สตีเวน ยอน: เกาหลี-อเมริกัน รุ่น 1.5 กับต้น Minari ที่งดงามแบบที่ควรจะเป็น

สตีเวน ยอน: เกาหลี-อเมริกัน รุ่น 1.5 กับต้น Minari ที่งดงามแบบที่ควรจะเป็น
“บางครั้งผมก็คิดนะว่าประสบการณ์การเป็นเอเชียน-อเมริกัน มันเหมือนกับเวลาที่คุณคำนึงถึงคนอื่น ๆ แต่ไม่มีใครเลยที่คิดถึงคุณ"
สตีเวน ยอน (Steven Yeun)  ได้กล่าวกับสื่อ The  New York Times Magazine ถึงประเด็นที่ชาวเอเชียในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกทำร้ายร่างกาย จนไปถึงถูกฆาตกรรมเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลพวงมาจากกระแสความเกลียดชังต่อชาวเอเชียที่เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 แม้เหล่าคนดังและสื่อต่าง ๆ จะออกมาเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงเรื่องนี้จนเกิดกระแส  #StopAsianHate แต่ความรุนแรงนี้ดูแล้วจะไม่มีทางสิ้นสุดลงได้ง่าย สตีเวนเพิ่งจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแสดง Asian - American คนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง ‘Minari’ ของผู้กำกับ อี ไอแซค จอง ทำให้เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนดังเชื้อสายเอเชียคนแรก ๆ ในวงการฮอลลีวูดที่สื่อต่าง ๆ จะนึกถึงและขอสัมภาษณ์ในช่วงเวลานี้ และตัวหนัง Minari มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวผู้อพยพชาวเอเชียที่ย้ายไปอยู่อเมริกาด้วยความหวังว่าดินแดนแห่งเสรีภาพแห่งนี้จะมอบชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้วความตั้งใจของทีมงานและนักแสดงไม่ได้ต้องการจะให้หนังเป็นสื่อแสดงออกเรื่องทางการเมืองใด ๆ แต่ต้องการให้ผู้คนทุกคนทุกเชื้อชาติได้เข้าถึงเรื่อง ‘มนุษยธรรมที่ควรมีให้กับบุคคลที่แตกต่าง’ โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ Golderby ไว้ว่า  “เราพยายามที่จะนำเสนอเรื่องราวความจริงซึ่งจะทำให้ผู้ชมทุกคนรู้สึกเข้าถึงเชื่อมโยงกับมันได้มากที่สุดโดยไม่มีกำแพงอะไรมากั้น ให้ได้รู้ว่าพวกเราสามารถเชื่อมโยงกันได้ในแง่ของความเป็นมนุษย์ ผมหวังว่าผู้คนจะมองเห็นกันได้ชัดเจนขึ้น เราไม่ต้องมองกันด้วยความหวาดกลัว หรือมองกันแค่เปลือกนอกเท่านั้น เราไม่ควรแบ่งแยกกันด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่าง หรือลักษณะของผู้คน เราให้ความสำคัญกับความจริง และผมคิดว่าในเบื้องลึกแล้ว พวกเรามีความเชื่อมโยงกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ผ่านสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ “มันเป็นความอัปยศอย่างแท้จริงนะครับ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่เรายังคงอยู่ในช่วงเวลาเช่นนี้ที่ผู้คนแสดงปฏิกิริยาด้วยความกลัวและความเกลียดชัง สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มาโดยตลอด