ศุ บุญเลี้ยง ความไม่น่ารักของประชาธิปไตยที่รัก

ศุ บุญเลี้ยง ความไม่น่ารักของประชาธิปไตยที่รัก

ศุ บุญเลี้ยง ความไม่น่ารักของประชาธิปไตยที่รัก

หลายครั้งเรามักได้ยินว่า ศุ บุญเลี้ยง ว่าเป็นคนอบอุ่น ด้วยการเป็นสมาชิกวง “เฉลียง” กลุ่มตัวโน้ตอารมณ์ดีที่สร้างตำนานเพลงไว้มากมายในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นนักเขียนละมุนละไม เจ้าของนามปากกา “สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก” แต่หารู้ไม่ว่า อีกด้านหนึ่งเขาเองก็สนใจปรากฏการณ์ทางการเมืองอยู่เป็นประจำ เช่น เพลง “ธรณีเป็นพยาน     “ หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ, เพลง “ชาวเกาะ” เพื่อให้กำลังใจ คนเทพา กระบี่ ซึ่งเดินทางไกลมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินหน้าองค์การสหประชาชาติ, เพลง “สานใจคนกล้า” ช่วยหาทุนต่อสู้คดีให้นักกิจกรรมสังคม และล่าสุดเขาแต่งเพลง “ก๊อก ก๊อก ก๊อก” ขึ้นมาด้วยความอยากให้คนรุ่นใหม่เห็นการเมืองเป็นเรื่องที่มีสีสัน “ผมไม่ได้เขียนแนวอบอุ่น แนวละเมียดละไมอย่างเดียว ผมมองโลกด้านมืดด้วย มองการเมืองหลายด้านเท่าที่สายตาจะมองเห็น เห็นความหยาบ ความรุนแรง เห็นเล่ห์กลของคนที่เข้ามาทำงานการเมือง แต่ด้านดีก็ย่อมมี ในฐานะศิลปินต้องช่วยกันทำให้ระบบนิเวศทางความคิดมันกลมกล่อมขึ้น” ต่อจากนี้คือบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับความไม่น่ารักของการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่คนทุกคนเอ่ยปากว่ารัก ศุ บุญเลี้ยง ความไม่น่ารักของประชาธิปไตยที่รัก The People: คุณสัมผัสกับการเมืองมากขนาดไหน ศุ บุญเลี้ยง: พ่อผมเป็น ส.จ. (สมาชิกสภาจังหวัด) ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนแรกก็ไม่รู้นะ รู้เพราะที่โรงเรียนเขาให้แนะนำว่าพ่อทำอาชีพอะไร แม่ทำอาชีพอะไร แล้วครูเขาบอกว่า ‘เธอไม่รู้เหรอ พ่อเธอเป็น ส.จ.’ ก็สรุปว่า ‘พ่อเป็น ส.จ. แม่เป็นเมียพ่อ’ (หัวเราะ) เท่าที่จำได้ เวลาจะมีการผูกขาดเรือโดยสารข้ามเกาะสมุยหรือการขึ้นราคาที่ไม่เป็นธรรม พ่อของผมจะขึ้นไปอยู่บนหลังคารถ แล้วก็ Hyde Park ไม่ให้ผูกขาด แม้พ่อไม่ได้เล่นการเมืองระดับชาติ ตอนหลังมาเป็นกำนัน ส่วนปู่เป็น ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) คนแรกของสุราษฎร์ฯ จึงผูกพันกับเรื่องราวเหล่านี้มาตลอดตั้งแต่เด็ก   The People: คุณติดตามข่าวการเมืองมาตั้งแต่ตอนไหน ศุ บุญเลี้ยง: