สุกี้พระนายกอง ย้อนประวัติศาสตร์อยุธยา กับช่วงเวลาแห่งความไร้สุขของคนกรุงเก่า

สุกี้พระนายกอง ย้อนประวัติศาสตร์อยุธยา กับช่วงเวลาแห่งความไร้สุขของคนกรุงเก่า
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘สุกี้’ ในเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย  ชื่อของ ‘สุกี้พระนายกอง’ น่าจะเป็นชื่อแรกที่แวบขึ้นมาในแวบความคิดของใครหลาย ๆ คน  แล้วสุกี้พระนายกองผู้นี้เป็นใครกัน   ค่ายโพธิ์สามต้น สุกี้พระนายกองเป็นชาวมอญที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านโพธิ์สามต้น ในกรุงศรีอยุธยา มีชื่อไทยว่า ‘ทองสุก’ สำหรับชุมชนโพธิ์สามต้นเป็น ‘ขนอนบางลาง’ คือ ด่านเก็บภาษีอากรเรือที่ลงมาจากภาคเหนือ  ที่สำคัญ คือ เป็นที่ตั้งค่ายในการทำศึกสงครามระหว่าง ‘พม่า’ กับ ‘ไทย’ เสมอมา ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งราชวงศ์ตองอู เรื่อยมาจนถึงพระเจ้ามังระ กษัตริย์อังวะ ในช่วงก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกเป็นครั้งที่ 2 ไม่ปรากฏประวัติของสุกี้พระนายกองมากนัก ทราบเพียงว่าอยู่สืบมา เขาได้เป็นผู้นำชุมชนมอญในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา โดยได้รับตำแหน่ง ‘พระนายกอง’ ซึ่งเป็นตำแหน่งของชาวมอญที่ทางกรุงศรีอยุธยาแต่งตั้งมาเพื่อควบคุม ดูแล และปกครองกลุ่มคนมอญในบริเวณดังกล่าว (ส่วนคำว่า ‘สุกี้’ สันนิษฐานกันว่ามาจาก ‘ซุกคยี’ ในภาษาพม่าที่แปลว่านายกอง) เมื่อพระเจ้ามังระและมังมหานรธายกทัพเข้ามาหมายบดขยี้กรุงศรีอยุธยาให้ปลาสนาการลง ได้เข้าต่อตีชุมชนโพธิ์สามต้นนี้ก่อน  เพื่อปกป้องชาวมอญในความดูแลไม่ให้ต้องล้มตาย สุกี้พระนายกองจึงสวามิภักดิ์กับอังวะ ด้วยเห็นว่าไม่อาจต้านทานความแข็งแกร่งของกองทัพอังวะได้  ในเวลาต่อมา เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้สุกี้พระนายกองเป็นแม่ทัพ ควบคุมพลมอญ 3,000 คน อยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น มีหน้าที่คอยสืบข่าว จับผู้คนและทรัพย์สินส่งไปให้กับทางอังวะ จนถึงปี พ.ศ. 2310 ที่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้   ศึกบางระจัน วีรกรรมความกล้าหาญที่ชาวบ้านบางระจันแสดงความเก่งความกล้าเอาไว้ในการยืนหยัดสู้รบกับกองทัพพม่าในช่วงก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 นั้น เป็นเรื่องเล่าขานที่รับรู้กันเป็นอย่างดี และเป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากต้านทานกองทัพพม่าได้ถึง 7 ครั้ง ในที่สุดค่ายบางระจันก็พ่ายแพ้ลง แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า ‘สุกี้พระนายกอง’ คือตัวแปรสำคัญในการรบครั้งสุดท้ายของชาวบ้านบางระจัน กล่าวคือ สุกี้พระนายกองจากบ้านโพธิ์สามต้น ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมาช้านาน ชำนาญภูมิประเทศมากกว่าพวกพม่า และรู้จักนิสัยชาวไทยดีกว่า ได้เข้ามาอาสาเข้าตีค่ายบางระจัน เขาทราบดีว่า ถ้ารบในที่แจ้งแล้วจะสู้ไม่ได้ จึงรบอย่างระมัดระวังตัว ใช้เวลาครึ่งเดือน ค่อย ๆ ยกพลไปประชิดค่ายบางระจัน และใช้วิธีการตั้งรับอยู่แต่ในค่ายของตน ชาวบ้านบางระจันออกมารบทัพต่อตีหลายครั้งก็ตีไม่ได้ เพราะสุกี้พระนายกองตั้งค่ายมั่นคง และชาวบ้านไม่มีปืนใหญ่จะยิงทำลายค่าย ยิ่งรบนานเข้าก็ยิ่งถูกพม่าฆ่าตายลงไปทุกวัน เมื่อสุกี้พระนายกองเห็นชาวบ้านอ่อนแรงลง จึงขุดอุโมงค์เข้าไปตั้งค่ายประชิดบ้านบางระจัน แล้วปลูกหอรบยิงปืนใหญ่เข้าไป จนผู้คนระส่ำระสาย เมื่อนั้นจึงยกทัพเข้าปล้นค่าย เป็นอันถึงกาลอวสานของชาวบ้านบางระจันเพียงเท่านั้น   ขอคืนพื้นที่กรุงศรีอยุธยา หลังจาก ‘กรุงแตก’ ในวันที่ 7 เมษายน 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้รวบรวมไพร่พลต่อตีปราบปรามก๊กชุมนุมต่าง ๆ จนเป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งทางพม่าได้แต่งตั้งให้สุกี้พระนายกองเป็นแม่ทัพของอังวะในการควบคุมพื้นที่ค่ายโพธิ์สามต้นเอาไว้  เมื่อพระเจ้าตากรบชนะ สุกี้พระนายกองตายในที่รบ พระเจ้าตากจึงสามารถเข้ายึดคืนพื้นที่กรุงศรีอยุธยาที่เหลือแต่ซากปรักหักพังคืนมาได้ แต่เมื่อทรงพิเคราะห์แล้วเห็นว่ายังไม่มีกำลังเพียงพอที่จะสืบสานรักษาราชธานีแห่งนี้ไว้ได้ จึงทรงต่อยอด นำอาณาราษฎรไปตั้งราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงธนบุรี และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 28 ธันวาคม 2310 นับเป็นพระปรีชาสามารถอันปรากฏทั่วทิศานุทิศ ช่วงเวลาแห่งความไร้สุขของคนกรุงเก่า อาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาของสุกี้พระนายกอง คือช่วงเวลาแห่งความไร้สุขของคนกรุงเก่า สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ตราบจนเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถปราบลงได้ จึงทรงคืนความสุขให้กับอาณาจักรอีกครั้ง แม้จะเป็นเวลาสั้น ๆ เพียง 15 ปี   บรรณานุกรม
  • สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 24 เรื่องที่ 3 เมืองหลวงเก่าของไทย / กรุงธนบุรี.
  • นรเศรษฐ์ เตชะ, “กลุ่มคน ‘มอญ’ : ในพื้นที่ประวัติศาสตร์และความทรงจำของชุมชนโพธิ์สามต้นในสมัยอยุธยาจนถึงธนบุรี” วารสารวิชาการอยุธยาศึกษา ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2562, หน้า 39-50.
  • ทวีศิลป์ ญาณประทีป, ‘ค่ายบางระจัน อนุสาวรีย์แห่งนักรบประชาชน’.
  • https://vajirayana.org/พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า-ครั้งกรุงศรีอยุทธยา/สงครามครั้งที่-๒๔-คราวเสียกรุง-ฯ-ครั้งหลัง-ปีกุญ-พศ-๒๓๑๐
  เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร