สุรชัย ชาญอนุเดช พลิกชีวิตขาดทุนร้อยล้าน ทะยานสู่ “ซานตา เฟ่” สเต๊กพันล้าน

สุรชัย ชาญอนุเดช พลิกชีวิตขาดทุนร้อยล้าน ทะยานสู่ “ซานตา เฟ่” สเต๊กพันล้าน

พลิกชีวิตขาดทุนร้อยล้าน ทะยานสู่ “ซานตา เฟ่” สเต๊กพันล้าน

“เคยเจอวิกฤตขาดทุนสาหัส จนวันหนึ่งไปยืนอยู่หน้าแม็คโคร ศรีนครินทร์ ซื้อกาแฟ 25 บาทมากิน แล้วก็ตัดสินใจโทรหาเพื่อนขอยืมเงิน 30 ล้าน ปรากฏว่า 10 นาที เราได้เงิน” นี่คือเสี้ยวหนึ่งในชีวิตที่พลิกผันอย่างเหลือเชื่อของ สุรชัย ชาญอนุเดช เจ้าของ “ซานตา เฟ่” ร้านสเต๊กในห้างที่หลายคนติดใจในรสชาติ ครั้งหนึ่งเขาต้องเผชิญวิกฤตทำเอาแทบเสียหลัก แต่ด้วยการมองโลกในแง่บวก ทำให้เขาไม่ยอมแพ้และหาทางสู้เพื่อพลิกเกมให้วันพรุ่งนี้เป็นวันของเขาให้ได้ ในที่สุด สุรชัยก็สะสางหนี้เกือบ 100 ล้านบาทได้สำเร็จ และหันมาทุ่มหมดหน้าตักให้ซานตา เฟ่ ร้านสเต๊กที่เขาปลุกปั้นขึ้นมาในยุคที่คนไทยชื่นชอบอาหารฝรั่ง ทุกวันนี้ ซานตา เฟ่ มีกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ ส่วน บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ก็มีรายได้รวมในปี 2560 ประมาณ 1,148 ล้านบาท และกำไรสุทธิราว 49 ล้านบาท   พรุ่งนี้ต้องดีกว่า ความจนไม่ใช่ข้ออ้างในการหยุดฝันถึงชีวิตที่สดใส สุรชัยเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะยากจน พ่อของเขาทำไร่อ้อยที่ จ.ชลบุรี เมื่อว่างจากงานก็จะเข้ามาหาภรรยาที่ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ และทำกับข้าวขายอยู่ในกรุงเทพฯ ความที่เป็นพี่ชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 3 คน ทำให้สุรชัยต้องช่วยแม่ขายของหาเงินเข้าบ้าน แม้จะเหน็ดเหนื่อยบ้าง แต่เขาก็ไม่คิดโทษโชคชะตา คิดแต่เพียงว่าพรุ่งนี้ต้องดีกว่าเท่านั้น ช่วงวัยรุ่น สุรชัยเป็นคนติดเพื่อนมาก เขาเคยสอบติดวิทยาลัยพณิชยการบางนา แต่เมื่อเพื่อนสอบไม่ได้เขาก็เลยไม่เอา และเลือกเข้าโรงเรียนใกล้บ้านแทนอย่าง โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม พอจบแล้วก็สอบเข้าคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เมื่อพบว่าตัวเองชอบเรียนคณิตศาสตร์ พอจะขึ้นปี 2 จึงสอบใหม่และติดที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เส้นทางของสุรชัยยังไม่เฉียดเข้าใกล้ธุรกิจอาหาร เพราะหลังเรียนจบ เขาใช้ชีวิตเป็นหนุ่มแบงก์ ทำงานในแผนกวิจัยและวางแผนของธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ พร้อมกับเรียนปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ไปด้วย แต่ผ่านไป 3 ปี เขาก็เริ่มคิดถึงกลิ่นพริกแกงและบรรยากาศการทำครัวที่คุ้นชินมาตั้งแต่เด็ก เพราะต้องช่วยแม่ขายอาหารตักบาตร จึงคิดว่าถึงเวลาต้องออกไปเรียนรู้ เพื่อที่วันหนึ่งจะได้ทำธุรกิจร้านอาหารอย่างที่ฝันไว้ในใจลึกๆ ความคิดของสุรชัยสวนทางกับผู้เป็นแม่ที่ต้องการให้ลูกชายมีหน้าที่การงานมั่นคงเป็นที่เชิดหน้าชูตาของครอบครัว แต่สุรชัยไม่คิดอย่างนั้น เขาคิดว่าความมั่นคงไม่ได้อยู่ที่ “อาชีพ” แต่อยู่ที่ “ตัวคน” ท้ายสุดจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานแบงก์ทั้งที่ยังไม่มีเงินเก็บมากนัก แต่เขาก็ยอมเสี่ยงเพื่อหาความรู้ ชายหนุ่มได้งานเป็นโปรเจกต์ แมเนเจอร์ ที่ร้านเอส & พี มีหน้าที่ตั้งแต่หาทำเล ประสานเรื่องการออกแบบร้าน