ผมเป็นนิสิตภาควิชาหนังสือพิมพ์ โดยสภาพแวดล้อมมันหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่เราต้องสนใจใฝ่รู้เรื่องนี้ ผมเชื่อว่าการเมืองมันมีผลต่อชีวิตเรามาก ยิ่งเราไม่อยากสนใจ เรายิ่งต้องรู้จักมันให้มาก   The People: ปรากฏการณ์ทางการเมืองไหนที่กระทบจิตใจมากที่สุด ศุ บุญเลี้ยง: ปรากฏการณ์ทนความเห็นที่แตกต่างไม่ได้ ทำไมคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยจึงไม่สามารถทนคนที่มีความคิดต่างได้ ทำไมมันกลายเป็นเรื่องรุนแรง แล้วก็แบ่งข้างอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่วิธีคิดของมนุษย์มันไม่ได้เป็นซ้ายเป็นขวาชัดเจนด้วยนะ มันน่าจะกลมๆ ความรู้สึกของผมมันเหมือนสี ซึ่งสีมีสีสันมากกว่านั้น ผมไม่ปฏิเสธที่คนจะมีสีนะ แต่ผมรู้สึกว่าสีมันถูกแบ่งน้อยเกินไป แล้วมันก็มีสีที่เหลื่อมกันอยู่ ในทางศิลปะสีมีเฉด มีส่วนผสม เช่น สีส้มมาจากสีเหลืองกับสีแดงผสมกัน หรือสีเขียวมันมีทั้งเขียวแก่ เขียวอ่อน เขียวตอง ซึ่งเขียวขี้ม้ากับเขียวใบตองก็คนละเขียวนะ เมืองไทยนอกจากสีสันทางความคิดไม่เยอะพอแล้ว ยังถูกโต้ตอบรุนแรง เรื่องนี้ผมสะเทือนใจ เช่น เวลาคนอื่นพูดอะไรแล้วเราไม่เชื่อ ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ทำไมเราต้องไปด่าไปว่าเขาเสียๆ หายๆ ทั้งๆ ที่วิธีคิดของเขาที่ผิดพลาด มันก็จะสะท้อนความผิดพลาดนั้นเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว   The People: ในวงเฉลียงก็มีความคิดที่แตกต่างกันมากเหมือนกัน ศุ บุญเลี้ยง: ผมว่าเฉลียง 5-6 คนมีวิธีคิด (ทางการเมือง) ไม่เหมือนกันเลยด้วยซ้ำ มีความคิดที่แตกต่าง แต่ไม่เป็นปัญหากับการทำงานเลย สิ่งนี้คือข้อดีของวงเฉลียง เฉลียงน่าจะเป็นตัวอย่างของประชาธิปไตยในบ้านเราได้เลย เห็นไม่เหมือนกัน บางทีก็นึกขำว่าคิดอย่างนี้ด้วยเหรอ อ๋อ คิดอย่างนี้ก็ได้ เอ้อ! คิดอย่างนี้แปลกดีว่ะ แต่เราก็ไม่เคยหน้าดำคร่ำเครียดกัน พอทำงานก็ทำงานด้วยกันปกติ คุณมีหน้าที่ Create คุณร้อง คุณเล่นดนตรี คุณก็ทำหน้าที่ไป กลับมานั่งคุยเรื่องอาหาร เบียร์ ข้าวต้ม ปูดอง มันไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยนะ มีปัญหาเดียวที่ไม่ได้ทำคอนเสิร์ตก็คือ ผมขี้เกียจแค่นั้น (หัวเราะ) แล้วข้อดีอีกอย่างหนึ่ง นอกจากความคิดเห็นหลากหลายแล้ว เฉลียงยังให้เกียรติกับเสียงส่วนน้อยด้วย ซึ่งคนทั่วไปมักคิดว่าประชาธิปไตยต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ อันนั้นถูกต้องในเชิงนโยบายที่เสียงส่วนใหญ่จะต้องได้รับการยอมรับ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณสามารถละเลยเสียงส่วนน้อยที่ถูกลิดรอนสิทธิ์ เพราะเสียงส่วนน้อยที่มีเจตนารมณ์ชัดเจนควรจะได้รับการฟัง และควรได้รับการปกป้องด้วย เพราะฉะนั้นเฉลียงจึงเป็นวงที่เสียงส่วนใหญ่ตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญไม่ได้ ถ้ามีเสียงส่วนน้อย มีคนคัดค้าน มีคนไม่เห็นด้วย การขับเคลื่อนก็ยังไม่ไปต่อ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราตกลงว่าเอาแล้วนะ โน้มน้าวกันจนยอมไปด้วยกัน เมื่อนั้นก็ต้องรับกติกา ทุกคนต้องทำงานไปตามระบบ   The People: เพราะเฉลียงเป็นเพื่อนกลุ่มเล็กๆ หรือเปล่า เวลาขัดแย้งจึงไม่รุนแรงเหมือนในสังคมขนาดใหญ่ ศุ บุญเลี้ยง: ไม่รู้ทำไม แต่จริงๆ ถ้ายิ่งไม่รู้จักกัน เราก็ยิ่งไม่มีสิทธิ์ไปด่าไปเกลียดเขา ยิ่งถ้าเราต้องการได้รับความเชื่อหรือการยอมรับ เรายิ่งต้องมีท่าทีที่ไม่ใช้ความรุนแรง เวลาเราจะโน้มน้าวคนอื่น เรายิ่งต้องอธิบายเหตุผล คุณคิดว่าคนแบบไหนที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลง การเปิดใจหรือได้รับการฟัง เพราะมนุษย์ก่อนที่จะรับความคิดจากใคร เขาจะดูท่าทีด้วย ท่าทีมีผลต่อความคิดมากกว่าตัวความคิดเสียอีก เพราะถ้าเราเกลียดใครสักคน เขาพูดอะไรมาเราก็เกลียดหมดแหละ พอพูดชมเรายังหาว่าตอแหลเลย แต่ถ้ามีท่าทีดีๆ มันน่าฟัง น่าจะโน้มน้าวได้มากกว่า ผมยังเชื่อในพลังของความอ่อนโยน   The People: แต่ผู้นำตอนนี้ท่าทีไม่ค่อยอ่อนโยนเท่าไหร่เลย ศุ บุญเลี้ยง: Power ไม่ได้มาจากความก้าวร้าวหรือว่าผรุสวาทอย่างเดียว ไม่น่าจะมีประวัติศาสตร์บอกว่า มีผู้นำที่ด่าแล้วควบคุมอำนาจได้ แต่ผมว่าเรื่องนี้ภาษาโฆษณาเขาเรียกว่าเป็นการสร้าง Branding สร้าง Character ให้เข้าใจง่าย จับต้องง่าย   The People: คิดว่ามีคนที่ชื่นชอบผู้นำแบบนี้ไหม ศุ บุญเลี้ยง: ผมว่ามีนะ เคยไปกินก๋วยเตี๋ยวที่เจ้าของร้านดุไหมล่ะ ก็มีคนอยากไปกินถ้ารสมือเขาดี (หัวเราะ) บางทีก็สนุกนะ ไปดูลุงว้ากกันดีกว่า (หัวเราะ) กินไปด้วย ตื่นเต้นไปด้วย แบบเลือดสูบฉีด มันก็เป็นไปได้ ศุ บุญเลี้ยง ความไม่น่ารักของประชาธิปไตยที่รัก The People: ล่าสุดคุณทำเพลงรณรงค์การเลือกตั้ง “ก๊อก ก๊อก ก๊อก” ทำไมใช้เพลงเป็นเครื่องมือ ศุ บุญเลี้ยง: เพลงเดินทางไกลดี แล้วมันอยู่ในบรรยากาศที่รู้สึกถึงความร่าเริง ผมเชื่อว่าเพลงสัมฤทธิ์ผลกว่า ทีนี้เพลงยังมีองค์ประกอบอื่นเมื่อถูกโพสต์ มันมีภาพ มีการเต้น มีการเรียบเรียงดนตรี จริงๆ เพลงเพลงเดียวสามารถทำดนตรีได้ 3-4 แบบเลยนะ ผมยังอยากเห็น “ก๊อก ก๊อก ก๊อก” สไตล์คุณอารักษ์ อาภากาศ เลย หรือเป็นเพลง Blues ก็ยังได้ เป็นลูกทุ่งก็ได้ ให้คุณไมค์ ภิรมย์พร มาร้องมาเอื้อน เพลงไปได้ไกลกว่านั้น แต่จุดหนึ่งที่ผมเลือกสไตล์นี้เพราะผมนึกถึงการเต้น เวลาเด็กหรือคนที่มีร่างกายดีๆ มาเต้นพร้อมกันมันมีพลังบางอย่างอยู่ในท่าเต้น ไม่ได้วิ่งหนีวิ่งไล่กัน แต่อันนี้วิ่งออกมาเลือกตั้ง   The People: ทำไมถึงยังใช้สไตล์เพลงย้อนยุค ไม่เลือกแนวสมัยใหม่แบบ EDM ไปเลย ศุ บุญเลี้ยง: ถ้าบอกว่าเป็นจิตใต้สำนึกจะเชื่อไหม จิตใต้สำนึกคือผมฝันเห็น “สาว สาว สาว” ในเมื่อผมฝันขนาดนั้นแล้ว แสดงว่าจิตใต้สำนึกต้องชอบอะไรที่เกี่ยวกับ “สาว สาว สาว” ผมจึงไม่ต้องหลีกเลี่ยง แค่ให้มันนำทางไป ผมตื่นมาก็นึกหน้า “แอม ปุ้ม แหม่ม” (เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, อรวรรณ เย็นพูนสุข, พัชริดา วัฒนา) แล้วก็นึกเพลงย้อนยุคนิดๆ มันเป็นไปจิตใต้สำนึก ไม่ได้เป็นการวางกลยุทธ์ แต่ถามว่าผมออกแบบเพลงไหม ผมออกแบบ ออกแบบว่าเพลงนี้ไม่ต้องร้องเอง นักร้องต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง นักร้องต้องเต้นได้ ต้องสดใส เป็นผู้หญิงเสมือนตัวแทนของ “สาว สาว สาว” ในยุคสมัยนี้ ก็เลยเลือกน้องๆ (ปิ่น-ปทุม กมลยิ่งเสถียร, ขวัญ-เพลงขวัญ ปานเอี่ยม, ต้นหลิว-ธรพชรพรรณ พูลศรี) เริ่มจากลูกศิษย์ก่อน ถ้าผมเป็น กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ผมจะเลือก “แอม ปุ้ม แหม่ม” เลย   The People: ตั้งใจให้ MV สดใสแบบนี้ตั้งแต่แรก หรือเป็นการเสียดสีบรรยากาศการเลือกตั้งที่ไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่ ศุ บุญเลี้ยง: เป็นความตั้งใจมาตั้งแต่แรก อยากเห็นภาพการเมืองที่สดใส ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์ในนาทีนี้ที่เราจะสร้างความอึมครึม เพราะเมฆหมอกบรรยากาศก็อึมครึมมากพอแล้ว ผมเชื่อว่าการเมืองมีสีสัน อยากเห็นการเมืองเป็นเรื่องมีสีสัน มีความหลากหลาย ผมมีประสบการณ์ไปฟัง Hyde Park มีแม่ค้าขายของ ขายขนม แล้วนักการเมืองก็พูดสนุก ได้ทั้งเสียงหัวเราะ ข้อมูล และความตื่นเต้น ได้เห็นทั้งพลังของคนเชียร์ พลังของคนที่อยู่บนเวที โห ผมดูสนุกกว่าหนังกลางแปลงอีก นั่นคือความรู้สึกของผมที่มีต่อการเมืองในเวลาก่อนหน้านี้   The People: ศิลปินมีสิทธิ์เรียกร้องประชาธิปไตยผ่านบทเพลง