สุรักษ์ สุขเสวี: เบื้องหลังเพลง ‘วิมานดิน’ จากปลายปากกาของจิตรกรภาษา ผู้เสกสรรถ้อยคำ

สุรักษ์ สุขเสวี: เบื้องหลังเพลง ‘วิมานดิน’ จากปลายปากกาของจิตรกรภาษา ผู้เสกสรรถ้อยคำ
“ฝากรักเอาไว้ ฝากไปในแสงดวงดาว ที่ส่องประกายวับวาววาว อยู่บนฟากฟ้า ให้แสงสุกใส ได้เป็นเสมือนดวงตา คอยส่องมองเธอด้วยแววตา แห่งความภักดี เก็บฟ้ามาสาน ถักทอด้วยรักละมุน คอยห่มให้เธอได้อุ่นอุ่น ก่อนนอนคืนนี้ ให้เสียงใบไม้ ขับกล่อมเป็นเสียงดนตรี คอยกล่อมให้เธอฝันดีดี ให้เธอเคลิ้มไป “มันสวยไปหรือเปล่าวะ?” ประโยครำพันจากชายผู้เป็นเสมือนพี่ใหญ่ในห้องประชุมนักแต่งเพลงของ ‘แกรมมี่’ (ที่ตึกเดิมแถวสุขุมวิท 39) ดังขึ้นพร้อมท่าทีครุ่นคิดและวางมือลูบลงบนหนวด เขากำลังพิจารณาเนื้อร้องที่เห็นอยู่ตรงหน้าบนกระดานไวท์บอร์ด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2534 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ความทรงจำที่มีต่อเรื่องราวยังแจ่มใสอยู่ เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้รับการบันทึกจากผู้แต่งเพลงนี้เอง-สุรักษ์ สุขเสวี ชื่อเพลงนี้เขียนไว้บนไวท์บอร์ดว่า...วิมานดิน [caption id="attachment_35721" align="aligncenter" width="992"] สุรักษ์ สุขเสวี: เบื้องหลังเพลง ‘วิมานดิน’ จากปลายปากกาของจิตรกรภาษา ผู้เสกสรรถ้อยคำ วิมานดิน - นันทิดา แก้วบัวสาย【OFFICIAL MV】[/caption] ในตอนนั้นหัวหน้าทีมพิจารณาเพลงคงไม่แน่ใจว่าเนื้อเพลงที่ดูสละสลวยและถูกร้อยเรียงจัดวางให้คล้องจองกันราวกับบทกวีนี้จะเหมาะกับยุคสมัยที่เริ่มนิยมใช้ภาษาพูดเป็นเนื้อเพลงแล้วหรือไม่ ว่าแล้วพี่ใหญ่หนวดงามที่นั่งหัวโต๊ะ-เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ผู้เป็นหัวหน้าทีม ก็ปิดท้ายการประชุมว่าด้วยเพลง ‘วิมานดิน’ ในวันนั้นว่า “เดี๋ยวจะลองเอาไปทำดูก่อนนะ” ขั้นตอนการทำงานเพลงของแกรมมี่ในตอนนั้น มักจะเริ่มจากการเขียนทำนองขึ้นมาก่อน แล้วคนที่ทำทำนองก็จะทำเดโม (Melody guide) ส่งต่อให้หัวหน้าทีมทำเนื้อเพลง (Lyric Producer) เป็นคนมอบหมายว่านักแต่งเนื้อร้องคนไหนจะได้รับทำนองของเพลงไหนไปเขียน ในขณะนั้น ตู่-นันทิดา แก้วบัวสาย คือนักร้องดังที่ออกอัลบั้มไปหลายชุดแล้ว แต่นักแต่งเพลงหนุ่มจากดำเนินสะดวก-สุรักษ์ สุขเสวี เพิ่งเข้าทำงานในฐานะนักแต่งเพลงให้แกรมมี่ได้เพียงแค่ปีกว่า ๆ เท่านั้น การได้เขียนเนื้อร้องให้ ตู่-นันทิดา น่าจะเป็นความภูมิใจลึก ๆ ของเขา เพราะเขากำลังจะได้เขียนเนื้อร้องให้กับหนึ่งในนักร้องดีว่าหญิงของไทยทั้ง ๆ ที่เพิ่งเข้าทำงานได้เพียงไม่นาน ที่มาของเพลง ‘วิมานดิน’ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเพลงที่โชคชะตาจัดสรร ทำนองเพลงนี้แต่งโดย อภิไชย เย็นพูนสุข ที่วาดลวดลายลีลาอย่างล้นเหลือลงบนเพลงนี้ เพราะเขาเขียนเพลงนี้ด้วยโน้ตเพียงแค่ 5 ตัวเท่านั้น และคุณสามารถกดโน้ตเพลงทั้งเพลงบนเปียโนด้วยมือข้างเดียวโดยไม่เปลี่ยน Octave เลย ที่เรียกว่าโชคชะตาจัดสรร เพราะหากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไป หากไม่ใช่ทำนองนี้ที่อภิไชย เย็นพูนสุขแต่ง หรือหากไม่ใช่สุรักษ์ สุขเสวีเขียนคำร้อง หรือหากไม่ใช่เสียงของนันทิดา แก้วบัวสาย มันก็คงจะไม่ออกมาเป็น ‘วิมานดิน’ ในแบบฉบับที่เราได้ยินได้ฟังกัน จึงเรียกได้ว่าเป็นโชคชะตาที่จัดแจงให้ทุกจิ๊กซอว์ทุกชิ้นมาประกอบกันได้อย่างพอดี มาถึงคำร้องอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่า การที่นักแต่ง (เนื้อร้อง) คนไหน จะได้เขียนเพลงใด ก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าทีมทำเนื้อเพลง ซึ่งก็บังเอิญว่าหัวหน้าทีมทำเนื้อเพลงในขณะนั้นเลือกที่จะส่งเพลงนี้ให้กับนักแต่งเพลงหนุ่มหน้าใหม่ของบริษัทอย่าง สุรักษ์ สุขเสวี หลังจากที่ได้รับเดโม (Melody guide) จากหัวหน้าทีมทำเพลงแล้ว สุรักษ์ สุขเสวี ก็นำเดโม (ซึ่งในขณะนั้นคือเทปคาสเซ็ท) กลับบ้านและเปิดฟังตอนตีสาม จะเพราะว่ามนตราของแสงดาวหรือความเงียบสงัดยามค่ำคืน หรืออาจจะเพราะความไพเราะของเมโลดี้เพลงนี้เองก็ตาม จากความตั้งใจเดิมที่ตั้งใจว่าจะเปิดเทปเดโมฟังสักสองสามรอบแล้วนอน กลับกลายเป็นว่าเขาเขียนเพลงนี้เสร็จในย่ำรุ่งของวันนั้นเลย “เป็นวิมานอยู่บนดิน ให้เธอได้พักพิงพิง และนอนหลับใหล เก็บดาว เก็บเดือนมาร้อยมาลัย เก็บหยาดน้ำค้างกลางไพร มาคล้องใจเราไว้รวมกัน” ที่น่าสนใจคือสุรักษ์เล่าเอาไว้ในหนังสือ ‘ชีวิตลิขิตเพลง’ ที่เขาเขียนขึ้นมาว่า ทีแรกที่เขาได้ฟังเมโลดี้เพลงนี้ มันนำพาให้เขาคิดถึงบรรยากาศของเพลง ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ และเพลง ‘เดือนเพ็ญ’ จากที่คิดว่าจะฟังแค่สองสามรอบ เลยกลายเป็นว่ายิ่งฟังยิ่งมีคำผุดขึ้นมาในสมองมากมาย จนมาหยุดที่การฟังเพลงรอบที่เท่าไรไม่แน่ใจได้ แต่เขาเล่าเอาไว้ว่า เขาเกิดได้ยินคำว่า “เป็น...