต้องสับสนและล่าช้าเข้าไปอีก นับเป็นความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่อย่างถึงที่สุด คลิปนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐบาลไนจีเรียติดต่อเจรจากับกลุ่มโบโก ฮาราม ได้เป็นครั้งแรก แม้จะไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเนื้อหาการเจรจาในคราวนั้นคืออะไร (มีการคาดเดาว่าเป็นการแลกเปลี่ยนตัวเด็กสาว กับกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกรัฐบาลจับกุมไว้ในขณะนั้น) ในเดือนตุลาคม ปี 2016 สเตฟานีได้รับข่าวคราวว่าเด็กสาว 21 คน ถูกปล่อยตัวกลับบ้านอย่างปลอดภัย แต่ที่ยังน่าเศร้าใจคืออีกกว่า 200 คน ยังอยู่ในสถานะสูญหาย “ฉันคงต้องยอมรับกับคุณทุกคนว่า ตลอดเวลาที่ฉันติดตามเรื่องราวเหล่านี้ ฉันไม่สามารถคงสภาพความเป็นกลางอย่างที่สื่อมวลชนควรมีเอาไว้ได้ ฉันโกรธแค้นและสิ้นหวัง เพราะการบอกปัดว่าเป็นข่าวปลอมของรัฐบาล ทำให้เราเสียโอกาสในการช่วยเหลือเด็กสาวไปได้มากมาย” และบอกอีกว่า นี่คงเป็นอันตรายที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘ข่าวปลอม’ เพราะตั้งแต่ปี 2016 จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถยืนยันตัวตนของเด็ก ๆ ที่เหลือว่าพวกเธอหายไปไหนได้เลย แม้ มูฮัมมาดู บูฮารี (Muhammadu Buhari) ประธานาธิบดีไนจีเรียคนปัจจุบัน จะพยายามจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยส่งกองกำลังความมั่นคงของไนจีเรียไปยึดคืนพื้นที่ส่วนใหญ่ ที่ถูกกลุ่มโบโก ฮาราม ครอบครองกลับคืนมาได้สำเร็จ แต่เด็ก ๆ ก็ยังถูกขายกลายเป็นทาส หรือไม่ก็ตายจากสนามการก่อการร้ายที่กลุ่มโบโก ฮาราม ยังคงก่ออยู่ไม่หยุดหย่อน เพราะในปี 2018 ยังมีข่าวการก่อเหตุลักพาตัวเด็กหญิงอีก 110 คน ไปจากโรงเรียนในเมืองดัปชี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย ปรากฏให้เห็นอยู่ ฟาติมา เด็กสาวที่สามารถหลบหนีจากการลักพาตัวในเมืองดัปชี เล่าว่า ตอนที่เธอออกจากห้องเรียนก็เห็นลูกกระสุนพุ่งอยู่กลางอากาศ เพื่อน ๆ ของเธอต่างพากันกรีดร้องหาที่หลบภัย จากนั้นก็มีรถบรรทุกขับเข้ามาทำทีว่าจะช่วยเหลือและเรียกให้เธอขึ้นรถ แต่เพราะเธอไหวตัวทันจึงหลบออกมาก่อน ขณะที่เพื่อน ๆ ของเธอไม่โชคดีแบบนั้น พ่อแม่ของเด็ก ๆ ที่ถูกลักพาตัวต่างพากันถอดใจ เพราะในโรงเรียนนี้ไม่มีลูกหลานของเจ้าหน้าที่ทางการเลยสักคน ทุกคนเป็นเพียงลูกสาวของคนยากจน ที่รัฐบาลคงไม่กระตือรือร้นที่จะพยายามพาตัวกลับ นี่จึงเป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางศาสนา ที่ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิด กราดยิง หรือลักพาตัว แน่นอนว่ามันจะยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพลิงแห่งความขัดแย้งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของแอฟริกายังคงลุกไหม้ต่อ ไม่มีทีท่าว่าจะมอดดับลงง่าย ๆ      ที่มา https://www.ted.com/talks/stephanie_busari_how_fake_news_does_real_harm https://edition.cnn.com/2016/04/13/africa/chibok-girls-new-proof-of-life-video/ https://www.matichonweekly.com/column/article_132608 https://centerforinquiry.org/blog/bring-back-our-girls-at-5-boko-harams-forgotten-captives/ https://en.wikipedia.org/wiki/Chibok_schoolgirls_kidnapping https://plan-international.org/bring-back-our-girls-rights-nigeria https://www.huffpost.com/entry/celebrity-tweets-nigeria-girls_n_5297188