ซูเปอร์แมน: บุรุษเหล็ก ต้นตำรับฮีโร่ เพราะแข็งแกร่งเกินไปจึงน่าหวาดกลัว?

ซูเปอร์แมน: บุรุษเหล็ก ต้นตำรับฮีโร่ เพราะแข็งแกร่งเกินไปจึงน่าหวาดกลัว?
มองย้อนกลับไปเมื่อพูดถึงต้นตำรับตัวละครซูเปอร์ฮีโร่แสนเก่ง แสนเท่ แถมยังจิตใจดี คงหนีไม่พ้นที่ในความคิดของผู้คนทั่วไป จะไม่จินตนาการถึง “ซูเปอร์แมน” บรุษเหล็กจากต่างดาว ผลงานจาก DC Comics สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา แม้เรื่องราวการต่อสู้เพื่อกอบกู้โลกของเขาจะมีจุดเริ่มต้นอยู่ในหนังสือการ์ตูน แต่ต่อมาเมื่อเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นในหมู่ผู้อ่านก็ถูกนำไปต่อยอด ดัดแปลง และสร้างเป็นผลงานภาพยนตร์ ภาพยนตร์การ์ตูน และละครชุด รวมถึงเป็นต้นแบบของคาแรกเตอร์ซูเปอร์ฮีโร่หลายตัวในยุคหลังด้วย สำหรับที่มาที่ไปของซูเปอร์แมน ตัวตนเบื้องหลังของบุรุษร่างกายสูงใหญ่ ที่สามารถบินบนฟ้าจนผ้าคลุมสีแดงปลิวไสว ในชีวิตประจำวันเขาคือ คลาร์ก เค้นต์ (Clark Kent) ชายหนุ่มท่าทางเนิร์ด ๆ ทำงานเป็นคอลัมนิสต์อยู่ที่หนังสือพิมพ์เดลีแพลเน็ต ฉากแปลงร่างฉบับคลาสสิกที่ผู้เขียนจำได้ คือการที่เขาวิ่งเข้าไปเปลี่ยนชุดในตู้โทรศัพท์ก่อนจะออกมาอีกครั้งในคราบซูเปอร์แมน ประวัติย่อ ๆ ของคลาร์ก เค้นต์ ถ้าหากคุณเป็นแฟนคลับของซูเปอร์แมน หลายคนน่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่าที่จริงเขาไม่ใช่ประชากรโลก ชื่อเดิมของเขาคือ “คาร์ลเอล” เป็นชาวคริปตันที่ถูกพ่อและแม่ส่งมาบนโลกตั้งแต่ยังเป็นทารก ก่อนที่ดาวจะถูกทำลาย คาร์ลเอลถูกพบและเลี้ยงดูอย่างดีโดยคู่สามีภรรยาชาวไร่ ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีจิตใจงดงาม ซูเปอร์แมน: บุรุษเหล็ก ต้นตำรับฮีโร่ เพราะแข็งแกร่งเกินไปจึงน่าหวาดกลัว? คาร์ลเอลโตมาบนโลกในฐานะ คลาร์ก เค้นต์ เด็กชายธรรมดา แต่แม้จะใช้ชีวิตราวกับว่าเขาคือมนุษย์ทั่วไป คลาร์กก็มักจะพบว่าตัวเองมีอะไรบางอย่างที่แตกต่าง ตอนอายุ 17 เขาเพิ่งค้นพบว่าตัวเองไม่ใช่ลูกแท้ ๆ ของพ่อกับแม่ จากนั้นก็ค่อย ๆ พบว่าเขามีพลังพิเศษที่สามารถช่วยเหลือคนทั่วไป และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คลาร์กเริ่มใช้พลังช่วยเหลือคนรอบข้าง รวมถึงเมืองเมโทรโพลิสที่ถูกสมมติว่าเป็นเมืองหนึ่งในอเมริกาด้วย แม้ว่าทุกอย่างที่กล่าวมานี้ จะเป็นสิ่งที่เรารู้จักซูเปอร์แมน สุดยอดฮีโร่ในสายตาคนทั่วไป แต่พัฒนาการของภาพยนตร์ซูเปอร์แมนหลาย ๆ ภาค กลับค่อย ๆ ปรับปรุงบทบาทของชายคนนี้ จนค่อย ๆ มีแง่มุมและความคิดที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ในเรื่องราวแรกเริ่มของ เจอร์รี ชีเกล และ โจ ชูสเตอร์ ผู้ออกแบบซูเปอร์แมนในปี 1932 บุคลิกของซูเปอร์แมนค่อนข้างจะเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรงและก้าวร้าว สังเกตได้จากการที่ตัวละครเข้าไปต่อสู้อย่างรุนแรงกับ ไวฟ์ บีทเตอร์, โปรฟิเทียร์, ลินช์ ม๊อบ และกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ที่เขามักจะเน้นใช้ความรุนแรงเพื่อข่มขู่ และคุกคามศัตรูให้หวาดกลัวมากกว่าจะใช้เหตุผล หลายคนวิเคราะห์ว่าเพราะในช่วงเวลาที่ซูเปอร์แมนถือกำเนิด อเมริกากำลังอยู่ในช่วงที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ มุมมองของผู้สร้างจึงต้องการให้ซูเปอร์แมนเป็นเหมือนตัวแทนของผู้คนในสังคม ที่ต้องเผชิญกับนักธุรกิจที่เห็นแก่ตัวและนักการเมืองจอมปลอมที่พยายามจะเข้ามาเอาเปรียบประชาชนด้วยวิธีต่าง ๆ และเพราะเขาเป็นวีรบุรุษที่แข็งแกร่งมาก จึงสามารถเผชิญหน้าและจัดการกับทุกปัญหาทุกอย่างได้อย่างง่ายดาย ซูเปอร์แมน: บุรุษเหล็ก ต้นตำรับฮีโร่ เพราะแข็งแกร่งเกินไปจึงน่าหวาดกลัว? ตัวตนของซูเปอร์แมนในช่วงแรกจึงอาจเป็นตัวแทนความโกรธแค้น ของผู้สร้างที่อยากจะมีอำนาจเหนือกว่าผู้ที่คอยกดขี่พวกเขา แต่เพราะพฤติกรรมรุนแรงของซูเปอร์แมน ดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลกับภูมิหลังของเขาที่เคยเป็นเด็กดีเท่าไหร่ ในปี 1940 บุคลิกของเขาจึงถูก วิทนีย์ เอลล์เวิร์ธ ผู้อำนวยการผลิตคนใหม่ สั่งปรับปรุงจนกลายเป็นวีรบุรุษที่กล้าหาญ มีจิตใจที่ดีงาม รักความยุติธรรม และคอยช่วยเหลือผู้คนที่อ่อนแอกว่า และแล้วบุคลิกดังกล่าวก็เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน ว่ากันตามเนื้อเรื่อง เพราะพลังและความสามารถของซูเปอร์แมน มันช่างยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งจนแทบไม่มีอะไรเทียบได้ แม้ผู้สร้างจะออกแบบให้เขามีอาการแพ้ต่อ "คริปโตไนท์" สะเก็ดหินสีเขียวที่แปรสภาพมาจากกัมมันตรังสีของขุมพลังที่ทำลายดาวคริปตัน บ้านเกิดของซูเปอร์แมน แต่นอกเหนือจากนั้น เขาก็ไม่ต่างจากพระเจ้าที่ไม่มีอะไรแตะต้องทำลายได้อีก เพราะแข็งแกร่งเช่นนั้น บางครั้งมันจึงทำให้ตัวเขาเองรู้สึกห่างไกล แม้จะมีเพื่อนฝูงและครอบครัว ที่เขาพร้อมอุทิศชีวิตให้ แต่ความรู้สึกที่ว่าไม่มีใครเข้าใจ ก็คอยจะเข้ามากัดกินตัวเขาเสมอ ประเด็นเหล่านี้ถูกขยี้ให้ยิ่งชัดเจนขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Man of Steel (2013) ซึ่งเป็นผลงานภาพยนตร์เดี่ยวเรื่องล่าสุด (ไม่นับ Batman v Superman) เพราะตัวบทพยายามสะท้อนความโดดเดี่ยวของซูเปอร์แมนในวัยเด็ก ที่เขามักจะรู้สึกแปลกแยกออกมาอย่างชัดเจน ซูเปอร์แมน: บุรุษเหล็ก ต้นตำรับฮีโร่ เพราะแข็งแกร่งเกินไปจึงน่าหวาดกลัว?
“คนเรามักหวาดกลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ”
และเพราะประโยคที่โจนาธาน เค้นต์ บิดาชาวโลกของเขาบอกว่า “คนเรามักหวาดกลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ” ทำให้คลาร์ก ตัดสินใจปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่ไว้วางใจจากผู้อื่น การเปิดเผยปมความรู้สึกนี้ ช่วยทำให้คนดูรู้สึกว่าซูเปอร์แมนมีแง่มุมของคนธรรมดาที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก และจับต้องได้ บทบาทของซูเปอร์แมนในภาคนี้ทำให้เขากลายเป็น “มนุษย์” ที่เต็มไปด้วยความสับสนและยากจะเชื่อใจใคร ซึ่งนั่นถือเป็นมุมมองใหม่ ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำความรู้จักกับซูเปอร์แมน แต่ประเด็นที่น่าสนใจต่อจากนั้น คือ เมื่อมนุษย์ต่างดาวที่อ้างตัวว่าเป็นฮีโร่ มีพลังที่แข็งแกร่งขนาดนั้น หากวันใดวันหนึ่ง เขาเปลี่ยนไปอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโลก ชาวโลกอย่างเราจะเอาอะไรไปสู้กับเขา ประเด็นนี้อาจเป็นที่มาของภาพยนตร์ที่เป็นดั่งประตูสู่จักรวาลฮีโร่ของค่ายดีซี 'Batman v Superman: Dawn of Justice' (2016) ซึ่งเป็นเรื่องราวความขัดแย้ง และการปะทะกันของ ซูเปอร์แมน ตัวแทนของพลังอำนาจและชาติกำเนิดแสนพิเศษ กับ แบทแมน ตัวแทนฝ่ายมนุษย์ ที่อยากจะหยุดกระแสความเชื่อและศรัทธาในตัวของซูเปอร์แมน ซูเปอร์แมน: บุรุษเหล็ก ต้นตำรับฮีโร่ เพราะแข็งแกร่งเกินไปจึงน่าหวาดกลัว? ในภาคนี้ จะว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 แนวคิดที่ขัดแย้งกันก็ว่าได้ เพราะทั้งคู่เป็นฮีโร่เหมือนกัน แต่จุดที่แตกต่างกันคือ แม้ตัวของซูเปอร์แมนจะมีจิตใจดี แต่เพราะเขามีพลังมาก จนแทบไม่มีจุดอ่อน เขาจึงมองโลกอย่างไร้เดียงสา ในขณะที่แบทแมนนั้น เพราะมีจุดเริ่มต้นจากความแค้น เขาจึงขี้หวาดระแวงและมองโลกด้วยมุมมองที่มืดมนกว่า ตัวตนของเขาอาจจะเป็นตัวละครที่มีเจตนาที่ดี แต่บางทีก็เลือกใช้วิธีการโหดเหี้ยม จนถูกตั้งคำถาม ทั้งสองจึงเป็นดั่งขั้วตรงข้าม ที่พยายามจะไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ หลายครั้งที่ผู้เขียนแอบคิดว่า ถ้าหากโลกนี้มีซูเปอร์แมนก็น่าจะดี เหตุเพราะมันมีหลายปัญหาที่ใหญ่โตเกินกว่ามนุษย์ธรรมดาอย่างเราจะเข้าไปแก้ไขได้ แต่เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง หากโลกนี้มีซูเปอร์แมนขึ้นมาจริง ๆ เราจะสามารถไว้ใจเขาเพียงเพราะเขาเป็นคนดีได้จริงหรือ? ในเมื่อโลกแห่งความจริงไม่มีอะไรการันตีว่าคนที่มีอำนาจขนาดนี้จะอยู่เคียงข้างเราไปตลอด มันจึงน่าหวาดกลัวจริงหรือไม่ ในเมื่อยังมีโอกาสที่ฮีโร่แสนดีของเราจะเปลี่ยนไป คงไม่แปลกอะไร ที่สังคมจะมีคนคิดคล้าย ๆ กันกับแบทแมนเกิดขึ้นอีกมากมาย