โจวซิงฉือ: ผู้ถูกแปะป้าย ‘คนเล็ก’ ในชื่อหนังภาษาไทยกับบท Loser ในแผ่นฟิล์ม

โจวซิงฉือ: ผู้ถูกแปะป้าย ‘คนเล็ก’ ในชื่อหนังภาษาไทยกับบท Loser ในแผ่นฟิล์ม
ในยุคหนึ่งที่การตั้งชื่อไทย หนังมักจะใช้อัตลักษณ์หรือฉายาของดาราท่านนั้น ๆ มาตั้งเพื่อง่ายต่อการสื่อสารและการตัดสินใจในการเลือกที่จะดูหนัง อย่างเฉินหลง ก็ต้องมีคำว่า ‘ฟัด’ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ก็มักจะเรียกเขาว่า ‘คนเหล็ก’ กระทั่งรอยยิ้มอันแสนสดใสของจูเลีย โรเบิร์ต ช่วงหนึ่งก็มักจะลงท้ายด้วยคำว่า ‘บานฉ่ำ’ อยู่เสมอ
โจวซิงฉือ ก็คือหนึ่งในนักแสดงที่ได้รับฉายาว่า ‘คนเล็ก’ เป็นชื่อไทยที่การันตีความขำความฮาอยู่เสมอตลอดยุค 1990s-2000s ที่ผ่านมา ด้วยเพราะคาแรกเตอร์ส่วนใหญ่ในช่วงต้น ๆ ในหนังของเขา ล้วนแล้วได้รับบทเป็นชายซำเหมาขี้แพ้ที่ไม่เอาอ่าว และมักจะเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู ก่อนจะพิสูจน์ตัวตนจนนำไปสู่บทสรุปอันแสนยิ่งใหญ่อยู่เสมอ
แม้ว่าหนังของเขาจะเต็มไปด้วยความบันเทิงเต็มขั้น บ้างก็ไร้สาระเบาสมอง แต่แก่นหลักในหนัง ทั้งหนังที่เขาแสดงนำเบื้องหน้า และหนังที่เขาลงมือกำกับในตำแหน่งเบื้องหลัง มักซ่อนความเจ็บปวด รอยยิ้ม และน้ำตาของเขาเอาไว้อยู่เสมอ เรามาถอดรหัสชีวิตของผู้ชายคนนี้ คนเล็กที่ยิ่งใหญ่แห่งโลกภาพยนตร์ ผ่านหนังมากมายที่สอดแทรกชีวิตของเขาเอาไว้อย่างแนบเนียน
ชีวิตวัยเด็ก บรูซ ลีและการเติบโตในตรอกเล้าหมู
ชีวิตของโจวซิงฉือนั้นไม่ต่างกับนักแสดงทั่ว ๆ ไปที่มักจะเริ่มต้นด้วยบทโศกเศร้าเคล้าน้ำตา เขาเกิดในครอบครัวยากจน ที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในชุมชนแออัดของฮ่องกงในยุค 1960s หากคุณนึกภาพที่อยู่ในสมัยวัยเด็กของเขาไม่ออก ให้นึกถึง ‘ตรอกเล้าหมู’ ชุมชนแออัดที่ซ่อนยอดนักสู้ฝีมือฉกาจเอาไว้ในหนัง คนเล็กหมัดเทวดา (Kung Fu Hustle, 2004) ได้เลย เพราะเขาได้สร้างชุมชนแออัดนี้จากความทรงจำในวัยเด็กของเขานั่นเอง
เด็กชายโจวซิงฉือ เป็นลูกคนกลาง และเป็นผู้ชายเพียงคนเดียวที่รายล้อมไปด้วยหญิงสาว ไม่ว่าจะเป็นแม่ / ยาย / พี่สาว และน้องสาว ด้วยความที่เขาขาดพ่อที่แยกทางกับแม่มาตั้งแต่เขายังเด็ก ซึ่งปมปัญหาและความเป็นพ่อที่ไม่เอาไหนสะท้อนผ่านบทบาทของเขาที่รับบทพ่อสุดห่วยในหนัง คนเล็กของเล่นใหญ่ (CJ7, 2008)
เขามีเพียงฮีโรในดวงใจที่เขาได้ดูในหนังอย่าง บรูซ ลี และกองทัพหนังกังฟูและหนังกำลังภายในของชอว์บราเดอร์สเท่านั้น ที่ทำให้เขาหลุดออกจากโลกของความจริงอันโหดร้ายนี้ไปได้ และแน่นอนการได้โลดแล่นบนจอหนังก็เป็นหนึ่งในความฝันอันยิ่งใหญ่ของเด็กชายโจวซิงฉือเช่นกัน
โชคชะตาที่นำพาสู่การเป็นตัวประกอบอดทน
