ฝันหมื่นล้านของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ แห่ง RS

ฝันหมื่นล้านของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ แห่ง RS
ฝันหมื่นล้านของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ แห่ง RS “เฮียเป็นคนมีฝันและเฮียไม่เคยทิ้งฝัน ทำไม่ได้...มันก็ยังอยู่ตรงนั้น ก็จะไปเรื่อย ๆ ถ้าทำได้สำเร็จก็ค่อยตั้งเป้าอันใหม่ แล้วก็ไปเรื่อย ๆ ไม่อย่างนั้นมันไม่มีแรงผลักดันตัวเอง” จากวันที่ออกจากโรงเรียน กำเงินที่พ่อให้มา 5 หมื่นบาท มาก่อร่างสร้างธุรกิจกับพี่ชายคนโต เปิดบริษัทรับจ้างอัดเทปคาสเซ็ท จนเติบใหญ่กลายเป็น RS ค่ายเพลงขวัญใจวัยรุ่นที่ใช้แนวคิด “เอาคอนเซปต์เป็นตัวตั้ง” ปั้นศิลปินดังมาแล้วมากมาย ทั้ง แร็พเตอร์, เต๋า สมชาย, บอยสเก๊าท์, โฟร์-มด, เฟย์ ฟาง แก้ว ฯลฯ มาวันนี้ที่ทุกธุรกิจยิ่งต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ขอพาองค์กรเดินหน้าด้วยกลยุทธ์ “เอนเตอร์เทนเมิร์ซ” ที่ผสานธุรกิจเอนเตอร์เทนและคอมเมิร์ซเข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม พร้อมตั้งความฝันครั้งใหม่ “ยอดขายหมื่นล้านบาท” ภายใน 2-3 ปีนี้ ติดตาม ความหวัง แรงบันดาลใจ และฝันหมื่นล้านของ “เฮียฮ้อ” แห่ง RS ได้จากบทสัมภาษณ์นี้ ฝันหมื่นล้านของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ แห่ง RS The People: เงิน 50,000 บาทกับการเริ่มต้นธุรกิจ? สุรชัย: เฮียมีพี่น้อง 7 คน เฮียเป็นคนกลาง ครอบครัวก็ไม่ค่อยมีเงิน พี่ชายคนโต (เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์) ออกจากโรงเรียนสักประมาณ ป. 7 เพื่อทำงาน และให้น้อง ๆ ได้เรียน พอเฮียอยู่ ม.ศ. 5 ก็ขอแม่ออกจากโรงเรียน เพราะเป็นเด็กไม่ค่อยชอบเรียน จากนั้นก็ร่วมกับพี่ชายคนโตทำธุรกิจด้วยกัน คุณพ่อให้เงินมา 50,000 บาท ก็มาทำ Rose Sound สมัยนั้นยังไม่เรียกว่าค่ายเพลง เป็นเหมือนบริษัทรับจ้างอัดเทปคาสเซ็ท ก็เร่ขาย ไปวางขายตามแผงเทปต่าง ๆ เป็นธุรกิจครอบครัวเล็ก ๆ ค่อย ๆ ไต่เต้ามาเรื่อย ๆ ตอนเราเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ ยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นยุคที่คาสเซ็ทกำลังจะมาทดแทนแผ่นเสียงพอดี เราก็ซื้อแผ่นเสียงแล้วเอาเพลงฮิตแต่ละแผ่นมาอัดใส่เทปแล้วขาย มีทั้งเพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง เพลงไทยสากล เพลงสากล เพลงจีน จนวันหนึ่งมีการประกาศใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำกลายเป็นของผิดกฎหมายทันที เราต้องไปคุยกับเจ้าของแผ่นเสียง ซึ่งถ้าเทียบก็คล้าย ๆ ค่ายเพลงสมัยนี้ เพื่อขอเอาเพลงจากแผ่นเสียงมาอัดใส่คาสเซ็ทขาย วันหนึ่งเรารู้สึกเหมือนยืมจมูกคนอื่นหายใจตลอดเวลา มันยาก ไม่มีอนาคต