แล้วชาวบ้านสามารถเรียกร้องด้วยวิธีไหนได้บ้าง ศุ บุญเลี้ยง: ประชาชนทั่วๆ ไปมีความหลากหลาย ถ้าเขาพัฒนาขึ้นมาจากประชาชนจนกลายเป็นพลเมือง ลุกขึ้นตื่นตัว มันมีกำลังอยู่ในตัว เวลาคนแข็งแรงมาเจอกัน มีความคิดใกล้เคียงกัน มันจะมาเติมกำลังกัน เช่น คนแข็งแรง 2-3 คนมายืนอยู่ด้วยกัน มาแลกเปลี่ยนทำอะไรด้วยกัน พลังจะเพิ่มขึ้น มันอาจจะไม่ออกมาเป็นเพลง มันอาจจะออกมาเป็นกิจกรรมก็ได้ มันมีคำว่า Cheerleader Effect หมายความว่าผู้หญิงที่ไม่ต้องสวยโดดเด่นเป็นนางงาม แต่เมื่อเธอมาอยู่รวมกัน ทุกคนจะช่วยๆ กันทำให้ดูสวยขึ้นมา เพราะฉะนั้นเวลาเรามองไปที่เชียร์ลีดเดอร์ เราจะรู้สึกว่าทุกคนสวยไปหมดเลย ผมว่าการที่คนน่ารักมาอยู่รวมกัน มันจะยิ่งทำให้องค์รวมมันยิ่งน่ารักขึ้น อันนี้เป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์เลยนะ (หัวเราะ) ศุ บุญเลี้ยง ความไม่น่ารักของประชาธิปไตยที่รัก The People: ผลตอบรับเพลง “ก๊อก ก๊อก ก๊อก” ที่ได้รับเป็นอย่างไรบ้าง ศุ บุญเลี้ยง: มีบางอย่างที่ผมนึกไม่ถึง เช่น ลองส่งเวอร์ชัน Demo ให้น้องคนหนึ่งในไลน์ เขาก็แบบไม่ฟัง ไม่เอา ประชาธิปไตย เรากะว่าจะให้เขาฟังแบบสนุกๆ แต่เขาบอกไม่เอา หรือเด็กที่มาร้องเพลงทุกคนผมบอกว่า ไปถามพ่อแม่ก่อนว่าเนื้อหาเพลงเป็นแบบนี้อยากร้องไหม ที่บ้านจะมีปัญหาไหม เขาก็ตอบกลับมาประมาณว่า “ไม่มีปัญหาค่ะ แต่คุณแม่เขาบอกคล้ายๆ ว่า ลุงเขาก็ดีอยู่แล้วนะ” เราก็บอกว่า “ไม่เป็นไร เพลงนี้ไม่ได้บอกว่าลุงไม่ดี แต่ถ้าคิดว่าลุงดี ก็ต้องออกมาช่วยเลือกนะ ไม่งั้นลุงเขาจะไม่ได้อยู่ต่อ” มันก็จะมีอารมณ์แบบนี้ พอปล่อยเพลงออกมา สถานการณ์จริงไม่ใช่สถานการณ์ที่ประกาศการเลือกตั้งอย่างจริงจัง ผมแต่งเพลงในสภาวะที่มีการบอกว่า 24 กุมภาฯ จะมีการเลือกตั้ง ก็คิดว่าถ้าอย่างนั้น 14 มกราฯ เราต้องทำเพลงให้เสร็จ พอเพลงเสร็จสถานการณ์เหมือนเลื่อนเลือกตั้ง ก็มีเสียงว่า “อยากเลือกตั้งนักหรือไง” กลายเป็นเพลงอยากเลือกตั้งซะงั้น หรือ “รออีกหน่อยไม่ได้เหรอ รอให้เขาประกาศกันให้ชัดเจนก่อนแล้วค่อยมารณรงค์” (หัวเราะ)   The People: ที่เลือกคนรุ่นใหม่มาร้อง เพราะคนรุ่นเก่าไม่อยากเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ศุ บุญเลี้ยง: เราแบ่งมนุษย์เป็นเจนฯ แบบนี้ไม่ได้ ในทางการเมืองแบ่งอย่างนี้ไม่ได้เลย ยิ่งในทางการตลาดปัจจุบันเขาก็ไม่ได้แบ่งเจนฯ ด้วยอายุแล้วนะ ลองคิดว่า Line หรือ Facebook เป็นของเด็กวัยรุ่นหรือเปล่า