และแล้วความฝันในวัยเยาว์ก็เข้าใกล้ความจริง เมื่อโจวซิงฉือในช่วงวัยรุ่น เห็นประกาศการรับสมัครการเรียนการแสดงของ TVB แต่เขามองว่าตัวเองหน้าตาธรรมดา มีเพียงความกล้าและความฝันเท่านั้นที่ผลักดัน เขาจึงชวนเพื่อนซี้สมัยมัธยมฯ ที่เรียนด้วยกันมาอย่าง เหลียงเฉาเหว่ย ไปสมัครด้วยกัน จนทั้งคู่ได้บรรจุเป็นพิธีกรในรายการเด็ก 430 Space Shuttle (1982) กระทั่งเหลียงเฉาเหว่ยเพื่อนซี้ของเขาที่มีภาษีเหนือกว่าทางด้านหน้าตา ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนในฐานะ 5 พยัคฆ์ทีวีบี แต่แสงสปอตไลท์กลับไม่ฉายแสงใส่โจวซิงฉือที่มีความกระตือรือร้นที่จะเป็นนักแสดงมากกว่า
โจวซิงฉือจึงใช้ทั้งพรสวรรค์และพรแสวง ยอมไปเป็นตัวประกอบอดทนในหนัง เพื่อทั้งเรียนรู้ และหาช่องว่างเพื่อกรุยทางเข้าสู่วงการภาพยนตร์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเรื่องราวในการเป็นตัวประกอบอดทนของเขานั้นกลายร่างมาเป็นหนัง คนเล็กไม่เกรงใจนรก (King of Comedy, 1999) ในเวลาต่อมา
โชคเข้าข้างเขา เพราะหนังที่เขาได้ไปรับบทตัวประกอบที่แม้จะปรากฏในฉากเพียงเสี้ยววินาที แถมยังถูกยิงตาย แต่หนังที่เขาแสดงกลับเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการหนังฮ่องกง นั่นก็คือหนังเรื่อง โหด เลว ดี (A Better Tomorrow, 1986) ที่โจวซิงฉือไปปรากฏในฉากสำคัญที่นับได้ว่าเป็นฉากคลาสสิกในหนังพอดี แม้จะถูกฆ่าในหนัง แต่การได้ซูเปอร์สตาร์อย่างโจวเหวินฟะมาลั่นไกใส่หน้าอก เหมือนเขาจะได้ตายตาหลับแล้ว (รับชมซีนคลาสสิกนี้ในนาทีที่ 1.00 ห้ามกะพริบตาโดยเด็ดขาด https://youtu.be/bipSXb33TL4?t=60)
โจวซิงฉือยังไม่ละความพยายาม เขามุ่งมั่นไปโผล่ตามกองถ่ายต่าง ๆ เพื่อแสดงให้ทีมงานกองถ่ายได้รับรู้ว่า เขานั้นมีความต้องการที่จะแสดงหนังอย่างมาก และสุดท้ายโชคก็เข้าข้างเขา
ก้าวเข้าสู่การแสดงอย่างเต็มตัว
ในที่สุด การแสดงของเขาก็เข้าตา ปาร์คแมน หว่อง นักแสดงที่ได้รับโอกาสให้ลองกำกับหนังเป็นเรื่องแรก เห็นแววการแสดงของนักแสดงหนุ่มไฟแรงอย่างโจวซิงฉือ จึงเสนอบทบาทที่เป็นชิ้นเป็นอันให้เขาครั้งแรกในหนัง เฉ่งไอ้คุณโป หรือ สารวัตรใจเพชร (Final Justice, 1988) ในบทบาทโจรลักรถที่พัวพันในคดีฆาตกรรม เพียงแค่หนังเรื่องแรก โจวซิงฉือก็ฉายแววแสดงฝีมือจนสามารถคว้ารางวัลม้าทองคำครั้งที่ 25 สาขานักแสดงสมทบฝ่ายชายยอดเยี่ยมจากหนังเรื่องนี้ไปครอง
ทีวีบีที่เคยมองข้ามการแสดงของเขาไป ถึงกับมอบบทบาทพระเอกให้เขาในหนังจีนชุดกำลังภายในเรื่อง จอมยุทธสะท้านโลกันตร์ (The Final Combat, 1989) ในบทต้วนเฟย ในปีต่อมา ยิ่งฉายแววการแสดงในบทบาทจอมยุทธที่มีลีลาแพรวพราว บู๊ก็ได้ ตลกก็ดี ซึ่งหาได้ยากยิ่งในยุคนั้น