ประกอบกับเริ่มมีค่ายเพลงเกิดขึ้นแล้ว เริ่มมีการทำเพลง วงสตริงเริ่มเข้ามาแทรกซึมและเข้ามาแทนที่นักร้องลูกกรุง เราคิดว่าเรามีประสบการณ์ในการวางขายเทป เลยคิดว่าน่าจะลองทำดู RS Sound ก็เริ่มต้นจากตรงนั้น ราว ๆ ปี 2525 ศิลปินเบอร์แรก ๆ เราทำ 4 วงเลย คีรีบูน ฟรุตตี้ บรั่นดี และวงเรนโบว์ เฮียไปหานักร้องพวกนี้ตามห้องซ้อม ไปซุ่มดูว่ามีวงไหนน่าสนใจก็ชวนมาทำ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ RS Sound ตอนนั้นเฮียทำเองหมด ตั้งชื่อวง ออกแบบปก อัดเทปก็เป็นคนคุมเครื่องเอง เพราะเมื่อก่อนไม่ได้แยกเป็นสายงาน คนเดียวทำเองทุกอย่างเท่าที่ทำได้ พี่ชายจะดูเรื่องงานขาย งานการเงิน เฮียดูเรื่องงานผลิต งานมาร์เก็ตติ้งทั้งหมด   The People: ตอนนั้นถือว่าแจ้งเกิด RS Sound ในวงการเพลงเลยไหม สุรชัย: เราประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในแง่ความนิยม คนรู้จัก 4 วงนี้พอสมควร แต่ในแง่ธุรกิจก็ขาดทุน เด็กหนุ่ม 2 คนไม่มีประสบการณ์เรื่องธุรกิจ เราทำเพลงก็ชอบ โปรโมตใช้เงินเข้าไป ยังไม่รู้เลยจะขายเท่าไหร่ เหมือนลงทุนไปก่อน ทำแล้วเพลงมันดัง วงรู้จัก แต่เราขาดทุนจนติดหนี้นอกระบบ เฮียอายุ 22 มีหนี้เกือบ 20 ล้าน แต่ก็ทำ เพราะเพลงเป็นความหวังไง เราชอบ สนุกกับการทำงานแบบนี้ เวลาเพลงมันดัง มันโดน ก็เหมือนเราซื้อล็อตเตอรี่ถูก พอได้เงินก้อนก็เอามาทำต่อ ล้างหนี้ส่วนหนึ่งแล้วทำต่อ แล้วก็สร้างหนี้ แล้วรอว่าวันหนึ่งเราจะเจอแจ็กพ็อตเพลงดัง พอโดนปุ๊บก็ได้เงินก้อนกลับมาล้างหนี้ วนไปอย่างนี้ พอเราอยู่ใกล้ตลาด แล้วเป็นคนใส่ใจมากทุก ๆ ขั้นตอน ก็ค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีหนี้อยู่ เฮียคิดว่าอัลบั้มที่ทำให้คนรู้จัก RS Sound ครั้งแรกจริง ๆ คืออัลบั้มรวมดาว ที่เอานักร้องดังแต่ละวงมาทำเพลงเก่า กลายเป็นโปรเจกต์ที่ขายได้ 2 ตลาด นักร้องก็ขายแฟนวัยรุ่นของเขา ผู้ใหญ่ก็ฟังเพลงที่เขาคิดถึง เลยเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมาก ทำให้เราปลดหนี้ได้ในระดับหนึ่ง แล้วก็เดินต่อ ก็ไปสร้างหนี้อีก หนี้เลยใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะขนาดธุรกิจเราใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มาอีกยุคหนึ่งก็เป็นยุคอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, อิทธิ พลางกูร, ไฮ-ร็อก, เสือ-ธนพล อินทฤทธิ์, อนันต์ บุนนาค ยุคนั้นประสบความสำเร็จค่อนข้างดี แต่ก็ยังไม่ใช่เบอร์หนึ่งในตลาด เพราะตอนนั้นยังเป็นตลาดแมส ยังไม่ได้เป็นวัยรุ่น เลยคิดว่าเราน่าจะหาที่ยืนของเราเอง ฝันหมื่นล้านของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ แห่ง RS The People: “เอาคอนเซปต์เป็นตัวตั้ง” คือกลยุทธ์ของเฮียฮ้อในการเจาะตลาดวัยรุ่นจนประสบความสำเร็จ? สุรชัย: เรากล้าพูดว่า RS เป็นรายแรกที่แยกมาทำตลาดวัยรุ่น ตอนที่เราทำ ค่ายอื่น ๆ ยังไม่สนใจเลย เพราะเขามองว่าเป็นตลาดเล็ก วัยรุ่นยังไม่มีกำลังซื้อ แต่เรากลับมองตรงข้ามว่าผู้ปกครองคือคนซื้อให้ แล้วจ่ายมากกว่า คือซื้อให้ตัวเองจะคิดเยอะ แต่ซื้อให้ลูกเท่าไหร่เท่ากัน แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ แล้วเขาจะหาศิลปินกันแบบมืออาชีพอย่างไรก็เรื่องของเขา เรามีไดเรกชันชัด เราจะเอาศิลปินวัยรุ่นอย่างเดียว เพราะฉะนั้นตอนหาคนก็จะเน้นเรื่องคอนเซปต์ก่อน ร้องเพลงได้ไม่ได้คือทีหลัง พอคอนเซปต์ได้แล้วค่อยมาเรียน ก็จะคิดกลับข้าง เฮียใช้คอนเซปต์เป็นตัวตั้งเสมอ สมมติเฮียอยากได้เด็กอายุ 12-13 ลูกครึ่ง 2 คน ก็ให้ทีมงานไปหา เขาก็ไปเฝ้าแถวโรงเรียนบางกอกพัฒนา เฝ้าทุกวัน เฝ้าจนได้มา 4-5 คน เราก็เอามาเลือก คือยังร้องเพลงไม่เป็นหรอก พูดไทยยังไม่ค่อยชัดเลย เพราะเราเอาคอนเซปต์เป็นตัวตั้งไง แล้วเลือกคนที่แสบที่สุด เพราะตรงคอนเซปต์เรา คนที่แสบจะเรียนรู้อะไรได้เร็ว เด็กซนน่ะ เด็กฉลาดอยู่แล้ว เราก็เลือกแบบนี้ เสร็จแล้วค่อยไปสอนร้องเพลง เจอาร์-วอย ก็เหมือนกัน เริ่มจากคอนเซปต์ก่อน เฮียอยากได้นักร้องผู้ใหญ่คนหนึ่งและเด็กคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่แรกในโลกนะ เริ่มจากเฮียไปดูหนังเรื่อง Indiana Jones ของสตีเวน สปีลเบิร์ก ซึ่งทุกภาคจะมีเด็กเสมอ เฮียก็สงสัยว่าทำไมมีเด็กตลอด ต่อมาก็เข้าใจว่าที่เอาเด็กมาอยู่ในหนังเพราะจะได้ดูด้วยกันทั้งครอบครัว เฮียเลยบอกทีมงานให้ไปหาผู้ชายคนหนึ่งกับเด็กคนหนึ่ง ทีมเพลงบอกทำไม่ได้ เพราะเรนจ์เสียงคนละช่วง เอามาร้องในเพลงเดียวกันไม่ได้ คือเอาทฤษฎีตั้งมันไม่เกิดอยู่แล้ว แต่เฮียบอกว่าเอาทฤษฎีออกไปก่อน สุดท้ายก็ทำได้ ลิฟท์-ออย, เต๋า สมชาย หรือตอนทำกามิกาเซ่ เฮียก็เอาคอนเซปต์เป็นตัวตั้ง ถ้ามองก็คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วใช้ความรู้สึกเข้าไปเป็นตัวจับ ตอนนั้นมีคนแซวเรื่อย ๆ ว่านักร้องร้องเพลงไม่เพราะ เสียงไม่ดีเลย ยกตัวอย่างเต๋า ยุคนั้นมีแต่คนบ่นว่าพูดไม่ชัด แต่กลับประสบความสำเร็จมาก คนทั้งเมืองผูกผ้าโพกหัวเหมือนเต๋า ตอนเราทำแร็พเตอร์ที่จอนนี่ย้อมผมแดง เด็กวัยรุ่นแต่งตัวมาที่ RS เหมือนก็อปปี้กันมาเลย เราก็รู้แล้วว่า เออ...เราทำโดนใจเขา เพราะฉะนั้นทุกวงของเราตั้งแต่ปี 2535 ประสบความสำเร็จหมด ได้ล้านตลับ ล้านแผ่น เป็นเรื่องง่าย ๆ บอยสเก๊าท์ก็ล้านแผ่น เจมส์ เรืองศักดิ์ ก็ล้านแผ่น ถ้ามองย้อนกลับไป ศิลปินวัยรุ่นของ RS จะเรียกว่าฉูดฉาดกว่า มีคอนเซปต์ที่โดดเด่นกว่า ตั้งแต่เพลง คอนเซปต์วง ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ ไปดูได้เลย เราออกแบบถึงขั้นว่านักร้องคนหนึ่งต้องเปิดตัวอย่างไร มีคาแรกเตอร์อย่างไร ต้องใส่หมวกแบบนี้ ต้องใส่แว่นตาตลอดเวลา ซึ่งทั้งหมดเฮียเป็นคนเคาะ เขาถึงเรียกว่า “เฮียฮ้อเคาะ” (ยิ้ม) ทุกวันนี้เฮียดีใจที่หลายคนที่เคยอยู่กับเรา เขาก็ยังคุยกับเฮียอยู่ เฮียเคยพูดเล่น ๆ ว่า ถ้าเอาดาราในวงการมา ครึ่งหนึ่งเคยผ่านการทำงานกับ RS มาแล้ว เฮียดีใจที่เขาไม่ลืมเรา เหมือนกับเขาเติบใหญ่เป็นอาชีพเขาแล้ว เต๋า, ลิฟท์-ออย, หนุ่ม ศรราม ฯลฯ เรายังเจอกัน กลับมาเล่นละครกับเรา ก็ดี ผมว่าเป็นเส้นทางที่ถูกกำหนดมาแล้ว   The People: ถึงจะเป็นเจ้าตลาดเพลงวัยรุ่น แต่เฮียฮ้อก็ถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ จนซวนเซเหมือนกัน? สุรชัย: จริง ๆ มีสองมิติ ที่เล่าไปคือมิติการทำเพลง สนุกอย่างนั้น สนุกอย่างนี้ แต่มิติของธุรกิจ ประเทศไทยมีเพลงที่โดนก็อปปี้ตลอดเวลา โดนปลอมตลอดเวลา เราโดนปลอมแต่ยังพออยู่ได้ แต่หลัง ๆ เมื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ก็กลายเป็นอีกมิติหนึ่งที่ต้องคิด เทคโนโลยีทำให้ยอดขายซีดีน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะคนดาวน์โหลดเพลงไปฟัง ผ่านไปไม่นานก็เกิดยุคสตรีมมิง เพลงเลยกลายเป็นฟรี คอนเทนต์ ช่วงรอยต่อหนึ่ง เฮียคุยกับพี่ชาย คุยกับทีมว่าต้องขายโรงงานซีดีทิ้งก่อนจะกลายเป็นเศษเหล็ก คือเฮียก็ยังขายซีดีอยู่ แต่จ้างเขาผลิตแทน แล้วมันก็จริง ผ่านไปแค่ 2 ปี คนไม่ฟังซีดีแล้ว กลายเป็น MP3 อยู่ได้แป๊บเดียวมี iPod หนักกว่านั้นเพลงเข้าไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือเลย ซึ่งถือว่ายังดีที่เราขยับก่อน เพราะที่ยืนเราน้อยลง เราก็ต้องลดขนาดธุรกิจเพลงลง ฝันหมื่นล้านของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ แห่ง RS The People: “เฮียฮ้อขายครีม” ประโยคที่เฮียฮ้อได้ยินจนชินหู? สุรชัย: เราเริ่มจากธุรกิจเพลงก็จริง แต่จริง ๆ เฮียเป็นนักธุรกิจ คือใครจะพูดอะไรก็แล้วแต่ มันคือภาพที่ข้างนอกมอง ตัวตนเฮียคือนักธุรกิจ เพียงแต่ว่าเราเป็นนักธุรกิจที่ทำเพลง วันหนึ่งเราก็เป็นนักธุรกิจที่ทำภาพยนตร์ ทำละคร วันหนึ่งมีโอกาสไปทำวิทยุ วันหนึ่งสามารถไปประมูลทีวี คือเราเป็นนักธุรกิจก็จะแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งธุรกิจเพลงเริ่มไม่ดี เฮียก็เริ่มชะลอธุรกิจเพลง เพราะฉะนั้นความสนุกในการทำงานก็เรื่องหนึ่ง ธุรกิจอยู่ไม่ได้ก็เรื่องหนึ่ง ถามว่าอยากทำเพลงไหม มันก็สนุก แต่มันอยู่ไม่ได้ ความสนุกไม่ได้เลี้ยงเรา ธุรกิจอยู่ไม่ได้ด้วยความสนุกอย่างเดียว มันอยู่ได้ด้วยกำไร เพราะฉะนั้นเมื่อมันไม่ดี เราก็เริ่มถอย คนชอบแซวว่า “เฮียฮ้อขายครีม” เฮียไม่สนใจเลย เฮียรู้ว่าทำอะไรอยู่ หลักการแค่นั้นเอง เหมือนตอนอายุ 30 กว่าที่เป็นซีอีโอทำค่ายเพลงวัยรุ่น ทุกเพลงที่เฮียออกไป ใครจะว่านักร้องเฮีย หรือวิจารณ์เพลงเรา แต่ผ่านมาให้หลัง โอ้โห...