วิมานอยู่บนดิน” เข้า วินาทีนั้นเขาพูดกับตัวเองเลยว่า เจอของดีเข้าให้แล้ว! พอเขียนเนื้อร้องเสร็จก็ต้องเอามาเสนอต่อทีมงานในที่ประชุม สุรักษ์นำพาเพลงนี้ที่เขาเขียนวางใส่บนกระดาษเส้นบรรทัดไปเสนอแก่ทีมทำเพลงโดยมี เต๋อ-เรวัต ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแกรมมี่อยู่ในห้องประชุมด้วย ครั้นเมื่อนำเสนอเสร็จตามที่ว่าไว้ที่ต้นเรื่อง เต๋อ-เรวัตก็ไม่ได้ฟันธงแต่อย่างใดว่าจะอนุมัติเนื้อเพลงนี้ให้ผ่าน เขาอาจจะส่งกลับมาให้สุรักษ์เขียนเนื้อใหม่อีกรอบก็เป็นได้ แต่คงด้วยความลงตัวของเนื้อร้อง ทำนอง การเรียบเรียง และเสียงร้องของตู่-นันทิดา หรืออาจจะเป็นเพราะโชคชะตาที่ลิขิตไว้แล้ว สุดท้ายเต๋อ-เรวัตและทีมก็ได้ใช้เนื้อเพลงที่สุรักษ์เขียน และได้ออกมาเป็นเพลง ‘วิมานดิน’ ในอัลบั้ม ขอเป็นคนหนึ่ง (พ.ศ. 2534)  แบบที่เราได้ยินกันทุกวันนี้ “ก่อนฟ้าจะสาง ก่อนจันทร์จะร้างแรมไกล ยังอยู่กับเธอข้างเคียงกาย อยู่ในความฝัน ฝากเสียงกระซิบ ฝากไปในสายลมผ่าน ข้ามขอบราตรีที่ยาวนาน ให้เธอฝันดี” ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ‘วิมานดิน’ เป็นเพลงที่ผ่านการถูกคัฟเวอร์มากมายหลายเวอร์ชัน ทั้งจากศิลปินของแกรมมี่เอง จากยูทูบเบอร์ หรือจากนักร้องบนเวทีประกวดต่าง ๆ เพลงนี้เคยถูกนำไปใช้เป็นชื่อนวนิยาย ชื่อละครโทรทัศน์ รวมถึงเคยถูกนำไปแปลงให้เป็นภาษาอังกฤษในชื่อเพลง ‘A Lonely Rose’ (ร้องโดย The Brothers Four) เป็นเพลงที่สุรักษ์เล่าเอาไว้ว่า “ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเป็นเพลงฮิต แต่เป็นเพลงที่ทุกคนรัก” สุรักษ์เล่าเอาไว้ว่าเพลง ‘วิมานดิน’ เป็นหนึ่งในเพลงที่ผู้คนนิยมเอาไว้เอ่ยอ้างแนะนำตัวเขามากที่สุดเพลงหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่มีคนถามเขาว่า สุรักษ์เป็นใคร? แต่งเพลงอะไรมาบ้าง? เพลง ‘วิมานดิน’ คือหนึ่งในเพลงที่เขาใช้ในการแนะนำตัวมากที่สุดเพลงหนึ่ง กับการเรียกเขาว่า ‘สุรักษ์ วิมานดิน’ ที่สุด แม้ว่าเพลงนี้เขาออกตัวว่าไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นเพลงฮิต (แต่เวลาผ่านไปมันก็กลายเป็นเพลงฮิต แถมยังเป็นเพลงฮิตแบบอมตะ) แต่ที่แน่ ๆ มันก็กลายเป็นเพลงที่หลายคนรัก อย่างน้อย ๆ ก็ตัวสุรักษ์ที่รักเพลงนี้มาก เขาเขียนเอาไว้ในหน้าสุดท้ายของหนังสือ ‘ชีวิตลิขิตเพลง’ บทที่เขียนเกี่ยวกับเพลง ‘วิมานดิน’ ว่า “ถ้าบังเอิญคุณอยู่ในงานนั้นของผม ที่ผมไม่ได้อยู่เป็นเจ้าภาพ...ถ้าจะมีเพลงสักเพลงที่จะร้องเพื่อผมสักครั้ง ผมอยากได้ยินเพลง วิมานดิน” ที่มา: หนังสือ ‘ชีวิตลิขิตเพลง’ ของ สุรักษ์ สุขเสวี https://www.facebook.com/TheJourneyThroughSongs https://www.youtube.com/channel/UCLpO5VDdUQ5Xc1Uk29UKJEQ https://www.facebook.com/surak.suksaewee/ http://www.ifeelfinemusic.com เรื่อง: มณีเนตร วรชนะนันท์