อกหัก รักคุด มนุษย์ไม่สนใจ เบื้องหลังความ “อยากตาย” ของแมว “ทอม” จาก ทอม แอนด์ เจอร์รี

อกหัก รักคุด มนุษย์ไม่สนใจ เบื้องหลังความ “อยากตาย” ของแมว “ทอม” จาก ทอม แอนด์ เจอร์รี
หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้สัก 80 ปี แล้วมีใครสักคนพูดขึ้นมาว่า การ์ตูนที่มีแมวหนึ่งตัวไล่จับหนูอย่างเอาเป็นเอาตายจะกลายเป็นการ์ตูนชื่อดังขึ้นมาได้ ณ เวลานั้น ก็คงไม่มีใครเชื่อ หนำซ้ำอาจถูกหัวเราะเยาะเอาเสียด้วย แต่หลังจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1940 ที่การ์ตูน Puss Gets the Boot ต้นฉบับของ ทอม แอนด์ เจอร์รี (Tom and Jerry) กำเนิดขึ้นมา ความคิดเหล่านั้นก็เปลี่ยนไป กลายเป็นว่าการ์ตูนแมวไล่จับหนูนี่แหละที่กลายเป็นการ์ตูนอมตะ ครองใจผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลกมาถึง 80 ปี [caption id="attachment_8768" align="alignnone" width="1200"] อกหัก รักคุด มนุษย์ไม่สนใจ เบื้องหลังความ “อยากตาย” ของแมว “ทอม” จาก ทอม แอนด์ เจอร์รี Puss Gets the Boot[/caption] ภาพแมวตัวสีฟ้าอมเทาทำหน้าตาโมโห วิ่งไล่หนูสีน้ำตาลตัวจ้อยที่ความแสบไม่ได้น้อยไปกว่ากัน เมื่อเจ้าหนูตัวนั้นหันไปแลบลิ้นปลิ้นตาให้เจ้าแมวที่วิ่งตามอยู่ข้างหลัง คล้ายจะบอกว่า “แกตามฉันไม่ทันหรอก!” และผลลัพธ์ก็เป็นไปตามนั้น เมื่อเจ้าแมวที่ตัวโตกว่ามักจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับหนูอย่างไม่เป็นท่า และมักจะเป็นฝ่ายที่ต้องเจ็บตัวด้วยสาเหตุต่าง ๆ อยู่ร่ำไป สร้างความขบขันและเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี รู้ตัวอีกที ความนิยมของคู่กัดคู่นี้ก็มากเสียจนทำให้พวกมันได้รับรางวัลใหญ่ ๆ ถึง 7 รางวัลด้วยกัน เคล็ดลับความสำเร็จของสองแมวกับหนูคู่กัดตลอดกาลนั้นคือความเหนือจริงและแหกทุกกฎฟิสิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไม้ฟาด เอาขวานฟัน เลื่อยแขนขา หรือแม้แต่วางระเบิดกันตูมตาม จนถ้าเจ้าสองตัวการ์ตูนนี้เป็นคนจริง ๆ ก็คงจะตายซ้ำตายซ้อน หรือไปเกิดใหม่กันเป็นรอบที่ล้านเข้าไปแล้ว แต่ความตายไม่มีความหมายในโลกของการ์ตูน ทุกการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงของทอมกับเจอร์รีจึงมักจะจบลงที่การบาดเจ็บเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ก่อนที่คู่อาฆาตคู่นี้จะโลดแล่นไล่ฟันกันอีกครั้ง บาดเจ็บเพียงชั่วครั้งชั่วคราว จริงหรือ ? จริงอยู่ว่าความตายไม่มีความหมายในจักรวาลของ ทอม แอนด์ เจอร์รี เรียกได้ว่าไม่มีครั้งไหนเลยที่เจ้าสองแสบนี้ตายลงจริง ๆ แต่ถึงอย่างนั้น กลับมีหลายครั้งที่การ์ตูนตลก ๆ เรียกเสียงฮาเรื่องนี้ทำให้เราถึงกับฮาไม่ออก และตัวละครที่มีเบื้องหลังสุดรันทดจนแฟนการ์ตูนอดสงสารไม่ได้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกเสียจากเจ้า “ทอม” แมวสีฟ้าอมเทาจอมเกรี้ยวกราดที่ใช้เวลาว่างไปกับการไล่เตะก้นเจอร์รีนั่นเอง ทอมเป็นแมวบ้าน และหน้าที่ของแมวบ้านก็คือการไล่จับหนู ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่เจ้าเหมียวทอมดูเหมือนจะไม่เคยหมดแพชชันกับสิ่งนี้ แต่ด้วยความทึ่มของมัน บวกกับการเป็นแมวโชคร้ายที่ไม่เคยจะดวงดีกับเขาสักเท่าไหร่ ทำให้ทอมมักทำ “หน้าที่” ของตนไม่สำเร็จ และถูกเจ้านาย หรือ “คุณแม่สองขา” จับโยนออกมานอกบ้าน หรือแม้กระทั่งดุด่าทุบตีเข้าบ่อย ๆ แน่ล่ะว่าเราอาจจะหัวเราะท้องแข็งไปกับสีหน้าจ๋อย ๆ ของเจ้าแมว แต่พอกลับมานั่งนึก ๆ ดูแล้ว การเป็นแมวที่โดนเจ้าของเตะโด่งให้พ้นประตูบ้านนั้น ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องตลกอย่างที่คิด [caption id="attachment_8771" align="alignnone" width="953"] อกหัก รักคุด มนุษย์ไม่สนใจ เบื้องหลังความ “อยากตาย” ของแมว “ทอม” จาก ทอม แอนด์ เจอร์รี คุณแม่สองขา และ ทอม[/caption] แต่เรื่องที่ทำให้เจ้าเหมียวตัวฟ้าอมเทาของเราถึงกับหมดอาลัยในชีวิต ไม่ใช่ทั้งเรื่องจับเจอร์รีไม่ได้ และเรื่องเจ้านายไม่รัก แต่เป็นเรื่องความล้มเหลวในการจีบสาว ที่ทำให้ทอมของเราถึงกับต้องหันไปดื่มนมย้อมใจและเกิดความคิดที่จะฆ่าตัวตายขึ้นมา เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นใน ทอม แอนด์ เจอร์รี ตอนที่ 103 มีชื่อตอนว่า Blue Cat Blues (1956) เมื่อทอมแอบหลงรักแมวสาวตัวหนึ่ง ทอมทำทุกวิธีเพื่อที่จะเอาชนะใจเธอคนนั้น ตั้งแต่เตรียมดอกไม้ไปให้ เก็บเงินซื้อแหวนเพชร จนกระทั่งยอมขายตัวเองเป็นทาส ขายอวัยวะ และอะไรต่อมิอะไร เพื่อที่จะซื้อรถหรู ๆ สักคันไปรับสาวถึงบ้าน แต่ความดวงซวยของทอมก็ยังคงเหมือนเดิม เพราะแมวสาวขนสีขาวที่ทอมตกหลุมรักนั้น ดันเป็นที่หมายปองของแมวหนุ่มท่าทางคาสโนว่า ที่ดีกว่าเจ้าแมวปอน ๆ ไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ที่ดูเท่กว่า และฐานะ ที่เรียกได้ว่าคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด แน่นอนว่า แมวสาวไม่เลือกทอม การ “นก” ครั้งนั้นคงทำให้ทอมเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะฉากถัดมา เราจะเห็นภาพทอมนั่งดื่มนมย้อมใจอยู่อย่างเหงา ๆ ซึ่งแม้มันจะไม่ต่างอะไรกับขวดนมที่ทอมดื่มในตอนอื่น ๆ แต่ด้วยบริบททั้งหมดก็ชี้ให้เห็นชัดว่าไอ้น้ำนมขาว ๆ นั่นเป็นตัวแทนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในฉากนี้ เราจะเห็นเจ้าหนูเจอร์รีพยายามห้ามให้ทอมหยุดดื่ม แต่ก็ไม่เป็นผล [caption id="attachment_8772" align="alignnone" width="1113"] อกหัก รักคุด มนุษย์ไม่สนใจ เบื้องหลังความ “อยากตาย” ของแมว “ทอม” จาก ทอม แอนด์ เจอร์รี