สุรพล โทณะวณิก ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย

สุรพล โทณะวณิก ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย
เรื่องราวของครูเพลงอาวุโสที่จะทำให้คุณซาบซึ้งกับผลงานเพลงของท่านได้อย่างลุ่มลึกยิ่งขึ้น บทสัมภาษณ์ครูเพลง ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2540 ชิ้นนี้ มีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2556 ด้วยวัย 83 ปี (ณ ขณะนั้น) ณ บ้านพักย่านทาวน์อินทาวน์ เนื้อหาของบทสนทนาพูดถึงสภาพความเป็นไป มุมมองต่อชีวิตและสังคม พร้อมด้วยเบื้องหลังการสร้างสรรค์เสียงเพลงที่กลายมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมไทย "คุณรู้ไหมว่า โลกเรามันเป็นโรงละครฉากหนึ่ง ให้มนุษย์เกิดมาแสดงบทบาทละครของแต่ละคน" แม้ในวันที่สุขภาพย่ำแย่อย่างหนัก แต่ด้วยความคิดอ่านแจ่มใส ครูน้อย-สุรพล โทณะวณิก ปรารภให้ฟัง "ก่อนเกิดไม่รู้ตัวเองมาจากไหน พอตอนตายก็บอกว่าตัวเองไปสู่ปรโลก" "ถ้าอย่างนั้นก่อนเกิดมาจากปรโลก เพราะมาจากความไม่รู้ คุณรู้ไหมว่า ตอนคุณเกิด คุณไม่รู้นะ เกิดมาแล้วตั้งหลายปี ถึงได้พูด ถึงได้รู้เรื่อง แล้วตอนตาย ผมเดาเอาว่า บรรดาคนที่ตายไปทั้งหมด ป่านนี้เขายังไม่รู้ตัวเลยว่าเขาตาย เขาเดินทางไปสู่อีกภพหนึ่งหรือเปล่าไม่รู้ ไอ้การที่เราไม่รู้ หรือเราไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าท่านไม่ว่าอะไร ไม่เชื่อลองไปอ่านกาลามสูตร ไม่ใช่ว่า พอไม่เชื่อแล้วจะตกนรก ไม่ใช่ อย่างผมไม่เชื่อว่าใต้ดินมีนรก ผมเชื่อตามหลักวิทยาศาสตร์..." เพียงบทสนทนาเริ่มต้น ครูสุรพลก็ถ่ายทอดปรัชญาชีวิตให้ฟัง แต่ด้วยน้ำเสียงถ่อมตน ตามประสาคนเก่งที่ไม่จำเป็นต้องแสดงอาการเขื่องหรือคุยโวให้ใคร ๆ หันมาชื่นชม เหมือนศิลปินตัวปลอมที่มีอยู่เกลื่อนเมืองในเวลานี้ "ผมก็ไม่ใช่ผู้วิเศษอะไร ก็เติบโตจากการกวาดโรงละคร ล้างห้องส้วม" ครูบอก พร้อมขยายความว่าการคลุกคลีอยู่ที่โรงละครนั่นแหละ ทำให้ได้รู้จักนักแต่งเพลง แล้วมีโอกาสเจริญรอยตาม "ไม่ได้ร่ำเรียน ไม่มีใครสอน แต่ทุกคนเป็นอาจารย์ของผมหมด" วิธีการของครูสุรพล คือการนำเพลงชั้นดีทั้งหลายมาห้อยไว้บนราว สมัยเช่าห้องพักอยู่หลังโรงพิมพ์เพลินจิต พร้อมกับพินิจพิเคราะห์ว่าเพลงเหล่านั้นมีจุดเด่นอย่างไร "ผมก็ประมวลความคิดเห็น จับจุดได้ว่าเพลงนี้ มันต้องมีจุดเด่น จุดดี จุดกลับใจ แลเห็นภาพ เพราะถึงอย่างไรก็ตาม เพลงทั้งหมดเป็นพาณิชย์ศิลป์ แต่ถ้าใครถ่ายทอดจิตใจลงไปในเพลง แล้วตรงกับประชาชน เพลงนั้นก็จะดัง หลายเพลงที่คนแต่งสำคัญตัวผิด บรรยายเฉพาะชีวิตตัวเอง เพลงนั้นก็ไม่ดัง" ครูสุรพลเล่าว่า