ส. ศิวรักษ์ : ความสุขในวัยชรา กับ Netflix YouTube และการเซ็นหนังสือ

ส. ศิวรักษ์ : ความสุขในวัยชรา กับ Netflix YouTube และการเซ็นหนังสือ

ความสุขในวัยชรา กับ Netflix YouTube และการเซ็นหนังสือ

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา “ส. ศิวรักษ์” เกิดในปลายปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้สยามเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย เขาเกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ปฏิทินเก่า) ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1933 ในปีนี้จึงมีอายุครบ 89 ปีบริบูรณ์ สุลักษณ์มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ ในฐานะปัญญาชนสยาม นักคิดนักเขียน ที่มีผลงานนับร้อยเล่ม ทั้งทางศาสนา การเมือง และประวัติศาสตร์ แม้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต สุลักษณ์ก็ยังมีหนังสือใหม่ออกมาอยู่อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ในยุคออนไลน์ สุลักษณ์ยังปรากฏตัวผ่านคลิปวีดีโอในช่อง YouTube ที่เล่าประวัติศาสตร์มุขปาฐะทั้งเรื่องพระ เรื่องเจ้า และเกร็ดต่าง ๆ อยู่อย่างไม่ขาดสาย ความสุขในยามสนธยาแห่งชีวิตของสุลักษณ์จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องเล่านี้ ทั้งหนังสือ Netflix และ YouTube   นักขายหนังสือในตำนาน ทุกงานเสวนาหรือปาฐกถาที่ ส. ศิวรักษ์ ไปปรากฏตัว นอกจากท่วงท่าลีลาในการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ อย่างชวนฟังแล้ว การโฆษณาขายหนังสือของเขาก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะจดจำได้ เพราะเขาสามารถโยงเรื่องที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องให้เข้ามาสู่การแนะนำหนังสือของเขาได้ ตัวอย่างล่าสุดในปีที่ผ่านมา ในรายการสดทางแฟนเพจ Facebook ของเขา พิธีกรอ่าน “คำถาม” จากทางบ้านให้เขาฟังว่า “มาพล่าม -วย อะไรหนักหนา ไอ้เฒ่าเนรคุณแผ่นดิน”  สุลักษณ์ได้ยินไม่ถนัด พิธีกรต้องแปลสรุปให้ฟังว่า “เขามาด่าอาจารย์ครับ” คำตอบของสุลักษณ์ คือ “ไม่เป็นไรหรอก ใครอยากด่าได้ก็ด่าไป ให้เขาได้ระบาย เพราะว่าประชาธิปไตยเนี่ย คนได้ระบายได้ก็ดี...ไม่เป็นไรหรอก พร้อมกันนี้ ผมอยากจะเตือนนะครับ หนังสือเล่มใหม่ของผมเนี่ย...(แล้วขายของต่อไป)” สุลักษณ์ยังมีความสุขอยู่เสมอเมื่อหนังสือขายได้ ไม่ใช่เพราะหวังจะร่ำรวยจากการนี้ แต่พอใจที่มีคนสนใจความคิดความอ่านของตน โดยเฉพาะถ้ามีใครซื้อหนังสือที่เขาเขียนเกี่ยวกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือนายปรีดี พนมยงค์  เขาจะดีใจเป็นพิเศษ มักจะเปรยว่า “ดีใจที่มีคนสนใจเรื่องนี้” ทั้งนี้ เพราะเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตที่สุลักษณ์เห็นว่าคนไทยควรรู้จักนั่นเอง   YouTuber ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สุลักษณ์ปรากฏตัวอย่างสม่ำเสมอทาง YouTube ช่อง “เสมเสวนา” และ “ธนดิศ” (ที่มี 2 ช่อง เพราะแยกกันตามความสนใจของผู้สัมภาษณ์และผู้ผลิตรายการ) พร้อมเรื่องเล่าในทางเกร็ดประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่ไม่มีในหนังสือเล่มไหน ๆ ซึ่งหลายคลิปมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก สุลักษณ์เองก็สนุก และมีความสุขไปกับการถ่ายทำรายการเหล่านี้ เพราะได้เล่าเรื่องที่อยากเผยแพร่ และมีคนสนใจรับฟัง แม้ความชราจะทำให้สุลักษณ์หลงลืมเรื่องใกล้ตัวในปัจจุบันไปบ้าง แต่สำหรับเรื่องในอดีตแล้ว สุลักษณ์เล่าได้ราวกับเพิ่งผ่านมาเมื่อวานนี้  คลิปแทบทั้งหมดที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ ไม่ได้มีการส่งคำถามกันล่วงหน้า แต่ถาม-ตอบกันสด ๆ เลย  สุลักษณ์สามารถเล่าเรื่องต่างๆ ได้ ชนิดที่คนตัดต่อแทบไม่ต้องตัดอะไรทิ้งไปเลย เขายังมักจะถามถึงปฏิกิริยาของผู้ชมว่ามีคนมาดูเยอะไหม และมีใครมาด่าอย่างไรบ้าง