ทอม[/caption] อาการฟูมฟายหลังอกหักของทอมมีแต่จะเพิ่มความรุนแรงขึ้น เมื่อเจ้าแมวที่เมาไม่ได้สติปล่อยตัวเองให้ลอยไปตามกระแสน้ำจนดูเหมือนกับว่าจะจมลงไปเมื่อไหร่ก็ได้ และก็เป็นเจอร์รีอีกนั่นแหละ ที่ใช้ความพยายามลากทอมขึ้นจากแม่น้ำ ก่อนที่สายตาของเจ้าแมวจะเหลือบไปเห็น “เธอกับเขา” นั่งเรือผ่านไป โดยมีเครื่องหมาย “Just Married” ตอกย้ำว่าต่อให้พยายามมากแค่ไหน หรือถึงกับต้องขายตับขายไต รักของเราก็คงเป็นไปไม่ได้ จังหวะนั้นเองที่เจ้าแมวตัดสินใจลากร่างกายโทรม ๆ ของตัวเองไปนั่งรอความตายอยู่บนรางรถไฟเส้นหนึ่ง เมื่อฉากในการ์ตูนตลกที่เราขำไม่ออกดำเนินมาถึงตอนนี้ เราก็จะเห็นภาพเจ้าหนูเจอร์รีส่ายหน้าเหนื่อยหน่ายด้วยไม่รู้จะช่วยทอมอย่างไร แต่เจ้าหนูก็หยิบภาพแฟนสาวของตัวเองมาเชยชมอยู่ได้เพียงครู่ ก่อนที่โชคชะตาจะเล่นตลกอีกครั้ง รถของแฟนสาวของเจอร์รีและหนูแปลกหน้าได้ขับผ่านไป พร้อมด้วยเครื่องหมาย “Just Married” เช่นเดียวกัน บทสรุปสุดท้ายที่คนดูจะได้เห็นก็คือ ภาพของทอมและเจอร์รีในท่าทางเศร้าสร้อย นั่งรอความตายอยู่บนรางรถไฟด้วยกัน ขณะที่เสียงหวูดรถไฟดังใกล้เข้ามาทุกขณะ... ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายแล้วทั้งคู่ถูกรถไฟปลิดชีวิตหรือไม่ แต่นั่นก็เป็นครั้งหนึ่งที่จักรวาลของ ทอม แอนด์ เจอร์รี ยอมรับในการมีอยู่ของความตาย ว่าการผิดหวัง การถูกหักหลัง และการไม่เป็นที่ต้องการจากคนที่เรารักนั้นสามารถนำไปสู่เรื่องราวร้าย ๆ ที่ไม่ตลกแม้แต่น้อยได้ อย่างไรก็ตาม ความ(ดูเหมือนจะ)ตายของทอมกับเจอร์รีใน Blue Cat Blues ก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของจักรวาลแมวจับหนู เมื่อทางผู้จัดทำได้สร้างตอนใหม่ อย่าง The Tot Watchers (1956) ขึ้นมาเป็นตอนที่ 114 หรือตอนสุดท้ายจริง ๆ ของจักรวาลคู่กัด ภายใต้การทำงานร่วมกันของผู้สร้างอย่าง โจเซฟ บาเบรา (Joseph Barbera) และ วิลเลียม ฮันนา (William Hanna) ร่วมกับ MGM ก่อนเปลี่ยนผู้กำกับไปเป็น จีน ไดทช์ (Gene Deitch) ในปี 1961 ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งผู้กำกับและบริษัทที่อำนวยการสร้างอีกหลายต่อหลายครั้งมาจนปัจจุบัน ภายหลัง แม้คอนเซปต์หลักจะยังเป็นการวิ่งไล่จับระหว่างสัตว์สองสายพันธุ์อยู่ แต่ก็ได้มีการปรับบทให้ลดความรุนแรงลง และเป็นมิตรกับคนดูมากขึ้น จนเด็ก ๆ รุ่นใหม่ หรือแม้แต่คนที่ดูทอม แอนด์ เจอร์รี มาตั้งแต่สมัยออริจินัล แทบจะลืมไปว่าสองคู่ซี้ตีกันทุกวันคู่นี้ ได้(ดูเหมือนจะ)ตายไปจริง ๆ แล้วอย่างน้อยก็หนึ่งครั้ง ละการ(ดูเหมือนจะ)ตายครั้งนั้น ก็ทำให้เรารู้ว่า ไม่ใช่แค่ความอยากรู้อยากเห็นที่ฆ่าแมวได้ แต่ความรักก็ฆ่าแมวได้เช่นกัน   ที่มา Blue Cat Blues (1956) vorply smh maacindia therandomhubph   เรื่อง : จิรภิญญา สมเทพ (The People Junior)