และประสบการณ์ที่ได้รับจากหนังเรื่องนี้ก็คือเรามีความรักมากมายและการทุ่มเทใจอย่างมากที่อยากจะเชื่อมโยงกับทุกคนอย่างลึกซึ้ง ผมหวังว่าหนังจะเพิ่มบรรยากาศที่ดีขึ้นได้ในช่วงเวลาแบบนี้”   เกาหลี อเมริกันรุ่น 1.5 สตีเวน ยอน มีชื่อเกาหลีว่า ยอนซังยอบ เขาเกิดที่เกาหลีใต้ ก่อนจะย้ายมายังอเมริกาตอนอายุ 5 ขวบ และพ่อแม่ของเขาเปลี่ยนชื่อเขาเป็นสตีเวนโดยมีเหตุผลง่าย ๆ ว่าพาเขาไปหาหมอแล้วเจอหมอชื่อนี้ เลยตั้งชื่อตามหมอ ในหมู่คนเกาหลี-อเมริกันมีการแบ่งประเภทเรียกเป็นรุ่น รุ่น 1 คือรุ่นผู้บุกเบิก คือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เติบโตที่ประเทศเกาหลีแล้วย้ายถิ่นฐานมายังดินแดนใหม่ ก่อร่างสร้างตัวและตั้งรกรากที่นี่ รุ่นที่ 2 คือรุ่นลูก เด็กที่เกิดบนพื้นแผ่นดินอเมริกา เติบโตมาอย่างเกาหลีหรือเมริกันก็ได้ ตามแต่ครอบครัวจะเลี้ยงดู แต่สำหรับสตีเวน เขาคือรุ่นพิเศษที่เรียกว่ารุ่น 1.5 ซึ่งในภาษาเกาหลีเรียกว่า Ilchom ose ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดในเกาหลี และย้ายถิ่นฐานไปเมื่อยังเด็ก (นับอายุก่อนถึงช่วงวัยรุ่น) รุ่น 1.5 นี้มีความพิเศษตรงที่พวกเขามีบ้านเกิดที่ต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็สามารถเรียกประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ปัจจุบันว่าบ้านได้เช่นกัน คนรุ่น 1.5 แตกต่างจากรุ่น 2 ตรงที่พวกเขายังจะพอมีความเชื่อมโยงกับประเทศต้นกำเนิด พวกเขามักเติบโตมาอย่างสองวัฒนธรรม โดยที่ยังสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของครอบครัว และยังสามารถเรียนรู้การใช้ชีวิต ทั้งภาษาและวัฒนธรรมใหม่ได้อย่างรวดเร็วกว่ารุ่น 1 ที่ยังคงยกวัฒนธรรมบ้านเกิดติดตัวไปด้วยเต็ม ๆ พ่อแม่เลี้ยงเขามาให้พูดภาษาเกาหลีเวลาอยู่ที่บ้าน แต่เขาก็เติบโตมาอย่างเด็กชาวเกาหลี-อเมริกัน ที่การอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดทำให้เขาไม่ได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวเกาหลี เขากินอาหารเกาหลีที่แม่ของเขาทำให้ทุกวัน แต่ไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไร ภาษาเกาหลีของเขาก็ลืมเลือนไปตามเวลา และจากการที่พยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เขาจึงมีแนวความคิดแบบอเมริกันมากกว่าพ่อแม่ของเขา “พ่อแม่ของผมต้องการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยหลังจากการอพยพมา พวกเขาอยากใช้ชีวิตอยู่ในโลกของชุมชนชาวเกาหลี-อเมริกันของพวกเขา ส่วนตัวผมเองพยายามที่จะเสี่ยงภัยในอเมริกา เพื่อที่จะเป็นตัวของตัวเอง” แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น เขาทำตัวแหกคอกแหวกขนบของพ่อแม่ชาวเอเชีย ที่มักอยากให้ลูกทำอาชีพที่มั่นคง เชิดหน้าชูตา (และรายได้ดี) อย่างการเป็นหมอหรือทนายด้วยการหันมาเอาดีทางด้านการแสดง...   