ท่านมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เป็นครู "พูดตามความจริง ผมมีท่านจักรฯ กับหลวงสุขุมฯ อยู่ในหัวใจเยอะเลย ลีลาการเขียนทำนอง ผมไม่สามารถไปแตะต้องได้ สุดยอดแล้ว แล้วอีกอย่าง ผมเป็นพุทธศาสนิกชน เจริญรอยตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเวลาเทศน์อะไร ตอนกลางท่านจะบอกว่าอุปมาเหมือนหนึ่งดอกบัวเกิดในตม เป็นอุปมาอุปไมย เวลาผมแต่งเพลง ผมก็นึก ทำไงดี พอถึงท่อนแยก น้ำหยดลงหิน หรือ จะเอาโลกมาทำปากกา ก็เจริญรอยตามพระพุทธองค์" ในมุมมองด้านการแต่งเพลง ครูสุรพลถ่อมตัวว่า ท่านสร้างงานจากหลักการของธรรมชาติเป็นหลัก ดังกรณีของประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านพ้นมาในวัยเยาว์ "ผมไม่กลัวผีหรอก ตีนก็ไม่มี สมองก็ไม่มี ตาก็ไม่มี คุณไปนั่งกลัวอยู่ได้ บางคืนผมไม่มีที่นอน โกดังผีวัดพิชัยญาติ ผมก็เคยนอน นอนกับผีเลย วันหนึ่งผมหากินไม่ได้ จะหิวตายแล้ว ผมไปนอนในโลงเลย ในใจนึกตายก็ตายไปเลย จะได้ไม่ไปเดือดร้อนใคร ผมนอนหลับสนิทแล้วพอตื่นขึ้นมา ผมนึกว่าตกนรก ข้างหลังนี้เจ็บไปหมดเลย ที่แท้มดแดงกัด มันนึกว่าผมตาย มันก็เลยมากินเนื้อผม ทีนี้มันเป็นกลางวัน แดดส่องทะลุหลังคาสังกะสีเข้ามา ข้างในมันเลยไม่มืด ผมก็คิดได้ว่า อยู่ในที่มืด แสงสว่างยังเข้ามาได้เลย ชีวิตมืด ๆ ก็ต้องไปหาแสงสว่างได้ ผมไม่เชื่อว่า ผมเป็นคนคิด เพราะธรรมชาติสอน คุณจะไปคิดได้อย่างไร เพลงต่าง ๆ ที่ผมแต่งมา คุณอย่าไปคิดว่า ผมแต่งได้อย่างไร เป็นเรื่องธรรมชาติทั้งหมดล่ะ" สมัยหนุ่ม มีข่าวคราวเกี่ยวกับความเจ้าชู้ของนักแต่งเพลงท่านนี้ แต่ท่านอธิบายอย่างเรียบง่ายว่า "ผมไปกับนักร้องดัง 2 คน รวมผมเป็น 3 คน แล้วผู้หญิง 3 คน สวย ๆ คนหนึ่งไปกับนักร้องคนหนึ่ง ผู้หญิงอีกสองคนไปกับนักร้องดังอีกคน ผมไม่มีใครเอา ... ผมยินดีที่จะอาภัพ ผมไม่สนใจ จะเอาเงินที่ไหนไปเลี้ยงเขา" ตามด้วยคำอธิบายว่า ทำไมท่านถึงยอมรับภรรยา 11 คน กับลูก 12 คน "เราคบหมดทุกคนทุกประเภท สมัยผมหนุ่ม ๆ บางคนท้องใหญ่ แล้วไม่มีเงินจะออกลูก ผมก็พาไปโรงพยาบาล เสียเงินไปอีก แถมลูกออกมาไม่มีพ่อ ขอร้องให้เป็นพ่อ ผมดูแล้ว อ่อ ! ลูกผู้หญิง โอเค พวกสกุลโทณะวณิก เขาจะได้ไม่ว่าเอา โตขึ้นเป็นสาว แต่งงานไปก็เปลี่ยนนามสกุลแล้ว พอผมช่วยเหลือ ก็กลายเป็นคนเจ้าชู้ ลูกมากตั้ง 12 คน เกิดจาก 11แม่ ไม่ได้ทำอะไรสักคน ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปยุ่งเลย เราสงสารเขา เราเป็นลูกกำพร้า นอนในถังขยะ นอนในหัวเรือเอี่ยมจุ๊น ในวัดอนงคาราม ที่จอดเกยตื้นอยู่ในคลองตลาดบ้านสมเด็จฯ สมัยนั้น แล้วตอนสงครามโลก นอนในกองทราย ขุดทรายลึก ๆ แล้วก็นอน ถ้าผมไม่ได้หมา ผมก็ตายไปแล้ว ฉะนั้น หมามันก็รักผม กลางคืนหน้าหนาว กอดกับมันอุ่นกว่ากอดกับคนอีก" ชีวิตช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของครูสุรพล ไม่ต่างจากหนังสือ "เรื่องจริงเน่ายิ่งกว่านิยาย" ของ ป.