มันไม่ใช่นะ เดี๋ยวนี้คนเล่น Line อาจอาจเป็นครูเกษียณก็ได้ ส่งข้อความไป Read ทันที ตอบกลับฉับไว ฉะนั้นผมไม่เห็นด้วยกับการแบ่งคนเป็นเจนฯ เพื่อตัดสินเขาในวิธีคิดต้องละเอียดกว่านี้ แม้แต่เด็กสามคนที่มาร้องเพลงก็คิดไม่เหมือนกันหรอก   The People: ทุกคนก็บอกว่ารักประชาธิปไตย แล้วคุณรักประชาธิปไตยในแบบไหน ศุ บุญเลี้ยง: ผมรักในสิทธิเสรีภาพ ผมชอบตรงนี้ แม้ว่าผมไม่เคยเลือกพรรคไหนแล้วชนะเลย แต่ก็ยังรู้สึกดีที่เราได้เลือก ผมอยากให้คนได้พูด ได้แสดงความคิด แม้ไม่เห็นด้วยกับหลายๆ ความคิด แต่ก็ชอบที่เขาแสดงความคิดเห็นออกมา เพื่อนๆผมก็เหมือนกัน คนไหนชอบไม่ชอบอะไรพูดออกมาเลย เราเลือกเองว่าจะคบเขาในระดับไหน   The People: แสดงว่าคุณเชื่อในปัจเจกบุคคลว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ศุ บุญเลี้ยง: มันจะไปเหมือนกันได้ยังไง มันเป็นไปไม่ได้ เราอ่านหนังสือคนละเล่ม พ่อแม่สอนมาคนละแบบ เพื่อนที่คบมาคนละแบบ วิชาเรียนก็ลงไม่เหมือนกัน แล้วอยู่ดีๆ จะให้คนคิดเหมือนกันมันเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว พอเลือกตั้งคนอื่นเขาไม่ชอบแบบเรามันก็อกหัก เหมือนทีมฟุตบอลเล่นดีแต่ยิงไม่เข้าก็ไม่ชนะ เขาเก่งกว่าก็ต้องทำใจยอมรับ สิ่งที่เราเชื่อ คนอื่นไม่เชื่อเหมือนเรา สิ่งที่เราชอบ เขาก็ไม่ชอบเหมือนเรา   The People: เราจะทำความเข้าใจความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมประธิปไตยได้อย่างไร ศุ บุญเลี้ยง: การศึกษากับวัฒนธรรม การศึกษาก็ให้ความรู้คนไปเรื่อยๆ ส่วนวัฒนธรรมคือการปลูกฝัง ผมเชื่อเรื่องวัฒนธรรมของความขัดแย้ง แล้ววาทกรรมที่บอกว่าสามัคคีคือพลังก็จริง แต่สามัคคีก็คือพลังที่สามารถล้มตายยกแก๊งได้เหมือนกัน เราต้องรู้สึกว่าความขัดแย้งสามารถนำมาซึ่งความเจริญได้ ความขัดแย้งนำมาซึ่งการพัฒนาได้ ถ้าจะเป็นวาทกรรมใหม่ต้องบอกว่า “ผมชอบความขัดแย้งแต่ไม่ชอบความรุนแรง” ผมไม่ชอบแบบทุกคนสมัครสมานสามัคคีรักใคร่ปรองดองเหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่ต้องมาเป็นพี่น้องผม เป็นคุณนั่นแหละ ไม่ต้องมารักอะไรมาก จะมาอะไรกันนักหนา (หัวเราะ) หรือบางทีบอกคนไทยด้วยกันต้องไม่ทำร้ายกัน มันแบบไม่ใช่ คนพม่าเราก็ต้องไม่ไปทำร้ายเขา ถ้าคนไทยคนนี้ไม่น่ารัก ผมก็ไม่รัก ผมไม่ชอบคนไทยขี้โกงแล้วมาให้ผมรัก สิ่งเหล่านี้มันจะต้องถูกเคลียร์ ค่อยๆ คุย ค่อยๆ ปรับ... ปรับทัศนคติ (หัวเราะ) ศุ บุญเลี้ยง ความไม่น่ารักของประชาธิปไตยที่รัก