ฮีโรเชื้อสายเอเชียผู้เป็นที่รัก หลังจากเรียนจบด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Kalamazoo College  สตีเวน ยอนก็ไม่รู้ว่าชีวิตของเขาอยากจะทำอะไรต่อไปดีเลยตามเพื่อนเข้าไปร่วมกลุ่มคณะนักแสดงตลกอยู่ช่วงหนึ่ง ในช่วงนั้นครอบครัวและเพื่อนฝูงของเขาให้คำแนะนำว่าหากชีวิตที่อเมริกามันยาก ทำไมไม่ลองไปเป็น Gyopo หรือคนเกาหลีที่ไปโตเมืองนอก แต่กลับไปทำงานในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ ซึ่งน่าจะมีโอกาสให้เขามากกว่าจับเจ่าอยู่ที่นี่ เพราะในอเมริกามีการแข่งขันสูง และนักแสดงเอเชียก็มักได้แต่บทแบบเดิม ๆ ระหว่างที่ลังเลอยู่นั้นเขาก็เตรียมตัวที่จะสอบเป็นครูอาสาให้กับองค์กร Teach for America ไปด้วย โชคดีที่ระหว่างนั้นเขาได้รับการตอบรับให้เป็นส่วนหนึ่งของ The Walking Dead ซีรีส์ซอมบี้ที่ต่อมาสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการโทรทัศน์ มียอดผู้ชมสูงที่สุดอันดับหนึ่งของโลก และบทเกล็น หนุ่มส่งพิซซ่าชาวเอเชียของสตีเวน ยอนนั้นก็เป็นตัวละครที่ผู้ชมรักมากที่สุด ความสำเร็จที่มาแบบไม่ทันตั้งตัวทำให้สตีเวน ยอน กลายเป็นชื่อนักแสดงเอเชีย-อเมริกันที่ผู้คนรู้จักมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ แม้ว่าเขาจะรู้สึกขอบคุณแฟน ๆ ที่ชื่นชอบการแสดงของเขา แต่ก็มีบางเรื่องที่เขาไม่รู้ว่าตัวเองควรจะดีใจไปกับมันดีไหม ก็คือการได้รับการยกย่องให้เป็น Inspirational Sex Symbol for Young Asian Men เนื่องจากตัวละครของเขาได้เป็นชาวเอเชียที่มีความรักมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงผิวขาว ซึ่งบทแบบนี้แทบไม่เคยมีในฮอลลีวูดมาก่อน “ทุกวันนี้ยังมีแฟนคลับชายเอเชียเขียนอีเมลมาขอบคุณผมอยู่เลยครับว่า ขอบคุณนายมากนะที่เป็นคนแรกของชาวเราที่ได้ทำอะไรแบบนี้ ซึ่งตัวผมเองที่ผ่านมาก็มีประสบการณ์ถูกปฏิเสธมาอย่างที่ทุกคนเจอนั่นแหละ แต่ผมว่ามันเป็นความคิดที่แย่นะ ถ้าหากคิดว่าเราจะเป็นผู้ชายเต็มตัวได้เมื่อได้อยู่กับผู้หญิงผิวขาวเท่านั้น” จากความโด่งดังของ The Walking Dead สตีเวนหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าตัวตนของเขาคือคนเกาหลี-อเมริกัน เพียงแต่บทเกล็น ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นหนุ่มเอเชียผู้แสนดี ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองก็มีศักยภาพที่รับบทอื่น ๆ ได้ไม่แพ้นักแสดงเชื้อชาติอื่น ๆ  สตีเวนไม่อยากติดอยู่กับแต่ภาพลักษณ์เดิม ๆ จนเขาเริ่มรับงานที่หลากหลายมากขึ้น และได้มีโอกาสร่วมงานกับผู้กำกับเกาหลีครั้งแรกกับ บงจุนโฮ ในเรื่อง Okja (2017) หนังจาก Netflix เรื่องแรกที่ได้เข้าสายประกวดชิงรางวัล Palme d’Or จาก Cannes Film Festival และมาโชว์ความสามารถแบบสุด ๆ กับบทเบน ในเรื่อง Burning (2018) ของผู้กำกับ อีชางดง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลทางการแสดงมากมาย ความสำเร็จของเขาทั้งในอเมริกาและเกาหลีใต้บ้านเกิด