บูรณปกรณ์ เสียอีก แต่เป็นชีวิตต่ำเตี้ยที่มองหาแสงสว่างอยู่ตลอดเวลา "ผมเป็นเด็กกุ๊ยที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า ผมเรียนอ่านหนังสือจากเศษกระดาษหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ หรือจากป้ายตามร้านค้าต่าง ๆ ผมถามเด็กนักเรียนที่เดินไปเรียนบ้านสมเด็จฯ หรือถามคนบางคน (ตอนนั้น) คนส่วนมากไม่รู้หนังสือด้วยซ้ำ อย่างผู้ใหญ่บอกว่าคำนี้อ่านอะไร ช่วยอ่านหน่อย เพราะไม่รู้ เสร็จแล้วผมก็ค่อย ๆ เรียนด้วยตัวเอง เขียน ก. ไก่ ตัวหนึ่ง ผมต้องมานั่งจำ ก. ไก่ คือไม่มีหัว หัวออกเป็น ภ. สำเภา หัวเข้าเป็น ถ. ถุง ลากขาลงมาเป็น ฤ หัวออกเป็น ฦ ผมต้องจำแบบนี้ ค่อย ๆ จำทีละคำ" ด้วยความสงสารและเห็นใจ ต่อมานักเรียนจากโรงเรียนบ้านสมเด็จฯ จึงให้ตำราแบบเรียนไว เพื่อใช้ในการฝึกฝน "ผมเอาตำราแบบเรียนไวไปนั่งข้างโรงเรียน สมัยก่อน เขามีโรงเรียนเป็นห้องแถวรับจ้างสอนเด็ก ๆ ผมไปนั่งข้างโรงเรียน ผมพยายามอยู่ปีกว่า เกือบสองปี อายุราว 7-8 ขวบ ก็พออ่านออก ... วันหลังไปเจอลุงคนหนึ่ง แกนั่งถือแว่นแล้วค่อย ๆ อ่าน ผมก็บอกว่า เอาไหมลุง ผมรับจ้างอ่านหนังสือชั่วโมงละสตางค์ แต่มีข้อแม้ ถ้าคำไหนผมไม่รู้เรื่อง คุณลุงต้องช่วยสอนผม คุณคิดดูอ่านตั้งแต่รามเกียรติ์ พระอภัยมณี มหาภารตยุทธ สามก๊กของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือหนังสือวัดเกาะ" "คุณรู้ไหมว่านางนาคพระโขนง ที่จริงไม่มี คนเขาแต่งขึ้น ‘บาทขาดราคาเชิญมาซื้อ หนังสือวัดเกาะเพราะหนักหนา’ นางนาคมาจากหนังสือเล่มละบาท แล้วดังเพราะว่าคนเขียนเขาเข้าใจ คลองพระโขนงมาอย่างนี้ พอมาถึงโค้งหลังวัดมหาบุศย์ มันมาอย่างนี้ ไปอย่างนี้ ทำให้เป็นเกาะแหลมยื่นออกไป ทีนี้สมัยก่อน ไม่มีรถยนต์เข้าวัด เลยทำสะพานขนศพจากหลังวัดขึ้นไป ก็มีคนฉลาดเขียน มีนางนาคมานั่งเรียกเจ๊กขายหมู จนน่ากลัว" จากข้อมูลที่สืบค้นได้ สุรพล โทณะวณิก เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของขุนประทนต์คดี (หลี โทณะวณิก) และนางน้อย โทณะวณิก บิดามารดาเสียชีวิตหมดตั้งแต่อายุเพียง 6 ปี กลายเป็นเด็กเร่ร่อน จนอายุ 13 ปี ได้ติดตามพระครูคุณรสศิริขันธ์ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ไปอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์จนเรียนจบชั้น ม.3 แล้วย้ายไปอยู่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะย้ายกลับมากรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2492 ครูสุรพลเริ่มต้นชีวิตในวงการบันเทิง ด้วยการไต่เต้าจากเป็นเด็กทำความสะอาดของโรงละครแห่งหนึ่งย่านเวิ้งนครเขษม วันหนึ่ง เขาบังเอิญมีโอกาสเขียนเพลงในนามของตัวเองเป็นครั้งแรก เหตุเพราะมีละครเรื่องหนึ่ง ไม่มีใครเขียนคำร้อง จึงเป็นที่มาของเพลง "ลาแล้วแก้วตา" ที่เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนของ ครูไสล ไกรเลิศ เสมือนเป็นประตูเข้าสู่วงการเพลงในที่สุด "ไม่ใช่ว่าเป็นคนเก่งกาจอะไรหรอก ทำมาหากินไปวัน ๆ" ครูสุรพลเอ่ยพร้อมสำทับว่า ตอนนั้นถึงเวลาที่จะมุ่งมั่นเป็นนักแต่งเพลงให้ได้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยแต่งเพลงทิ้งไว้ จนมีคนเอาไปใช้เป็นเครดิตของคนนั้นคนนี้ไปทั่ว "วันหนึ่งยืนรอรถรางข้างบ้านหลังหนึ่ง มีเพลงดังลอยมา คนที่ยืนอยู่ข้าง ๆ บอกว่า ไอ้เหี้ยนี่ ! มันแต่งเพลงดีฉิบหายเลย เราฟังอยู่นะ คนแต่งไม่ใช่ผม แต่ผมจำได้ว่าเพลงนี้ผมแต่ง ก็นึกในใจ เราต้องเป็นนักแต่งเพลงได้ นั่นเป็นเพลงของเรา อันโน้นก็ดังอันนี้ก็ดัง" หลักการในการแต่งเพลงของครูสุรพล คือดูตามความเหมาะสมของนักร้อง "อย่างมีศักดิ์ (มีศักดิ์ นาครัตน์) ร้องอย่างไร นิสัยอย่างไร ผมให้ร้องอย่างนี้ พิทยา (พิทยา บุณยรัตพันธุ์) นิสัยอย่างไร เพลงจูบ (ร้องเพลง) ‘จูบ คุณคิดว่าไม่สำคัญ’ เอาไปให้ สวลี (สวลี ผกาพันธุ์) ร้อง เขาก็ไม่ร้อง สวลี ต้องร้อง ฟ้ามิอาจกั้น" "ผมมีความคิดแตกต่างจากคนอื่น อย่างเช่นผมรู้ว่าคนไทยหรือคนทั้งโลกเลย ไปสอนเขาตรง ๆ เขาฟังหรือเปล่า เขาไม่ฟังนะ แล้วคนที่ไปเล่าเรื่องหัวใจของตัวเอง ไปเขียนโดยที่ไม่มีเทคนิค คนก็ไม่ฟัง ต้องตรงกับหัวใจของคนฟัง ใครก็แล้วแต่ เขียนอะไรที่มีจุดเด่น ที่แลเห็นภาพแล้วก็โดนใจ ก็ขายได้ แบบไอ้พลับ (จุฑาภัทร เหล่าธรรมทัศน์) ‘ใครๆ ก็ไม่รักผม แม้แต่พัดลมยังส่ายหน้าเลย’ คนก็นึกถึง ก็ดัง ขายได้ระเบิดเลย" สุรพล โทณะวณิก มีผลงานเพลงมากมาย อาทิ "ลาแล้วแก้วตา"  "ในโลกแห่งความฝัน" (ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง) "ใครหนอ" และ "ฟ้ามิอาจกั้น" (ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธุ์) "ยามรัก" (ร่วมกับ เอื้อ สุนทรสนาน) และ "แม่เนื้ออุ่น" (ขับร้องโดย หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์) "แตกดังโพละ" (ขับร้องโดย มีศักดิ์ นาครัตน์) รวมถึงเพลงในยุคหลัง เช่น "ลมรัก" และ "อยากลืมกลับจำ" ในปี พ.