แม้ในวงการจอแก้ว โจวซิงฉือจะได้รับบทพระเอก แต่วงการจอเงิน เขายังคงรับบทสมทบอยู่เช่นเคย แต่โจวซิงฉือไม่ย่อท้อ เพราะเขามองว่าการได้รับบทสมทบนั้น สามารถแสดงบทบาทที่หลากหลายยิ่งกว่า เพราะเพียงไม่นานเขาก็ได้ประกบดาราดังอย่างหลี่เหลียนเจี๋ยในหนัง มังกรกระแทกเมือง (Dragon Fight, 1989) รวมไปถึงการได้ร่วมงานกับจอห์น วู อีกครั้ง และในครั้งนี้เขาไม่ใช่ตัวประกอบที่โผล่ฉากเดียวตายอีกต่อไปในหนัง โหดแตกเหลี่ยม (Just Heroes, 1989)
ปี 1990 โจวซิงฉือได้เลื่อนขั้นแสดงประกบพระเอกเป็นพระรองที่บทบาทสูสีกับพระเอก ในหนังที่เริ่มฉายแววคาแรกเตอร์สุดกวนในหนัง เพื่อนผู้หญิงและคนเลว (Lung Fung Restaurant, 1990) ที่ได้ประกบกับม่อเส้าชง และประกบกับจางเซียะโหย่วในหนัง อ๋องอ๋าเทวดาฝากมากวน (Curry and Pepper, 1990)
แต่บทบาทที่แจ้งเกิดจนทำให้โจวซิงฉือได้เป็นพระเอกเต็มตัว มาจากหนังที่ทำล้อเลียนหนังคนตัดคนที่โด่งดังเมื่อปีก่อน ในชื่อ คนตัดเซียน (All for the Winner, 1990) ที่โจวซิงฉือรับบทเป็น อาซิง หนุ่มน้อยจากแผ่นดินใหญ่ที่ความสามารถพิเศษในการอ่านไพ่ทำให้เขากลายเป็นโคตรเซียน ซึ่งนอกจากจะทำให้โจวซิงฉือได้เข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกงครั้งที่ 10 ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมแล้ว คนตัดเซียน ยังเป็นหนังทำเงินสูงสุดในรอบทศวรรษ 1990s อีกด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขาได้เจอนักแสดงคู่หูที่กลายเป็นพี่น้องร่วมสาบานแห่งวงการบันเทิงในกาลต่อมา นั่นก็คือ อู๋ม่งต๊ะ นั่นเอง
สู่ฉายา คนเล็ก อย่างเป็นทางการ
หลังจากความสำเร็จในหนังคนตัดเซียน ชื่อเสียงและบทหนังมากมายก็หลั่งไหลมาให้โจวซิงฉือได้พิจารณา ไม่ว่าจะเป็นการรับไม้ต่อจากโจวเหวินฟะมารับบทที่ได้ประกบพระเอกแห่งยุคอย่างหลิวเต๋อหัวในหนัง คนตัดคน 2 (God of Gamblers II, 1990) และปีเดียวกันเขาก็ได้ยึดบทพระเอกแต่เพียงผู้เดียวในหนัง คนตัดคน 3 (God of Gamblers III, 1990)
แต่ที่ทำให้เขาได้รับฉายา ‘คนเล็ก’ ในเมืองไทยอย่างเป็นทางการก็มาจากหนังที่ทำล้อเลียนหนังไอ้หนุ่มซินตึ๊งล้างแค้น (Fist of Fury) ที่แสดงนำโดยบรูซ ลี นักแสดงในดวงใจเขา นั่นก็คือ คนเล็กต้องใหญ่ (Fist of Fury, 1991) เรื่องราวของไอ้หนุ่มหมัดหนัก ที่ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา หนังของโจวซิงฉือเมื่อมาฉายในไทย มักจะมีคำนำหน้าว่า คนเล็ก จั่วหัวเสมอ ไม่ว่าจะเป็น คนเล็กนักเรียนโต ทั้ง 3 ภาค (Fight Back to School, 1991-1993) / คนเล็กสะท้านยุทธจักร (Justice, My Foot!, 1992) หนังที่ทำให้เขาได้รับรางวัลระดับเอเชียในเทศกาล Asia Pacific Film Festival เป็นครั้งแรก
ขณะที่ยุคนั้นเป็นยุคที่หนังกำลังภายในกลับมาบูม ตำนานของจอมยุทธเจ้าสำราญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาจกซู / ถังไป่หู่ / จี้กง / อุ้ยเสี่ยวป้อ ไปจนถึงตำนานเห้งเจียไซอิ๋ว ต่างก็ให้โจวซิงฉือมารับบทบาทนี้กันถ้วนหน้า
