ดอร่า มาร์เกซ: Dora the Explorer มากกว่า “แบ็คแพ็ค” คือการสอนภาษาเด็กวัยก่อนเรียน

ดอร่า มาร์เกซ: Dora the Explorer มากกว่า “แบ็คแพ็ค” คือการสอนภาษาเด็กวัยก่อนเรียน
ระหว่างการประชุมในเดือนธันวาคม ปี 1997 ผู้บริหารระดับสูงของช่องนิคเคโลเดียน (Nickelodeon) สอบถามทีมพัฒนาว่าพวกเขามีไอเดียอยากสร้างรายการใหม่อะไรกันบ้าง ก่อนหน้านี้ผู้บริหารเคยคุยกับผู้ผลิตจากภายนอกมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ค่อยพอใจไอเดียเท่าไหร่ วาเลรี วอลช์ วาล์ดส์ (Valerie Walsh Valdes) นักศึกษาฝึกงานสาวจากโรงเรียนภาพยนตร์อยู่ในห้องประชุมนั้นด้วย เธอนำเสนอไอเดียที่เคยคุยกับ คริส กิฟฟอร์ด (Chris Gifford) พนักงานของช่อง ว่าพวกเขามีไอเดียเหมือนกัน คืออยากทำแอนิเมชันที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนดู โดยมีตัวละครนำเป็นเด็กผู้หญิง “ฉันคิดว่า ฉันเข้าใจเด็กวัยก่อนเรียนว่าพวกเขาจะสนุกกับอะไร ฉันชอบไอเดียการสอนด้วยการให้เด็กมีประสบการณ์ร่วมในการเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์” ผู้บริหารระดับสูงของนิคเคโลเดียนประทับใจไอเดียนี้ และขอให้วอลช์กับกิฟฟอร์ดพรั่งพรูคอนเซ็ปต์ออกมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 4 เดือนหลังจากนั้น ซีรีส์แอนิเมชัน Dora the Explorer ก็ถือกำเนิดขึ้น [caption id="attachment_11321" align="alignnone" width="1024"] ดอร่า มาร์เกซ: Dora the Explorer มากกว่า “แบ็คแพ็ค” คือการสอนภาษาเด็กวัยก่อนเรียน Dora the Explorer[/caption]   นี่คือเรื่องราวต้นกำเนิดของซีรีส์แอนิเมชันชื่อดังสำหรับเด็กวัยก่อนเรียน Dora the Explorer โดยมีตัวละครนำ ดอร่า มาร์เกซ (Dora Marquez) ที่ชื่อเต็ม ๆ ของเธอมาจากคำว่า exploradora ในภาษาสเปนศัพท์กลุ่มเพศหญิงที่แปลว่า นักสำรวจ รวมถึงนามสกุลมาร์เกซก็เป็นการยกย่องนักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) ดอร่านับเป็นตัวละครวัยก่อนเรียนตัวแรกของช่องนิคเคโลเดียน เธอมีอายุ 7 ขวบ ออกอากาศในวันที่ 14 สิงหาคม ปี 2000 เป็นวันแรก (ก่อนหน้านี้มีการฉายตอนนำร่อง 12 มิถุนายน ปี 1999) เพียงออกฉายซีรีส์แอนิเมชันก็ประสบความสำเร็จทันที และตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ Dora the Explorer โลดแล่นอยู่ในจอแก้ว ก็ได้มีการดัดแปลงเป็นฉบับนานาชาติกว่า 30 ภาษา ทั้งยังเคยนำไปสร้างเป็นวิดีโอเกม ดีวีดี หนังสือ หรือซีรีส์ภาคแยกมากมาย ซึ่งกวาดรางวัลและคำชมมามากมายเช่นกัน จะว่าไปแล้ว นิคเคโลเดียนปฏิวัติวงการจอแก้วสำหรับเด็กด้วยการวาง Dora the Explorer เป็นซีรีส์แอนิเมชันที่จุดประกายจินตนาการเด็ก สอนวิธีการแก้ปัญหา และสอนทักษะทางภาษาไปพร้อม ๆ กัน ผ่านกลอน ภาษาสเปน การนับ หรือการเชิญชวนให้คนดูตอบโต้ กล่าวได้ว่าเป็นการผสมผสานความบันเทิงและการศึกษาเข้าด้วยกัน