หนุ่มหน่ายคัมภีร์: ภาพสะท้อนอำนาจนิยมภายใต้ระบบซิเนียริตี้ที่ 50 กว่าปีผ่านไปก็ยังเหมือนเดิม

หนุ่มหน่ายคัมภีร์: ภาพสะท้อนอำนาจนิยมภายใต้ระบบซิเนียริตี้ที่ 50 กว่าปีผ่านไปก็ยังเหมือนเดิม
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังสือเรื่อง หนุ่มหน่ายคัมภีร์ เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ / ‘หนุ่มหน่ายคัมภีร์’ เขียนโดย ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’ นักคิดนักเขียนคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย นับว่าเป็นหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบอาวุโสได้อย่างเจ็บแสบ และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน เพราะแก่นของเรื่องเล่าถึงความไม่พอใจต่อระบบอาวุโส หรือซีเนียริตี้ (Seniority - ระบบที่ให้รุ่นน้องทำตามคำสั่งของรุ่นพี่) ซึ่งระบบดังกล่าวมีอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ นั่นทำให้หนุ่มหน่ายคัมภีร์กลายเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่มีอิทธิพลทางความคิดของนิสิตนักศึกษา จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศไทยในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 หนุ่มหน่ายคัมภีร์ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2512 โดยสุจิตต์ถือเป็นตัวแทนในการบอกเล่าเรื่องราวความไม่พอใจของนักศึกษาที่มีต่อระบบอาวุโส เพราะตัวเขาและเพื่อนเคยพบเจอกับเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยตัวเองในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดจะถูกบอกเล่าผ่านตัวละครหลักที่มีชื่อว่า ‘นายทองปน บางระจัน’  ท่ามกลางบรรยากาศเปิดปีการศึกษาของเหล่านักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทองปนในฐานะ ‘เฟรชชี่’ มีความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาหาวิชาความรู้ แต่เขากลับต้องเผชิญกับประเพณีที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไรนัก ทั้งการรับน้องใหม่ที่ผิดแปลกพิสดาร และการตั้งกฎข้อบังคับที่ไร้เหตุผล ‘ใครที่อายุน้อยกว่าต้องสยบยอม รุ่นน้องต้องเชื่อฟังรุ่นพี่ ครูบาอาจารย์สั่งสอนต้องเชื่อฟัง ห้ามโต้แย้ง ห้ามตั้งคำถาม’ แต่ถึงจะได้ยินคำสั่งเช่นนั้นอยู่ตลอด ตัวทองปนกลับไม่ยี่หระต่อระบบอาวุโสแม้แต่น้อย เขากล้ายืนหยัดท้าทายต่อความไม่เท่าเทียมด้วยวาจาอันแสบสัน ในจุดนี้คงทำให้ผู้อ่านหลายท่านรู้สึกฮึกเหิม จนถึงขั้นอยากปล่อยหมัด ‘ซัด’ หน้ารุ่นพี่ เผื่อความหยิ่งผยองในอำนาจของพวกเขาจะลดลงบ้าง ความห่างชั้นทางอำนาจกับผลที่ตามมาของระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง “เขาบอกให้สามัคคีกันไว้ อย่าแตกแยกกัน แม้ว่าจะอยู่คนละคณะ แต่ก็สังกัดในสถาบันเดียวกัน ต้องทำความรู้จักกันไว้ จะตกถิ่นฐานใดไม่ขัดแคลน เราต้องช่วยพวกเราก่อน” รุ่นพี่คนหนึ่งตะโกนก้องต่อหน้าน้องใหม่ “อ้าว! ไหงงั้น ไหนว่าเรียนไปช่วยประเทศชาติ กลายเป็นเรียนไปช่วยพวกเดียวกันเองซะแล้ว” ทองปนรำพึงรำพันด้วยความไม่เข้าใจ เขารู้สึกสับสนเมื่อตัวเองเข้ามหาวิทยาลัย เพราะมีจุดมุ่งหมายในการ ‘เรียน’ แต่กลับถูกบังคับให้มานั่งฟังคำปราศรัยของพวกรุ่นพี่ เมื่อวิเคราะห์ถึงคำพูดข้างต้น พิธีการรับน้องได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในสถานศึกษาอย่างชัดเจน ความอาวุโสมีอำนาจในตัวเองถึงขั้นที่อยู่เหนือเหตุผล ทำให้ระบบรุ่นพี่-รุ่นน้องดังกล่าวอาจนำไปสู่อีกปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึกในสังคมไทยคือ ‘ระบบอุปถัมภ์’ ซึ่งระบบนี้เป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวก รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ในแวดวงผู้มีอำนาจ โดย ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้กล่าวถึงระบบอาวุโสเปรียบเทียบบริบทในประเทศไทยเอาไว้โดยสรุปผ่านคำนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ว่า “ระบบนี้คล้องจองพอดีกับค่านิยมของสังคมไทย สังคมไทยในบางส่วนและบางเวลาชื่นชอบอยู่กับการเคารพเชื่อฟังโดยไม่มีเหตุผล ระบบอาวุโสได้ช่วยเป็นตัวกระชับให้เกิดความเคารพเชื่อฟังดังกล่าว รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย เมื่อต่างจบออกไปทำงานทำการ (ส่วนใหญ่รับราชการ) ระบบนี้ก็ได้เป็นเครื่องกระชับความสัมพันธ์ผู้น้อย-ผู้ใหญ่เอาไว้ต่อไปอีก ทำให้ง่ายต่อการบังคับบัญชา ทำให้ง่ายต่อการรวมกลุ่ม (ของผู้ที่มาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน) เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม เพราะทำให้มีการแบ่งสี แบ่งสถาบันกันในวงการราชการและวงการอาชีพอื่น ๆ และที่ไกลไปกว่านั้นก็คือระบบอาวุโสเมื่อใช้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้ขาดความคิดโต้แย้ง ขาดความคิดริเริ่ม และที่สุดเป็นการวางรากฐานให้กับการใช้อำนาจเด็ดขาด กลายเป็นระบอบเผด็จการในบั้นปลาย” ระบบอาวุโสดังกล่าวส่งผลต่อการตีกรอบความคิด ทำให้นักเรียนและนักศึกษาคุ้นชินกับการเชื่อฟังคำสั่งของผู้ที่โตกว่า นำไปสู่ภาวะขาดจินตนาการในการเรียนรู้นอกกรอบ เด็กไทยขาดความกล้าที่จะตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ หรือเนื้อหาที่ได้ศึกษาเล่าเรียน ส่งผลให้ไม่เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่เกิดการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม และไม่เกิดการปฏิรูปการรับน้องเสียที กระทั่งปัจจุบัน แม้ในบางสถานศึกษาจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรับน้องว่าควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการไปในรูปแบบที่สร้างสรรค์ แต่ขณะเดียวกันบางสถานศึกษายังคงเมินเฉย ทำให้การรับน้องมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นดังที่ปรากฏในข่าว ประเพณีโซตัสที่ไม่เคยเปลี่ยน  “รุ่นพี่ผู้ชายคนหนึ่งไว้ผมยาวเหมือนลิงอุรังอุตัง ตะคอกสั่งว่าวิ่งไปข้างหน้าสามสิบสองก้าวครึ่ง แล้วตะโกนบอกชื่อมาให้ดังที่สุด” “กูยิ้ม ๆ แล้วก็วิ่งเหยาะไปสามสิบสองก้าวเท่านั้นเอง ก็หันกลับมาทางรุ่นพี่ กูชักสนุกเลยตอบสวนไปว่าชื่อทองปน นามสกุลบางระจันโว้ย” นี่คือตัวอย่างการใช้ถ้อยคำบังคับขู่เข็ญรุ่นน้องให้ทำตามคำสั่ง วัฒนธรรมการ ‘รับน้อง’ หรือ ‘โซตัส’ ที่มีแต่เดิมเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ บรรดารุ่นพี่บังคับให้รุ่นน้องปฏิบัติตามคำสั่ง