พร้อมกันนั้นเขายังเป็นเบอร์ต้น ๆ ในการแสดงหนังล้อเลียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทที่ล้อเลียนฉากเปิดของหนังคนเหล็กใน โลกบอกว่าข้าต้องใหญ่ (Love on Delivery, 1994) ไปจนถึงล้อเลียนหนังสายลับ 007อย่าง พยัคฆ์ไม่ร้าย คัง คัง ฉิก (From Beijing with Love, 1994) และ สายไม่ลับคังคังโป๊ย (Forbidden City Cop, 1996) โดยมีคู่ซี้ต่างวัยอย่างอู๋ม่งต๊ะ ร่วมแสดงอยู่เสมอ
แต่ถึงหนังโจวซิงฉือจะรับประกันในรายได้ที่ทำเงินอย่างถล่มทลาย แต่หนังตลกของเขามักถูกค่อนขอดว่าเป็นหนังตลก Mo-Lei- Tau ภาษากวางตุ้งที่หมายถึง ‘ไร้สาระ’ จนช่วงหลัง ๆ หนังเขามักจะได้รับการชูนิ้วโป้งลง ซึ่งโจวซิงฉือเองก็รู้สึกเช่นกันว่าหนังเหล่านี้กำลังจะทำลายชื่อเสียงในไม่ช้า หากยังย่ำอยู่กับที่
ในขณะเดียวกัน ข่าวลือต่าง ๆ หลังอังกฤษคืนฮ่องกงสู่จีนก็ทำให้โจวซิงฉือรู้สึกอยากจะโกอินเตอร์เหมือนเช่นรุ่นพี่อย่างโจวเหวินฟะ / เฉินหลง และหลี่เหลียงเจี๋ย ได้ทำสำเร็จแล้ว เขาจึงทำเรื่องย้ายสัญชาติไปตั้งรกรากที่แคนาดา แต่น่าเสียดายที่ข่าวว่าเขาไปพัวพันกับแก๊งมาเฟียและองค์กรลับใต้ดินของฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้เขาถูกปฏิเสธการโอนสัญชาติจากแคนาดา ซ้ำร้ายแผนการจะโกอินเตอร์ในฮอลลีวูดของเขาก็พังไม่เป็นท่าเมื่อหนังตลกของเขานั้นทำงานเฉพาะในระดับภูมิภาคเอเชียเท่านั้น ฝรั่งตาน้ำข้าวกลับไม่ตลกไปด้วย
เริ่มบทบาทใหม่ในฐานะผู้กำกับ
แต่ถึงจะไม่สำเร็จในการโกอินเตอร์ แต่โจวซิงฉือกลับเริ่มหลงใหลในบทบาทผู้กำกับ เพราะชื่อเสียงและความโด่งดังของโจวซิงฉือนั้นทำให้การแสดงของเขามักอยู่เหนือบทหนังและการกำกับในหลาย ๆ ครั้ง เช่นกรณีพิพาทระหว่างเขากับตู้ฉีฟงในหนัง คนเล็กสะท้านยุทธจักร (Justice, My Foot!, 1992) นั้น ที่แม้เขาจะได้รางวัลในระดับเอเชีย แต่กับผู้กำกับ กลับมองโจวซิงฉือเป็นฝันร้ายของการทำหนังจนไม่เผาผีกันในเวลาต่อมาเลย จนโจวซิงฉือมองว่า “ถ้าอย่างนั้นทำไมเขาไม่ลงมือกำกับไปเลยล่ะ”
หนังเรื่องแรกที่มีชื่อในฐานะผู้กำกับ นั่นก็คือ ถังไป่หู่ ใหญ่ไม่ต้องประกาศ (Flirting Scholar, 1993) แม้จะเป็นการกำกับร่วมกับผู้กำกับเพราะเขายังไม่เข้าใจในศาสตร์ของภาพยนตร์ดีนัก แต่โจวซิงฉือก็ควบคุมดูแลหนังเรื่องนี้อย่างเต็มที่
หนังหลายต่อหลายเรื่องจึงมักจะมีชื่อของเขาร่วมกำกับอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น โลกบอกว่าข้าต้องใหญ่ (Love on Delivery, 1994) พยัคฆ์ไม่ร้าย คัง คัง ฉิก (From Beijing with Love, 1994) สายไม่ลับคังคังโป๊ย (Forbidden City Cop, 1996) คนเล็กกุ๊กเทวดา (The God of Cookery, 1996) จนมาถึง คนเล็กไม่เกรงใจนรก (King of Comedy, 1999) ดูเหมือนโจวซิงฉือจะรู้ในสไตล์ของตนแล้วว่าเขาจะผสมผสานหนังตลกไร้สาระกับหนังคุณภาพเอาไว้อย่างไร และเขารู้เส้นทางในการโกอินเตอร์ของเขาแล้วว่าไม่จำเป็นที่เขาจะต้องไปแสดงหนังฮอลลีวูด แต่เขาเลือกทำหนังให้ฮอลลีวูดต้องมาอ้อนวอนขอหนังเขาไปฉายจะดีกว่า