ซึ่งเป้าหมายของพวกเขาคือการสร้างการ์ตูนให้เด็กวัยก่อนเรียนพยายามไขปริศนาไปพร้อม ๆ กับตัวละคร ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องย้ำคิดย้ำทำ เพื่อเชื่อมโยงกับเด็กเล็กให้พูดคุย คิดตาม และเชื่อมโยงกับการ์ตูน “ฉันรู้สึกว่ามันกระตุ้นให้เด็กลุกขึ้นมา [จากเก้าอี้]” วอลช์กล่าว “ฉันก็มีความกังวลเวลาวางเด็กหน้าทีวีเหมือนพี่เลี้ยงคนอื่น แต่ความงดงามของดอร่าจะเชิญชวนให้เด็กลุกขึ้น กระโดด ปรบมือ หรือทำกิจกรรมทางร่างกาย” ลองนึกถึงประโยคดังของซีรีส์เรื่องนี้ แล้วจินตนาการว่าคุณเป็นเด็กวัยก่อนเรียน อายุราว ๆ 2-6 ขวบ “เธอช่วยเปิดกระเป๋าเป้ให้ฉันหน่อย ฉันจะได้อ่านหนังสือเล่มใหญ่สีแดงให้บูตส์ฟัง เธอต้องพูดว่า แบ็คแพ็ค” “...”  “ดังขึ้นอีก” “...” ประโยคแบบนี้ คุณจะตอบอย่างไร [caption id="attachment_11322" align="alignnone" width="1024"] ดอร่า มาร์เกซ: Dora the Explorer มากกว่า “แบ็คแพ็ค” คือการสอนภาษาเด็กวัยก่อนเรียน Dora the Explorer[/caption] สำหรับเด็กวัยก่อนเรียนพวกเขาจะตอบโต้อย่างตรงไปตรงมาว่า “แบ็คแพ็ค!” ผิดจากผู้ใหญ่ที่อาจหัวร้อนปนหัวเราะกับความย้ำคิดย้ำทำขอตัวละครเด็กน้อยตัวนี้ ซึ่งนั่นเป็นไอเดียที่ผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว เพราะกลุ่มเป้าหมายของแอนิเมชันนี้ไม่ใช่ผู้ใหญ่ แต่คือเด็กวัยก่อนเรียนเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้นั่นเอง “เด็กมีกระบวนการศึกษาแตกต่างจากผู้ใหญ่ พวกเขาไม่คิดว่าการมอง นับ หรือแสดงความคิดเห็นเป็นงาน แต่สำหรับเด็กมันคือความสนุก” ผู้สร้างวอลช์ซึ่งจบปริญญาโทเกี่ยวกับการศึกษา และมองตัวเองเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และครูกล่าว ไม่เท่านั้น ระหว่างการพัฒนา Dora the Explorer ทีมงานยังศึกษาทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของ โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดที่เสนอว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านใด แล้วแต่ละด้านจะผสมผสานกันแสดงออกมาเป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน “ไอเดียนี้คือการเดินทางคลาสสิกของฮีโร ที่ส่งเธอไปทำการสำรวจสิ่งใหม่ ๆ ในแต่ละตอน” กิฟฟอร์ดกล่าวถึงไอเดียหลักของแอนิเมชันแต่ละตอน โดยเขายกย่องความสำเร็จอันยาวนานของซีรีส์นี้ว่า เกิดจากการผสมผสานเรื่องราวตำนาน นิทาน หรือเรื่องเล่าดั้งเดิมที่น่าติดตาม ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของเด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีพื้นหลังอย่างไร ประกอบกับแนวทางโดดเด่นในการสอนพื้นฐานภาษาสเปนให้กับเด็กวัยก่อนเรียน ทั้งยังเป็นซีรีส์ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมลาตินอีกด้วย ไม่เพียงมีคอนเซ็ปต์ที่แข็งแรง ทีมงานสร้างแอนิเมชันยังสร้างตัวละครให้มีความสมจริงทางวัฒนธรรม มีการใช้ที่ปรึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมลาตินและคนที่พูดภาษาสเปนหลาย ๆ คน มาหารือร่วมกัน “ไอเดียอยู่ที่การทำให้การเรียนรู้ภาษาที่สองเป็นเรื่องน่าสนใจ และการพูดได้สองภาษาเป็นสิ่งที่คุณควรภาคภูมิใจ” เลสลีย์ วัลเดส (Leslie Valdes) มือเขียนบทและผู้อำนวยการสร้างที่เกิดในคิวบาแต่เติบโตในบอสตัน กล่าว “แม้ว่ามันจะไม่ใช่เครื่องมือสอนภาษาสเปน แต่พ่อแม่จำนวนมากก็ยกย่อง Dora the Explorer ว่าช่วยลูก ๆ ของพวกเขาในการเรียนศัพท์ภาษาสเปน” [caption id="attachment_11320" align="alignnone" width="1280"] ดอร่า มาร์เกซ: Dora the Explorer มากกว่า “แบ็คแพ็ค” คือการสอนภาษาเด็กวัยก่อนเรียน Dora and the Lost City of Gold (2019)[/caption]   ล่าสุดเจ้าหนูดอร่า จากเด็ก 7 ขวบได้กลายเป็นสาวไฮสคูลวัย 16 ปี ในภาพยนตร์คนแสดง Dora and the Lost City of Gold (2019) ผ่านผลงานการกำกับโดย เจมส์ โบบิน (James Bobin) ซึ่งมาพร้อมเพื่อน และ บูตส์ ลิงคู่หูของเธอเหมือนเดิม โดยฉบับภาพยนตร์นี้เป็นการผจญภัยเสี่ยงอันตรายที่เต็มไปด้วยปริศนา ความลุ้นระทึก เสียงหัวเราะและความตื่นเต้น “เรานำดอร่าในการ์ตูนมาทำให้เธอมีอายุ 16 ปี จับเธอไปเรียนโรงเรียนไฮสคูลอเมริกา ซึ่งเธอเป็นเหมือนปลาพ้นน้ำที่ทำตัวเหมือนเดิมเลย บ่อยครั้งก็จะส่งผลให้เกิดเรื่องตลกตามมา” ผู้กำกับกล่าว ขณะที่ผู้อำนวยการสร้าง คริสติน เบอร์ (Kristin Burr) กล่าวว่า “เธอไม่เคยอยู่กับเด็ก ๆ อายุรุ่นราวคราวเดียวกันมาก่อน เธอไม่เคยได้ยินเสียงกริ่งโรงเรียน ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ แต่เธอเป็นตัวละครที่ไม่เคยกลัวการเปลี่ยนแปลง เธอยอมรับมันและตื่นเต้นที่จะได้สัมผัสและเข้าใจสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเป็นบทเรียนที่เราทุกคนสามารถเรียนรู้ได้” เวอร์ชันภาพยนตร์นี้ได้ อิซาเบลา โมเนอร์ (Isabela Moner) นักแสดงหญิงวัยรุ่นมารับบทดอร่า เธอเคยมีผลงานมาแล้วทั้ง Instant Family (2018), Transformers: The Last Knight (2017) และ Sicario: Day of the Soldado (2018) นับเป็นดาราดาวรุ่งในฮอลลีวูดอีกคนที่น่าจับตามอง โมเนอร์กล่าวถึงบทบาทดอร่าวัย 16 ปีไว้ว่า “เธอไม่ใช่เด็ก แต่เธอก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่ เธอตลกกว่า ยอดเยี่ยมกว่า และเจ๋งกว่า ฉันได้ทำลายกำแพงด้านที่สี่ แต่ด้วยวิธีเฉียบ ๆ เหมือนกับฉันกำลังพูดกับกล้องโกโปรค่ะ” แน่นอนว่าเวอร์ชันภาพยนตร์ต้องมีการเติบโตกว่าเวอร์ชันแอนิเมชัน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือเรื่องราวการผจญภัยของดอร่าที่ยังคงสนุกสนาน ตื่นเต้น และน่าค้นหาต่อไป ที่สำคัญคือการใส่ธรรมชาติของปฏิสัมพันธ์บางอย่าง ซึ่งจะเป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็กเล็ก ๆ เช่นเดิม   ข้อมูลจาก verywellfamily lifestyle.howstuffworks babybestbuy