ศ. 2524 ขับร้องโดย เดอะฮอตเปปเปอร์ซิงเกอร์ส สุรพล โทณะวณิก ทำงานประพันธ์เพลงมาตลอดทั้งชีวิต แต่ในบั้นปลายกลับไม่มีลิขสิทธิ์ไว้ถือครอง นับเป็นตัวอย่างของความร้าวรันทดในวงการเพลง ที่ยังปรากฏอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน "ลิขสิทธิ์ดนตรีผม ก็(มีคน)เอาไป ที่ชื่อสุรพล คุณประกิต (อภิสารธนรักษ์) ดูแล ตอนนั้นทำบริษัทเสียงทอง สัญญากันเอาไว้ 20 ปี พอถึง 20 ปี ไปหมดล่ะ เพราะว่าผมไม่รู้กฎหมาย นี่ล่ะผลของคนไม่ได้เรียนหนังสือ เวลาใครพูดดี ๆ ก็ดี ปรากฏว่าพอถึง 20 ปี ไปหมด เพราะบนหัวกระดาษมีคำว่า 'โอน' คำว่าโอนคำเดียว ก็เป็นของเขา ตอนนี้กำลังจะมีคดี ผมว่ายังไง ๆ ก็ต้องมีคดี เพราะในสัญญาเก่า เขาบอกว่า ใน 20 ปีนี้ จะไม่แต่งเพลงให้ใคร ในชื่อ สุรพล โทณะวณิก และชื่อที่ใกล้เคียง เขาเขียนอย่างนี้ ผมเลยไปแต่งให้คนอื่น ในชื่อที่ไม่ได้ใกล้เคียงเลย อารี อุไร งอนฉายแสง เอมมี่อุซ่า เค็มใจแคบ ยักษ์ใจมาร ภูผาเกริกเกรียงไกร ใกล้เคียงชื่อสุรพลที่ไหน ทีนี้พอมีคนมาซื้อเพลง มีเพลงฮิตไม่กี่เพลง โอ้ปาป๊า หรือ หลับผล็อยอร่อยไปเลย ดูสิเขาจะมาเอาเงินผมอีก แล้วเขาจะมาแบ่งคืน ผมว่าคราวนี้ต้องไม่ยอมแล้ว ต้องเป็นคดี ปกติไม่ค่อยชอบเป็นคดี ยอมตลอดไม่ว่าหน้าไหน" ด้วยความทันสมัย ติดตามผลงานใหม่ ๆ ของนักแต่งเพลงรุ่นหลัง ทำให้ทุกวันนี้ สุรพล เปิดใจกว้างให้กับเพลงร่วมสมัย แถมยังไม่เห็นด้วยกับทัศนคติคับแคบของคนยุคเก่าก่อน "เพลงเก่าก็คนละแบบ อย่าไปว่าเลย วัยรุ่น ถ้าเขาไม่ดี ถ้าคนไม่ชอบ จะไปขายได้ไง ยุคสมัยก็เป็นแบบนี้ เปลี่ยนแปลงไป ของผมไม่เคยว่าวัยรุ่น เขาชอบ คุณจะไปเขียนเพลงวัยรุ่นดี ๆ อย่างของคุณบอย โกสิยพงษ์ ดีจะตายไป บางเพลงความหมายดีมากเลยนะ (ร้องเพลง) ‘ช่วยเก็บผ้าเช็ดให้ฉันหน่อยได้ไหม ฉันทำมันตก ฉันกลัวใครคว้าไป ช่วยเก็บผ้าเช็ดหน้าให้ฉันหน่อยได้ไหม ฉันทำมันตก ตกลงพร้อมหัวใจ’ แต่งเพลงเก่งกว่าผมตั้งเยอะ เขียนได้ขนาดนี้นะ ยังมีหลายเพลง ล้วนแต่เก่ง ๆ ทั้งนั้น" ในช่วงวัยชรา ดูเหมือนครูเพลงท่านนี้มิได้หวั่นวิตกกับอนาคตแต่อย่างใด ท่านพูดเสมอตลอดการสนทนาว่า ต้องประคองตัว เพราะความทุกข์ยากที่ผ่านมา ทำให้ท่านไม่เห็นอะไรจะลำบากไปกว่านี้อีกแล้ว เพียงแต่คนสัมภาษณ์อดสะท้อนใจมิได้ว่า ด้วยนฤมิตกรรมที่ท่านสร้างสรรค์ขึ้นในฐานะศิลปินแห่งชาติ รัฐบาลไทย โดยเฉพาะกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ไม่สามารถดูแลให้เหมาะสมกับฐานานุรูปมากกว่านี้หรือ "คนเราถ้ามีมานะบากบั่น มันก็อยู่ได้ อย่างผม บางทีวันนี้กินข้าวมื้อเดียว รุ่งขึ้นเคี้ยวอากาศ นั่งเคี้ยวอากาศจนชินแล้ว ไม่ตายหรอก ขาดน้ำถึงตาย แล้วตั้งแต่เล็กจนโต ผมก็กินน้ำก๊อกมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงทุกวันนี้"