จากความเจ็บช้ำจากการถูกแคนาดาปฏิเสธสัญชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งตอกย้ำภาพของวีรบุรุษขี้แพ้ของเขาอย่างเต็มรูปแบบ โจวซิงฉือจึงทำหนังที่ผสมผสานความ Loser เข้ากันกับความรักในหนังกังฟู จนนำมาสู่งานมาสเตอร์พีซชิ้นแรกอย่างเป็นทางการของเขา นั่นก็คือ นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่ (Shaolin Soccer, 2001) เรื่องราวของทีมนักฟุตบอลโหลยโท่ยที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ แต่ด้วยความสามัคคีและเข้าอกเข้าใจกันและกัน นำพาให้พวกเขาเข้ารอบลึกในการแข่งขันฟุตบอล
หนังได้รับการพูดถึงอย่างล้นหลาม ทั้งในฐานะหนังฮ่องกงที่มีสไตล์จัดจ้าน ตลกบ้าบอได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็สอดแทรกความรันทดใจของเหล่า Loser ไปจนถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมกังฟูให้โลกได้รับรู้ โดยเฉพาะประเทศเราที่ได้ทีมพากย์พันธมิตรมาช่วยทำให้หนังสนุกยิ่งขึ้น หนังคว้าทั้งเงินและคว้าทั้งกล่อง โดยเฉพาะรางวัลสูงสุดอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม ที่โจวซิงฉือเดินสายรับรางวัลนี้ในเกือบทุกเวทีที่เขาไปเยือน
แต่น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ไปไม่ถึงฝั่งฝันใน 2 ประเทศมหาอำนาจ นั่นคืออเมริกา ที่หนัง Shaolin Soccer ถูกซื้อไปฉายโดยสตูดิโอเจ้าปัญหาอย่าง Miramax และได้ทำการตัดต่อใหม่จนทำลายอรรถรสของหนัง ซ้ำยังทิ้งช่วงจากการฉายในฮ่องกงนานถึง 2 ปี จนนักดูหนังต้องไปโหลดดูเถื่อนกันจนหมดแล้ว สร้างความไม่พอใจให้กับโจวซิงฉืออย่างมาก ทั้งที่เขาลงทุนพากย์เสียงเป็นภาษาอังกฤษด้วยตัวเขาเอง แต่เมื่อหนังฉายกลับถูกวางเป็นหนังอินดี้ไร้ราคาอย่างน่าเสียดาย
และอีกประเทศหนึ่งที่หนังถูกแบนอย่างไร้เหตุผลนั่นคือ จีนแผ่นดินใหญ่ ที่แบนหนังเรื่องนี้โดยไม่ให้ฉายในโรงภาพยนตร์ในจีน เนื่องจากช่วงนั้นฟุตบอลโลกกำลังใกล้เข้ามา กองเซ็นเซอร์จีนเกรงว่าหนังเรื่องนี้จะไปลดทอนกำลังใจของทีมชาติจีนที่ได้เข้ารอบในการแข่งขัน และมองการแข่งในหนังนั้นดูตลกจนเกินไป แต่อีกแหล่งข่าวบอกว่าโจวซิงฉือถือวิสาสะฉายในฮ่องกงโดยไม่ยอมส่งหนังให้ทางการจีนพิจารณาฉายก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่วงการหนังฮ่องกงต้องส่งหนังให้จีนแผ่นดินใหญ่พิจารณาด้วย แต่อย่างไรก็ดี หนังก็ทำรายได้เป็นประวัติการณ์ที่ฮ่องกง และที่จีนสุดท้ายก็ได้ดูหนังเรื่องนี้ผ่านดีวีดีผีผิดกฎหมายกันอย่างครึกโครม