สุดยอดอย่างนั้น สุดยอดอย่างนี้ ตอนเราทำกามิกาเซ่ มีแต่คนว่าเด็กร้องเพลงไม่ชัด ขายแต่หน้าตา ผ่านมาวันนี้บอกเมื่อไหร่จะเอากามิกาเซ่กลับมา ก็เป็นอย่างนี้เสมอ แต่เฮียไม่ได้สนใจ เหมือนกัน...วันที่มาทำคอมเมิร์ซ การทำคอมเมิร์ซของเราก้าวแรกเริ่มด้วยการขายครีม สกินแคร์ และอาหารเสริม เป็นการทดลองตลาด ก็มีแต่คนเขียนแซว “เฮียฮ้อขายครีม” จากขายเพลงมาทำเรื่องที่ตัวเองไม่ถนัด เฮียไม่สนใจ เราคุยกับทีมงานเราเข้าใจ เป้าหมายเราคืออะไร แล้วก็รู้ว่าระหว่างทางมันไม่ง่าย จะเดินไปถึงจุดมุ่งหมายมันมีอุปสรรคแน่นอน แต่เวลาทำอะไรเรามองเป้าหมาย เราอย่าไปมองอุปสรรค อุปสรรคมีไว้ให้แก้ ทุกสินค้าเฮียใช้เองหมด อาหารเสริมทุกตัวเฮียกินเองหมด ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนี้ เรามีคอนเซปต์ว่าถ้าเราขายสินค้าแล้วไม่กล้าใช้เอง ไม่กล้ากินเอง เราจะกล้าไปขายให้ลูกค้าได้อย่างไร เพราะเราไม่ได้ขายให้เขาครั้งเดียว เพราะฉะนั้นหลักเดียวกัน จะทำเพลงหรือทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องใส่ใจ ให้ใจ และจริงใจกับลูกค้า สุดท้ายผลตอบรับจะออกมาดี   The People: RS กับกลยุทธ์ “เอนเตอร์เทนเมิร์ซ”? สุรชัย: 4 ปีที่แล้ว RS เปลี่ยนแปลงตัวเองจากธุรกิจเอนเตอร์เทนมาทำคอมเมิร์ซจนประสบความสำเร็จ ณ วันนี้ RS มีรายได้ส่วนใหญ่จากธุรกิจคอมเมิร์ซ ขณะที่ธุรกิจเอนเตอร์เทนเราก็ยังทำอยู่ เรามองย้อนไปในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาว่าเรายังไม่ได้ใช้ศักยภาพที่แท้จริง คือใช้ไหม เราก็ใช้ อย่างเช่นใช้ธุรกิจมีเดียเป็นตัวต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ของเรา ใช้ช่องของเรา แต่มองจริง ๆ เรายังไม่ได้ใช้มัน 100% เพราะฉะนั้นถ้าจะโตต่อไป หัวใจสำคัญคือทำอย่างไรให้องค์กรเราซึ่งมีธุรกิจที่หลากหลายมาก เอนเตอร์เทนกับคอมเมิร์ซที่แข็งแรงทั้งคู่แล้ว นำมารวมกันเป็น “เอนเตอร์เทนเมิร์ซ” (entertainmerce) แล้วมองเป้าหมายเดียวกัน ช่อง 8 มีคอมเมิร์ซในนั้น คูลฟาเรนไฮต์ก็มีคอมเมิร์ซในนั้น ธุรกิจเพลงที่เราจะกลับมาทำใหม่ก็จะรองรับด้วยเอนเตอร์เทนเมิร์ซ เพราะฉะนั้นทั้งหมดจะเป็นธุรกิจที่มีเอนเตอร์เทนเมิร์ซครอบเข้ามา คาดว่าไม่เกิน 2 ปี คอมเมิร์ซน่าจะสร้างรายได้เกิน 80% เพลง วิทยุ ทีวี ไม่ได้ลดลง จะโตขึ้น แต่คอมเมิร์ซจะโตมากกว่า สัดส่วนจะเป็น 80 ต่อ 20 การรีแบรนด์ RS ครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างความเข้าใจว่าเราไม่ได้ทำเพลง ไม่ใช่ RS ก็ยังทำเพลงอยู่ เพียงแต่ว่าให้เข้าใจ RS ในปัจจุบันว่าเป็นบริษัทที่ทำคอมเมิร์ซโดยมีธุรกิจบันเทิงเป็นธุรกิจสำคัญ เพราะตอนนี้ที่ถามกันก็เป็นเพลง...เป็นเพลง จนเพลงในปีที่ผ่านมา (2562) เรามียอดขาย 7% เขาก็ยังมองเราเป็นค่ายเพลง เราก็จะให้เขาเข้าใจว่าจริง ๆ ไม่ใช่ เรามีความหลากหลาย RS เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจคอมเมิร์ซ แล้วมีธุรกิจบันเทิงและมีเดียด้วย ก็พยายามทำเรื่องพวกนี้ให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน พอมีความเข้าใจที่ชัดเจนจากการรีแบรนด์ครั้งนี้ ในอนาคตที่เราประกาศว่าจะกลับมาทำเพลงอีกครั้งแบบจริงจัง ผมว่าภาพก็จะชัดขึ้นแล้ว คนจะเข้าใจว่าวันนี้ RS มาทำเพลงภายใต้ร่มเอนเตอร์เทนเมิร์ซ ฝันหมื่นล้านของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ แห่ง RS The People: เฮียฮ้อมองตลาดเพลงในยุคนี้อย่างไร เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สุรชัย: มองแยกเป็นสองอย่าง มองในมุมธุรกิจก่อนจะได้ตอบได้ชัด เฮียคิดว่าวันนี้ RS กลับมาทำธุรกิจเพลงในแบบที่เรามีโมเดลธุรกิจใหม่รองรับ นั่นคือความน่าสนใจและความท้าทายของเรา ส่วนในมุมของคอนเทนต์ ศิลปิน หรือในมุมผู้บริโภค การฟังหรืออะไรต่าง ๆ ผมคิดว่าไม่ยาก สมัยก่อนมีค่ายอยู่ไม่กี่ค่าย ชอบเพลงนี้หรือศิลปินคนนี้กันครึ่งประเทศ เดี๋ยวนี้ไม่มีโลกอย่างนั้นอยู่แล้ว ศิลปินคนหนึ่งอาจเป็นที่ชื่นชอบของคนกลุ่มหนึ่งก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องคนทั้งประเทศ เพียงแต่ว่าคนกลุ่มนั้นรักเขาจริง สนับสนุนเขาจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นเขาก็สามารถยืนอยู่ได้ในฐานะศิลปินและต่อยอดในมุมธุรกิจได้แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเราทำเพลง เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าเพลงนี้ต้องเป็นเพลงดังทั้งประเทศ แต่อย่างค่ายอาร์สยาม เราต้องการแมสมาก ๆ อันนี้ต้องเคาะ ต้องวางอย่างนี้ ๆ เพราะเราต้องการฐานแฟนกลุ่มใหญ่ เลยต้องทำเพลงให้โดนให้ได้ ต้องคนดูร้อยล้านวิว แต่ถ้าศิลปินบางคนหรือบางเพลงเราต้องการแบบเฉพาะก็ไม่เป็นไร ให้คนอื่นเคาะก็ได้ แบบนี้เรียก “power niche” ฐานแฟนไม่ต้องเยอะ แต่เป็นกลุ่มที่มีพลัง บางทีคนดู 1-2 ล้านวิวก็เพียงพอแล้ว   The People: ทราบว่าลูก ๆ สองคนของเฮียฮ้อเข้ามาช่วยบริหารทิศทาง “เอนเตอร์เทนเมิร์ซ” ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย? สุรชัย: เฮียให้อิสระลูก ๆ มาตั้งแต่เด็ก เฮียไม่เคยให้ลูกชายสองคน (เชษฐ-โชติ เชษฐโชติศักดิ์) เรียนพิเศษเลย และเฮียกับภรรยาก็ไม่เคยดูสมุดพกลูก ๆ ด้วย เฮียส่งทั้งสองคนไปอยู่ออสเตรเลียตั้งแต่อายุ 8 ขวบกับ 11 ขวบ ให้ไปอยู่กันเองเลย แล้วเราไปเยี่ยมบ่อย ๆ เฮียเชื่อเรื่องการใช้ชีวิตกับวิธีคิด แล้วเฮียไม่เคยสนใจว่าเขาจะเลือกเรียนอะไร เขาเลือกเองตั้งแต่เด็กจนโต