ติดต่อเรื่องเช่าพื้นที่ เรียกว่าทำแทบทุกอย่างจนถึงขั้นตอนเปิดร้าน ทั้งหมดเป็นความรู้ในแบบที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน และเป็นความรู้ที่จะช่วยให้เขาทำธุรกิจร้านอาหารได้ในอนาคต   กำเนิด “ครัวไท” ลบภาพโรงพยาบาลเอกชนในยุคนี้ที่มีร้านอาหารและร้านกาแฟดีๆ ให้บริการคนไข้และลูกค้าคนอื่นๆ ไปได้เลย เพราะเมื่อ 20 กว่าปีก่อน จะหาร้านอาหารดีๆ ในโรงพยาบาลเอกชนก็นับว่ายากเต็มที กลายเป็น “ช่องโหว่” ที่สุรชัยมองเห็น จังหวะเหมาะเมื่อเขารู้จักกับผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไท 2 แถวสนามเป้า จึงตัดสินใจลาออกจากร้านเอส & พี เพื่อมาทำธุรกิจร้านอาหารของตัวเอง ถึงจะมีเงินเก็บแค่หมื่นกว่าบาท แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดความฝันของสุรชัยได้ เขาขอยืมเงินแม่ของเพื่อนมาอีกหมื่นกว่าบาท รวมแล้วมีเงินทุนตั้งต้นประมาณ 3 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วต้องใช้เงินถึงราว 7 แสนบาท แต่โชคดีที่เจ้าของโรงพยาบาลช่วยเหลือ โดยสุรชัยจะคืนเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายได้จนครบ ครัวไท ร้านอาหารไทยร้านแรกของสุรชัยได้ฤกษ์เปิดตัวในวันที่ 30 ธันวาคม ปี 2535 ใช้เวลาเพียงไม่นาน ร้านของเขาก็ติดลมบนมีลูกค้าเข้ามารับประทานอาหารอย่างไม่ขาดสาย จนสามารถคืนทุนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สุรชัยขยายสาขาของครัวไทไปตามที่ต่างๆ ทั้งในโรงพยาบาลธนบุรี ห้างพาต้า ปิ่นเกล้า เป็นต้น แต่ปัญหาเริ่มก่อตัว เมื่อสุรชัยไม่มีความรู้เรื่องการบริหารคน ทำให้ในปี 2540 เขาขาดทุนครั้งแรก 2 ล้านบาท เขาแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปบริหารจัดการทุกสาขาด้วยตัวเองจนธุรกิจกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ และเริ่มขยายสาขาจนมี 12 สาขาในปี 2545 แต่การขยายตัวเร็วเกินไปโดยยังไม่มีระบบที่มีประสิทธิภาพมารองรับก็ทำให้ธุรกิจสะดุดอีกรอบ ด้วยตัวเลขขาดทุน 10 ล้านบาท สุรชัยแก้ปัญหาด้วยการให้แต่ละสาขาช่วยสร้างรายได้ และแบ่งเปอร์เซนต์ให้เพื่อเป็นแรงจูงใจ พายุซัดเข้ามาเป็นครั้งที่ 3 เมื่อสุรชัยเปิดร้านอาหารที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อมาหุ้นส่วนไม่ลงรอยกัน จนต้องเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่และมีตัวเลขขาดทุน 30 ล้านบาท แต่ที่หนักหนาสาหัสสุดคือวิกฤตครั้งที่ 4 ในปี 2555 เมื่อร้านครัวไทซึ่งมี 16 สาขา มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ท้ายสุดต้องลงเอยด้วยการปิดตัวทั้งหมด โดยมีตัวเลขขาดทุน 92 ล้านบาทมาหลอกหลอน ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลามืดมนของสุรชัยก็ว่าได้ แต่เมื่อเขานึกถึงคำพูดของ ดร.สรณ์ จงศรีจันทร์ นักการตลาดที่เคยสร้างแบรนด์ให้สำเร็จมาแล้วหลายแบรนด์ ที่บอกว่า นักการตลาดยุคนี้ฉลองชัยความสำเร็จได้แค่วันเดียว พรุ่งนี้ก็กลายเป็นอดีต ทำให้สุรชัยนึกถึงชีวิตตัวเองว่าวันนี้ล้มเหลว แต่พรุ่งนี้ความล้มเหลวก็จะกลายเป็นอดีตเหมือนกัน เขาจึงฮึดสู้อีกครั้ง สุรชัยตัดสินใจโทรศัพท์ขอยืมเงินเพื่อนด้วยตัวเลขกลมๆ 30 ล้านบาท เพื่อเอาไปคืนให้ผู้ถือหุ้น จากนั้นก็สะสางปัญหาร้านครัวไทจนเรียบร้อย และหันกลับมาทุ่มเทให้ร้านอาหารที่เขามีอีกแบรนด์คือ "ซานตา