ซุนวู : ปราชญ์ผู้แต่งตำราพิชัยสงครามร่วมสมัย

ซุนวู : ปราชญ์ผู้แต่งตำราพิชัยสงครามร่วมสมัย
ตำราพิชัยสงครามเป็นตำราว่าด้วยการทำศึกสงครามเพื่อเอาชนะฝ่ายศัตรู ผู้แต่งตำราพิชัยสงครามที่นักยุทธศาสตร์ให้การยอมรับและนำมาศึกษามีมากมายหลายเล่ม ในโลกตะวันตกเราได้ยินชื่อของคาร์ล ฟอน เคลาเซอวิทซ์ (Carl von Clausewitz) และอองตวน-อองรี โฌมินี่ (Antoine-Henry Jomini) ในโลกตะวันออกเราได้ยินชื่อซุนวู (เรียกกันอีกชื่อว่า ซุนจื่อ) ซึ่งรายหลังนั้นแม้จะมีชีวิตในช่วงหลังพุทธกาลไม่นานนัก (ประมาณ 2500 ปีมาแล้ว) แต่ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ (The Art of War) ที่เขาแต่งขึ้นกลับได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลในยุคปัจจุบันไม่ต่างจากสองคนแรกที่เพิ่งกล่าวไปก่อนหน้านี้ อีกทั้งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในวงการทหารไปจนถึงวงการอื่น ๆ   คัมภีร์พิชัยสงครามของจีนในยุคโบราณมีหลายเล่ม แต่งโดยปราชญ์หลายท่าน อาทิ เจียงจื่อหยา ซือหม่าหรางจวี ซุนวู อู๋ฉี่ ซุนปิน จูกัดเหลียง ฯลฯ แต่ตำราพิชัยสงครามของซุนวูกลับเป็นที่รู้จัก อ้างถึง และได้รับการยอมรับมากที่สุด ก่อนจะกล่าวถึงแนวคิดของเขา ควรทำความเข้าใจชีวประวัติและความสำเร็จของเขากันก่อน   ชีวประวัติ ซุนวู มีพื้นเพเดิมเป็นชาวแคว้นฉี (ปัจจุบันคือบริเวณมณฑลซานตง) ในช่วงปลายยุควสันตสารท หรือยุคชุนชิว เกิดเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตกาล (1 ปีหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน) ตระกูลเดิมของเขาคือตระกูลเถียนอันเป็นตระกูลขุนศึกของแคว้น ต่อมาเถียนซู่ ผู้เป็นบิดามีความดีความชอบจึงได้รับประทานเมืองเล่ออันจากเจ้าแคว้นฉี พร้อมทั้งได้รับแซ่ใหม่ว่า “ซุน” ตระกูลซุนและเถียนจึงถือเป็นญาติสนิทกัน ลุงของซุนวูก็ไม่ใช่ใครอื่น คือเถียนหรางจวี ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพใหญ่แคว้นฉีนามว่า ซือหม่าหรางจวี ผู้แต่งตำราพิชัยสงครามวิถีแห่งแม่ทัพ (The Methods of Sima) แน่นอนว่า เขาจึงได้รับการหล่อหลอมองค์ความรู้และแนวคิดทางการทหารเอาไว้เป็นทุนเดิมจากครอบครัวของเขา แต่แล้วโชคชะตาพลิกผัน เกิดความวุ่นวายทางการเมืองภายในแคว้นฉีทำให้ซุนวูต้องหนีออกจากบ้านเกิดเนื่องจากเถียนหรางจวีลุงของเขาถูกใส่ร้ายจนถูกไล่ออกจากราชการและถึงแก่กรรมในเวลาไม่นาน ครอบครัวของซุนวูได้รับผลกระทบจนต้องหลบหนีออกจากเมืองเล่ออัน ซุนวูได้มาพำนักอาศัยอยู่ในแคว้นอู๋ (ปัจจุบันคือบริเวณมณฑลเจียงซู) โดยเข้ารับราชการในตำหนักของเจ้าชายจี้กวงผู้เป็นรัชทายาทของแคว้น เขาได้พิสูจน์ความสามารถและความเด็ดขาดในการบัญชาการทัพด้วยการฝึกนางสนมพร้อมทั้งลงโทษพระชายาองค์โปรดของเจ้าชายผู้ฝ่าฝืนคำสั่งโดยไม่นำพาต่อการทักท้วงของเจ้าชาย แสดงให้เห็นถึงความเคร่งครัดในวินัยกองทัพและความเด็ดขาดในการบัญชาการรบ ซุนวูร่วมงานกับอู๋จื่อซวีเป็นกำลังสำคัญให้แคว้นอู๋กลายเป็นมหาอำนาจ โดยทั้งคู่ช่วยให้เจ้าชายจี้กวงชิงราชสมบัติและปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นอู๋ ทรงพระนามว่า อู๋อ๋องเหอหลวี ได้สำเร็จ จากนั้นนำทัพออกทำสงครามกับแคว้นฉู่ด้วยการใช้กลยุทธ์ก่อกวนแคว้นฉู่ให้อ่อนล้า จนกระทั่งสามารถเอาชนะกองทัพแคว้นฉู่ได้ในยุทธการป๋อจวี่และยึดเมืองหยิ่งตู นครหลวงของแคว้นฉู่ได้เป็นผลสำเร็จ แคว้นอู๋ขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจขับเคี่ยวกับแคว้นใหญ่อื่น ๆ อย่างเช่น จิ้น ฉิน ฉู่ และฉี หลังจากนั้นเขาได้รับใช้อู๋อ๋องฟูไช กษัตริย์องค์ถัดมาจนช่วยให้ฟูไชได้ขึ้นเป็นเจ้าอธิราชผู้มีอำนาจเหนือเหล่าแว่นแคว้นในปลายยุคชุนชิวได้เป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม อู๋อ๋องฟูไชบริหารราชกิจเหลวแหลก เชื่อฟังคำประจบสอพลอของขุนนางกังฉินและนางไซซีผู้ที่เยว่อ๋องโกวเจี้ยนจากแคว้นเยว่ส่งมาบั่นทอนความมั่นคงของแคว้นอู๋ ขณะเดียวกันก็ละเลยต่อคำทัดทานของแม่ทัพผู้ซื่อสัตย์อย่างอู๋จื่อซวีจนรายหลังถูกประหารชีวิตด้วยการบังคับให้ฆ่าตัวตาย ซุนวูไม่อาจทนอยู่ภายใต้สภาวะแรงกดดันทางการเมืองดังกล่าวได้ จึงลาออกจากราชการกลับไปทำไร่นาที่ชนบทและเขียนตำราพิชัยสงครามซุนจื่อจนจบ ปิดฉากชีวิตการเป็นนักการทหารผู้เปี่ยมความสามารถแห่งแคว้นอู๋   หลักการสำคัญของตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อที่เขียนโดยซุนวู มีทั้งสิ้น 13 บท เริ่มตั้งแต่การวางแผนการรบไปจนถึงการใช้จารชน หลักการสำคัญของคัมภร์ดังกล่าวสามารถสรุปได้ดังนี้ 1.รู้เขารู้เรา - ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อเน้นให้ขุนศึกประเมินความได้เปรียบเสียเปรียบของฝ่ายตัวเองและฝ่ายตรงข้าม โดยพิจารณาจากหลักการปกครอง ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ขุนศึก วินัยกองทัพ กำลังทหาร ไปจนถึงทรัพยากรที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้ของการสงครามที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดชัยชนะในการทำศึก อีกทั้งหลีกเลี่ยงความพ่ายแพ้และสูญเสียโดยไม่จำเป็น  อย่างไรก็ตาม การรู้ข้อมูลของฝ่ายศัตรูนั้นไม่อาจทำได้อย่างเที่ยงตรงหากปราศจากการใช้จารชนเพื่อสืบรู้สภาพความเป็นไปในกองทัพและสภาพบ้านเมืองของฝ่ายศัตรู ในบทที่ 13 ของตำราดังกล่าวว่าด้วยการใช้จารชนจึงเน้นเรื่องการหาข้อมูลของจารชนสองประเภทนั่นคือ จารชนชาวพื้นเมืองซึ่งเป็นคนพื้นเมืองที่รู้ข้อมูลภายในของแคว้นฝ่ายศัตรู กับจารชนกลับเป็นซึ่งเป็นคนของตัวเองเข้าไปสืบราชการลับในแว่นแคว้นฝ่ายศัตรูก่อนรอดชีวิตกลับมารายงานต่อแคว้นต้นสังกัด 2.