มีอยู่ปีหนึ่งลูกชายคนโตบอกว่าอยากจะขอหยุดเรียน 1 ปีไปเที่ยวยุโรปแบบแบ็คแพ็คเกอร์ เฮียบอกไปเลย ไม่เป็นไร เรียนจบเร็วแล้วมีประโยชน์อะไร เขาอยากจบก็จบ สุดท้ายเขาก็กลับมาเรียนและจบเกียรตินิยมอันดับ 1 หลักสูตรอินเตอร์ จุฬาฯ ส่วนคนเล็กเรียนสารพัด ให้เขาค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร เฮียไม่ได้ตั้งเป้าว่าวันหนึ่งลูก ๆ ต้องมาทำงาน RS ถ้าเขาชอบแล้วอยากทำก็ดี เฮียไม่เคยคาดหวังด้วย คือถ้าคาดหวังเราจะตั้งเป้าให้เขาตั้งแต่วิธีใช้ชีวิต การเรียน จะปล่อยแบบนี้ไม่ได้ เฮียให้เขาเรียนสิ่งที่ชอบ วันหนึ่งเรียนจบอยากทำอะไรก็ทำ เราก็สนับสนุน เป็นพี่เลี้ยงให้เขาเรียนรู้ แต่วันที่ RS รีแบรนด์ ลูกคนโตช่วยเราเยอะมาก วันที่ RS มาทำคอมเมิร์ซและเข้าสู่เรื่องออนไลน์ ลูกคนที่สองก็ช่วยเราเยอะมาก ตอนนี้เขาเป็นเฮดดูแลแพลตฟอร์ม RS Mall บนออนไลน์ทั้งหมด   The People: RS เป็นองค์กรที่มีคนรุ่นใหม่ในสัดส่วนค่อนข้างมาก? สุรชัย: เฮียทำงานกับวัยรุ่นมาแต่ไหนแต่ไร เพราะฉะนั้นเวลาคุยกับนักร้อง คุยกับเด็ก ๆ อายุ 15 ปี 20 ปี เข้ามานี่เรียก “เฮียฮ้อ” กันหมด สมัยไหนเขาก็เรียกเฮีย ตอนนี้อายุ 58 แล้วเขาก็ยังเรียกเฮีย เฮียชอบคุยกับวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ จะได้รู้ว่าเขาคิดอย่างไร มีไลฟ์สไตล์อย่างไร เฮียชอบฟัง ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งนั้นถ้าเราเอาไปคิดต่อ ภาษาเฮียเรียกว่า “ขาไม่ลอย” เฮียอยู่ใกล้ตลาดตลอดเวลา อยู่ใกล้กับผู้บริโภค อันนี้สำคัญ เพราะถ้าเราเป็นผู้บริหารแล้วนั่งอยู่แต่ในห้อง เดือนนึงประชุมครั้งหนึ่ง ดูผลรายงาน เฮียว่าสักปีหนึ่ง...เดี๋ยวนี้ปีเดียวเพราะโลกมันเร็ว คุณก็ตามตลาดไม่ทันแล้ว ทุกทีมทั้งทีมโปรดักท์ ทีมแพลตฟอร์ม ทีมวิทยุ ทีมเพลง ต้องเจอเฮียทุกอาทิตย์ เอางานมานั่งคุยกัน ประสบการณ์เราเป็นประโยชน์ ส่วนทีมก็มีความใหม่ มุมมองของทีมก็เป็นประโยชน์ เฮียก็เอามาเชื่อมกัน ฝันหมื่นล้านของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ แห่ง RS The People: อะไรคือหลักคิดที่หนีตายจากวิกฤตได้ทุกครั้ง สุรชัย: ถ้านับวิกฤตที่เฮียเคยเจอก็เยอะนะ ถ้าจำเร็ว ๆ มี 4-5 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งตอนอายุ 22-23 ที่ติดหนี้นอกระบบเยอะ ที่บอกว่าทำแล้วรอแจ็กพ็อต ถ้าไม่เจอแจ็กพ็อตก็เครียดเพราะหนี้มันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ พอเจอแจ็กพ็อตก็รอด ครั้งที่สองก่อนจะได้อริสมันต์กับอิทธิ ตอนนั้นหนักมาก มีความคิดถึงขนาดจะขายโรงงานแล้วขอเป็นค่ายเพลงอย่างเดียวเพราะไม่ไหวแล้ว แต่พอข้ามปีก็ได้อริสมันต์ อิทธิ และเป้ ไฮ-ร็อก ทำให้ RS แข็งแรงขึ้นจนพ้นวิกฤตมาได้ ครั้งที่หนักสุดคิดว่าเป็นครั้งที่ขายโรงงานซีดีทิ้ง วันที่เราขายโรงงานทิ้งเป็นวันที่น้ำบ่อเก่าเหือดแห้งลงไปเรื่อย ๆ เหมือนยอดขายซีดีเราลดลงเรื่อย ๆ แต่ยอดดาวน์โหลดยังเป็นแค่ความหวัง เพราะฉะนั้นวันที่บอกพี่ชายว่าเราต้องขายโรงงานทิ้ง จากที่ RS กำไร ๆ อยู่ก็ขาดทุน แล้วเรารู้ว่าต้องยอมขาดทุนสัก 2 ปี ซึ่งมันหนักจริง ๆ หนักกว่าที่เราคิด RS ขาดทุนอยู่ 4 ปี เป็น 4 ปีที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ก็เป็นช่วงที่เฮียไปทำฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร ก็ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ทำให้หนีตายจากวิกฤตมาได้ทุกครั้งคือเฮียไม่เคยทิ้งเป้าหมาย เฮียเป็นคนมีฝัน และเฮียไม่เคยทิ้งฝัน ทำไม่ได้...มันก็ยังอยู่ตรงนั้น ก็จะไปเรื่อย ๆ ทำได้สำเร็จก็ค่อยตั้งเป้าใหม่ แล้วก็ไปเรื่อย ๆ ไม่อย่างงั้นมันไม่มีแรงผลักดันตัวเอง   The People: เฮียฮ้อเคยแพ้บ้างไหม สุรชัย: ธุรกิจอันไหนทำแล้วดี ดี ถ้าไม่ดีเฮียเลิกเอง ของที่นี่คอนเซปต์เฮียคือเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว ถ้าไม่ดีก็แก้ให้เร็ว ถ้าแก้แล้วยังไม่ดี ก็เลิกให้เร็ว คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยกล้าเลิก ไม่ค่อยยอมรับความพ่ายแพ้ กลัวเสียหน้าบ้าง ของเราไม่เป็นไร เฮียเชื่อว่าชนะบ้าง แพ้บ้าง ไม่เป็นไร เพียงแต่ว่าคุณต้องชนะให้มากกว่าแพ้   The People: ฝันต่อไปของเฮียฮ้อที่ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ สุรชัย: เป้าหมายแรกในใจไม่เคยบอกใคร คือเฮียฝันจะมีตึกแบบนี้ เป็นฝันตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว สมัยวัยรุ่นเวลาไปไหนเฮียชอบมองตึกสูง ๆ เป็นคล้าย ๆ ปม เพราะเฮียเริ่มธุรกิจจากห้องแถวเล็ก ๆ ห้องหนึ่ง นั่นคือ RS ยุคแรก ๆ แล้วก็โตจนเป็น 2 ห้อง 3 ห้อง ปลาย ๆ ยุค 80s เรายังเป็นตึกแถวอยู่เลย ขณะที่ค่ายอื่นเป็นตึกหมดแล้ว จึงเป็นเหตุผลว่าพอเราแข็งแรงปุ๊บ เฮียคิดการใหญ่ เฮียขอย้ายตึกไปที่ลาดพร้าว 15 เพราะอยากมีตึก แต่สุดท้ายก็ยังไม่ใช่ฝันเฮีย เพราะลาดพร้าว 15 ยังอยู่ในซอย แล้วเป็นตึกเล็ก ๆ เลยใช้วิธีขยาย ทำตามกำลังที่มี ฝันจริง ๆ คือเฮียอยากมีตึกแบบนี้เป็นตึกของเราเอง อยู่ติดถนน ทุกอย่างพร้อม นี่คือฝัน ไม่ได้พูดให้ใครฟัง มันคือฝัน เก็บไว้ในใจ ทำไป สำเร็จก็ดี ไม่สำเร็จมันก็อยู่กับเรา ก็คิดอย่างนั้น พอเราสำเร็จปุ๊บก็มีความสุขอย่างหนึ่ง ตอนนี้เฮียตั้งฝันใหม่ อยากจะทำ RS ให้มียอดขายเกิน 1 หมื่นล้านภายใน 2-3 ปีนี้ mindset เฮียตั้งแต่เด็ก ๆ เฮียเป็นอย่างนี้แล้ว ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง แล้วอย่าฝันสั้นเกินไป มันก็ทำให้เรามีกำลังต่อสู้ เจออะไรหน่อยหนึ่ง แป๊บเดียวก็ลุกขึ้นมาได้แล้ว เจอวิกฤต เดี๋ยวตั้งหลักก็สู้ต่อแล้ว