ซองกัง ณ Fast & Furious “ตายกี่ภาค ก็ขาดฮานไม่ได้” กับนักซิ่งผู้ชอบพกขนม

ซองกัง ณ Fast & Furious “ตายกี่ภาค ก็ขาดฮานไม่ได้” กับนักซิ่งผู้ชอบพกขนม
ดูจะเป็นธรรมเนียมไปเสียแล้ว เมื่อหนังตระกูล Fast & Furious ออกฉาย ต้องมีการปรากฏตัวของตัวละครตัวใหม่ให้แฟน ๆ ได้เซอร์ไพรส์และตื่นเต้นอยู่เสมอ แต่ภาคใหม่ซึ่งเดินทางมาถึงภาคที่ 9 นี้ แทนที่ทุกคนจะเทความตื่นเต้นไปที่การปรากฏตัวของนักมวยปล้ำดัง จอห์น ซีนา ในบทน้องชายของ วิน ดีเซล แต่แฟน ๆ ต่างตะลึงกับการกลับมาของผู้ชายคนนี้แทน คนที่การตายของเขาสร้างความกังขาที่สุดในหมู่ตัวละครของหนังตระกูลนี้ จึงไม่แปลกใจที่การกลับมาของเขาจะสร้างความฮือฮาจนกลายเป็นที่จับตาอีกครั้งของแฟรนไชส์ไม่มีวันตายเรื่องนี้ ชายที่กลับมาพร้อมขนมขบเคี้ยวในมือ พร้อมกับสโลแกน “ความยุติธรรมใกล้ปรากฏ” เขาคนนั้นคือ ฮาน หลิว ฮาน หลิว คือคาแรคเตอร์ฟากฝั่งเอเชียในหนังตระกูล Fast ที่ชาวเอเชียภาคภูมิใจ ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการรีบูทครั้งใหญ่ของหนัง Fast & Furious เมื่อภาค 2 ไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2006 สตูดิโออย่าง Universal จึงกะจะให้ภาค 3 เป็นหนังเล็ก ๆ ที่ไม่ได้คาดหวังเรื่องรายได้นัก แต่ด้วยความทะเยอทะยานของตัวผู้กำกับ จัสติน ลิน ที่เปลี่ยนหนังแอ็คชันบล็อคบัสเตอร์ ให้กลายเป็นหนังแอ็คชันสีฉูดฉาด มุมกล้องเหนือชั้นในงบจำกัด แม้จะไร้ซึ่งดาราอย่าง พอล วอล์คเกอร์ หรือ วิน ดีเซล เป็นตัวดึงดูด แต่ตัวหนังก็พิสูจน์ได้ถึงความยอดเยี่ยมและสนุก จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างจักรวาลหนังรถแข่งจนสุดขอบจักรวาลถึงทุกวันนี้  ภาคนั้นคือ The Fast and the Furious: Tokyo Drift นอกจากทำให้ชื่อของ จัสติน ลิน ผงาดในฐานะผู้กำกับหนังบล็อคบัสเตอร์วิสัยทัศน์เจ๋งแล้ว ยังแจ้งเกิดนักแสดงเอเชียที่ไม่มีคนรู้จักให้ผงาดทัดเทียมดาราใหญ่ได้อีกคน ทั้ง ๆ ที่คนนี้มีผลงานการแสดงเพียงไม่กี่เรื่อง นั่นก็คือ ซองกัง นั่นเอง ซองกัง (Sung Kang) หรือ คังซองโฮ นักแสดงสายเลือดเกาหลี แต่เติบโตในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นบทบาทการแสดงอย่างจริงจังในหนัง Better Luck Tomorrow (2002) หนังแจ้งเกิดของผู้กำกับ จิสติน ลิน ที่เล่าเรื่องราวของวัยรุ่นอเมริกัน-เอเชีย ที่เข้มข้นและได้รับคำชมอย่างล้นหลามในการสะท้อนภาพของชาวเอเชียที่เกิดและเติบโตในต่างเมืองได้อย่างถึงพริกถึงขิง และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพอันงดงามระหว่างจัสตินกับซอง ที่จัสตินเห็นแววและชักชวนให้ซองมารับบทภาคต่อของหนังตระกูล Fast ด้วยกัน ในบทบาทที่ใช้ชื่อเดียวกันกับหนัง Better Luck Tomorrow นั่นก็คือบท ฮาน หลิว  ใครที่ได้ดู The Fast and the Furious: Tokyo Drift แน่นอนว่านอกจากเทคนิคการถ่ายภาพการดริฟต์รถอย่างสวยงาม ท่ามกลางแสงสีนีออนของเมืองโตเกียวแล้ว การแสดงของฮานยังเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้คนจดจำ ชายหนุ่มลึกลับที่อยู่ท่ามกลางดงยากูซ่า มาพร้อมกับขนมที่อยู่ในมือไม่เคยขาด แต่พร้อมจะหยิบยื่นโอกาสให้เด็กหนุ่มต่างชาติเพื่อนำพาสู่โลกแห่งอาชญากรรมและการดริฟต์อย่างบ้าคลั่ง ขณะที่เราแทบจำหน้าพระเอกที่เป็นตัวนำของหนัง Fast 3 แทบไม่ได้ แต่เรากลับจดจำนักแสดงสมทบอย่างฮานได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่เพียงบทบาทที่ดูแบดบอย แต่เสน่ห์ ความเป็นพี่ใหญ่ที่พร้อมดูแลปกป้องน้อง ความเสียสละ และโศกนาฏกรรมตอนท้าย ที่ทำให้บทบาทของฮานเป็นที่น่าจดจำไม่ต่างกับบทบาทของโดมินิคหรือไบรอันเลย ซองกัง ณ Fast & Furious “ตายกี่ภาค ก็ขาดฮานไม่ได้” กับนักซิ่งผู้ชอบพกขนม และคาแรคเตอร์ของฮาน ก็นำไปสู่การเปลี่ยนหน้าไทม์ไลน์ของแฟรนไชส์ครั้งสำคัญ เมื่อ จัสติน ลิน รีเซ็ตจักรวาลใหม่หมด จนกลายเป็นหนังบล็อคบัสเตอร์เต็มสูบที่ยึดหัวหาดเทศกาลซัมเมอร์ฉายมาตลอด ซึ่งคาแรคเตอร์ของฮานก็ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ในฐานะก๊วนจารกรรมที่เปรียบเสมือนครอบครัวของ โดมินิค ทอร์เร็ตโต โดยภาค 4-5-6 กลายเป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าที่จะเกิดภาค 3 นั่นเอง ถือเป็นหนึ่งในความกล้าหาญและท้าทายของจัสติน ที่กล้าเดิมพันนักแสดงเชื้อสายเอเชียคนนี้ให้มีศักดิ์ศรีทัดเทียมนักแสดงเกรดเอ ที่แต่ละภาคก็ค่อย ๆ ตบเท้าเข้ามาเสริมบารมีให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่หลายคนรอคอย แม้คาแรคเตอร์ของฮานในหนังจะไม่ได้มีบทบาทอะไรสำคัญมากไปกว่าหนึ่งในนักซิ่ง ผู้เข้ามาช่วยเสริมทีมนักซิ่งแห่งจักรวาลที่หลอมรวมทุกเพศทุกเชื้อชาติเข้าไว้เป็นหนึ่งครอบครัวเดียวกัน แต่ความหน้าเด๊ด พูดน้อยแต่ต่อยหนัก การเพิ่มบทบาทกุ๊กกิ๊กระหว่างเขากับจีเซลที่รับบทโดย กัล กาด็อต ที่ต่อมาโด่งดังในฐานะซูเปอร์ฮีโรแห่งค่าย DC อย่าง Wonder Woman ก็ทำให้ฮานเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ขาดไม่ได้ในหนังตระกูล Fast ในที่สุด จนเมื่อตอนท้ายภาค 6 ในชื่อ Fast & Furious 6 การเลือกกำจัดตัวละครจีเซล นำไปสู่ความเศร้าเสียใจให้กับฮานอย่างมาก ฮานเลือกที่จะออกจากกลุ่มครอบครัวดอม ไปใช้ชีวิตเงียบ ๆ แบกความเศร้ามาใช้ชีวิตเรียบง่ายที่โตเกียว แต่ไม่วายที่ชีวิตของเขาจะปนเปื้อนกับอาชญากรรม และนำไปสู่การจบชีวิตลงท่ามกลางซากรถในภาค 3 และถูกเฉลยอีกทีในต้นภาค 7 ว่า ไม่ใช่อุบัติเหตุที่คร่าชีวิตเขา แต่เป็นการถูกเก็บโดยตัวละครอย่าง เดคการ์ด ชอว์ ที่ต้องการล้างแค้นให้กับน้องชายที่ถูกทีมดอมจัดการไปนั่นเอง  แม้การตายของฮานจะเป็นการตายที่สมควรแก่เวลา เพราะเรารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าเขาตายตั้งแต่ภาค 3 แต่แฟน ๆ ก็ยังรู้สึกว่ายังเป็นการตายที่ไม่ยุติธรรมอยู่ดี จนเกิดแฮชแท็ก #JusticeForHan ทวงคืนความยุติธรรมให้กับตัวละครตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ตัวร้ายที่แปรพักตร์มาเข้าข้างฝ่ายดีอย่าง เดคการ์ด ชอว์ ที่เข้าร่วมกลุ่มง่ายจนเกินไป รวมไปถึงการที่ตัวละครฮานถูกกำจัดง่ายเกินไป จนสุดท้ายก็ถูกเฉลยในตัวอย่างภาคล่าสุดนี้ว่า ฮานยังไม่ตายง่าย ๆ เขากลับมาในท้ายตัวอย่างพร้อมทั้งขนมในมือเช่นเคย  ไม่ง่ายเลยที่ตัวละครสักตัวจะเป็นที่จดจำและกล่าวถึง รวมไปถึงการเรียกร้องให้กลับมาโดยที่แฟน ๆ ไม่ค้างคาใจกับไทม์ไลน์ แต่ตัวละครของฮานก็ต้านทุกทฤษฎีการเกิดแก่เจ็บตาย ยืนหยัดจนกลายเป็นหนึ่งในตัวละครอมตะที่คอหนังจะได้เห็นเขาไปอีกนานแสนนาน ดังคำกล่าวที่ฮานบอกกับตัวละครอย่าง ชอว์น ใน Tokyo Drift ว่า “Life's simple. You make choices and you don't look back.” สำหรับฮานอาจจะเพิ่มอีกคำว่า “ชีวิตมันง่ายมาก แค่รู้จักโกงความตายแบบฮานก็พอ”