แต่สถิติของ Shaolin Soccer ก็ถูกทำลายด้วยตัวเขาเอง เมื่อหนังเรื่องต่อมา โจวซิงฉือได้หลอมรวมความฝัน แรงบันดาลใจ และสไตล์ที่เป็นทางถนัดของเขาเข้าด้วยกันในหนัง คนเล็กหมัดเทวดา (Kung Fu Hustle, 2004) ที่เล่าเรื่องของหนุ่มกระจอกที่ได้ไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของแก๊งขวานซิ่ง และชุมชนตรอกเล้าหมู จนนำไปสู่การค้นพบตัวเองในตอนท้าย
หนังเติมเต็มทั้งความฝันในการรวบรวมทีมนักแสดงหนังกังฟูที่เขาเคยดูในวัยเด็ก รวมกันเข้ากับเรื่องราวการต่อสู้ในยามจนตรอกของสังคมชายขอบ ผสานเข้ากับความทรงจำในชุมชนที่เขาเติบโตมา ฉาบหน้าด้วยเทคนิคซีจีและคิวบู๊ขั้นเทพของหยวนหวูปิง โดยไม่ทิ้งสไตล์ตลกที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเขาไป Kung Fu Hustle เป็นที่สุดแห่งความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของโจวซิงฉือ โดยที่หนังได้ทุนสร้างจากสตูดิโอฮอลลีวูด (Columbia Pictures) ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่งาน Sundance Films Festival และสามารถทำเงินถล่มทลายในบ้านเกิดจนกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลแห่งทศวรรษ 2000s ชนะ Shaolin Soccer หนังของตนที่ทำไว้ก่อนหน้า คว้ารางวัลทั้งในบ้านเกิดและระดับโลก เรียกได้ว่า Kung Fu Hustle คือจุดสูงสุดในชีวิตของเขาก็ไม่ผิดอะไร เพราะหนังเรื่องนี้สามารถเติมเต็มทุกความฝันที่ฝังลึกมานาน และทุกคนต่างจับตาว่าก้าวต่อไปของเขานั้นจะเป็นเช่นไร
ชื่อเสียง เงินทอง และข่าวด้านลบ
หลังจากความสำเร็จของ Kung Fu Hustle โจวซิงฉือก็เติมเต็มความฝันของตนอีกครั้งด้วยหนัง คนเล็กของเล่นใหญ่ (CJ7, 2008) ที่เล่าถึงมนุษย์ต่างดาวตัวเขียวน่ารักในรูปแบบของ ET. ฉบับสุดกวน งานนี้เขาให้ความสำคัญกับการกำกับมากกว่าการแสดง โดยลดความสำคัญในการรับบทเป็นพ่อของเด็กชายผู้ไม่เอาอ่าว (แต่เด็กชายในหนังรับบทโดยเด็กผู้หญิง) แม้หนังจะไม่สามารถเทียบรอยความสำเร็จได้เท่าเรื่องก่อนหน้า แต่ตุ๊กตาเอเลียนตัวเขียวน่ารักกลับขายดีมาก ๆ ในฮ่องกงและจีน และถึงแม้หนังจะเป็นความผิดหวังของคนดูระดับแฟนตัวยง ที่รู้สึกว่ามันผิดฟอร์มจากเรื่องก่อนหน้า แต่ CJ7 ก็สร้างประวัติศาสตร์ในต่างแดนโดยเฉพาะในมาเลเซียที่เคยทำรายได้สูงสุดตลอดกาลแซงหน้า Titanic ว่ากันว่า CJ7 เปิดโอกาสให้เขาได้ทำความรู้จักกับนักธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่มากมาย
ในช่วงเวลานั้นเอง จีนอยู่ในช่วงของการเจริญเติบโตสู่การเป็นมหาอำนาจทางธุรกิจโลก โจวซิงฉือได้กลายเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์สินระดับพันล้าน ขณะเดียวกันเขาก็หันหลังให้กับการแสดงอย่างสมบูรณ์ โดยที่หนัง CJ7 คือการฝากผลงานการแสดงไว้เป็นเรื่องสุดท้าย