ตั้งแต่การสร้างกฎระเบียบขึ้นเอง และบังคับเรื่องการแต่งกาย ในสมัยก่อนการใช้ระบบโซตัสมีให้เห็นในทุกมหาวิทยาลัย มีการรับน้องที่เข้มข้น มีการทำโทษ บังคับ และใช้วิธีการสารพัดที่สากลโลกไม่ยอมรับ แม้ในปัจจุบันจะมีกระแสต่อต้านจากกลุ่มแอนตี้ระบบโซตัส แต่เด็กที่กลายเป็นเหยื่อทางการศึกษาเช่นเดียวกับทองปนกลับยังมีให้เห็นในสถานศึกษาส่วนหนึ่ง นำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมว่า ระบบดังกล่าวควรเปลี่ยนไปสู่การรับ ‘เพื่อนใหม่’ แบบสร้างสรรค์ได้แล้ว นอกจากนี้สถาบันการศึกษาควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของระบบโซตัส และทำให้ระบบโซตัสเป็นระบบที่หายไปจากสถาบันการศึกษาอย่างถาวร เริ่มตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการพิจารณาเรื่องการแต่งกายเข้าเรียน การแต่งกายไม่ส่งผลต่อการเรียน “หัวหน้าคณะตะโกนถามกูว่าทำไมแต่งตัวไม่ถูกระเบียบ”  “กูจึงบอกว่าระเบียบต่างหากที่วางไว้ไม่ถูก” “มีอย่างที่ไหน ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแล้วยังต้องมากำหนดสีเสื้อสีกางเกง ขนาดของกางเกง ความกว้างของขากางเกง สารพัดจิปาถะ มิหนำซ้ำยังกำหนดถุงน่องรองเท้า ระเบียบเมื่อสิบปีที่แล้วก็ยังคงเอามาใช้ กาลเวลามันเปลี่ยนไป แฟชั่นใหม่เข้ามาแทน ความนิยมของสังคมบ้าง ความนิยมส่วนตัวบ้าง ทัศนคติทางการแต่งกายบ้าง มันคงเส้นคงวาที่ไหนเล่า แล้วก็ไม่เห็นมีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องมากำหนดกัน แต่งตัวตามระเบียบเชย ๆ นั้นเรียนเก่งขึ้นหรือเปล่า” “เงียบกันหมดเลยว่ะ กูว่าแล้ว”  ไร้ซึ่งเสียงตอบรับจากเพื่อนในวงสนทนา ขณะที่ทองปนพยายามแสดงให้เห็นว่า วิธีการแต่งกายหรือการไว้ทรงผม ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งบุคคลอื่นไม่ควรก้าวล่วง หรือใช้ตนเองเป็นบรรทัดฐานว่าสิ่งใดถูกหรือผิด จากประเด็นดังกล่าว ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเพียงใด แต่การแต่งกายก็ยังใช้แบบแผนเดิม คือให้นักเรียนนักศึกษาแต่งกายตามกฎระเบียบของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ถึงแม้จะมีการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งส่งผลต่อแนวคิดและค่านิยมของผู้เรียนให้มีความคิดก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แต่สังคมที่ยังคงยึดถือกฎระเบียบเดิม ทำให้เกิดการถกเถียงประเด็นดังกล่าวเรื่อยมา โดยฝ่ายที่สนับสนุนการแต่งกายแบบเดิมมองว่าเป็นการฝึกฝนระเบียบวินัย ส่วนฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมองว่า การแต่งกายไม่ได้ส่งผลต่อการศึกษาเลยแม้แต่น้อย ขณะที่ระบบการศึกษาของประเทศไทยที่ไร้ความก้าวหน้าต่างหากคือสิ่งที่ส่งผลต่อการเรียนมากที่สุด คิดต่างเพื่อเปลี่ยนแปลง  “ประธานเชียร์ขัดจังหวะพูดเป็นนักวัฒนธรรมว่า นายเข้ามาอยู่บ้านของคนอื่นเขาที่มีวัฒนธรรมอย่างนี้ แล้วนายจะมาฝืนเขาได้อย่างไร ประเพณีการรับน้องใหม่เขาทำสืบต่อกันมานับเป็นสิบ ๆ ปี นายมาถึงนายจะมาเขี่ยวัฒนธรรมของเขาให้กระเด็นออกไปมันจะถูกเรื่องหรือเล่า” ทองปนล้อเลียน “กูจึงว่า ถามจริง ๆ เถอะ ก็มนุษย์นั้นนุ่งห่มใบไม้มาตั้งแต่สมัยหิน