เฟ่" ซึ่งเพื่อนคนที่เขาขอยืมเงิน ทุกวันนี้ก็คือหุ้นส่วนร้านซานตา เฟ่ ด้วยเช่นกัน   “ซานตา เฟ่” สเต๊กพันล้าน นอกจากร้านครัวไท สุรชัยยังมีร้าน ซานตา เฟ่ ที่เขาตั้งขึ้นในปี 2545 มีสาขาแรกที่แฟชั่นไอส์แลนด์ เน้นเมนูสเต๊กที่เขาซื้อสูตรมาจากสหรัฐอเมริกา ส่วนชื่อก็ได้แรงบันดาลใจจากเมืองซานตา เฟ่ ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเมืองชุมทางรถไฟ นำวัตถุดิบจากอเมริกาใต้ผ่านซานตา เฟ่ ไปยังสหรัฐฯ  เมื่อร้านครัวไทปิดฉากลง สุรชัยจึงหันมาลุยซานตา เฟ่ เต็มตัวในปี 2555 ชูจุดเด่นที่เมนูสเต๊กเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการเพิ่มเมนูอื่นๆ อย่าง สปาเกตตี ไส้กรอก ฯลฯ เพื่อสร้างความหลากหลายให้ลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัว วัยทำงาน นักเรียนและนักศึกษา เน้นขายในทำเลตามห้างและไฮเปอร์มาร์เก็ต ให้ทุกคนเห็นได้ง่าย ถ้าถามว่านอกจากความรักในการทำอาหารแล้ว อะไรคือสิ่งที่ทำให้สุรชัยมุ่งมั่นกับการลุยธุรกิจสเต๊ก? คำตอบหนึ่งน่าจะอยู่ที่การเติบโตของตลาดสเต๊กเมืองไทย ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 10,000 ล้านบาท สเต๊กเจ้าใหญ่ที่ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งคือ “ซิซซ์เล่อร์” (Sizzler) ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนเบอร์สองคือ “ซานตา เฟ่” มีส่วนแบ่งประมาณ 2,000 ล้านบาท ตามด้วย “เจฟเฟอร์” ซึ่งขอแบ่งตลาดที่มูลค่า 700 กว่าล้านบาท ส่วนอีกเกือบ 3,300 ล้านบาท เป็นสเต๊กแบรนด์อื่นๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้ธุรกิจของเขาไปได้ไกลกว่าเก่า สุรชัยจึงเอาจุดอ่อนจากการทำร้านอาหารร้านเดิมมาเป็นบทเรียนเพื่อเสริมจุดแข็งการทำร้านซานตา เฟ่ ทั้งการจัดระบบบริหารจัดการวัตถุดิบ การจัดการร้าน และการจัดการบุคลากร เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดหมุนกลับมาซ้ำรอยอีก สิ่งที่สุรชัยทำนับว่าได้ผล เพราะต่อให้เศรษฐกิจในภาพรวมจะชะลอตัวหรือทรุดอย่างไร แต่ธุรกิจอาหารของสุรชัยยังเติบโตเฉลี่ย 20% มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จนสร้างรายได้ทะลุพันล้านบาทไปเรียบร้อย แถมยังมองหาลู่ทางในตลาดต่างประเทศ เช่น เวียดนาม กัมพูชา ฯลฯ ซึ่งยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต เมื่อมองย้อนกลับไป สุรชัยไม่เคยคิดว่าซานตา เฟ่ ร้านสเต๊กร้านเล็กๆ ของเขาจะมีสาขาทั่วไทยเยอะขนาดนี้ และยิ่งไปกว่านั้น เขาไม่เคยคิดว่าธุรกิจด้านอาหารที่ครั้งหนึ่งเคยทำเขาบาดเจ็บหนักจะพลิกกลับมาเป็นโอกาสแสนงามได้ภายในไม่กี่ปี และมีรายได้พุ่งไปถึงหลักพันล้านบาท “อย่าทำตัวเป็นแมลงวันที่บินชนกระจกไปเรื่อยๆ เพราะกระจกไม่มีวันแตก แต่หากเปลี่ยนที่ชนไปเรื่อยๆ อาจจะเจอช่องโหว่ให้บินลอดผ่านกระจกไปได้ จำไว้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรยั่งยืน ความอดทน และความฉลาด รวมทั้งการพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ช่วยนำพาธุรกิจไปถึงฝั่งฝันได้” คือแง่คิดที่สุรชัยกลั่นจากประสบการณ์ตรงในชีวิต   ที่มา นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับมิถุนายน 2561 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/SMEStory/Pages/Crisis-lesson-learnd-Santafe-thai-steck.aspx