ชนะโดยสูญเสียให้น้อยที่สุด - ถือเป็นหัวใจสำคัญของตำราพิชัยสงครามฉบับนี้ ชัยชนะที่เป็นเลิศที่สุดคือชัยชนะโดยไม่เกิดความสูญเสียในการรบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทที่ 3 ว่าด้วยยุทโธบายเชิงรุกที่เน้นความสำคัญของการเอาชนะทางยุทธศาสตร์มากกว่าการใช้สงครามเบ็ดเสร็จเข้าทำลายศัตรู ในขณะที่การใช้กำลังทหารเข้าตีเมืองของข้าศึกเป็นเรื่องสุดวิสัย หากแม่ทัพไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากนี้ เนื่องจากการตีเมืองข้าศึกเป็นการสูญเสียกำลังคนและทรัพยากรโดยไม่จำเป็น ยิ่งกว่านั้น ซุนวูให้ความสำคัญกับการโจมตีจุดอ่อนของศัตรูเพื่อให้ได้ชัยชนะมาอย่างง่ายดายและเสียเลือดเนื้อให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงการโจมตีจุดแข็งของศัตรูอันนำมาซึ่งความพ่ายแพ้และความสูญเสียโดยไม่จำเป็น ในจุดนี้เราจะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างแนวคิดเรื่องสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) ของเคลาเซอวิทซ์ที่เน้นการทำลายทุกสิ่งของข้าศึกกับสงครามที่เน้นชัยชนะของซุนวูโดยหลีกเลี่ยงการรบที่ไม่จำเป็น 3.การศึกควรใช้อุบาย - ซุนวูให้ความสำคัญต่อการใช้กลยุทธ์และอุบายที่แยบยลซึ่งลวงให้ข้าศึกเกิดความสับสนและขาดความระมัดระวังจนเปิดเผยจุดอ่อนของตนออกมา ในขณะที่ฝ่ายตนไม่เปิดเผยจุดอ่อนใด ๆ ให้ศัตรูรับรู้ จึงช่วยให้สามารถโจมตีข้าศึกได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งเป็นการควบคุมสถานการณ์ของฝ่ายตนให้เกิดความได้เปรียบ ซุนวูกล่าวถึงในบทที่ 6 ว่าด้วยตื้นลึกหนาบาง ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้อุบายลวงฝ่ายตรงข้ามในหลายรูปแบบ เช่น ข้าศึกอิ่มหนำจงทำให้อดอยาก ข้าศึกหยุดพักพึงก่อกวน ปกปิดไม่ให้ข้าศึกทราบจุดที่จะเข้าตี เป็นต้น อีกทั้งในบทที่ 1 ว่าด้วยการวางแผนยังแทรกแนวทางการใช้อุบายในการรบเข้าไปด้วย เช่น แสร้งทำเป็นรบไม่ได้ รังควานข้าศึกที่ฮึกเหิมให้อ่อนเปลี้ย เป็นต้น จึงถือว่าซุนวูเน้นการรบด้วยมันสมองมากกว่าการปะทะด้วยกำลังรบเป็นหลัก 4.ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ - ซุนวูให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และวิธีการทำศึกตามสถานการณ์เสมอ จึงต้องประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา ไม่ฝืนตัวเองเพื่อทำศึก โดยเฉพาะในบทที่ 5 ว่าด้วยเรื่องยุทธานุภาพ ที่เน้นว่าอานุภาพการรบไม่ได้มาจากจำนวนทหารที่มากมายแต่มาจากการกลยุทธ์ รวมถึงการรบในแบบและนอกแบบสลับกันไปตามสถานการณ์  นอกจากนี้ซุนวูยังกล่าวถึงลักษณะต้องห้ามของผู้นำทัพและการทำสงคราม เช่น แม่ทัพผู้บุ่มบ่าม ใจร้อน เจ้ายศ ลุ่มหลงในอุดมคติ และขี้ขลาด ความดันทุรังใช้กำลังทหารในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย การสั่งการตามอำเภอใจ เป็นต้น ผู้มีลักษณะเช่นว่านี้ย่อมไม่อาจประเมินสถานการณ์ได้อย่างถ่องแท้และยืดหยุ่นพลิกแพลงกลยุทธ์ให้เหมาะสม ย่อมนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในท้ายที่สุด 5.