สุลักษณ์ออกจะตื่นเต้นเวลาเจอคำด่าใหม่ ๆ ตามยุคสมัย จนทีมงานที่ถ่ายทำคลิปเอาไปทำคลิปรวมคำด่ายอดฮิตให้สุลักษณ์ได้อธิบายความรู้สึกมาแล้ว ! สุลักษณ์ให้ข้อคิดในเรื่องนี้ว่า “ถ้าเขาด่ามา เป็นจริงอย่างที่เขาด่า เราก็ต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเราให้ดีขึ้น  พระพุทธเจ้าตรัสเลยนะครับ สิ่งประเสริฐสุดสำหรับมนุษย์จากภายนอก คือ กัลยาณมิตร – คนที่พูดในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง เมื่อฟังแล้ว ถ้าเขาพูดจริงเราก็แก้ไข  ถ้าเขาพูดไม่จริง จะไปโกรธเขาทำไม”   Netflix ส่วนกิจกรรมโปรดในยามว่างของสุลักษณ์ คือ การถอดไพ่ (Solitaire) ลับสมองไปพลาง ฟังดนตรีจากเครื่องเล่นซีดีไปพลาง  สุลักษณ์ฟังเพลงไม่เลือก ทั้งไทย จีน แขก ตะวันตก ฯลฯ แต่ก็เป็นอันรบกวนคนอื่นอยู่ไม่น้อย เพราะด้วยความสูงอายุที่หูเริ่มตึง สุลักษณ์เปิดเพลงดังลั่นบ้านเลยทีเดียว !  สำหรับเวลาส่วนใหญ่ที่เขาใช้พักผ่อนนั้น หมดไปกับการดูซีรีส์ทาง Netflix แม้สุลักษณ์จะเปิดเองไม่เป็น แต่ก็มีภรรยา ลูก ๆ และคนในบ้านช่วยจัดการให้อยู่ตลอด เรื่องที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ คือ เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระราชวงศ์ต่าง ๆ ทั้งของตะวันตกและตะวันออก ทั้งที่เป็นสารคดีและละคร ถ้าเจอหน้าลูกศิษย์ลูกหาที่สนิท ๆ กันแล้ว คำถามหนึ่งในช่วงนี้ก็คือ “มีหนังเรื่องแนะนำให้ดูบ้างไหม ดูไปหมดแล้ว” (555)  ในระยะหลังนี้มีลูกศิษย์รุ่นเด็ก ๆ เคยเปิดซีรีส์เกาหลีให้สุลักษณ์ดู จนน้ำตาร่วงมาแล้วเหมือนกัน สุลักษณ์ดูซีรีส์เหล่านี้เร็วมาก แม้จะเป็นเรื่องยาว ๆ ก็ดูจบได้ในไม่กี่วัน  แต่เขาก็จำเนื้อหาไม่ค่อยได้ จึงสามารถดูซ้ำไปซ้ำมาได้อยู่เรื่อย ๆ     ข้อคิดในวัย 89 ปี ไม่นานมานี้ ก่อนที่สุลักษณ์จะมีอายุครบ 89 ปี เขาสะท้อนบทเรียนจากชีวิตของตนเองไว้อย่างน่าสนใจว่า  “ให้เรามองอดีต แล้วมองว่าอะไรที่เราบกพร่อง เรายังแก้ได้อยู่ อะไรที่เราทำมาน่าภูมิใจ ก็ควรจะเอามาคิดตรึกตรองว่าเราไม่เสียชาติที่เกิดมา อย่าเอาไปอวดคนเขาว่าเราดีอย่างนั้น คนเขาหมั่นไส้เปล่า ๆ” และกล่าวถึงชีวิตที่ผ่านมาตนเองว่า “จะพูดให้หมั่นไส้ ผมเป็นคนที่มีเมียดี เมียผมดูแลผมตลอดมา อยู่ด้วยกันมาเกือบจะ 60 ปีแล้ว ดูแลผมมาตลอด ดีมาก ลูกสาวผม 2 คน ก็ดูแลผมมาดีมาก แม้ลูกชายเขาจะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจผม ผมก็เห็นใจเขา เพราะเขาเป็นตัวของเขาเอง ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องเห็นด้วยกับเรา อันนี้เป็นเหตุให้ผมรู้สึกว่า ผมคงจะไม่เสียชาติเกิด และหวังว่าถ้าจะเกิดใหม่ ก็ขอให้มีบทบาทในการรับใช้สรรพสัตว์ต่อไปจนกว่าจะถึงพระนิพพาน” เอาเข้าจริง สุลักษณ์ค่อนข้างจะถ่อมตัวในเรื่องผลงานของตัวเอง เคยมีลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดถามเขาว่า อะไรคือ “ความสำเร็จ” ในชีวิตของเขา สุลักษณ์ไม่ได้ตอบโดยตรง แต่เปรยว่า “ความสำเร็จมันเป็นเพียงความล้มเหลวที่ยังมาไม่ถึงเท่านั้นเอง อย่าไปยึดติดอะไรมากมายเลย” ถ้าจะจบข้อเขียนนี้ในสไตล์สุลักษณ์ ก็ควรจะต้องจบด้วยว่า ใครที่สนใจชีวประวัติของ ส. ศิวรักษ์ ต้องไม่พลาดหนังสือเล่มล่าสุดที่ออกในวาระอายุครบ 89 ปี คือ คันฉ่องส่องปัญญาชนสยาม และถ้าอยากได้ลายเซ็นด้วย ก็สั่งทางเพจ Sulak Sivaraksa ได้เลย !   เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร ภาพ: NationPhoto   ที่มา

  • https://www.facebook.com/sulak.sivaraksa/videos/2869228036628969, 21 เมษายน 2564
  • https://youtu.be/HU7YRjA3NCU, 21 สิงหาคม 2564
  • รายการ “รอยจารึก...บันทึกสยาม”, สัมภาษณ์สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เผยแพร่เมื่อ 24 มีนาคม 2565, https://www.thaipbspodcast.com/podcast/siamrecords/changes-in-thai-society-through-the-perspective-of-siamese-intellectuals