‘สุรชาติ สมณา’ ผลผลิตจากเมืองสู่ป่า กับปกาเกอะญอยุคดิจิทัล

‘สุรชาติ สมณา’ ผลผลิตจากเมืองสู่ป่า กับปกาเกอะญอยุคดิจิทัล
น. มนุษย์, สัตว์ที่มีความยับยั้งชั่งใจ หรือบุรุษ ทุกคนต่างเข้าใจกันดีโดยไม่ต้องเสียเวลาเล่าให้มากความหรืออธิบายให้ยาวเหยียด ว่าเหล่านี้ล้วนเป็นคำที่มีความหมายว่า ‘คน’ ทั้งสิ้น ด้วยการใช้กันมายาวนานอย่างแพร่หลาย และเป็นภาษาหลักที่ใช้กันทั่วทั้งประเทศ แต่ยังมีอีกคำที่อยู่ห่างไกลถึงเส้นชายขอบ จนเราต่างไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีอยู่จริง คำว่า ‘ปกาเกอะญอ’ ก็แปลว่า ‘คน’ เหมือนกัน เรากำลังพาคุณมารู้จักกับ ‘สุรชาติ สมณา’ นักศึกษาวัย 19 ปี จากรั้วมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เด็กหนุ่มผู้ภาคภูมิใจกับการเกิดมาเป็นลูกหลานปกาเกอะญอขนานแท้ ภายใต้บุคลิกที่คล่องแคล่ว ฉะฉาน และมากประสบการณ์ในป่าเขา ชาติเริ่มท้าทายตัวเองด้วยการออกจากกรอบของสังคมเกษตรกรรม รู้จักโลกกว้างผ่านกิจกรรมที่เป็นมากกว่าอาสาสมัคร จนมีความฝันขนาดใหญ่มหึมาคืออยากพัฒนาชุมชนชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ด้วยการเปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้นอกตำรา สุรชาติยังช่ำชองเรื่องคริปโตเคอร์เรนซี สนใจทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ริเริ่มประกอบธุรกิจตั้งแต่ยังไม่จบมัธยมดี ดำเนินชีวิตอย่างคนเหมือนกัน โดยไม่สนว่าชาติกำเนิดของตนจะเป็นอุปสรรคหรือไม่ ‘โอมื่อโชเปอ’ เราขอกล่าวต้อนรับคุณตามธรรมเนียมปกาเกอะญอ ก่อนจะเขยิบมาล้อมวงคุยในเรื่องราวของ ‘คนอื่น ๆ’ ที่เรายังไม่เคยล่วงรู้ ผ่านคำบอกเล่าของ (อดีต) เด็กชายขอบหัวสมัยใหม่ที่รับเอาความฝันของคนเมืองมาอยู่ร่วมกับวิถีชนเผ่า แต่ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง   เด็กชายขื่อทีจากชนเผ่าปกาเกอะญอ พอพูดถึงชาวปกาเกอะญอ เรามักจะนึกถึงคำว่ากะเหรี่ยง การพูดภาษาไทยไม่ชัด หญิงสาวที่สวมสร้อย(ห่วงทองเหลือง)จำนวนมากรอบลำคอ ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นเป็นวัฒนธรรมจากพื้นที่ไหนกันแน่ แม้จะเรียกสังคมที่อาศัยอยู่ว่าสังคมพหุวัฒนธรรมก็ตามที แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต่างรู้จักกลุ่มชาติพันธุ์เพียงผิวเผิน และมันตื้นเขินจนเกินไป ซึ่งการมีอยู่ของสุรชาติทำลายภาพจำของเราไปจนหมดสิ้น เขาจึงพาเราย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ชาติยังเป็นเด็กชายขื่อที ชื่อปกาเกอะญอที่แปลว่าใจเย็นเหมือนกับน้ำ ณ หมู่บ้านสบลาน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่รวบรวมชนเผ่าปกาเกอะญอเอาไว้กว่า 30 ครัวเรือน “ที่ผมเรียนมันไม่ใช่โรงเรียน มันเรียกว่าศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า สามารถออกวุฒิการศึกษาได้ เพียงแต่ชุมชนจัดตั้งกันเองและจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ” ชาติเริ่มต้นง่าย ๆ จากการพูดถึงโรงเรียน หลักสูตรของศูนย์ฯ จะเป็นการเรียนรู้ผ่าน 3 ฐานด้วยกัน หนึ่ง, ในหนึ่งภาคการเรียน นักเรียนทุกคนจะต้องมีโครงการอย่างน้อยคนละ 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการตามความสนใจของตนเอง และโครงการเกี่ยวกับแหล่งอาหารที่จำเป็นต้องสร้างกันเอง เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนค่านมและอาหารกลางวันจากรัฐ เช่น การเพาะเห็ด การเลี้ยงไก่ การจับปลา เป็นต้น  สอง, การเรียนรู้ผ่านปัญหาและสถานการณ์จริง เนื่องจากเป็นการศึกษาทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องอิงตามหลักสูตร 8 สาระ การลงพื้นที่เพื่อลงมือปฏิบัติจึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ หากอยากเรียนเกี่ยวกับการปลูกข้าว ก็จะต้องไปเกี่ยวข้าว หากมีปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนก็ต้องเข้าไปศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้จะสอดคล้องกับฐานที่ 3 คือทั้งหมดจะต้องอยู่บนฐานของวิถีวัฒนธรรมในชนเผ่า เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุข  ซึ่งศูนย์การเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้อย่างเต็มที่นี้เอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาติเจอกับโลกที่กว้างใหญ่ขึ้นผ่านการศึกษา จากการทดลองทำโครงการวิสาหกิจชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านสบลาน อย่างผ้าทอหรือน้ำผึ้งป่าเองก็ดี จนได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน แต่นอกจากความสามารถด้านการจัดการธุรกิจตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว ผลพวงจากการลงมือปฏิบัติจริงก็ทำให้เขารู้ตัวว่าวิถีชนเผ่าอาจไม่ใช่เรื่องถนัดสำหรับเขา  “คนชนเผ่าที่อยู่บนดอยเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นอะไรกว้าง ๆ เห็นอะไรที่มันนอกเหนือจากในอำเภอตัวเอง หรือไกลกว่าจังหวัดตัวเอง ไกลจากวิถีตัวเอง บางทีเขาก็อาจจะไม่รู้ว่ามันมีรูปแบบการใช้ชีวิตอื่น ๆ ที่น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตมันดีขึ้นมากกว่านี้ได้ อย่างเราพยายามออกมาทำกิจกรรมข้างนอก ต่อยอดจากสิ่งที่เราสนใจ ในขณะที่คนอื่นชอบในวิถีชีวิต ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ทำไร่ทำสวน เราก็ชอบในการอ่านหนังสือ วิชาการ ชอบหาความรู้ใหม่ ๆ” ชาติยอมรับกับเราว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันในชนเผ่า มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่มีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัย ด้วยทัศนคติบางอย่างของคนในหมู่บ้าน ที่เชื่อว่าปลายทางของการออกไปศึกษาเล่าเรียนก็ต้องกลับมาทำไร่ไถนาวันยังค่ำ จึงทำให้หลายคนเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่บนดอยเช่นเคย แม้จะมีศักยภาพมากพอก็ตาม ประตูสู่ความคิดที่ไปไกลกว่าแค่ศูนย์การเรียนจึงเปิดกว้างในตอนนี้ บทบาทของชาติจึงไม่ใช่แค่เด็กชายขื่อทีอีกต่อไป ชาติกลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่รู้จักการใช้เทคโนโลยี สร้างการสื่อสารให้คนในชุมชนที่เก่งเรื่องวิถีชีวิตแต่สื่อสารไม่ได้ เป็นคนกลางที่จะคอยสืบสานและเพิ่มมูลค่าวัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีมาช้านานให้คงอยู่ต่อไป  เราจะเห็นว่าที่ผ่านมา หลาย ๆ ชนเผ่าออกมาเรียกร้องหรือมีข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ชาติให้ความเห็นได้อย่างน่าสนใจว่า  “คนปกาเกอะญอเขามีความเชื่อว่าคนจะสามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้ อย่างเรื่องขวัญ คนเรามี 37 ขวัญนะ 5 ขวัญอยู่กับตัวเรา อีก 32 ขวัญกระจายอยู่ตามป่า เขาก็เลยเชื่อว่าถ้าเข้าป่าไปทำลายธรรมชาติ ก็มีโอกาสที่จะทำลายขวัญ 1 ใน 32 ของเรา ทำให้เราเจ็บป่วยได้ เราเลยมองป่าแตกต่างกัน ปกาเกอะญอมองว่ามันคือวิถี มันคือชีวิตที่เขาต้องพึ่งพาอาศัย แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรามองในเชิงนโยบายของกรมป่าไม้ มันคือทรัพยากร “ถ้าชุมชนยังต้องการที่จะรักษาวิถีและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ สิ่งที่จะทำให้ชุมชนอยู่ต่อและไปต่อได้ก็คือวิถี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา มันจะต้องสร้างมูลค่าให้ได้” ชาติเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในวัย 19 ปีของเขา ที่หากวันใดเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้กับหมู่บ้านสบลาน ชาติก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวัฒนธรรมของเขาจะมีมูลค่ามากพอในการต่อรองกับผู้มีอำนาจ แม้จะเป็นแค่การชะลอเรื่องให้เกิดขึ้นช้าลงก็ตามที   นายสุรชาติกับสิ่งที่ใหญ่กว่าภูเขาทั้งลูก การออกไปศึกษาสำหรับชาติ ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การกอบโกยเอาศาสตร์ความรู้ใหม่ ๆ เพียงเท่านั้น แต่เขาเรียนเพื่อให้รู้ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชน อย่างการเริ่มทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน นำเอาประสบการณ์ที่ตัวเขาได้ออกไปเรียนรู้นอกพื้นที่มาปรับใช้ สร้างกิจกรรมการเล่นหุ่นเงา อ่านหนังสือให้น้องฟัง มีการเรียนการสอนเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบพี่สอนน้อง เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในชุมชน เมื่อผลลัพธ์เป็นไปในแง่บวก ก็ขยับขยายไปทำกิจกรรมเหล่านี้ในศูนย์การเรียนอื่น ๆ เพราะเขาเข้าใจดีว่าโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์ยากลำบากอย่างไร  นานวันเข้าก็มีการรวมกลุ่มของเยาวชนชนเผ่าอื่น ๆ จากทั่วประเทศในนาม ‘เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง’ ในการออกมาเรียกร้องหรือสะท้อนปัญหาในชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ ชาติจึงเปรียบได้กับตัวแทนหมู่บ้านสบลานกลาย ๆ ที่ทำหน้าที่สะท้อนเรื่องราวของเด็กชนเผ่าปกาเกอะญอ จากการรวมกลุ่มกันเองของเยาวชน ก็เริ่มยื่นข้อเสนอให้แก่ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องอย่างสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ไปจนถึงการเสนอนโยบายระดับประเทศให้แก่คณะกรรมการการศึกษา ที่ชาติเองก็รู้ทั้งรู้ว่าผลลัพธ์ของมันจะออกมาในรูปแบบไหน “พอมันเป็นการทำงานเชิงนโยบายที่ระดมความคิดเห็นจากคนกลุ่มหนึ่งแล้วก็เอามาประมวลต่อไปเรื่อย ๆ มันก็จะตกหล่น กว่าประเด็นมันจะไปถึงระดับประเทศ เรื่องของคนที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ ก็แทบจะหายไปเลย มันจะไม่ถูกพูดถึงอีกแล้ว คนที่ทำงานด้านนี้มาเขาก็อาจจะเสียใจที่พูดแบบนี้ แต่ผมรู้สึกจริง ๆ ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำเยอะ เหนื่อยมาก แต่การเปลี่ยนแปลงมองไม่เห็น”  ประเด็นที่ชาติสะท้อนออกมาจากชุมชนมีอยู่สองเรื่องด้วยกันคือ เรื่องแรก รูปแบบการศึกษาของเด็กที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ด้วยบริบทตามชนบทที่แต่ละหมู่บ้านเล็ก ๆ จะกระจายกันอยู่ การที่จะมีโรงเรียนของรัฐในทุกชุมชนจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากเด็ก ๆ ต้องการเรียน จะต้องค้างที่โรงเรียนกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ ทำให้เด็ก ๆ จะค่อย ๆ ห่างจากชุมชนไปเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องระยะทาง รวมถึงหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ได้มีการสอนเรื่องปกาเกอะญอแม้แต่น้อย และอีกเรื่องที่สำคัญมากก็คือสัญชาติไทย ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการหรือสาธารณสุขต่าง ๆ ของรัฐได้ แม้จะเกิดในประเทศไทยก็ตาม  ชาติเล่าความจริงที่เกิดขึ้นจนชินตาให้เราฟังว่า “การไร้สัญชาติเป็นเรื่องที่เดือดร้อนมาก ๆ ที่จริงโรงเรียนสามารถรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติเข้าไปเรียนได้ แต่เราก็ต้องเจอการเลือกปฏิบัติในสังคม ผมเคยป่วยไปโรงพยาบาลตอนเด็กมาก ๆ เป็นโรงพยาบาลที่ทั้งอำเภอมีอยู่ที่เดียว ผมก็เดินไปชั่งน้ำหนัก มึนหัวมากแต่พยายามมองว่าเราน้ำหนักเท่าไร 48 หรือ 49 จนมีลุงเดินมาบอก พยาบาลที่อยู่แถวนั้นเขาเห็น ก็ตะโกนมาเลยว่าไม่เคยเรียนหนังสือหรอต้องให้ลุงเขามาบอก จากนั้นมาผมก็ไม่เข้าโรงพยาบาลรัฐอีกเลย หรือเรื่องการติดต่อเอกสาร พนักงานราชการก็จะมองเราไม่ดี ดูถูกเหยียดหยาม ส่วนใหญ่พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่มีสัญชาติก็จะไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเอกสารเลย พอเขาต้องไปเดินเรื่องขอสัญชาติที่มันแทบไม่ต้องเสียเงิน บางคนก็ถูกเรียกเงินเป็นแสน ทุกอย่างมันเป็นปัญหาหมดเพราะเข้าถึงอะไรไม่ได้” เหล่านี้คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เยาวชนอย่างเขาไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง   วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และการมาของ JOA IDEE (โจ๊ะไอดี) ในมุมมองของชาติ การเกิดเป็นชาติพันธุ์มีข้อดีตรงที่เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ทำให้เอื้อต่อการลงมือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แต่ก็มีข้อเสียแฝงอยู่ข้างในตรงที่ความห่างไกลจากทรัพยากร อุปกรณ์ หรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่าง ๆ อีกทั้งคนในหมู่บ้านที่มีความรู้มากพอที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของเขาก็มีไม่มากนัก ซึ่งความฝันที่ชาติได้จากการไปเปิดหูเปิดตาและมีโอกาสคลุกคลีกับความเจริญมากกว่าเพื่อน ก็ไม่สามารถทำได้ด้วยสองมือ สิ่งที่เขาเริ่มทำล่วงหน้าไปก่อนแล้วตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ที่ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า ก็คือการทำวิสาหกิจชุมชน เมื่อมีคนเห็นด้วยกับวิธีการทำงานในลักษณะนั้น เห็นรายได้เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจริง และด้วยความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าเรื่องธุรกิจ จึงทำให้ชาติได้ก่อตั้งกลุ่ม JOA IDEE (โจ๊ะไอดี) ขึ้นมาร่วมกันกับเพื่อนที่มีแนวคิดเดียวกัน โดยคำว่า โจ๊ะ ในภาษาปกาเกอะญอแปลว่าโรงเรียน ID มาจากคำว่า Identity (เอกลักษณ์) ตัว E ที่หนึ่งมาจากคำว่า Education (การศึกษา) และตัว E ตัวสุดท้ายคือ Environment (สิ่งแวดล้อม)  โจ๊ะไอดี เป็น Online Platform ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้ามาเปิดลานขายผลิตภัณฑ์ของชุมชนตนเองได้ ปัจจุบันศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่าก็มีสินค้าหลายอย่างมาวางขาย เช่น ผ้าทอ สมุดบันทึกทำมือ ปฏิทิน ศูนย์การเรียนม่อนแสงดาวฯ จังหวัดเชียงราย ก็มีผ้าขาวม้า ข้าวตอกสาน ศูนย์การเรียนฯ มอวาคี จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีกำไลข้อมือ ผ้าพันคอ เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใคร มีบทบาทอะไรในหมู่บ้าน ก็สามารถส่งสินค้าเข้ามาที่โจ๊ะไอดีได้ เพราะโมเดลของการทำงานภายใต้เงื่อนไขของชุมชนที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากและมีหลักความเชื่อให้ยึดถือเป็นสำคัญ ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในทุก ๆ กระบวนการ ทั้งประชุมเพื่อหาเงื่อนไขของการกำหนดราคาสินค้า หรือถกเถียงให้ได้มาซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณาสินค้าที่ต้องเป็นงานแฮนด์เมด และต้องเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเท่านั้น สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ตัวกลาง ในที่นี้คือเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน อาจเป็นเพราะชาติเองรับบทบาทในการเป็นสื่อกลางอยู่เสมอ จึงมองเห็นความเป็นไปได้ว่าเยาวชนจะสามารถเชื่อมชนเผ่าที่ยึดถือวิถีชีวิตกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าด้วยกันได้สำเร็จ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะผลักดันความฝันอันใหญ่ของโจ๊ะไอดีให้เกิดขึ้นจริง ปัจจุบันโจ๊ะไอดีประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายอายุ หลากหลายสถานภาพ จากหลากหลายพื้นที่ มุ่งหวังอย่างยิ่งใหญ่แต่สวยงาม ให้เป็นแพลตฟอร์มกลางของชนเผ่าชาติพันธุ์ทั่วประเทศในการสร้างรายได้ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของตนเอง และอาศัยอยู่บนแผ่นดินถือกำเนิดได้อย่างมีศักดิ์ศรี  การมีอยู่ของสุรชาติทำให้ความหมายของคำว่า ‘ปกาเกอะญอ’ ชัดเจนขึ้น ว่าแม้จะอยู่ไกลจากศูนย์กลางความเจริญของประเทศนี้มากเพียงไร ก็เป็นคนได้ไม่ต่างกัน ขณะที่ใครหลายคนปรามาสและจำลองภาพของชาวปกาเกอะญอไว้อย่างไม่ดีนัก สุรชาติลงมือทำงานเพื่อสืบสานวิถีของชุมชนให้ยั่งยืนด้วยการไม่หยุดเรียนรู้อย่างมีความหวัง ทั้งการยืนอยู่หลังภูเขา การก้าวเท้าเดินบนชายขอบอย่างหมิ่นเหม่ หรือการหลบหลีกการจราจรที่ขวักไขว่บนท้องถนนก็ตาม ผสมผสานความรู้สมัยใหม่จากเขม่าควันเข้ากับวิถีชีวิตดั้งเดิมของผืนป่า เพื่อสังคมพหุวัฒนธรรมจริงแท้ ที่ไม่มีใครต้องตั้งคำถามว่าปกาเกอะญอเป็นใครอีกเลย ต่าบลึ๊ (ขอบคุณครับ)   เรื่อง: ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์