ดำรงตนอยู่บนความได้เปรียบ - ถือเป็นศิลปะที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการชัยชนะ นั่นคือการวางตนอยู่ในสถานการณ์ได้เปรียบตลอดเวลาเพื่อทำให้มั่นใจว่าจะได้ชัยชนะหรือประสบผลสำเร็จอย่างไม่ยากเย็นนัก ซุนวูได้แทรกเอาไว้ในหลายบท ยกตัวอย่างเช่น บทที่ 6 ว่าด้วยตื้นลึกหนาบาง ทัพที่มาถึงภูมิประเทศก่อนย่อมได้เปรียบอีกฝ่ายที่มาทีหลัง นอกจากนี้ในบทที่ 5 ว่าด้วยเรื่องยุทธานุภาพ ระบุถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนรบโดยคำนึงความได้เปรียบของตนเป็นหลัก 6.วินัยและความสามารถในการปกครองกองทัพ - เป็นคุณสมบัติสำคัญของแม่ทัพ ต่อให้มียุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้ง กลอุบายที่แยบยล มีฝีมือทางการรบ แต่หากแม่ทัพขาดศิลปะในการใช้คน ย่อมทำให้กองทัพขาดความสามัคคี สิ่งที่ปรากฏชัดอยู่ในบทที่ 1 ว่าด้วยการวางแผน แม่ทัพจะต้องมีการปกครองกองทัพอย่างเข้มงวดแต่ปูนบำเหน็จและลงโทษอย่างเป็นธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชา จึงจะก่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ถือได้ว่าแนวคิดการทำสงครามของซุนวูให้ความสำคัญกับการทำสงครามโดยอิงยุทธศาสตร์และกลอุบายเป็นสำคัญ เพื่อให้อยู่บนความได้เปรียบในสถานการณ์แห่งการเผชิญหน้า มากกว่าการทำสงครามเบ็ดเสร็จอันก่อให้เกิดความรุนแรงเป็นวงกว้าง ซึ่งในบางครั้งการทำสงครามประเภทหลังก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และสังคม จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่เป็นทางเลือกสำคัญของการทำสงครามโดยเน้นผลสำเร็จที่ชัยชนะมากกว่าความเสียหายเป็นวงกว้าง   การยอมรับตำราพิชัยสงครามซุนจื่อทั้งในและนอกวงการทหาร ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อซึ่งเขียนโดยซุนวูนั้นได้รับการยอมรับในหมู่นักการทหารทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก อย่างไรก็ตามตำราดังกล่าวยังได้รับการยอมรับในวงการอื่น ๆ ด้วย ตำราของซุนวูได้รับการยอมรับให้เป็นหนังสือประกอบการเรียนที่โรงเรียนการทหารในหลายประเทศ แม้แต่ในประเทศในโลกตะวันตกอย่างเช่น โรงเรียนนายร้อยทหารบกเวสปอยท์ (United States Military Academy at West Point) และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก (The United States Army Command and General Staff College) ของสหรัฐอเมริกา โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิร์สท์ (The Royal Military Academy Sandhurst) ของอังกฤษ โรงเรียนเสนาธิการทหารบกของเยอรมนี (Die Führungsakademie der Bundeswehr) ฯลฯ ต่างใช้งานเขียนชิ้นนี้ประกอบการศึกษานโยบายทางการทหารและความมั่นคง  ในประวัติศาสตร์ นักการทหารและผู้นำประเทศผู้มีชื่อเสียงหลายคนต่างใช้ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อในการดำเนินนโยบายจนได้รับความสำเร็จอย่างเป็นที่ยอมรับ เช่น โจโฉในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน ทาเคดะ ชินเง็นในยุคเซ็นโกคุของญี่ปุ่น เหมาเจ๋อตุงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน นายพลโว เหงียน เกี๊ยบของเวียดนาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ตำราดังกล่าวสะท้อนหลักความจำเป็นทางการทหารซึ่งเน้นการโจมตีทางการทหารเพื่อบั่นทอนกำลังและทำให้ฝ่ายศัตรูยอมแพ้โดยไม่จำต้องทำลายกองทัพ พลเรือน และทรัพย์สินของพลเรือน โดยถือว่าการโจมตีเมืองเป็นเรื่องสุดวิสัยอันกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินพลเรือนของฝ่ายศัตรู ยิ่งกว่านั้น ในบทที่ 2 ยังกล่าวถึงการปฏิบัติต่อเชลยศึกอย่างมีมนุษยธรรมและใช้งานตามสมควร ซึ่งสอดคล้องต่อหลักการที่ปรากฏในอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ฉบับที่ 3 ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก สำหรับการยอมรับในวงการอื่น จะเห็นได้ว่ามีการนำเอาหลักการในตำราพิชัยสงครามซุนจื่อมาใช้ในกับการบริหารธุรกิจเพื่อการปกครองภายในองค์กรไปจนถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ทิศทางองค์กรสำหรับการแข่งขันในตลาด ยิ่งกว่านั้นในวงการกีฬาก็มีการนำเอาตำรานี้มาใช้ในการวางแท็กติกสำหรับการแข่งขันกับทีมตรงข้าม ซึ่งบุคคลผู้มีชื่อเสียงมากในเรื่องนี้คือ หลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ โค้ชจอมแท็กติกผู้พาทีมชาติบราซิลเป็นแชมป์โลกในปี 2002 โดยเขาได้ศึกษาตำราพิชัยสงครามประกอบการวางแท็กติกรับมือกับทีมต่าง ๆ  เสมอ นับได้ว่าซุนวูผู้เป็นนักการทหารในยุคชุนชิว นอกจากอุดมไปด้วยสติปัญญาและความสามารถทางการทหารจนนำพาแคว้นเล็กอย่างแคว้นอู๋ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแล้วยังแต่งตำราพิชัยสงครามอันทรงคุณค่า ถึงแม้ว่างานเขียนของเขามีอายุมากกว่า 2500 ปี แต่ก็ยังไม่ล้าสมัย ทั้งได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างทั้งในด้านการทหารไปจนถึงวงการกีฬา ถือได้ว่าซุนวูเป็นปราชญ์แห่งสงครามร่วมสมัยอย่างแท้จริง   ผู้เขียน ณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช ฐานข้อมูล: http://chinaknowledge.de/Literature/Diverse/sunzibingfa.html https://www.thecasecentre.org/products/view?id=85816 https://militaryhistorynow.com/2012/10/03/move-over-sun-tzu-west-point-offers-military-history-reading-list/ https://www.armyupress.army.mil/Journals/Military-Review/Online-Exclusive/2018-OLE/Aug/Art-of-War/ https://www.london.edu/think/management-in-times-of-change-lessons-from-the-art-of-war http://cilij.co.uk/2020/08/30/sun-tzus-art-of-war-and-the-first-principles-of-international-humanitarian-law/ https://daydaynews.cc/en/history/425783.html https://www.unzeen.com/article/365/