หลังจากนั้นโจวซิงฉือก็สนุกในบทบาทเบื้องหลัง เขาได้ไปเป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังที่สร้างจากการ์ตูนดังอย่าง Dragonball Evolution (2009) แม้จะล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ก็เป็นครั้งสำคัญที่เขาได้ทำในระบบสตูดิโอฮอลลีวูด / ได้หยิบตำนานไซอิ๋วมาทำอีกครั้งในหนัง ไซอิ๋ว 2013 คนเล็กอิทธิฤทธิ์หญ่าย (Journey to the West: Conquering the Demons) จนกลายเป็นหนังทำเงินถล่มทลายในจีน จนเขาย้ายบ้านไปลงหลักปักฐานที่จีนแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการ / ได้ทำหนังที่ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมทางท้องทะเลในเรื่อง เงือกสาว ปัง ปัง (The Mermaid, 2016) และกลับมาสำรวจตัวตนด้วยการรีเมคผลงานตัวเองอีกครั้งในหนัง The New King of Comedy (2019)
แม้ว่าด้านหนึ่งจะเห็นรอยทางความสำเร็จของโจวซิงฉือมากมาย แต่อีกด้าน โจวซิงฉือต้องเผชิญหน้ากับข่าวเสีย ๆ หาย ๆ ที่ถาโถมเข้ามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงมากมายที่ต่างแฉพฤติกรรมในอดีตของโจวซิงฉือ โดยเฉพาะนักแสดงหญิงมากมาย ที่ไม่ได้รับการให้เกียรติทั้งในฐานะนักแสดงและการเป็นผู้กำกับของเขา รวมไปถึงอดีตคู่หูอย่างอู๋ม่งต๊ะ ที่หลัง ๆ ไม่ได้แสดงคู่กัน จนหลายคนคาดเดาต่าง ๆ นานาว่าทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรง แต่โจวซิงฉือกลับเลือกที่จะเงียบ และให้เวลาเป็นคนแก้ข่าวแทน โดยเฉพาะข่าวกรณีพิพาทระหว่างเขากับอู๋ม่งต๊ะ
สุดท้ายความจริงก็ปรากฏว่าทั้งสองไม่เคยทะเลาะกัน เพียงแต่ด้วยคิวงานที่ไม่ตรงกัน ทำให้ทั้งคู่ไม่เคยได้แสดงร่วมกันอีกเลย โดยเฉพาะ CJ7 ที่ตอนแรกโจวซิงฉือตั้งใจจะให้เพื่อนซี้ต่างวัยแสดงแทนบทบาทของเขาด้วยซ้ำ หากแต่ช่วงนั้นอู๋ม่งต๊ะป่วยจนไม่สามารถมาแสดงได้ จวบจนวันสุดท้ายของชีวิตอู๋ม่งต๊ะ โจวซิงฉือก็แสดงให้เห็นมิตรภาพอันยาวนานด้วยการมาร่วมเคารพศพของเพื่อนซี้ต่างวัยเป็นครั้งสุดท้าย
ถึงแม้ว่าชีวิตปัจจุบันของโจวซิงฉือจะผ่านไปด้วยความเรียบง่าย ไม่ได้หวือหวาและเต็มไปด้วยไฟอันร้อนแรงเหมือนตอนสมัยเข้าวงการใหม่ ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชีวิตของคนเล็กที่ลงเอยด้วยช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่นั้น กลับพรั่งพรูไปด้วยสีสันและความทะเยอทะยานอย่างเต็มเปี่ยม และภายใต้ความเฮฮาในหนังที่เขาแสดงและกำกับนั้น มีเรื่องราวและความทรงจำของเขา ทั้งสวยงามและขมขื่นซ่อนอยู่ในนั้น ขึ้นอยู่กับคุณมองมันว่าเป็นเพียงหนังตลกเบาสมอง หรือเรื่องราวชีวิตที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ
ที่มา:
เรื่อง: สกก์บงกช ขันทอง