ทำให้สตีเวน ยอน แตกต่างจากนักแสดงเอเชียน-อเมริกันรุ่นพี่ในวงการ ไม่ว่าจะเป็น จอห์น โช, แดเนียล แดคิม และซานดร้า โอ ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะมีชื่อเสียงในอเมริกา แต่ไม่ได้ดังในประเทศต้นกำเนิดของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เส้นทางบันเทิงในประเทศเกาหลีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่นี่ยังมีปัญหาดรามาที่เกิดจากความไม่เข้าใจวัฒนธรรมเกาหลีหลายอย่าง เช่นเรื่องที่เขาเผลอไปไลก์รูปคนใส่เสื้อลายธง Rising Sun ของญี่ปุ่น เลยทำให้ชาวเกาหลีโกรธเขามาก ๆ จนเขาต้องออกมาเขียนแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการ และเรื่องนี้ทำให้เขาต้องกลับมาทบทวนตัวตนว่าจริง ๆ แล้วเขาคือคนประเทศไหนกันแน่ จนเขาได้คำตอบที่ตรงกับตัวเองมากที่สุดว่าเป็นเอเชียน-อเมริกัน ซึ่งรวมตัวตนของทั้งสองฝั่งแบบไม่สามารถแยกจากกันได้ “เมื่อผมมาอยู่อเมริกา ผมมีความรู้สึกขัดแย้งกันเสมอครับ อย่างเช่นผมไม่ได้เป็นแค่คนเกาหลีนะ ผมเป็นอเมริกัน “แต่พอมาที่เกาหลี เขาก็มองผมว่าผมเป็นอเมริกันไปเลย ผมไม่สามารถเปลี่ยน DNA ของผมได้ครับ ผมได้รับข้อมูลทางพันธุกรรมที่ส่งผ่านมาทางสายเลือด แต่ถ้าถามว่าผมรู้ทุกอย่างเหมือนกับคนเกาหลีที่เติบโตในเกาหลีหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ เพราะผมไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่น และไม่ได้รับการปลูกฝังจากสังคมนั้น”   ส่งต่อเพื่อรุ่นต่อไป “มินาริคือพืชที่ตายในปีแรก และเติบโตงอกงามในปีที่สอง มันทำให้สิ่งรอบ ๆ ตัวมันบริสุทธิ์ ทั้งน้ำและดิน ผมว่าอุปมานิทัศน์นี้มันอธิบายความหมายด้วยตัวมันเองแล้ว” สตีเวน ยอน อธิบายถึงชื่อของภาพยนตร์ที่เขามักจะถูกถามนับร้อย ๆ ครั้ง กับความหมายของชื่อหนัง Minari คือพืชชนิดหนึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oenanthe javanica แต่รู้จักกันในหลากหลายชื่อ Water Dropwort, Japanese parsley, Water celery, Chinese celery หรือ ผักชีล้อม ซึ่งผู้กำกับ อี ไอแซค จอง ตั้งใจนำมันมาเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบการตั้งรกรากของชาวเกาหลีที่ย้ายถิ่นฐานไปยังอเมริกา มินาริ เป็นพืชผักที่บางคนอาจจะมองว่าเป็นวัชพืชแต่จริง ๆ แล้วเป็นผักที่ชาวเกาหลีนำมากินเป็นอาหาร และเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการที่พ่อของเขาปลูกมินาริที่บ้านใน Oklahoma และตัวเขาเองก็นำมินาริจากบ้านเขาเองมาใช้ในกองถ่ายด้วย “มันน่าสนใจที่ว่า มินาริเป็นพืชที่จะเติบโตอย่างดีในรุ่นที่สองของมัน หลังจากมันตายไปแล้ว มันจะกลับมา ด้วยเหตุนี้เราจึงมีองค์ประกอบนี้อยู่ในหนังด้วย มินาริสามารถเจริญงอกงามโดยที่ไม่ต้องทำอะไรมาก