ทำไมพี่ไม่ไปนุ่งห่มใบไม้เล่า พี่ทำไมทำลายวัฒนธรรมของคนสมัยหินซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์อย่างพี่เล่า มนุษย์สมัยหินอาศัยอยู่ตามป่าตามถ้ำ มนุษย์สมัยนี้ เสือกมาสร้างบ้านเรือน ตึกรามอยู่ทำไม อย่างนี้มิเป็นการทำลายวัฒนธรรมของมนุษย์ด้วยกันหรือ” แต่อนิจจาคนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง ไม่ได้รู้สึกเช่นเดียวกับนายทองปน เพราะพวกเขาเข้าร่วมการรับน้องอย่างว่านอนสอนง่ายราวกับมนุษย์ที่ตกอยู่ในภวังค์แห่งรัก ซึ่งแท้จริงแล้วการสยบยอมเหล่านี้ถือเป็นการถูกครอบงำโดยระบบอาวุโสอย่างสมบูรณ์ แตกต่างกับทองปนที่พยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และท้าทายต่อระบบอาวุโสที่มีอยู่ในสถานศึกษาของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามยัดเยียดความรักและความภักดีต่อสถาบันเข้าไปในหัวของนักศึกษา ถ้าเขาจะรักไม่ต้องบอกให้รักเขาก็รัก “ไม่ได้โกรธไม่ได้เคืองอะไรนักหนาหรอก แต่มันแสนรำคาญสิ้นดี กูมองรุ่นพี่อย่างตัวอะไรตัวหนึ่งเท่านั้นเอง มันช่างเป็นตัวจริง ๆ ไม่ได้มีความนึกความคิดอะไรเลย อยากจะให้กูเคารพเชื่อฟัง แต่ทำยังกะอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าง่วนสีโจ๊วฮ่องเต้ ต้องกะเกณฑ์ ต้องกำหนดโทษถ้าหากว่าไม่เคารพ ช่างไม่มองตัวเองกันบ้างเสียเลยว่ามันน่าเคารพตรงไหนกันบ้าง คนเราอยู่ ๆ ก็จะให้เคารพกันโดยไม่มองตาม้าตาเรือตาขุนตาโคนใด ๆ ทั้งสิ้นอย่างนั้นหรือ ความจริงถ้าจะให้เคารพกันแล้ว ความเคารพมันมาโดยอัตโนมัติ โดยธรรมเนียมไทยมันก็มีซีเนียริตี้อยู่ในหัวใจทุกคนแหละ ไม่ต้องมีใครมาบังคับขู่เข็ญหรอก” นับว่าภายใต้ความจริงอันโหดร้ายที่หนุ่มหน่ายคัมภีร์นำเสนอก็ยังมีเรื่องที่น่าภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สังคมไทยมีคนแบบสุจิตต์ที่สามารถมองเห็นปัญหาการใช้ระบบโซตัสในสถานศึกษาได้ตั้งแต่ยุคก่อน ทั้งยังบรรยายการรับน้องได้อย่างออกรส เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบอาวุโสที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ 50 กว่าปีผ่านไป ปัญหาเหล่านี้กลับได้รับการแก้ไขอย่างเชื่องช้า ถึงจะมีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกระบบโซตัส และมีกลุ่มคนที่คอยประชาสัมพันธ์ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการรับน้องแบบไม่สร้างสรรค์เพิ่มขึ้นทุกปี แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านี้กลับยังไม่หายไปไหน ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า ระบบการศึกษาของทองปนตั้งแต่ปี 2512 กับระบบการศึกษาของเด็กในยุคปัจจุบันยังคง ‘เหมือนเดิม’ กระนั้นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสถานศึกษาก็ยังต้องดำเนินต่อไป พร้อมคำภาวนาให้ทองปน บางระจัน เติบโตอยู่ในใจของเด็กไทยรุ่นใหม่เพื่อสังคมที่ดีขึ้นในเร็ววัน เรื่อง: ยศพงศ์ ศิริวัฒนะโชติ (The People Junior) อ้างอิง: หนุ่มหน่ายคัมภีร์ เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์ Dream Catcher ตีพิมพ์ครั้งที่ 9 ที่มาภาพ: หนังสือหนุ่มหน่ายคัมภีร์ พิมพ์ครั้งที่ 9  https://www.youtube.com/watch?v=nrNQxw6cPYs&t=3103s