มันจึงเป็นพืชที่มีความหมายราวบทกวีสำหรับผม” พืชที่เจริญงอกงามเป็นอย่างดีในรุ่นที่สองจึงกลายเป็นตัวแทนของผู้อพยพรุ่นหลังที่จะเติบโตต่อยอดจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มาแผ้วถางทางเอาไว้ให้ สตีเวน ยอน เผยว่าแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นเหมือนตัวแทนผู้อพยพชาวเกาหลี-อเมริกัน แล้วเขาก็คือผู้ที่เหมาะสมที่จะแสดงเรื่องนี้ แต่เขาไม่อยากให้เชื้อชาติของเขามาเป็นสิ่งที่จำกัดการทำงาน แต่ที่เขาตัดสินใจแสดงหนังเรื่องนี้เพราะมันนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวที่ทุกคนเข้าถึงได้ และบอกความจริงเกี่ยวกับชาวเอเชียน-อเมริกัน “ผมไม่อยากถูกนิยามตัวตน เพียงแค่ว่าอัตลักษณ์ของผม อย่างเช่น คุณทำหนังเกี่ยวกับวัฒนธรรมของคุณ คุณเป็นตัวแทนวัฒนธรรมของคุณ แต่แล้วจู่ ๆ คุณก็มาอยู่ท่ามกลางการโปรโมตกับสื่อครั้งใหญ่ พูดถึงวัฒนธรรม แล้วทันใดนั้นคุณก็ได้กลายมาเป็นตัวแทนทูตวัฒนธรรม โดยพฤตินัยอย่างประหลาด คุณจะถูกย่นย่อตัวตนให้เหลือเพียงแค่แง่มุมเดียว ตอนที่พ่อของผมอพยพมาอยู่ที่นี่ เขารู้ว่าเขาจะต้องเจอกับสถานการณ์แปลก ๆ แต่เขาไม่ได้กลับบ้านมาในแต่ละวันแล้วมานั่งโกรธว่าเขาถูกกดขี่จากข้างนอกมาเป็นไงบ้าง  เขาก็แค่กลับมาบ้านเหมือนทุก ๆ วัน มากินข้าวกับครอบครัว พวกเราไม่ได้มานั่งคิดตรึกตรองว่าพวกเราเป็นใคร ต่างกับมาตรฐานโลกภายนอกยังไง เราแค่พยายามที่จะใช้ชีวิตของเรา และตอนที่ผมอ่านบทเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่แท้จริงที่สุด “ผมรู้สึกว่า นี่แหละใช่ เราไม่ได้ต้องการใครอื่น เราแค่ต้องการครอบครัวของเราแค่นั้นพอแล้ว พอผมเห็นในจุดนี้ มันก็ทำลายกำแพงกั้นลงไปทั้งหมด มันกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้แล้วเข้าใจว่า อ้อ! นี่คือแรงผลักดันของพ่อ อ้อ! นี่คือจิตวิญญาณของแม่ อ้อ! นี่คือความปรารถนาของครอบครัว แล้วจากนั้นพวกเราก็เชื่อมโยงกันได้หมด” เส้นทางความเป็นนักแสดงเชื้อสายเกาหลี หรือชาวเอเชียในฮอลลีวูดนั้นคงยังไม่มีใครตอบได้ว่าฮอลลีวูดจะเปิดโอกาสให้กับชาวเอเชียหรือชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ มากแค่ไหน แต่สตีเวน ยอม ก็ได้ตอบคำถามให้กับผู้ที่มีเชื้อสายเอเชียที่อยากมีเส้นทางในฮอลลีวูดว่า “อย่างแรก และสำคัญที่สุดเลย คุณต้องไม่ลืมว่าคุณเองก็เป็นมนุษย์ที่มีเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง คุณควรเริ่มต้นจากการหาว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคุณ แล้วนำเสนอมันออกมาจากจุดนั้น ผมคิดว่าเส้นทางของนักแสดงแต่ละคนไม่สามารถลอกเลียนกันได้ ดังนั้นออกจากกรอบของคุณซะ”   อ้างอิง https://www.nytimes.com/2021/02/03/magazine/steven-yeun.html https://www.goldderby.com/video/steven-yeun-interview-minari/ Steven Yeun & Riz Ahmed on ‘Minari' and ‘Sound of Metal’ | Actors on Actors https://youtu.be/acLmXKkMEuU   เรื่อง: จากเพจ ผู้ชายคนนั้นจากหนังเรื่องนี้